รอเบิร์ต จอห์นสัน
รอเบิร์ต จอห์นสัน | |
---|---|
ชื่อเกิด | รอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน |
เกิด | 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 เฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ |
เสียชีวิต | 16 สิงหาคม ค.ศ. 1938 กรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ | (27 ปี)
แนวเพลง | เดลตาบลูส์ |
อาชีพ | นักดนตรี, นักร้อง, นักแต่งเพลง |
เครื่องดนตรี | กีตาร์, เสียงร้อง, ฮาร์โมนิกา |
ช่วงปี | ค.ศ. 1929–1938 |
รอเบิร์ต ลีรอย จอห์นสัน (อังกฤษ: Robert Leroy Johnson, 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1911 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1938) เป็นนักเล่นกีตาร์ นักร้อง และนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ผลงานการบันทึกเสียงในปี ค.ศ. 1936 และ 1937 ทำให้เขาได้รับการยอมรับในฐานะนักดนตรีบลูส์ฝีมือฉกาจ นอกจากนี้วิธีการร้อง การเล่นกีตาร์ และการเขียนเนื้อเพลงของจอห์นสันยังส่งอิทธิพลต่อนักดนตรีรุ่นหลังหลายคน เอริก แคลปตัน นักเล่นกีตาร์ชาวอังกฤษกล่าวว่าจอห์นสันเป็น "นักร้องเพลงบลูส์ที่มีความสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[1][2] ขณะที่คีธ ริชาดส์ มือกีตาร์วงเดอะโรลลิงสโตนส์กล่าวในปี ค.ศ. 1990 ว่า "หากคุณอยากรู้ว่าดนตรีบลูส์สามารถเล่นให้ดีได้ถึงขนาดไหน ให้ดูที่จอห์นสัน"[3] อย่างไรก็ตาม จอห์นสันเป็นที่รู้จักและมีบันทึกเกี่ยวกับตัวเขาน้อยมากในช่วงที่มีชีวิตอยู่ จึงก่อให้เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ นานา รวมถึงเรื่องเล่าที่ว่าเขาแลกวิญญาณตัวเองกับปีศาจที่ทางแพร่งเพื่อให้บรรลุความสำเร็จด้านดนตรี
ประวัติ[แก้]
รอเบิร์ต จอห์นสันเกิดในปี ค.ศ. 1911 ที่เมืองเฮเซิลเฮิสต์ รัฐมิสซิสซิปปี เป็นบุตรของโนอาห์ จอห์นสันกับจูเลีย ดอดส์ ต่อมาจอห์นสันย้ายตามแม่ที่แต่งงานใหม่ไปอยู่ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ที่ซึ่งความสนใจด้านดนตรีบลูส์ของเขาเริ่มขึ้น[4] จอห์นสันอาศัยอยู่ที่เมืองนี้เกือบ 10 ปีก่อนจะย้ายตามแม่ไปหลายเมืองแล้วลงหลักปักฐานที่ไร่แอบเบย์แอนด์เลเธอร์แมนในเมืองโรบินสันวิลล์[5] ในปี ค.ศ. 1929 จอห์นสันแต่งงานกับเวอร์จิเนีย เทรวิส แต่เธอเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ไม่นานหลังจากนั้น[6] แมก แมคคอร์มิก นักดนตรีวิทยาผู้สืบค้นประวัติศาสตร์ดนตรีบลูส์รายงานว่าญาติของเวอร์จิเนียกล่าวว่าการตายของเวอร์จิเนียเป็นการลงโทษจากเบื้องบน หลังจอห์นสัน "ขายวิญญาณให้ปีศาจ" ด้วยการตัดสินใจละทิ้งอาชีพชาวไร่ไปเป็นนักดนตรีพเนจร[7] ในช่วงเวลาเดียวกัน ซัน เฮาส์ นักดนตรีบลูส์ย้ายมาอยู่ที่เมืองโรบินสันวิลล์ เขากล่าวในช่วงบั้นปลายว่าจอห์นสันเป็น "นักเล่นฮาร์โมนิกาที่มีความสามารถ แต่เป็นมือกีตาร์ที่เล่นได้แย่มาก ๆ" จากนั้นไม่นาน จอห์นสันจากเมืองโรบินสันวิลล์ไปอยู่ใกล้เมืองมาร์ตินส์วิลล์ และฝึกฝนจนสามารถเล่นกีตาร์ได้อย่างเฮาส์และไอก์ ซิมเมอร์แมน[8] เมื่อกลับมาที่โรบินสันวิลล์ ฝีมือการเล่นกีตาร์ของเขาก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างน่าประหลาดจนเป็นที่ร่ำลือในหมู่นักดนตรีว่าจอห์นสันขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อแลกกับความสามารถทางด้านดนตรี ปีค.ศ. 1931 จอห์นสันแต่งงานกับคาเลตตา คราฟต์ และย้ายไปอยู่ที่เมืองคลากส์เดล ก่อนเธอจะเสียชีวิตในอีกสองปีต่อมา[9] ระหว่างปีค.ศ. 1932–1938 จอห์นสันเดินทางไปมาระหว่างเมืองเมมฟิสกับเฮเลนา รัฐอาร์คันซอ[10] และบางครั้งเดินทางไปแสดงดนตรีไกลถึงชิคาโก เท็กซัสและนิวยอร์ก[11] โดยในการเดินทางแต่ละครั้ง จอห์นสันมักใช้ชื่อที่แตกต่างกันไปและผู้คนที่ให้ที่พักอาศัยแก่จอห์นสันมักไม่ทราบภูมิหลังของเขา[12]
