สุสานเจ้าเมืองระนอง
ตัวสุสาน | |
รายละเอียด | |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2425 |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ชนิด | สุสานประจำตระกูล |
จำนวนหลุมศพ | มากกว่า 4 หลุม |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | สุสานเจ้าเมืองระนอง |
ขึ้นเมื่อ | 22 มกราคม พ.ศ. 2542 |
เลขอ้างอิง | 0005160 |
สุสานเจ้าเมืองระนอง เป็นสุสานที่เป็นศิลปะแบบจีนเป็นที่ฝังศพของเจ้าเมืองระนองนาม พระยาดำรงสุจริตมหิศร (คอซู้เจียง) มีตุ๊กตารูปปั้นสัตว์และขุนนางที่นำมาจากประเทศจีน มีเสาหินแกรนิต 2 เสา สุสานแห่งนี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ตั้งของสุสานเจ้าเมืองระนองอยู่ทางหลวงหมายเลข 4004 (ระนอง-ปากน้ำ) ห่างจากตัวเมืองระนองประมาณ 1 กิโลเมตร
นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงยังเป็นฮวงซุ้ยของคุณหญิงดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คุณหญิงซิทท์กิมเหลียน) คุณหญิงต้นตระกูล ณ ระนอง ที่สร้างขึ้นได้สวยงามมาก โดยออกแบบเป็นรูปมงกุฏ และถัดไปเป็นฮวงซุ้ยของลูกหลาน ซึ่งล้วนทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมือง อาทิ
- ฮวงซุ้ยหลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมเจ่ง) บุตรชายคนแรก ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
- ฮวงซุ้ยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก้อง) บุตรชายคนที่ 2 เจ้าเมืองระนองถัดมา และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร
- สถูปอัฐิพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก) บุตรชายคนที่ 5 เจ้าเมืองหลังสวน (ฌาปนกิจตามประเพณีไทย)
- ฮวงซุ้ยพระยารัษฏาประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบึ้) บุตรชายคนที่ 6 เจ้าเมืองตรัง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งมีขบวนแห่ศพที่ปีนัง และบรรทุกจากปีนังมาภูเก็ต
และหลานอีกหลายท่าน เช่น ฮวงซุ้ยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เจ้าเมืองระนองคนที่ 4 บุตรชายคอซิมก้อง, ฮวงซุ้ยพระยาปดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล่) กงสุลเยเนราลสยาม ณ สิงคโปร์ บุตรชายคอซิมก้อง ฯลฯ
ขณะที่ลูกหลานบางส่วนไม่ได้ฝังอยู่ที่ระนอง แต่ไปฝังอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เช่น ฮวงซุ้ยหลวงศรีสมบัติ (คอซิมจั่ว) บุตรชายคนที่ 3 ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง , พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมขิม) บุตรชายคนที่ 4 เจ้าเมืองกระบุรี, พระสถลสถานพิทักษ์(คอยู่เกียด) เจ้าเมืองตรัง บุตรชายคอซิมก้อง, พระยารัษฏาธิราชภักดี(คอยู่จ๋าย) บุตรชายคอซิมบี้
สุสานเจ้าเมืองระนอง ได้รับการยอมรับจากซินแสหลายท่าน ว่ามีชัยภูมิตามหลักฮวงจุ้ยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ส่งเสริมให้ลูกหลานรับราชการเป็นขุนนางตำแหน่งใหญ่โตถึงชั้นพระยาและเจ้าเมืองหลายท่าน รวมถึงเป็นนักการเมือง, รัฐมนตรี, เอกอัครราชทูต ดังนี้
รุ่นลูก เป็นขุนนางระดับ พระยา 4 ท่าน ได้แก่ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก้อง), พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมขิม), พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก), พระยารัษฏาประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบึ้)
รุ่นหลาน เป็นขุนนางระดับ พระยา 6 ท่าน ได้แก่ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เจ้าเมืองระนองคนที่ 4, พระยาปดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล่), พระยาประวัติสุจริตวงศ์ (คอยู่ตี่) เจ้าเมืองพัทลุง/เจ้าเมืองไชยา/เจ้าเมืองสุราษฎร์ธานีคนแรก, พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ตก), พระยาทวีวัฒนากร (คอยู่เพี้ยน), พระยารัษฏาธิราชภักดี (คอยู่จ๋าย)
รุ่นหลาน เป็นขุนนางระดับ พระ แต่ได้รับโปรดเกล้าเป็นเจ้าเมือง อีก 3 ท่าน ได้แก่ พระระนองบุรีศรีสมุทเขต (คอยู่โง้ย) เจ้าเมืองระนองคนที่ 5/เจ้าเมืองชุมพร/เจ้าเมืองกระบี่, พระบูรพทิศอาทร (คอยู่เพิ่ม) เจ้าเมืองระนองคนที่ 8, พระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด) เจ้าเมืองตรัง ต่อจากท่านคอซิมบี้
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ยังมีรุ่นหลาน ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนแรก ของจังหวัดชุมพร ได้แก่ หลวงสโมสรราชกิจ (คอยู่จีน ณ ระนอง) ใน พ.ศ.2476 และคนที่มีชื่อเสียงของตระกูลในรุ่นเหลน/ลื่อ ได้แก่ นายฐิตินันท์ ณ ระนอง อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซีย, ร้อยโทอภินันท์ ณ ระนอง ผู้จัดการมรดกคนปัจจุบัน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเม็กซิโก, นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ลิเบีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายละเอียดข้อมูลสุสานเจ้าเมืองระนอง เก็บถาวร 2008-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข้อมูลสุสานเจ้าเมืองระนอง เก็บถาวร 2008-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน