สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา
ศิลปินทิเชียน
ปีค.ศ. 1545 – 1546
สื่อภาพวาดสีน้ำมัน
มิติ210 cm × 176 cm (83 นิ้ว × 69 นิ้ว)
สถานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต, นาโปลี

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา (อังกฤษ: Pope Paul III and His Grandsons; อิตาลี: Papa Paolo III e i nipoti)[1] เป็นภาพวาดสีน้ำมันที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยทิเชียน ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับว่าจ้างจากตระกูลฟาร์เนเซและวาดขึ้นในระหว่างการเยือนกรุงโรมของทิเชียนตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1545 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1546[2] ภาพได้พรรณนาถึงความสัมพันธ์อันหยาบกระด้างระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 กับออตตาวีโอและอาเลสซันโดร ฟาร์เนเซ ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระองค์ ในรายละเอียดของภาพ ออตตาวีโอจะแสดงกิริยายืนคุกเข่าอยู่ทางด้านซ้ายของพระสันตะปาปา ส่วนอาเลสซันโดรสวมชุดพระคาร์ดินัล ยืนอยู่ทางด้านหลังขวามือของพระองค์ ภาพวาดแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากความชราวัยและการวางกลยุทธ์ภายหลังการสืบต่ออำนาจของสมเด็จพระสันตะปาปาปอล โดยในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเจ็ดสิบปลาย ๆ และดำรงตำแหน่งท่ามกลางบรรยากาศความไม่แน่นอนทางการเมืองในรัชสมัยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

พระสันตะปาปาปอลมิใช่คนเคร่งศาสนา พระองค์ทรงมองว่าตำแหน่งพระสันตะปาเป็นเพียงช่องทางเสริมสร้างความมั่นคงแก่ตระกูลของพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงแต่งตั้งอาเลสซันโดรเป็นพระคาร์ดินัลแม้จะมีผู้ครหาว่าเป็นการเห็นแก่ญาติ ทรงอุปภัมภ์บุตรนอกสมรสจำนวนหนึ่ง และใช้เงินภายในคริสตจักรเป็นจำนวนมากสำหรับการสะสมงานศิลปะและโบราณวัตถุ ต่อมาเมื่อประมาณ ค.ศ. 1545 จักรพรรดิคาร์ลทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองและการทหารมากขึ้น ทำให้ตำแหน่งพระสันตะปาปาเริ่มอ่อนแอลง เมื่อกระแสอิทธิพลเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทิเชียนจึงละทิ้งงานที่ได้รับว่าจ้างก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์[3] และในอีก 100 ปีให้หลัง ภาพวาดจึงถูกจัดเก็บไว้ที่ห้องใต้ดินของตระกูลฟาร์เนเซในสภาพที่ชำรุดและไม่ใส่กรอบ

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 และพระราชนัดดา ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีและเฉียบแหลมที่สุดของทิเชียน แม้ว่าผลงานจะค้างคาและมีความสมบูรณ์น้อยกว่าผลงานอีกชิ้นของเขาอย่างภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ที่สร้างสรรค์ขึ้นก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ภาพวาดนี้มีชื่อเสียงในการใช้สีที่เข้มข้น ทั้งสีแดงเข้มของผ้าคลุมโต๊ะและสีขาวสว่างของฉลองพระองค์ของพระสันตะปาปา นอกจากนี้ ภาพวาดยังได้สะท้อนสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่ละเอียดอ่อนในสถานภาพของพระองค์ และการสัมผัสถึงพลังทางจิตใจที่ซับซ้อนระหว่างบุรุษทั้งสาม[4]

บริบท[แก้]

ภาพเหมือนที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปของออตตาวีโอ ฟาร์เนเซ วาดโดยทิเชียนในช่วง ค.ศ. 1540–1545 หรือรู้จักในชื่อ ภาพเหมือนชายหนุ่มชาวอังกฤษ ออตตาวีโอได้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้น่ายำเกรงด้วยสิทธิของตัวเขา ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำจากจักรพรรดิคาร์ล และกลายเป็นขุนนางเมื่อ ค.ศ. 1547[5]

