สโนว์ไวต์
สโนว์ไวต์ หรือ เจ้าหญิงหิมะขาว (เยอรมัน: Schneewittchen; Schneeweißchen, อังกฤษ: Snow White) เป็นชื่อของเทพนิยายอันโด่งดังในยุโรป และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เทพนิยายเรื่องนี้ตั้งชื่อขึ้นตามตัวเอกของเรื่อง โดยดังเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ได้รับการเล่าขานกันมาต่าง ๆ กัน แต่เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ที่เรารู้จักกันดีที่สุด มาจากบทประพันธ์ในภาษาเยอรมันของ พี่น้องตระกูลกริมม์ โดยพี่น้องตระกูลกริมม์ได้เพิ่มตัวละครส่วนประกอบที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจยิ่งขึ้น อาทิ กระจกวิเศษ และ คนแคระทั้งเจ็ด เป็นต้น ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1937 ทางดิสนีย์ได้ดัดแปลงเทพนิยายเรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์การ์ตูน โดยใช้ชื่อว่า สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เหตุที่ทางดิสนีย์เลือกใช้ชื่อนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ เรื่องสโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดง โดยในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อให้แก่คนแคระทั้งเจ็ด
เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ในภาษาอื่น ๆ มีบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น ในบางชาติได้แต่งบทให้คนแคระทั้งเจ็ดเป็นโจร หรือให้ราชินีพูดคุยกับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ แทนกระจกวิเศษ เป็นต้น ในบทประพันธ์ฉบับอัลบาเนีย รวบรวมโดย โยฮันน์ จอร์จ ฟอน ฮาห์น และตีพิมพ์เป็นภาษากรีก และภาษาอัลบาเนีย เมื่อปี ค.ศ. 1864 สโนว์ไวต์อาศัยอยู่กับมังกร 40 ตัว และสโนว์ไวต์หลับไปเพราะใส่แหวนที่ต้องมนต์สะกด ด้วยเหตุนี้ เรื่องสโนว์ไวต์จึงถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเทพนิยายรหัส 709 ซึ่งเป็นเทพนิยายที่ตัวเอกของเรื่องหลับไปเพราะสวมแหวนทั้งสิ้น ส่วนต้นแบบของเรื่องสโนว์ไวต์ที่แท้จริงนั้นยังไม่สามารถหาของสรุปได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นเทพนิยายที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงยุคกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11-14)
เนื้อเรื่อง
[แก้]สโนว์ไวต์คือเจ้าหญิงแสนงามผู้ถูกราชินีใจร้ายกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักเพราะเกรงว่าสโนว์ไวต์จะงดงามกว่านาง (หลังจากพ่อแม่ที่ตายไป) ทุกวันราชินีจะเฝ้าถามกระจกวิเศษว่าใครงามเลิศในปฐพี และกระจกก็จะตอบกลับว่าพระนางงดงามที่สุด แต่ทว่าสิ่งที่พระนางกลัวที่สุดก็เกิดขึ้นเมื่อสไวต์ได้กลายเป็นหญิงผู้งดงามที่สุดในปฐพี
ด้วยความริษยาราชินีเรียกนายพรานเข้าเฝ้าและบังคับให้เขาฆ่าสโนว์ไวต์ทิ้งแล้วควักเอาหัวใจใส่กล่องมายืนยันพระกับนาง แต่ทว่านายพรานไม่อาจทำร้ายเจ้าหญิงได้ เขาปล่อยเธอไปและนำหัวใจหมูมาให้ราชินีแทน
สโนว์ไวต์วิ่งหนีเข้าไปในป่าทึบ ต้นไม้ทุกต้นดูราวกับมีชีวิต มันยื่นกิ่งออกมาฉุดรั้งสโนว์ไวต์เอาไว้ เธอรู้ตัวอีกทีก็มานอนร้องไห้อยู่กลางป่า ฝูงสัตว์พากันมุงดูเธอราวกับเป็นสิ่งประหลาด บัดนี้ชีวิตของสโนว์ไวต์ไม่ได้มืดมนอีกแล้วเธอร้องเพลงอยู่กับเพื่อนสัตว์ป่าของเธอ พวกมันพาเธอไปขอที่พักแรมในป่า สโนว์ไวต์พบกระท่อมหลังเล็ก เธอจึงถือวิสาสะเข้าไปทำความสะอาดที่นั่นและทำอาหารไว้ เผื่อว่าเจ้าของกระท่อมจะเห็นใจและให้เธอพักด้วย และเผลอหลับไปที่นอกบ้าน คนแคระตัวเล็กๆทั้งเจ็ดคนเดินกลับมาจากทำงานที่เหมืองและพบว่าบ้านตนมีผู้บุกรุกจึงเข้าไปดูว่าเป็นใคร แล้วก็ต้องตะลึงเมื่อเห็นหญิงสาวแสนงามนามสโนว์ไวต์และอนุญาตให้เธออยู่ด้วย
