รถตุ๊ก ๆ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สามล้อเครื่อง)
รถตุ๊ก ๆ ในกรุงเทพฯ

รถตุ๊ก ๆ หรือชื่อเรียกทางราชการว่า รถสามล้อเครื่อง เริ่มแรกเป็นการนำรถสามล้อเครื่อง กระบะบรรทุก จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลง เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 เพื่อทดแทน รถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร ยุคแรก ๆ มีทั้งยี่ห้อ ฮอนด้า ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ ปัจจุบันเหลือเพียง ไดฮัทสุ มาสด้า มิตซูบิชิ

ทุกวันนี้ประเทศไทยได้ผลิตและส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ในนาม "TUK-TUK" สามล้อตุ๊ก ๆ มีบริการทั่วไปทุกจังหวัด ซึ่งบางท้องที่จะมีลักษณะเฉพาะพิเศษ อย่างเช่นรถตุ๊ก ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหน้ารถขนาดใหญ่กว่าทั่วไปจะเรียกกันว่า "รถตุ๊ก ๆ หน้ากบ"

รถตุ๊ก ๆ หน้ากบ หรือ รถตุ๊ก ๆ หัวกบ ให้บริการทั่วไป ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง
Daihatsu Midget Model DKA, 1957

ประวัติในประเทศไทย[แก้]

พ.ศ. 2500 ประเทศญี่ปุ่นเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ (Daihatsu) รุ่นมิดเจ็ท ดีเค (Midget DK) เป็นรถสองจังหวะ (ZA 250cc) มีไฟหน้าหนึ่งดวง และมีที่จับบังคับเหมือนรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นรถต้นแบบรถตุ๊ก ๆ ของไทย

พ.ศ. 2503 ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้ารถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิดเจ็ท ดีเคจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เป็นจำนวน 30 คัน บรรทุกมาทางเรือขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย และนำออกจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในย่านเยาวราช โดยคนไทยในยุคนั้นเรียกกันว่า "สามล้อเครื่อง" ต่อมาภายหลังเศรษฐกิจไทยดีขึ้น จึงเพิ่มการนำเข้ารุ่นมิดเจ็ท เอ็มพี 4 (Midget MP4) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่เพิ่มส่วนประตูสองข้าง โดยได้ทำการขยายการจำหน่ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตรังด้วย รถรุ่นนี้จึงเป็นรถต้นแบบของรถตุ๊ก ๆ ที่วิ่งกันอยู่ในปัจจุบันของทั้งสองจังหวัด และเมื่อรถบรรทุกสามล้อได้รับความนิยมจากคนไทย จึงมีการนำเข้ารถยี่ห้ออื่น ๆ ตามมา อาทิ ฮีโน่ มิตซูบิชิ เป็นต้น

ในประเทศไทยยุคแรก รถตุ๊ก ๆ ที่มีใช้คือยี่ห้อฮอนด้า ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ ซึ่งตกอยู่ราวคันละ เกือบ 2 หมื่นบาท (ปัจจุบันราคาถึงหลักแสน ปัจจุบันเหลือเพียง มาสด้ามิตซูบิชิสมัยก่อนรถตุ๊ก ๆ มีทางให้ผู้โดยสารขึ้นลง 2 ด้าน แต่เปลี่ยนมาขึ้นลงทางเดียวเพื่อความปลอดภัย

วิวัฒนาการจากการนำรถสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลง โดยเอามาต่อหลังคาเพิ่มไว้สำหรับนั่งโดยสารและขนของได้ จนใน พ.ศ. 2508 ทางราชการเตรียมยกเลิกรถตุ๊ก ๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรถที่มีกำลังแรงม้าต่ำ แล่นช้า เกะกะกีดขวางทางจราจร

รถสามล้อสิงห์ธำรงไทย[แก้]

