สำนักมิสซัง
สำนักมิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือ ศูนย์มิชชัน (โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: mission) คือสำนักงานของมิชชันนารี[1]
ที่มา
[แก้]การประกาศข่าวดีถือเป็นพันธกิจ (mission) ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคริสต์ศาสนิกชน คริสตจักรท้องถิ่นต่าง ๆ จึงส่งอาสาสมัครเป็นตัวแทนของคริสตจักรไปปฏิบัติพันธกิจนั้นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่คริสต์ศาสนายังไม่แพร่หลาย อาสาสมัครนี้เรียกว่า มิชชันนารี หรือ ธรรมทูต (missionary) มิชชันนารีอาจทำงานกันเป็นกลุ่มเรียกว่ามิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือมิชชัน (โปรเตสแตนต์) (mission) และเรียกสำนักงานของมิชชันว่า สำนักมิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือ ศูนย์มิชชัน (โปรเตสแตนต์)
เมื่อคริสต์ศาสนิกชนในท้องถิ่นมีจำนวนมากพอและมีความสามารถจะปกครองดูแลกันเองได้ มิสซังหรือมิชชันก็จะสลายตัวลงเป็นเพียงผู้ร่วมงานพันธกิจ เพื่อให้คริสตจักรใหม่ของคนในท้องถิ่นนั้นปกครองตนเอง
ในประเทศไทย
[แก้]มิสซังโรมันคาทอลิก
[แก้]สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 ทรงอนุญาตให้ตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสขึ้นในปี ค.ศ. 1660 เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีประกาศข่าวดีในดินแดนตะวันออกไกล คณะมิชชันนารีกลุ่มนี้ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในอาณาจักรอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นมีสถานะเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1662[2] โดยมีมุขนายกหลุยส์ ลาโน เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังสยามองค์แรก
การเผยแผ่ศาสนานิกายคาทอลิกดำเนินสืบมาจนสามารถตั้งมิสซังขึ้นอีกหลายแห่งในราชอาณาจักรสยาม เช่น ตั้งมิสซังลาว (ปัจจุบันคือมิสซังท่าแร่) ในปี ค.ศ. 1889[3] ตั้งมิสซังราชบุรีในปี ค.ศ.1941[4] ตั้งมิสซังจันทบุรีในปี ค.ศ. 1944[5] ตั้งมิสซังอุดรธานีและมิสซังอุบลราชธานีในปี ค.ศ. 1953[6][7] ตั้งมิสซังเชียงใหม่ในปี ค.ศ. 1959 ตั้งมิสซังนครสวรรค์ในปี ค.ศ. 1967 ตั้งมิสซังสุราษฎร์ธานีในปี ค.ศ. 1969 และตั้งมิสซังเชียงรายในปี ค.ศ. 2018 ปัจจุบันเขตปกครองของทุกมิสซังได้รับสถานะเป็นมุขมณฑลหมดแล้ว จึงมีสำนักมิสซังคาทอลิกทั้งสิ้น 11 แห่งในประเทศไทย[8]
มิชชันโปรเตสแตนต์
[แก้]คริสตจักรคณะต่าง ๆ ในนิกายโปรเตสแตนต์ เช่น เพรสไบทีเรียน คองกริเกชันนัล แบปทิสต์ ได้ส่งมิชชันนารีมาเผยแผ่คริสต์ศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1828[9] จนสามารถตั้งศูนย์มิชชันขึ้นตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ในราชอาณาจักรสยาม และได้รวมศูนย์มิชชันต่าง ๆ นั้นเป็น "มิชชันสยาม" ในปี ค.ศ. 1920 และพัฒนาต่อมาเป็น "คริสตจักรในสยาม" ในปี ค.ศ. 1934[10] เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาคริสตจักรในประเทศไทย" จนปัจจุบัน ส่วนมิชชันคณะต่าง ๆ ที่มาจากต่างประเทศและร่วมก่อตั้งสภาคริสตจักรในตอนแรกก็ได้สลายตัวจากการเป็นมิชชัน กลายเป็นผู้ร่วมงานมิชชันของสภาคริสตจักรในปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ mission, Cambridge Dictionaries Online
- ↑ Archdiocese of Bangkok, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Archdiocese of Thare and Nonseng, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Diocese of Ratchaburi, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Diocese of Chanthaburi, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Diocese of Udon Thani, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Diocese of Ubon Ratchathani, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ Thailand:Current Dioceses, The Hierarchy of the Catholic Church
- ↑ ประสิทธิ์ พงศ์อุดม, ประวัติสภาคริสตจักรในประเทศไทย เก็บถาวร 2014-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สภาคริสตจักรในประเทศไทย
- ↑ ประวัติสภาคริสตจักรในประเทศไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,