หนูผีนากยักษ์
หนูผีนากยักษ์ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Afrosoricida |
วงศ์: | Tenrecidae |
วงศ์ย่อย: | Potamogalinae |
สกุล: | Potamogale Du Chaillu, 1860 |
สปีชีส์: | P. velox |
ชื่อทวินาม | |
Potamogale velox (Du Chaillu, 1860) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
หนูผีนากยักษ์ (อังกฤษ: Giant otter shrew; ชื่อวิทยาศาสตร์: Potamogale velox) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นในสกุล Potamogale
หนูผีนากยักษ์ เป็นสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายหนูผีผสมกับนาก ซึ่งเป็นสัตว์คนละอันดับกัน แต่ความจริงแล้วเป็นเทนเรคชนิดหนึ่ง หนูผียักษ์มีใบหน้าที่แบนยาว มีดวงตาที่มีขนาดเล็ก มีหนวดแข็งที่ใช้เป็นประสาทสัมผัสเหมือนกับนากจริง ๆ[3]
มีหางแบนยาวใช้สำหรับว่ายน้ำเหมือนปลา มีใบหูกลมขนาดเล็ก ปลายจมูกที่แหลมยาวปกคลุมไปด้วยหนวดแข็งสำหรับป้องกันจมูก ขนตามลำตัวมีความหนาแน่น เป็นขนสองชั้นมีทั้งชั้นขนหยาบและขนที่อ่อนนุ่ม ด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้ม และเป็นสีเหลืองหรือสีขาวที่ด้านล่างลำตัว ขนที่หางเป็นขนที่อ่อนนุ่ม หางมีความแบนข้างทำให้เมื่อว่ายน้ำในแนวนอนลำตัวจะเคลื่อนขยับไปมาด้านข้างเหมือนปลาหรือจระเข้[1] ขาสั้นและไม่ใช้สำหรับว่ายน้ำ ขาหลังมีผนังที่ช่วยเก็บความอบอุ่นเมื่อขึ้นจากน้ำ โดยที่นิ้วเท้าหลังนิ้วที่ 2 และ 3 ได้ลดรูปรวมกัน ขาหลังใช้สำหรับไซ้ขนหรือเช็ดตัวหลังขึ้นมาจากน้ำ หนูผีนากยักษ์ตัวเมีย มีเต้านม 2 เต้า และหน้าท้องที่ลดรูปลงสำหรับให้นมแก่ลูก[3]
มีน้ำหนักประมาณ 300-950 กรัม ความยาวส่วนหัวและลำตัวประมาณ 290-350 มิลลิเมตร และรวมความยางหาง 535-640 มิลลิเมตร
หนูผีนากยักษ์ เป็นสัตว์กินเนื้อ หากินในเวลากลางคืน เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตแบบกึ่งน้ำกึ่งบก โดยพบแพร่กระจายพันธุ์ในแอฟริกากลางแถบตะวันตก ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย (ป่าฝนใจกลางประเทศ เป็นต้นมา), อิเควทอเรียลกินี, กาบองและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, สาธารณรัฐคองโก, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, ภาคเหนือของซูดาน, แองโกลาและแซมเบีย และมีจำนวนประชากรที่พบน้อยในป่าฝนระหว่างชายแดนเคนยาและยูกันดา[4]
เป็นสัตว์ที่มีถิ่นอยู่อาศัยขนาดเล็ก เป็นสัตว์ที่อยู่ลำพังเพียงตัวเดียวในป่าฝนเขตร้อนที่มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำ หรือทะเลสาบต่าง ๆ[5] ในช่วงฤดูน้ำหลากอาจอพยพย้ายหนีไปอาศัยยังพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0-1,800 เมตรได้[1] ทำรังโดยการขุดโพรงอยู่ริมฝั่งน้ำ โดยทางเข้าอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำเหมือนกับนาก นอกจากจะใช้เป็นที่กำบังแล้วยังใช้ได้ดีในการหลบร้อนช่วงเวลากลางวัน[5] ทำรังโดยการใช้ใบไม้แห้งเรียงเป็นแถวทางเข้ารัง มีการย้ายรังบ่อยในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เมื่อออกหาอาหารจะทำไซ้ขนให้แห้งบ่อย มีรัศมีในการหากินประมาณ 800 เมตร การถ่ายมูลยังใช้เป็นที่กำบังและใช้ประกาศอาณาเขตอีกด้วย[4]
ออกหากินในเวลากลางคืน โดยกินสัตว์น้ำเป็นหลัก ด้วยการใช้ประสาทดมกลิ่นและประสาทสัมผัสจากหนวด ใช้เวลาดำน้ำแต่ละครั้งเพียงไม่กี่วินาที โดยใช้ฟันและขาหน้าจับฉีกกิน อาหารได้แก่ ปลา, ปู, กุ้ง, กบ แต่มักจะหลีกเลี่ยงการกินปูที่มีขนาดใหญ่เกินกว่า 7 เซนติเมตร เพราะเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ แต่ละตัวจะมีอุปนิสัยการกินที่แตกต่างออกไป เหยื่อจะถูกฉีกขาดเป็นท่อน ๆ บนฝั่ง นอกจากนี้แล้วยังสามารถกินหอย, แมลงน้ำ และเครฟิชได้ด้วย คืนหนึ่งจะกินปูประมาณ 15-20 ตัว[4]
หนูผีนากยักษ์ มีอายุที่สั้นมากในที่เลี้ยงโดยมีอายุอยู่ได้เพียง 1-14 วันเท่านั้น
มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน จะให้กำเนิดลูกหนึ่งหรือสองตัวต่อปี ตัวผู้จะเดินทางเป็นระยะทางไกลไปตามลำน้ำ เพื่อต่อสู้กับตัวผู้ตัวอื่นเพื่อการจับคู่ผสมพันธุ์
ปัจจุบัน หนูผีนากยักษ์ได้ลดจำนวนลงจากการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพะในแคเมอรูน บางครั้งก็จมน้ำตายในอวนจับปลาของมนุษย์ และถูกล่าเพื่อความต้องการขนและหนัง[4] [1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Vogel, P. (Afrotheria Specialist Group) (2008). Potamogale velox. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 December 2008.
- ↑ Wilson, D. E. & Reeder, D. M. (eds.) (2005). Mammal Species of the World. A Taxonomic and Geographic Reference. Third edition. ISBN 0801882214
- ↑ 3.0 3.1 Kingdon, Jonathan (1997). The Kingdon Field Guide to African Mammals. San Diego: AP Natural World. p. 137. ISBN 0-12-408355-2.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Tamaska, Gabriel. (2001-10-05) ADW: Potamogale velox. Animaldiversity.ummz.umich.edu. Retrieved on 2013-01-11.
- ↑ 5.0 5.1 Potamogale velox, fieldmuseum.org
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Potamogale velox ที่วิกิสปีชีส์