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 เป็นพระสันตะปาปาพระองค์สุดท้ายที่ทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยตระกูลเมดีชีแห่งฟลอเรนซ์[6] พระองค์ทรงมีความทะเยอทะยานในสังคม เป็นผู้ที่เห็นความสำเร็จของงานเหนือสิ่งอื่นใด และมิได้เคร่งศาสนาเท่าใดนัก พระองค์ทรงเก็บภรรยาลับ[7] ซึ่งได้ให้กำเนิดบุตรนอกสมรสสี่คน และมองว่าตำแหน่งเป็นโอกาสที่จะเติมเต็มทรัพย์สินของพระองค์ ในขณะเดียวกันก็มอบยศระดับสูงให้แก่บรรดาพระญาติ นอกจากนี้ ด้วยความสามารถทางการเมืองและความหลักแหลมของพระองค์ สมเด็จพระสันตะปาปาปอลจึงทรงเป็นบุคคลที่ชาวฟลอเรนซ์ต้องการอย่างเจาะจง เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในการป้องกันภัยคุกคามจากฝรั่งเศสและสเปน[8]

พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเมื่อ ค.ศ. 1534 ในพระชนมายุ 66 พรรษา และทรงแต่งตั้งสมาชิกในตระกูลของพระองค์ให้ดํารงตําแหน่งสําคัญทันที พระองค์ทรงแต่งตั้งพระราชนัดดาอาเลสซันโดร ผู้เป็นบุตรองค์โตของปีเอร์ลุยจี บุตรชายนอกสมรสของพระองค์ ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลในวัย 14 ปี เพื่อหยุดยั้งประเพณีการสมรสบุตรหัวปีของตระกูลฟาร์เนเซเพื่อสืบต่อนามสกุล การดำเนินการนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะพระราชนัดดาองค์รองออตตาวีโอมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น ด้วยพระคาร์ดินัลที่อายุน้อยคงมิอาจเป็นที่ยอมรับทางการเมืองได้ รวมถึงพระชนมายุที่มากขึ้นของพระสันตะปาปาปอล ทำให้ตระกูลไม่สามารถรอจนกว่าบุตรองค์รองจะบรรลุนิติภาวะ ดังนั้นอาเลสซันโดรจึงกลายเป็นผู้ช่วยพระคาร์ดินัล (cardinal deacon) การแต่งตั้งนี้ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคำบัญชาใหญ่ (major orders) แต่บังคับให้พรหมจรรย์และละทิ้งสิทธิของบุตรหัวปี ซึ่งทำให้สิทธิถูกถ่ายโอนไปยังออตตาวีโอ[6] อาเลสซันโดรรู้สึกเสียดายอย่างขมขื่นต่อข้อผูกพันเหล่านี้ พระสันตะปาปาปอลทรงแต่งตั้งออตตาวีโอเป็นดยุกแห่งกาเมรีโนเมื่อ ค.ศ. 1538 และในปีเดียวกัน ออตตาวีโอได้สมรสกับมาร์กาเร็ต พระราชธิดาในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ซึ่งต่อมากลายเป็นเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งปาร์มา[9] จากความก้าวหน้าในตำแหน่งของพระราชนัดดาทั้งสอง ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อหลักฐานเกี่ยวกับความเห็นแก่ญาติ[5]

ภาพเหมือนพระคาร์ดินัลอาเลสซันโดร ฟาร์เนเซ วาดโดยทิเชียนในช่วง ค.ศ. 1545–1546 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต

การเสกสมรสของออตตาวีโอสร้างความไม่สบายใจให้แก่อาเลสซันโดร เขาจำต้องฝืนทนกับภาระของการถือพรหมจรรย์และได้เพ้อฝันถึงจินตนาการที่จะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิง อาเลสซันโดรไม่พอใจในข้อตกลงของน้องชายของเขา โดยในระหว่างพิธีเสกสมรส เขา "เริ่มไม่มีชีวิตชีวายิ่งกว่าความตายเสียอีก และอย่างที่พวกเขากล่าว นั่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทานทนได้ เขาซึ่งเป็นบุตรคนแรกต้องทนเห็นตนเองถูกลิดรอนสถานะที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ รวมถึงพระราชธิดาของจักรพรรดิ"[6] ใน ค.ศ. 1546 พระสันตะปาปาปอลพระราชทานที่ดินในศักดินาของสันตะปาปาให้แก่ปีเอร์ลุยจี ผู้เป็นดัชชีแห่งปาร์มาและปีอาเซนต์ซา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับสูงของสมเด็จพระสันตะปาปา ด้วยการกระทำเช่นนี้ จึงถือพระองค์ทรงมอบตำแหน่งและความมั่งคั่งให้แก่ปีเอร์ลุยจี รวมถึงยังพระราชทานยศแก่ขุนนางที่สนับสนุนหรือเป็นหนี้ความกตัญญู เพื่อรับประกันว่าดัชชีต่าง ๆ จะยังคงอยู่ภายใต้พระสันตะปาปา ในเวลาเดียวกัน ออตตาวีโอได้ย้ายไปยังทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อสนับสนุนจักรพรรดิคาร์ล[5] เมื่อ ค.ศ. 1546 ออตตาวีโอในวัย 22 ปี[10] ได้เสกสมรสกับมาร์กาเร็ตแห่งออสเตรียและกลายเป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1547 บิดาของเขาถูกลอบสังหาร ออตตาวีโอจึงอ้างสิทธิ์เหนืออาณาจักรดยุกแห่งปาร์มาและปีอาเซนต์ซา ซึ่งขัดต่อพระประสงค์ของทั้งจักรพรรดิคาร์ล หรือแม้แต่พระสันตะปาปาปอลเอง ในการกระทำเช่นนี้ ออตตาวีโอวางตัวต่อต้านความปรารถนาของพระสันตะปาปาที่จะรักษาบรรดาดัชชีไว้ในฐานะศักดินาของสันตะปาปา รวมถึงจักรพรรดิคาร์ล ซึ่งออตตาวีโอเชื่อว่าพระองค์ต้องรับผิดชอบต่อแผนการลอบสังหารปีเอร์ลุยจี[5]

ทิเชียนเป็นสหายส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ[11] การว่าจ้างภาพเหมือนนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากเจตนาของพระสันตะปาปาปอลเพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ด้วยแรงกดดันจากการปฏิรูปพระมหากษัตริย์ในฝรั่งเศสและสเปน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลในการสนับสนุนของฝรั่งเศส ตำแหน่งสันตะปาปาของตระกูลฟาร์เนเซจึงเป็นอันสิ้นสุดลงหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาปอลไม่นาน[4] ออตตาวีโอเป็นผู้มีความสามารถในตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำจากจักรพรรดิ แม้ว่าตำแหน่งที่ได้รับมานั้นจะสร้างความแข็งแกร่งในสถานะของตระกูล แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดนี้จะไม่ต้องแลกกับสิ่งใดเลย ความสําเร็จของเขาทําให้เกิดความขุ่นเคืองในวงศ์ตระกูล ในขณะที่เขาเริ่มเห็นว่าตัวเองไม่สามารถรับผิดชอบต่อกรุงโรมได้[5]

ในช่วงเวลาของภาพเหมือน สมเด็จพระสันตะปาปาปอลทรงโน้มน้าวให้อาเลสซันโดรรักษาตำแหน่งไว้ โดยบอกเป็นนัยว่าเขาจะได้สืบทอดตําแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาในภายหลัง ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นความทะเยอทะยานที่ผิดหวัง เมื่ออาเลสซันโดรตระหนักถึงความว่างเปล่าของคําสัญญา เขาสูญเสียความมั่นใจในทั้งคําพูดของปู่และความน่าเชื่อถือทางการเมือง[12]

