สะพานหิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สะพานหิน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมืองภูเก็ต มีลักษณะเป็นชายหาดอยู่สุดถนนภูเก็ตซึ่งยื่นลงไปในทะเลเล็กน้อย เป็นที่ตั้ง ของอนุสาวรีย์หลัก 60 ปี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ ชาวออสเตรเลียผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2452 รวมทั้งเป็นที่ตั้งของศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์แก่ประชาชน ศูนย์เยาวชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครภูเก็ต และศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง สถานที่สักการะพระนางกิ้วเที้ยนเลี่ยนลื้อ และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในเทศกาลกินผัก

ประวัติ[แก้]

ภาพอนุสาวรีย์หลัก 60 ปีเมื่อแรกสร้าง

เดิมที บริเวณสะพานหินเป็นท่าเรือสำคัญที่เรือขนส่งสินค้า และเรือโดยสารใช้เป็นจุดเทียบท่า ถือเป็นท่าเรือใหญ่ของการเดินทางในเขตทะเลอันดามัน เชื่อกันว่าท่าเรือสะพานหินยังเป็นท่าเทียบเรือที่ตัวแทนชาวภูเก็ตซึ่งเดินทางกลับจากประเทศจีนนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) มาเพื่อประกอบพิธีกินผัก จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสะพานหิน ยังเป็นบริเวณที่เรือขุดแร่ลำแรกของโลกทำการขุดแร่ดีบุกจากอ่าวทุ่งคาซึ่งเป็นทะเลบริเวณสะพานหินขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกด้วย โดยผู้นำเรือขุดแร่ดังกล่าวเข้ามาขุดแร่ คือ กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมลส์ ชาวออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2452[1] ซึ่งภายหลังก็ส่งผลให้มีการสร้างเรือขุดแร่ขึ้นใช้งานอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 อธิบดีกรมมีความคิดที่จะให้มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการขุดแร่ด้วยเรือขุดแร่ลำแรกของโลก จึงได้เปิดให้มีการประกวดออกแบบจนสิ้นปี พ.ศ. 2511 มีผู้ประกวดออกแบบทั้งสิ้น 6 ราย ทางคณะกรรมการพิจารณาเลือกแบบของนายชวลิต หัสพงษ์ มาดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด (อังกฤษ: Tongkah Harbour Tin Dredging Co. Ltd)[2] ที่ตั้งของอนุสาวรีย์ดังกล่าวอยู่บริเวณริมหาดปลายแหลมของสะพานหิน ณ ขณะนั้น

สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ[แก้]

ภายหลังมีการถมทะเลบริเวณสะพานหินเพิ่มพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยใช้วัสดุส่วนหนึ่งเป็นดินโคลนที่ลอกจากคลองก่อจ๊าน ซึ่งเป็นคลองที่ขุดลอกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่จอดเรือประมงขนาดเล็ก ดำเนินการขุดโดยกัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมลส์[3] วัสดุอีกส่วนเป็นขยะและซากจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้รับการปรับปรุงใช้เป็นสนามกีฬากลางและศูนย์อำนวยความสะดวกต่างๆ ของเทศบาลนครภูเก็ตส่วนหนึ่ง ใช้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกส่วนหนึ่ง

สิ่งปลูกสร้างอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่บริเวณสะพานหิน คือ ศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง ซึ่งใช้เป็นที่สักการบูชาพระนางกิ้วเที้ยนเลี่ยนลื้อ ผู้เป็นเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนาเต๋า โดยสร้างตามคำบอกเล่าของร่างทรง ว่าพระนางต้องการให้สร้างศาลเจ้าสำหรับพระนางขึ้นที่ปลายแหลมสะพานหิน เพื่อที่พระนางจะได้ช่วยปกป้องลูกหลานชาวภูเก็ตจากภัยพิบัติต่างๆ[4] โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2539 จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2540 มีลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลกินผัก ศาลเจ้าแห่งนี้ยังใช้เป็นที่ประกอบพิธีรับพระและส่งพระในตอนเริ่มและตอนท้ายของพิธีกินผัก


อ้างอิง[แก้]

  1. กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ ผู้ขุดแร่ดีบุกด้วยเรือขุดแร่ลำแรกของโลก
  2. การดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์หลัก 60 ปี[ลิงก์เสีย]
  3. การขุดลอกคลองจอดเรือประมงและท่าเรือน้ำลึกของภูเก็ต
  4. "ตำนานศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2010-01-27.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 7°52′06″N 98°23′46″E / 7.868334°N 98.396108°E / 7.868334; 98.396108