ที่พระราชวังราชินีถามกระจกเพื่อให้แน่ใจว่าตนงดงามที่สุด พระนางถึงกับโกรธจัดเมื่อรู้ว่าสโนว์ไวต์ยังไม่ตายโดยอาศัยอยู่กับพวกคนแคระที่กระท่อมในป่า พระนางวิ่งลงไปที่คุกใต้ดินและปรุงยาพิษเพื่อกำจัดสโนว์ไวต์ด้วยพระองค์เอง แอปเปิ้ลสีแดงสดถูกนำมาเคลือบด้วยยาพิษ ยาพิษที่เมื่อสโนว์ไวต์กินแล้วจะต้องหลับเป็นตายไม่มีสิ่งใดปลุกนางจากนิทราได้เว้นไว้แต่จุมพิตแรกแห่งรักแท้
ราชินีปลอมตัวเป็นหญิงชราแม่ค้าเร่ ทำทีไปขายแอปเปิ้ลให้สโนว์ไวต์ นางใช้มารยาหลอกให้สโนว์ไวต์กินแอปเปิ้ลจนสำเร็จและหลบหนีไป พวกคนแคระกลับมาดูสโนว์ไวต์และแต่ไม่อาจฝังร่างเธอได้ พวกเขาสร้างโลงแก้วบรรจุร่างสโนว์ไวต์เอาไว้และมาเยี่ยมเธอทุกวัน
วันหนึ่งเจ้าชายรูปงามผ่านมาพบสโนว์ไวต์และจุมพิตสโนว์ไวต์และแล้วคำสาปก็สูญสลายไป เจ้าชายพาสโนว์ไวต์ขี่ม้าขาวไปที่ปราสาทของพระองค์แล้วทั้งคู่ก็ครองรักกันอย่างมีความสุข ตลอดกาล
คำวิจารณ์
[แก้]ในบทประพันธ์ของพี่น้องตระกูลกริมม์ ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 นั้น เรื่องของสโนว์ไวต์ เป็นเรื่องความอิจฉาของแม่ ที่มีต่อลูกสาวของตนเอง และมีรายละเอียดปลีกย่อยบางประการที่แตกต่างจากการตีพิมพ์ในครั้งต่อ ๆ มา ซึ่งมีการเปลี่ยนบทจากแม่แท้ ๆ เป็นแม่เลี้ยงแทน ทั้งนี้คาดว่าน่าจะปรับแต่งเรื่องเพื่อให้เนื้อหาอ่อนลง เพื่อให้เป็นนิทานสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีการวิจารณ์ว่า การเขียนบทให้สโนว์ไวต์หลับ และตื่นขี้นมาอีกครั้ง เป็นการเปรียบเทียบกับคำสอนของคริสต์ศาสนา เรื่องการฟื้นคืนชีพในยุคสุดท้ายอีกด้วย[1]
สโนว์ไวต์
[แก้]ในบทประพันธ์ของพี่น้องตระกูลกริมม์ มีตัวเอกชื่อ สโนว์ไวต์ ด้วยกัน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องสโนว์ไวต์ และเรื่องสโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดง แต่ทั้งนี้ตัวเอก ได้แก่ สโนว์ไวต์ในทั้งสองเรื่องนี้ มีบุคคลิก และลักษณะต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ชื่อเรียกดั้งเดิมในภาษาเยอรมันเอง ก็มีความแตกต่างกัน โดยสโนว์ไวต์(กับคนแคระทั้งเจ็ด) มีชื่อภาษาเยอรมันว่า Schneewittchen เป็นภาษาเยอรมันสำเนียง โลเวอร์ซัคเซน ในขณะที่สโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดงนั้น มีชื่อภาษาเยอรมันว่า Schneeweißchen ซึ่งเป็นสำเนียงทางการ แต่ทั้งสองคำต่างมีความหมายเดียวกัน
ฉบับรัสเซีย
[แก้]ในรัสเซียเอง ก็มีเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยมีชื่อว่า เรื่องเล่าของเจ้าหญิงกับอัศวินทั้งเจ็ด (The Tale of the Dead Princess and the Seven Knights) ซึ่งรวบรวมโดย อเล็กซานเดอร์ พุสกิน ในปี ค.ศ. 1833 ก็มีเนื้อหาเรื่องราวใกล้เคียงกับเรื่องสโนว์ไวต์ เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครจากคนแคระมาเป็นอัศวินแทน[2][3]
เค้าโครงเรื่อง
[แก้]มีการสืบค้นว่าเค้าโครงเรื่องสโนว์ไวต์มีที่มาจากเรื่องจริง
มากาเร็ต แห่ง วาลเดก
[แก้]มีผู้เทียบเรื่องสโนว์ไวต์ กับชีวประวัติของมากาเร็ต แห่งเมืองวาลเดก เด็กหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1533 - ค.ศ. 1554 เนื่องจากเธอมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง คล้ายคลึงกับสโนว์ไวต์ในเทพนิยาย อาทิ เธอเป็นหญิงสาวที่มีความงาม เป็นที่ต้องตาของคนทั่วไป นอกจากนี้เธอยังมีปัญหากับแม่เลี้ยงของเธออีกด้วย เธอเติบโตในเมืองวาลเดก ซึ่งที่นั่นมีการใช้แรงงานเด็กในการทำเหมือง และจะใช้คำว่า dwarf สำหรับเรียกแรงงานเด็กเหล่านี้ มากาเร็ตย้ายจากวาลเดก ไปยังกรุงบรัสเซลส์ เมื่ออายุได้ 16 ปี แน่นอนว่าเธอเป็นที่ต้องตาของบรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย รวมไปถึง ฟิลิปป์ ที่สอง แห่งสเปน ก็ประสงค์ที่จะแต่งงานกับเธอ แต่ด้วยมากาเร็ตป่วยด้วยโรคบางประการ และเสียชีวิตลงเมื่ออายุ 21 ปี ว่ากันว่า ชีวิตของเธอน่าจะเป็นต้นแบบของเทพนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องราวของหญิงงามที่เสียชีวิตลงตั้งแต่เยาว์วัย น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับการแต่งเรื่องเล่าได้เป็นอย่างดี[4]
มาเรีย โซเฟีย ฟอน เออเทล
[แก้]เป็นอีกหนึ่งของบุคคลที่มีตัวตนจริงที่เชื่อว่าเป็นที่มาของสโนว์ไวต์ หญิงสาวคนหนึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เธอเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของฟิลิป คริสตอฟ ฟอน เออเทล ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าของปราสาทแห่งหนึ่ง ที่เมืองโลห์อัมมาน แคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ แวดล้อมไปด้วยป่าและภูเขา แม่ของเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เธอยังเด็ก พ่อของเธอแต่งงานใหม่กับ คลอเดีย เอลิซาเบธ มาเรีย ฟอน ฟินนินเกน, เคาท์เตสแห่งรีเชนสไตน์ แต่ด้วยความที่เธอเป็นเด็กสาวอายุเพียง 14 ปี แต่มีความสวยงาม ทั้งผิวพรรณ, เรือนผม และพวงแก้ม นั่นทำให้แม่เลี้ยงคนใหม่ของเธอเกิดความอิจฉาและปฏิบัติต่อเธออย่างเย็นชา จึงเกิดเป็นความมึนตึงขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง วันหนึ่งเธอนอนป่วยอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับการดูแลจากแม่เลี้ยง เธอจึงวิ่งหนีออกจากบ้าน ข้ามภูเขา 7 ลูกไปจนกระทั่งเจอคนแคระ ซึ่งเชื่อกันว่าที่มาของคนแคระนั้น คือ คนงานที่ทำงานในเหมืองบนภูเขารอบโลห์อัมมาน ซึ่งสภาพของเหมืองเป็นสถานที่แคบและต่ำมาก จึงต้องใช้คนที่มีรูปร่างเล็ก เธอได้ใช้ชีวิตอยู่กับเหล่าคนงานนั้น แม้ว่าในตอนท้ายเธอจะได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ปราสาทจนกระทั่งเสียชีวิตในวัยชรา เมื่ออายุกว่า 70 ก็ตาม แต่ทว่าทั้งชีวิตเธอก็ไม่มีความสุขอีกเลย และเธอก็ไม่ได้แต่งงานเลยตลอดทั้งชีวิต
ปัจจุบัน ปราสาทของเธอยังคงอยู่ที่เมืองโลห์อัมมาน และภายในนั้นก็มีกระจกขนาดใหญ่บานหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่มาของกระจกวิเศษในเรื่อง [5]
อ้างอิง
[แก้]- Grimm, Jacob and William, edited and translated by Stanley Appelbaum, Selected Folktales/Ausgewählte Märchen: A Dual-Language Book Dover Publications Inc. Mineola, New York. ISBN 0-486-42474-X
- Theodor Ruf: Die Schöne aus dem Glassarg. Schneewittchens märchenhaftes und wirkliches Leben. Würzburg: Königshausen und Neumann, 1994 (absolutely reliable academic work)
- Jones, Steven Swann. The New Comparative Method: Structural and Symbolic Analysis of the allomotifs of "Snow White". Helsinki, 1990. FFC., N 247.
- ↑ Eliade, Myth and Reality (New York) 1968:202, is expanded in N. J. Girardot, "Initiation and Meaning in the Tale of Snow White and the Seven Dwarfs" The Journal of American Folklore 90 No. 357 (July-September 1977:274-300).
- ↑ Pushkin, Alexander: "The Tale of the Dead Princess and the Seven Knights", Raduga Publishers, 1974
- ↑ http://russian-crafts.com/russian-folk-tales/tale-about-dead-princess.html
- ↑ Märchen und Sagen". Journal-DW
- ↑ Sander, Eckhard (1994). Schneewittchen: Marchen oder Wahrheit? : ein lokaler Bezug zum Kellerwald