สัญญากับมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สัญญากับปิศาจ)
สัญญากับมารซึ่งทำเป็นลายลักษ์อักษร
"นักบุญโวล์ฟกังกับมาร" วาดโดย มิคาเอล พาเชอร์ (Michael Pacher)

สัญญากับมาร (อังกฤษ: deal with the Devil, pact with the Devil หรือ devil's contract) หรือ การต่อรองแบบเฟาสต์ (อังกฤษ: Faustian bargain) เป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายในภาคตะวันตกของโลก และได้รับการเสริมเติมแต่งเป็นอันมากจากตำนานของเฟาสต์ (legend of Faust) และตำนานเรื่องมารเมฟิสโตเฟลิส (Mephistopheles) แต่พบมากในนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์

ตามความเชื่อดั้งเดิมในแม่มดของชาวคริสต์ สัญญากับมารเป็นสัญญาระหว่างมนุษย์ ซึ่งเรียก "ผู้ขันต่อ" (wagerer) ฝ่ายหนึ่ง กับซาตาน (Satan) หรือมารอื่น ๆ อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมนุษย์เสนอจะยกวิญญาณของตนให้แก่มาร เพื่อแลกกับการที่มารจะกระทำบางสิ่งบางอย่างให้ การตอบแทนของมารนี้ว่ากันว่าแตกต่างกันไปแล้วแต่ความเชื่อ อาทิ ความเยาว์วัย ความมั่งมี ความรู้ หรืออำนาจวาสนา ยังเชื่อกันด้วยว่า บางคนทำสัญญาเช่นนี้เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจะนับถือมารเป็นนาย และไม่ต้องการสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย อย่างไรก็ดี การต่อรองเช่นนี้นับเป็นสิ่งอันตรายมากสิ่งหนึ่ง ด้วยว่าค่าตอบแทนแรงงานของมารนั้นคือวิญญาณของผู้ขันต่อเอง เรื่องเล่ามักจบแบบสอนใจว่า นักเสี่ยงโชคผู้บ้าระห่ำพบความวิบัติชั่วกัลปาวสาน หรือในทางตรงกันข้าม อาจจบแบบตลกขบขันว่า ไพร่ที่หลักแหลมเอาชนะมารด้วยอุบายอันแยบยล

ความหวังในสิ่งเหนือธรรมดาอย่างแจ้งชัดนั้น บางทีก็เรียกว่าเป็นสัญญากับมาร นับตั้งแต่เรื่องสะพานมารในยุโรป ไปจนถึงความสามารถเล่นไวโอลินได้อย่างบรรเจิดของ นิกโกเลาะ ปากานีนี (Niccolò Paganini)

ภาพรวม[แก้]

มักคิดกันว่า คนผู้ทำสัญญากับมาร ได้ตกลงว่าจะฆ่าหรืออุทิศทารกแรกเกิดให้แก่มาร เข้าร่วมพิธีในวันธรรมสวนะของแม่มด ร่วมเมถุนกรรมกับมาร หรือกับซักคิวบัสหรืออินคิวบัสจนมีบุตรด้วยกัน และเนื่องมาจากมีเด็กตายเมื่อคลอดเป็นจำนวนมากในมัชฌิมยุคและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หมอตำแยหลายคนถูกกล่าวหาว่าทำสัญญากับมารว่าจะอุทิศทารกแรกคลอดให้