การว่าจ้าง[แก้]

ดานาแอกับเอรอส สร้างสรรค์เมื่อ ค.ศ. 1544 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต เมืองนาโปลี จิตรกรรมชุดแรกของทิเชียนได้รับการว่าจ้างจากทั้งออตตาวีโอและอาเลสซันโดร ฟาร์เนเซ[13]

ภาพวาดได้รับการว่าจ้างใน ค.ศ. 1546 หลังจากทิเชียนรับจ้างสร้างสรรค์ภาพเหมือนชุดพระสันตะปาปาปอล เขาได้วาดภาพของปีเอร์ลุยจีและบุตรทั้งสามคน (วิตโตเรีย, อาเลสซันโดร และรานุชชีโอ)[5] และเป็นไปได้ว่าเขาจะวาดภาพของออตตาวีโออีกครั้งหนึ่งด้วยเมื่อ ค.ศ. 1552[8][14] อีกทั้งเขาน่าจะเป็นผู้ว่าจ้างจิตรกรรมแผงแบบนาโปลีดั้งเดิมอย่างภาพวาดดานาแอของทิเชียน[8] แม้ว่าโลโดวีโก ดอลเช จะเชื่อว่าเป็นอาเลสซันโดร เนื่องจากเขาเป็นคนสนิทของทิเชียน[13]

ชื่อเสียงของทิเชียนนั้นมีมากจนเขาถูกเรียกตัวไปยังกรุงโรมอยู่บ่อยครั้งในช่วงต้นทศวรรษ 1540 ครั้งแรกโดยพระคาร์ดินัลปีเอโตร เบมโบ และหลังจากนั้นโดยตระกูลฟาร์เนเซ ประมาณกลางทศวรรษ 1540 ทิเชียนกลายเป็นจิตรกรภาพเหมือนประจำตระกูลฟาร์เนเซ หลังจากทิเชียนวาดภาพเหมือนของปีเอร์ลุยจีและพระสันตะปาปาปอลได้จำนวนหนึ่ง เขาจึงได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้เตรียมการสำหรับสัญลักษณ์ของการครองตำแหน่งของพระสันตะปาปาปอล ซึ่งทั้งหมดนี้ (สร้างความตระหนักรู้และความทะเยอทะยานทางการเมืองของพวกเขา) วางจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นสารสาธารณะต่อการยกระดับทางสังคมของพวกเขา พระสันตะปาปาปอลทรงรับรู้ถึงอิทธิพลของทิเชียนในเวนิสเป็นอย่างดี และภายหลัง ค.ศ. 1538 ทิเชียนจึงได้รับการอนุญาตให้เป็นจิตรกรประจำพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น[15][16]

ภาพเหมือนรานุชชีโอ ฟาร์เนเซ บุตรของปีเอร์ลุยจีในวัย 12 ปี เมื่อ ค.ศ. 1542 ซึ่งไม้กางเขนสีขาวที่ประดับอยู่บนหน้าอกด้านซ้ายของเขาถือเป็นเครื่องหมายยืนยันในฐานะอัศวินแห่งคณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตา โดยผลงานชิ้นนี้ทำให้ทิเชียนได้ติดต่อกับพระสันตะปาปาเป็นครั้งแรก