รถสามล้อสิงห์ธำรงไทย เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของสามล้อสกายแล๊ปขนาดเครื่องยนต์ 150 cc ที่ปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก ด้วยวิธีการออกแบบและวิเคราะห์โครงสร้างโดยหลักวิศวกรรมขั้นสูงคือระเบียบวิธีไฟในต์อิลิเมนต์ (Finite Element Method, FEM) ผลที่ได้ทำให้เกิดการปรับปรุงส่วนกลไกสำคัญต่าง ๆ เช่น รูปร่างโครงสร้าง chassis ระบบส่งกำลังระบบกันสะเทือน ระบบเบรก ระบบเกียร์ถอยหลัง ระบบเสถียรภาพขณะวิ่ง และการเพิ่มพื้นที่บรรทุกภาระสิ่งของหรือผู้โดยสาร ทำให้ได้รถที่มีทั้งสมรรถนะและรูปลักษณ์ทันสมัยน่าใช้งานมากขึ้นกว่ารูปแบบทั่วไปที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน

รถสามล้อสิงห์ธำรงไทย จึงมีจุดเด่นคือ

  • โครงสร้างแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรมยานยนต์
  • ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเองภายในประเทศและมีค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ต่ำ
  • ความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานแบบอเนกประสงค์ได้ทั้งการบรรทุกคนหรือสัมภาระสิ่งของต่าง ๆ หรือเป็นรถนำเที่ยวตามรีสอร์ตเมื่อเพิ่มกำลังเครื่องยนต์เป็นขนาด 650 cc"

รถตุ๊ก ๆ ในต่างประเทศ[แก้]

รถตุ๊ก ๆ ในอินเดีย
รถตุ๊ก ๆ ในบังกลาเทศ
รถตุ๊ก ๆ ในคิวบา

รถตุ๊ก ๆ มีกำเนิดครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1948 โดยชาวอิตาเลียนชื่อ ปิอาจโจ อาเป (Piaggio Ape) ซึ่งเป็นผู้ลิตรถเวสป้าด้วย ซึ่งรถตุ๊ก ๆ มีขีดความเร็วเต็มที่ 30 ไมล์ต่อชั่วโมง และนับแต่นั้นรถตุ๊ก ๆ ก็ได้เผยแพร่และได้รับความนิยมในหลายประเทศทางแถบเอเชีย มาจนถึงปัจจุบัน และเริ่มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในบางประเทศแถบแอฟริกา, อเมริกาใต้ และตะวันออกกลางด้วย

รถตุ๊ก ๆ ในอินเดีย มีสีส่วนใหญ่เป็นสีเขียวเหลือง หรือสีเขียวดำ และถูกห้ามวิ่งในบางถนน ขณะที่ในอียิปต์เป็นสีดำ ที่บังกลาเทศเป็นสีเขียว อันหมายถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่อินเดีย บริษัทผลิตรถตุ๊ก ๆ ที่ใหญ่ที่สุด คือ Bajaj และรุ่นที่แพงที่สุด คือ RE Compact ราคาคันละ 53,000 บาท

รถตุ๊ก ๆ ในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ที่เอกวาดอร์เรียกว่า Mototaxi ที่ศรีลังกาเรียก Three-wheeler ที่บังกลาเทศเรียก Baby taxi ขณะที่คิวบาเรียก Coco Taxi เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายลูกมะพร้าว[1]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

รถตุ๊ก ๆ ได้เคยปรากฏในภาพยนตร์ร่วมสมัยหลายเรื่อง เช่น Octopussy ใน ค.ศ. 1983 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ภาคหนึ่งของภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ในเรื่อง เจมส์ บอนด์ ที่รับบทโดย โรเจอร์ มัวร์ ได้รับรถตุ๊ก ๆ อินเดีย ขณะที่ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง องค์บาก ก็มีฉากไล่ล่ารถตุ๊ก ๆ ถึง 6 คันร่วงตกจากสะพาน 5 คันระเบิดเป็นจุณ ขณะที่อีกหนึ่งคันหายไปในแม่น้ำ[1]

อ้างอิง[แก้]

  • ดาโกะญี่ปุ่น. (2009). ไปขึ้นรถตุ๊ก ๆ กัน. วารสารดาโกะ ฉบับภาษาไทย. 73. 6-9.
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. ผลงานวิจัย สวทช. สู่เชิงพาณิชย์ ปี 2549-2554. ปทุมธานี : สำนักงานฯ, 2554.
  1. 1.0 1.1 หน้า 27, "The tuk-tuk". Travel Icon. "Globetrotter". นิตยสาร Lonely Planet Traveller Thailand: ธันวาคม 2014 ฉบับที่ 40

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]