สัญญากับมาร จะทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ สัญญาที่เป็นวาจามักกระทำด้วยเรียกมาร โดยวิธีวิงวอนถึง (invocation) สังวัธยายมนตร์ (conjuration) หรือพิธีกรรมอย่างอื่นอันเรียกมารได้ โดยเมื่อบุคคลนั้น ๆ คิดว่า มารมาอยู่เบื้องหน้าแล้ว เขาจะร้องขอให้มารช่วยเหลือ และสัญญาจะยกวิญญาณของเขาให้เป็นการแลกเปลี่ยน การพิจารณาคดีและไต่สวนแม่มดได้ความว่า มารจะทำร่องรอยไว้บนร่างกายของคู่สัญญา เป็นรอยที่ลบไม่ออก เรียกว่า "รอยมาร" (diabolical mark) สำหรับใช้อ้างว่ามีสัญญาต่อกัน และว่ากันว่า บุคคลผู้มีรอยมารอยู่บนร่างกายจะไม่รู้สึกเจ็บปวดในรอยนี้เลย ส่วนสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ก็ใช้วิธีเรียกมารอย่างเดียวกัน แต่จะมีการทำลายลักษณ์อักษร โดยมนุษย์ที่เป็นคู่สัญญาจะลงลายมือชื่อของตนด้วยเลือดของตน บางทีก็ว่ากันว่า ลายลักษณ์อักษรทั้งฉบับนั้นเขียนด้วยเลือด ขณะที่นักมารวิทยา (demonologist) ว่ามีการใช้หมึกแดงแทนเลือด ที่ว่าใช้เลือดสัตว์เขียนแทนเลือดมนุษย์ก็มี ลายลักษณ์อักษรนี้อาจเป็นหนังสือสัญญาฉบับหนึ่ง หรือเป็นการลงลายมือชื่อในบัญชีแดง (Red Book) ของซาตานก็ได้

แม้จะมีการสร้างเครื่องยืนยันถึงความมีอยู่ของสัญญากับมาร แต่ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นของแท้ ทำขึ้นขณะวิกลจริต หรือเป็นพยานหลักฐานเท็จที่มีขึ้นสำหรับใช้ในศาล อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้มักประกอบด้วยลายลักษณ์ประหลาดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลายมือชื่อหรือตราประทับของมารที่แต่ละตนจะมีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน ตำรับตำราหลายเล่ม เช่น กุญแจดอกเล็กของโซโลมอน (Lemegeton Clavicula Salomonis, Lesser Key of Solomon) พรรณนาถึง "รอยมาร" เอาไว้ ส่วน ค้อนของทุรชน (Malleus Maleficarum, Hammer of the Evildoers) กล่าวถึงสัญลักษณ์ประเภทที่อ้างว่าเป็นตัวอย่างของสัญญากับมาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

ตามมารวิทยา การจะเรียกมารแต่ละตนนั้นมีกำหนดวันเวลาแน่ชัดอยู่ การจะทำสัญญากับมารจึงต้องให้ถูกที่ถูกเวลาด้วย นอกจากนี้ มารแต่ละตนยังมีหน้าที่ผิดแผกกันไป ผู้จะทำสัญญากับมารจึงต้องคำนึงข้อนี้ด้วย

อนึ่ง ยังถือกันด้วยว่า แม่มดและนักวิทยาคมมักทำสัญญากับมาร

ทีโอฟิลัสแห่งอะดานา บ่าวสองนาย[แก้]

ในปกรณัมคริสเตียน ทีโอฟิลัส (Theophilus) ข้าวัดผู้หมดอาลัยตายอยาก เพราะมุขนายกของเขาทำให้เขาสิ้นหวังในงานหน้าที่ทางโลก ได้ขายวิญญาณของตนให้แก่มาร แต่พระมารีนิรมลไถ่คืนให้ เรื่องราวนี้เขียนขึ้นเป็นภาษากรีก ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดย ยูทีเคียนัส (Eutychianus) ผู้อ้างว่าเป็นสมาชิกครอบครัวของทีโอฟิลัส[1]

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 9 หนังสือ นักบุญมารีผู้กระทำปาฏิหาริย์สำหรับทีโอฟิลัสผู้กลับใจ" (Miraculum Sancte Marie de Theophilo penitente, Miraculous Saint Mary of the penitent Theophilus) เพิ่มเติมว่า มีชาวยิวคนหนึ่งเป็นตัวกลางระหว่างมารผู้อุปถัมภ์ทีโอฟิลัสกับเขา ซึ่งเป็นเรื่องราวลักษณะเดียวกันอย่างที่ปรากฏในวรรณกรรมละตินชุดอื่น ๆ ของภาคตะวันตกของโลก[2]