ทิเชียนเบื่อหน่ายกับการเดินทางและปฏิเสธข้อเสนอนี้ แต่เมื่อพระสันตะปาปาปอลเสด็จไปยังทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อเจรจากับจักรพรรดิคาร์ลเมื่อ ค.ศ. 1543 พระองค์ทรงพบกับทิเชียนเป็นครั้งแรกและประทับเป็นแบบให้กับภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ที่มิได้ทรงพระมาลา ในช่วงเวลานี้ ปอมโปนีโอ บุตรชายของทิเชียนตัดสินใจที่จะเข้ารับเป็นบาทหลวง และทิเชียนจึงสบโอกาสนี้ในการติดต่อกับพระสันตะปาปาเพื่อให้ได้มาซึ่งศาสนจักรและที่ดินสำหรับบุตรชาย โดยผ่านการติดต่อกับพระคาร์ดินัลอาเลสซันโดร[12] ทิเชียนได้เสนอที่จะวาดภาพเหมือนให้กับตระกูลฟาร์เนเซแลกกับการมอบแอบบีย์นักบุญเปโตรในกอลเลอุมเบร์โต ซึ่งติดกับพื้นที่ของทิเชียนในเชเนดา จักรพรรดิคาร์ลทรงเคารพต่อความประสงค์ทิเชียน นั่นจึงทำให้เขามีอิทธิพลในการเจรจากับตระกูลฟาร์เนเซมากขึ้น เมื่อเขาได้รับการเสนอค่าจ้างและคำเชิญสู่กรุงโรม เขาจึงชี้แจงอย่างชัดเจนว่าเขาจะรับงานนี้เพื่อแลกกับผลประโยชน์เพียงเท่านั้น ซึ่งในตอนแรกได้รับการปฏิเสธกลับมา แต่เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1544 ทิเชียนได้ส่งข้อความถึงพระคาร์ดินัลอาเลสซันโดรอย่างมั่นใจว่าเขาจะไปเยี่ยมเยือนเพื่อ "ลงสีตระกูลของท่านผู้ทรงเกียรติอันรุ่งโรจน์จนถึงแมวตัวสุดท้าย"[17] ถึงอย่างนั้น ทิเชียนก็มิได้ดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งเดือนตุลาคมของปีถัดมา เมื่อเขามาถึงยังโรม เขาได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นแขกคนสําคัญที่สุดของเมืองและมีการจัดที่พักไว้ที่หอทัศนา[17] ซึ่งที่สุดแล้วภาพเหมือนก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อได้รับผลประโยชน์แล้ว เขามองว่าไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะต้องพำนักในโรมต่อไปและจึงละทิ้งงานทั้งหมดที่ยังค้างคา[4]

รายละเอียด[แก้]

ภาพเหมือนพรรณนาถึงความตึงเครียดและยุทธวิธีทางการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นหลังสีแดงเข้มและการลงพู่กันหนักสร้างบรรยากาศอันวิตกและตึงเครียด[4] รวมถึงความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างพระสันตะปาปาและชายหนุ่มทั้งสอง[18] พระสันตะปาปาในภาพมีลักษณะที่ทรงชราภาพ มีอาการประชวรและอิดโรย ซึ่งในสายตาของนักวิจารณ์ได้จับจ้องไปที่ออตตาวีโอในลักษณะกล่าวหา พระมาลาของพระองค์ (กามาอูโร) มีไว้เพื่อปิดบังพระเศียรที่ไร้พระเกศา แต่ก็มีการบ่งบอกถึงพระชนมายุจากพระนาสิกที่ยาว พระเนตรที่คล้ำหม่นหมอง พระอังสาตก และพระทาฐิกะที่ยาวไม่สม่ำเสมอกัน[19] พระองค์ในภาพมีพระชนมายุมากกว่าในภาพเหมือนแบบนาโปลีชิ้นที่สองที่วาดขึ้น ป. ค.ศ. 1545 อย่างชัดเจน[20] ความจริงนี้ถูกเสริมด้วยนาฬิกาที่วางอยู่บนโต๊ะข้างพระองค์ ซี่งเป็นสัญญาณของการรับรู้ถึงเวลาแห่งการสิ้นพระชนม์และเป็นการเตือนว่าเวลาใกล้หมดลงแล้ว[21] นอกจากนี้ การปรากฏตัวของพระราชนัดดาทั้งสองบ่งชี้ว่าการว่าจ้างได้รับการกระตุ้นผ่านแนวคิดของการสืบทอด[15]

