หญ้าเจ้าชู้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หญ้าเจ้าชู้
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: หญ้า
วงศ์: หญ้า
วงศ์ย่อย: Panicoideae
สกุล: Chrysopogon
(Retz.) Trin.
สปีชีส์: Chrysopogon aciculatus
ชื่อทวินาม
Chrysopogon aciculatus
(Retz.) Trin.
ชื่อพ้อง

Andropogon aciculatus
Raphis acicularis

หญ้าเจ้าชู้ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chrysopogon aciculatus) เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งในวงศ์หญ้า มีหัวและเหง้าแผ่กระจายตามหน้าดิน ดอกเป็นช่อ รูปกลมเรียวคล้ายเมล็ดข้าว มีหนามแหลม สามารถปักติดเสื้อผ้าและผิวหนัง แกะออกจากเสื้อผ้ายากมาก จึงถูกเรียกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้[1]

ชื่อเรียกอื่น[แก้]

หญ้าเจ้าชู้มีชื่อเรียกที่ต่างกันในแต่ละท้องถิ่น[1] ดังนี้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

หญ้าเจ้าชู้ในสวนพฤกษศาสตร์แห่งหนึ่ง
หญ้าเจ้าชู้

หญ้าเจ้าชู้เป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า อายุหลายปี ลำต้นทอดนอนไปตามพื้นดินได้ไกล ตามลำต้นมีกาบใบแก่หุ้มอยู่ ลำต้นตั้งตรง สูง 15–25 เซนติเมตร ไม่ค่อยแตกแขนง ใบมักจะมีมากที่โคนต้น กาบใบยาว 1–3 เซนติเมตร กาบอันสุดท้ายยาวถึง 6 เซนติเมตร หุ้มรอบลำต้น มีลายตามยาว บางทีมีสีม่วง มีขนยาวนุ่มประปรายที่รอยต่อระหว่างกาบใบและตัวใบ ตามขอบใบตรงด้านในมีขนหนาแน่น ตัวใบ กว้าง 3–5 มิลลิเมตร ยาว 2–8 เซนติเมตร ใบบนสุดลดรูปลงเหลือขนาดเล็กมาก ขอบใบสากคาย ขอบจัก แหลมห่าง ๆ บริเวณโคนใบเป็นตุ่ม ๆ และมีขน เนื้อใบบาง เป็นมัน

หญ้าเจ้าชู้ออกดอกที่ยอดเป็นช่อกระจาย ยาว 3–6 เซนติเมตร แข็ง ตั้งตรง สีม่วงแกมแดง ช่อดอกย่อยติดกันเป็นกระจุกที่ปลายแขนงช่อ กระจุกละ 3 ช่อ แต่มีเพียงดอกเดียวเท่านั้นที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และไม่มีก้านดอก โคนดอกมีเซลล์แข็ง ๆ ส่วนอีกสองดอกเป็นดอกเพศผู้ มีก้านดอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขน ช่อดอกย่อยที่ ไม่มีก้าน ยาว 3–4 มิลลิเมตร กาบช่อดอกย่อยอันล่างรูปใบหอก หลังแบน มีเส้น 2 เส้น ปลายแยกเป็น 2 ยอดแหลม ตามขอบใกล้ปลายมีขนสาก กาบช่อดอกย่อยอันบน ยาว 2.5–3.5 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายท้องเรือ กาบล่างของดอก (sterile lemma) ยาว 2.5–3 มิลลิเมตร รูปใบหอก ปลายแหลม บางใส ขอบมีขน ส่วนกาบล่างอีกอันหนึ่ง (fertile lemma) ยาว 2.5–3 มิลลิเมตร บางใส แคบ ปลายมีหนามแหลม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กาบบนของดอก บางใส ปลายแหลม ยาว 1.6 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีส้ม ปลายเกสรเพศเมียมี 2 อัน เห็นเด่นซัดยื่นออกมาจากกลางช่อดอกย่อย ยาว 1–1.5 มิลลิเมตร มีขนยาวละเอียดเป็นมัน เป็นพู่คล้ายขนนก[2]

สรรพคุณทางสมุนไพร[แก้]

ส่วนต่าง ๆ ของหญ้าเจ้าชู้มีสรรพคุณทางสมุนไพรดังต่อไปนี้[2]

  • ราก : แก้ท้องเสีย
  • ต้น : เป็นยาขับปัสสาวะและถอนพิษบางชนิด
  • เถ้า : แก้ปวดข้อ
  • เมล็ด : ใช้ขับพยาธิตัวกลม

สมัยก่อน เวลาสตรีมีอาการไข้ทับระดู หรือเกิดอาการไข้ขณะมีประจำเดือน จะอันตรายมาก อาจถึงชีวิตได้ ซึ่งหมอยาแผนไทยในยุคสมัยนั้นมีวิธีรักษาหรือแก้อาการไข้ทับระดูของสตรีได้ โดยให้เอาหญ้าเจ้าชู้แบบสดทั้งต้นรวมราก หรือแบบแห้งมัดเป็นกำประมาณ 1 กำมือใหญ่ ๆ แล้วผูกเป็น 3 เปลาะ ใส่น้ำให้ท่วมยาต้มให้เดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยให้อาการไข้ทับระดูหายได้

นอกจากจะช่วยแก้ไข้ทับระดูแล้ว หญ้าเจ้าชู้แบบสดกะจำนวนตามต้องการ ต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มแบบจิบต่างน้ำชาทั้งวัน ยังช่วยเป็นยาล้างไต ทำให้ไตดี ช่วยป้องกันการเป็นนิ่ว และ ขับนิ่วได้อีกด้วย สามารถต้มดื่มได้เรื่อย ๆ ไม่มีอันตรายอะไร[3]

การกระจายพันธุ์[แก้]

หญ้าเจ้าชู้กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปได้ โดยมี ลม น้ำ คน และสัตว์เป็นเครื่องช่วยทำให้กระจายไปได้ไกล ๆ และรวดเร็วเช่น เมล็ดวัชพืช อาจจะติดไปกับเสื้อผ้าซึ้งช่วยในการแพร่พันธุ์ไปได้ในระยะไกล ๆ[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 สมุนไพรแก้ไข้ทับระดู, สืบค้นเดือนกันยายน 2558
  2. 2.0 2.1 สรรพคุณของ หญ้าเจ้าชู้ วิชาเกษตร ปลูกผัก ทำไร่ ไถนา, สืบค้นเดือนกันยายน 2558
  3. http://yachaochu.blogspot.com/
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-09-30.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]