สัญญาในประวัติศาสตร์ซึ่งอ้างว่าทำกับมาร[แก้]

นักดนตรี[แก้]

แนวความคิดที่ว่า "ขายวิญญาณของเจ้า เพื่อความรุ่งโรจน์หรือความเป็นเลิศทางดนตรีของเจ้า" บังเกิดขึ้นหลายครั้งในวงการเพลงของโลก โดยเฉพาะในวงการแนวเพลงกีตาร์นำ (guitar dominated genres) และอย่างยิ่ง วงการแนวเพลงบลูส์ลูกทุ่ง ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (pre-World War II rural Blues)

ว่ากันว่า แพร่งบลูส์แมนส์ (Bluesmans' crossroads) ในแยกชิวลา รัฐมิสซิสซิปปี เป็นแหล่งชุมนุมหลักสำหรับทำสัญญากับมาร

ผู้ที่อ้างว่าได้ทำสัญญากับมารแลกความสามารถทางดนตรี เช่น

  • นิกโกเลาะ ปากานีนี (Niccolò Paganini) นักไวโอลินชาวอิตาลี[3]
  • จูเซปเป ตาร์ตีนี (Giuseppe Tartini) นักไวโอลินและนักแต่งเพลงซึ่งเคยเป็นทหารผ่านศึก เชื่อว่า เพลง "เดวิลส์ทริลโซนาตา" (Devil's Trill Sonata) ที่เขาแต่งนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากมารที่ปรากฏตัวต่อเขาในความฝัน[4]
  • ทอมมี จอห์นสัน (Tommy Johnson) นักดนตรีเพลงบลูส์[5]
  • รอเบิร์ต จอห์นสัน (Robert Johnson) นักดนตรีเพลงบลูส์ ผู้ซึ่งประชาชนบางเหล่าเชื่อว่า เขาได้พบกับซาตานที่ทางแพร่ง และขายวิญญาณให้แก่ซาตาน เพื่อจะได้เล่นเพลงบลูส์และได้รับความสามารถเป็นเลิศในการเล่นกีตาร์[5]

ไม่ใช่นักดนตรี[แก้]

  • โจฮัน เกออร์ก เฟาสต์ (Johann Georg Faust) ผู้สร้างตำนานเฟาสต์[6]
  • โจนาทาน มูลตัน (Jonathan Moulton) พลจัตวาแห่งกองหนุนนิวแฮมป์เชียร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นที่เล่าขานว่า ได้ขายวิญญาณให้แก่มาร เพื่อให้ปรากฏเหรียญเต็มรองเท้าบูตของตนเดือนละครั้งทุก ๆ วาระที่แขวนมันไว้กับเตาผิง

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Palmer, Phillip Mason; More, Robert Pattison (1936). The Sources of the Faust Tradition: From Simon Magus to Lessing. New York: Oxford University Press. OCLC 3444206.
  2. Representative examples of the Latin tradition were analysed by Moshe Lazar, "Theophilus: Servant of Two Masters. The Pre-Faustian Theme of Despair and Revolt" in Modern Language Notes 87.6, (Nathan Edelman Memorial Issue November 1972) pp 31-50.
  3. Schonberg, Harold C. (1997). The Lives of the Great Composers (3rd ed.). W. W. Norton & Company. ISBN 0393038572. OCLC 34356892.
  4. Dr. Simon Richter. Did Giuseppe Tartini Sell His Soul to the Devil? University of Pennsylvania. 18 July 2008. <http://ccat.sas.upenn.edu/german/course_webpages/devil/grmn256/gtdeal.html>
  5. 5.0 5.1 Weissman, Dick (2005). Blues: The Basics. New York: Routledge. ISBN 0415970679. OCLC 56194839.
  6. Ruickbie, Leo, Faustus: The Life and Times of a Renaissance Magician. The History Press, 2009. ISBN 978-0750950909.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สัญญากับมาร