อย่างไรก็ตาม พระสันตะปาปาปอลในภาพยังคงรักษาซึ่งปัจจัยของการเป็นพระสังฆราชที่ทรงอำนาจและเตรียมพร้อม มุมของภาพวาดได้รับการจัดไว้เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็น ทำให้แม้ว่าพระสันตะปาปาจะอยู่ในตําแหน่งต่ำของพื้นที่ภาพนี้ แต่ผู้ชมก็ต้องเงยหน้าขึ้นมองพระองค์ราวกับว่าเคารพ พระองค์แต่งพระวรกายด้วยความโอ่อ่า ทรงฉลองพระองค์ส่วนในพระกรกว้างที่ปกคลุมด้วยขนแกะ (เป็นเครื่องหมายของชาวเวนิสเพื่อแสดงถึงสถานภาพ) และฉลองพระองค์ส่วนนอกบนพระวรกายส่วนบนทำให้สื่อถึงการปรากฏตัวทางรูปธรรม[3]

ภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 วาดขึ้นใน ค.ศ. 1543 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาโปดีมอนเต เมืองนาโปลี หลังจากพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปา พระองค์จึงได้เสนอให้ทิเชียนเป็นจิตรกรภาพเหมือนของพระองค์เพียงผู้เดียว

ผลงานนี้มักมีการเปรียบเทียบกับภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 กับพระคาร์ดินัลที่วาดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1518–1519 และภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 ที่วาดขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1511–1512 ของราฟาเอลในเรื่องของการลงสีและพลังทางจิตใจ ทิเชียนปฏิบัติตามอาจารย์ผู้อาวุโสกว่าในบางแง่มุม โดยได้เน้นถึงพระชนมายุของพระสันตะปาปาและแสดงพระองค์อย่างเป็นธรรมชาติ มากกว่าที่จะเป็นการแสดงความเคารพ[22] ทิเชียนเป็นผู้มองการณ์ไกลกว่านั้นมาก ในขณะที่ภาพเหมือนของราฟาเอลจะแสดงให้เห็นถึงพระสันตะปาปาผู้สูงส่งและลึกซึ้งในจิตใจ ทิเชียนจะสื่อประเด็นของเขาให้เจิดจรัสออกไปด้านนอก และดึงดูดให้อยู่ในช่วงเวลาแห่งความกลัว แต่คาดการณ์ได้อย่างแหลมคม[19] โดยศิลปิน จิลล์ ดังเกอร์ตัน ได้อธิบายถึงความเจิดจรัสที่แหลมคมของทิเชียนไว้ว่าเหมือนได้จับ "ดวงตาดวงเล็กที่เปล่งประกาย แต่ ... สัมผัสได้ถึงความอัจฉริยะของเขา"[3]

ภาพวาดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนตามแนวทแยงมุมที่แยกโดยสีและเฉดสี พื้นที่สองในสามส่วนล่างโดดเด่นไปด้วยรงควัตถุที่เน้นสีแดงและสีขาว ส่วนพื้นที่ส่วนขวาบนโดดเด่นไปด้วยรงควัตถุสีน้ำตาลและสีขาว ซึ่งการแบ่งภาพวาดสังเกตได้จากเส้นทแยงมุมที่ขอบผ้าม่านด้านบนลงไปจนถึงสนับแข้งของออตตาวีโอ นอกจากนี้ ยังมีการซ้ำของสีอื่นและลวดลายต่าง ๆ ได้แก่ สีแดงบนเสื้อคลุมของพระสันตะปาปาตัดกับกำมะหยี่บนพระราชอาสน์และผ้าม่านที่ยื่นออกมา[4] การใช้สีและความส่องสว่างที่เร้าอารมณ์นี้ส่วนหนึ่งนำมาประกอบกับการออกแบบนี้ และทิเชียนใช้วิธีที่ย้อนกลับจากเทคนิคการวาดภาพโดยทั่วไปในการสร้างเฉดสี เขาเริ่มต้นด้วยการใช้ฉากหลังสีเข้ม จากนั้นก็แบ่งเป็นชั้นเฉดสีที่อ่อน แล้วจึงค่อยใช้สีเข้มอีกครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ได้รับการอธิบายว่าเป็น "ความแข็งแกร่งที่สำเร็จ (tour de force) ของคติการลงสีที่กลมกลืน" และจุดสูงสุดของการผสมกันระหว่างสีแดงและสีเหลืองอ่อน ทิเชียนใช้วิธีการลงพู่กันที่หลากหลาย ในขณะที่ฉลองพระองค์ส่วนในของพระสันตะปาปานั้นจะวาดด้วยขนแปรงขนาดกว้างมาก ฉลองพระองค์ส่วนนอก (มอสเซตตา) ใบหน้าอันชราวัย และมือข้างที่ปรากฏกลับประณีตรายละเอียดด้วยการใช้ขนแปรงบาง รวมถึงผ้าขนสัตว์ที่แสดงระดับของเส้นแต่ละเส้น[4]

ภาพเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 กับพระคาร์ดินัล ของราฟาเอล สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1518–1519 จัดแสดง ณ หอศิลป์อุฟฟีซี เมืองฟลอเรนซ์ โดยเป็นต้นแบบทางศิลปะด้านจิตใจที่ปรากฏในภาพเหมือนของทิเชียน

ออตตาวีโอในภาพมีลักษณะสูงและกำยำ[10] ซึ่งกำลังจะคุกเข่าเพื่อจุมพิตพระบาทของพระสันตะปาปา อันเป็นมารยาทในการเคารพพระสันตะปาปาในเวลานั้น โดยแขกจะต้องโค้งคำนับสามครั้ง ตามด้วยการจุมพิตพระบาทของพระสันตะปาปา ทิเชียนได้นำเสนอขั้นตอนนี้ในธรรมเนียมโดยการแสดงให้เห็นรองพระบาทของพระองค์ที่ประดับด้วยไม้กางเขน โผล่จากใต้ฉลองพระองค์[4] ศีรษะของออตตาวีโอก้มลง แต่ก็แสดงออกทางสีหน้าที่ดุดัน ซึ่งสื่อถึงการประพฤติตามที่พิธีการได้กำหนดมากกว่าการแสดงความรู้สึกไม่มั่นใจ[18] นิโคลัส เพนนี ได้บันทึกไว้ว่า "... ณ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การโค้งคำนับและการถูไถถือเป็นเรื่องปรกติ ซึ่งสิ่งนี้มีผลต่อเจตคติสมัยใหม่ [ของภาพเหมือน] เป็นเหตุให้ความเคารพอย่างจริงใจของเยาวชนดูเหมือนความดื้อรั้นของข้าราชบริพารแสนเจ้าเล่ห์"[23]