การเสียชีวิต[แก้]
รอเบิร์ต จอห์นสันเสียชีวิตด้วยวัย 27 ปีที่เมืองกรีนวูด รัฐมิสซิสซิปปีในปี ค.ศ. 1938 โดยไม่ทราบสาเหตุ เกือบ 30 ปีต่อมา เกย์ล ดีน วอร์ดโลว์ นักดนตรีวิทยาทำการสืบค้นจนพบมรณบัตรของจอห์นสันที่ระบุแค่วันที่และสถานที่ แต่ไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตและการชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนานี้ก่อให้เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่น จอห์นสันถูกวางยาพิษในสุราโดยสามีของหญิงสาวที่จอห์นสันไปติดพันด้วย โดยพิษดังกล่าวอาจเป็นสตริกนิน (แต่มีการโต้แย้งว่าสตริกนินมีกลิ่นและรสแรงเกินกว่าจะอำพรางด้วยสุราได้)[13] ขณะที่หนังสือ Up Jumped the Devil เสนอว่าอาจเป็นแนฟทาลีนจากการละลายลูกเหม็นเนื่องจากเป็นวิธีทั่วไปในการวางยาพิษของทางใต้ของสหรัฐ ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจทำให้จอห์นสันซึ่งเป็นหลอดเลือดขอดในหลอดอาหารมีอาการเลือดออกจนเสียชีวิตได้[14] ขณะที่เดวิด คอร์เนล แพทย์สันนิษฐานจากการตรวจสอบภาพถ่ายของจอห์นสันว่าเขาอาจเป็นกลุ่มอาการมาร์แฟน ซึ่งส่งผลให้จอห์นสันเสียชีวิตจากการฉีกเซาะของเอออร์ตา[15]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "The 50 Albums That Changed Music". The Observer. July 16, 2006. สืบค้นเมื่อ November 1, 2008.
- ↑ LaVere, Stephen (1990). Booklet accompanying Complete Recordings. Sony Music Entertainment. p. 26.
- ↑ Thompson, M. Dion (1998-03-05). "At the American Folklife Center, a blues resurrection: A long-lost recording by bluesman Robert Johnson is most remarkable for flaws that make the legendary musician a little more human". THE BALTIMORE SUN (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-04-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Guralnik, pp. 10–11.
- ↑ Mississippi Blues Trail. Retrieved September 25, 2018.
- ↑ Wald 2004, p. 108.
- ↑ The Search for Robert Johnson, 1992 film.
- ↑ Pearson and McCulloch, p. 7.
- ↑ Conforth and Wardlow, 2019, pp.112-113
- ↑ Pearson and McCulloch, p. 12.
- ↑ Neff and Connor, p. 56.
- ↑ Gioia, pp. 172–173.
- ↑ Graves, Tom; LaVere, Steve (2008). Crossroads: The Life and Afterlife of Blues Legend Robert Johnson. Demers Books. pp. 39–43. ISBN 978-0-9816002-0-8.
The tale most often told about how Johnson met his fate is that he was poisoned by a jealous husband who put strychnine in his whiskey.
- ↑ Conforth and Wardlow 2019, pp. 253-255.
- ↑ Connell, D. (2006). "Retrospective blues: Robert Johnson—an open letter to Eric Clapton". British Medical Journal. 333 (7566): 489. doi:10.1136/bmj.333.7566.489. PMC 1557967.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: รอเบิร์ต จอห์นสัน |
![]() |
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |