ข้ามไปเนื้อหา

หมายเลขสารบัญแฟ้มดาวเทียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมายเลขสารบัญแฟ้มดาวเทียม (อังกฤษ: Satellite Catalog Number) หรือที่รู้จักกันในชื่อ หมายเลขสารบัญแฟ้ม NORAD, NORAD ID, หมายเลขสารบัญแฟ้ม NASA, หมายเลขวัตถุอวกาศ USSPACECOM หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หมายเลขสารบัญแฟ้ม เป็นหมายเลขประจำตัว 5 หลักที่กำหนดขึ้นโดยอดีตหน่วยบัญชาการอวกาศสหรัฐ (United States Space Command, USSPACECOM) สำหรับใช้ระบุวัตถุอวกาศทั้งหมดที่โคจรรอบโลก

ก่อนหน้านี้หมายเลขสารบัญแฟ้มจะอยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศอเมริกาเหนือ หรือ นอแร็ด (North American Aerospace Defense Command, NORAD) ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงโดยหน่วยบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐ (United States Strategic Command, USSTRATCOM) โดยเป้าหมายของการจัดทำสารบัญแฟ้มคือใช้ประกอบเรดาร์ในการติดตามวัตถุที่โคจรรอบโลกขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับยานอวกาศที่จะส่งขึ้นอวกาศ โดยเศษซากขยะอวกาศที่เกิดจากกระบวนการปล่อยยานแต่ละชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรจะถูกบันทึกไว้ ตัวอย่างเช่นเหตุการชนกันของดาวเทียมอิริเดียม 33 กับดาวเทียมคอสมอส 2251 ในปี ค.ศ. 2009 มีการลงทะเบียนเศษชิ้นส่วนของดาวเทียมอิริเดียม 33 รวมทั้งหมด 330 ชิ้น (หมายเลขในช่วง 33772 ถึง 40998) และเศษชิ้นส่วนของดาวเทียมคอสมอส 2251 รวมทั้งหมด 1,050 ชิ้น (หมายเลขในช่วง 33757 ถึง 40811)

ในปี ค.ศ. 2018 มีการประกาศประเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยบัญชาการกองทัพอากาศอวกาศ (Air Force Space Command, AFSC) โดยให้ส่วนงานการแจ้งเตือนความเสี่ยงในการชนหรืออุบัติเหตุในอวกาศให้แก่หน่วยงานเชิงพาณิชย์และต่างประเทศแยกออกไปอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ[1]

COSPAR ID และ NORAD ID

[แก้]

เลขทะเบียน NORAD หรือ NORAD ID จะถูกระบุด้วยลำดับตัวเลข โดยวัตถุอวกาศชิ้นแรกที่ได้หมายเลขแค็ตตาล็อก 00001 คือจรวดนำส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ส่วนดาวเทียมสปุตนิก 1 จะตามด้วยหมายเลข 00002[2] ตารางด้านล่างแสดงตัวอย่างหมายเลขแค็ตตาล็อกที่ถูกบันทีกในโครงการอวกาศสำคัญ ๆ เทียบกับเลขทะเบียนวัตถุอวกาศสากล (COSPAR ID)

โครงการ ชิ้นส่วนวัตถุ หมายเลขแค็ตตาล็อกดาวเทียม หรือ เลขทะเบียน NORAD เลขทะเบียน COSPAR ปี ค.ศ. ที่ส่ง ลำดับครั้งที่ส่งในปีปฎิทิน ตัวอักษรเฉพาะของดาวเทียม ชิ้นส่วนจรวด และส่วนประกอบอื่น ๆ
การส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก ส่วนที่ 2 ของจรวด R-7 Semyorka 00001 1957-001A 1957 001 A
ดาวเทียมสปุตนิก 1 00002 1957-001B B
การส่งจรวด Ariane 5 ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2008 ดาวเทียม Hot Bird 9 33459 2008-065A 2008 065 A
ดาวเทียม W2M 33460 2008-065B B
กระสวยอวกาศ Sylda 33461 2008-065C C
ส่วนที่ 2 ของจรวด Ariane 5 33462 2008-065D D
การส่งดาวเทียมไทยคม 8 ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ดาวเทียมไทยคม 8 41552 2016-031A 2016 031 A
ส่วนที่ 2 ของจรวด Falcon 9 R/B 41553 2016-031B B

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://spacenews.com/air-force-eyes-commercial-options-to-gain-intelligence-on-space-threats/
  2. "SL-1 R/B Satellite details 1957-001A NORAD 1". สืบค้นเมื่อ January 9, 2018.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]