มีการพรรณนาถึงพระราชนัดดาทั้งสองในรูปแบบที่แตกต่างกันมาก โดยอาเลสซันโดรจะแสดงอากัปกิริยาอย่างเป็นทางการและสวมเสื้อผ้าที่มีสีและโทนสีคล้ายกับพระสันตะปาปาปอล ส่วนออตตาวีโอจะสวมเสื้อผ้าสีน้ำตาลกลมกลืนไปกับพื้นที่ทางขวาด้านบน ซึ่งเป็นพื้นที่ของภาพวาดที่ตัดเขาออกจากสมเด็จพระสันตะปาปา ท่าทางของเขาอึดอัดและตีความยาก แต่มีลักษณะที่เป็นธรรมชาติมากกว่าพี่ชายของเขา[24] สำหรับอาเลสซันโดรมีสีหน้าฟุ้งซ่านและครุ่นคิด[18] มือของเขาจับอยู่ที่พนักพิงของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการเลียนแบบภาพเหมือนของราฟาเอลที่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงจับพระที่นั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10[4] โดยเป็นตัวบ่งชี้ถึงความทะเยอทะยานในการสืบทอดตําแหน่งของเขา ดังนั้นอาเลสซันโดรจึงดูเหมือนจะอยู่ในสถานะทางการเมืองที่ดีกว่า เขายืนทางด้านขวาของพระสันตะปาปาปอลในท่าทางที่ชวนให้ระลึกถึงจารีตของเปาโลอัครทูต และมือของเขายกขึ้นราวกับการให้พร[24] ท้ายที่สุดแล้ว พระสันตะปาปาปอลไม่สามารถมีอิทธิพลต่อการสืบทอดตําแหน่งของพระองค์ได้ ภายหลังจากที่จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงทําให้การดํารงตําแหน่งของเมดีชีอ่อนแอลง

ผลงานชิ้นนี้ยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์ สังเกตได้จากรายละเอียดมากมาย และที่เห็นได้ชัดที่สุดคือพระหัตถ์ขวาของพระสันตะปาปานั้นหายไป[21] ส่วนอื่น ๆ ของภาพจืดชืดและเป็นไปในทางเดียวกัน โดยพื้นที่หลัก ๆ บางส่วนยังคงถูกปิดทับด้วยเส้นร่าง การตกแต่งที่มีลักษณะเฉพาะหลายอย่างของทิเชียนก็ไม่ปรากฏ แขนของฉลองพระองค์ที่มีขนยาวของพระสันตะปาปาไม่มีลายเส้นสีขาวขัดเงาเหมือนกับภาพเหมือนฉบับ ค.ศ. 1543 หรือจะเป็นการเคลือบทับหรือเคลือบเงาตามปกติของเขา[25]

การตีความ[แก้]

แม้จะมีการมองว่าเป็นชิ้นงานที่ตรงไปตรงมาและเยือกเย็นผ่านพระสันตะปาปาผู้ชราภาพประทับอยู่ท่ามกลางญาติผู้ฉลาดแกมโกงและฉวยโอกาส แต่ในความเป็นจริงมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก และความตั้งใจของศิลปินก็ละเอียดอ่อนกว่า แน่นอนว่างานชิ้นนี้จะเป็นภาพเหมือนบุคคลของหนึ่งในชายผู้ทรงอํานาจมากที่สุดในยุคของทิเชียน และตรงกันข้ามกับภาพเหมือนพระสันตะปาปาปอลสองภาพก่อนหน้านี้ของเขา ซึ่งทั้งสองชิ้นงานสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความเคารพ ภาพเหมือนนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในการว่าจ้างภาพเหมือนที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะในทางการเมือง ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ โรดอลโฟ ปัลลุชชีนี และฮารอล์ด เวธีย์ ระบุว่าจำเป็นต้องเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันระหว่างความสัมพันธ์กับความลึกซึ้งที่ "เหมาะสมของเชกสเปียร์"[4] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทิเชียนจะได้ขจัดข้อสงสัยของภาพวาดอยู่ประเด็นหนึ่ง โดยการที่ปรากฏความสัมพันธ์อันซับซ้อนทั้งหมดบนแผ่นภาพ อาจเป็นความตั้งใจเพื่อเป็นตัวบ่งบอกถึงจักรพรรดิคาร์ลว่าพระสันตะปาปาปอลยังทรงรักษาตําแหน่งของพระองค์ในฐานะพระสังฆราชที่มีอํานาจเหนือกว่า แม้จะชราภาพและอ่อนแอ แต่ก็ยังคงเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจและสามารถควบคุมพระญาติที่วิวาทกันได้[4]

นอกจากนี้ ทิเชียนซึ่งได้รับการว่าจ้างจากตระกูลฟาร์เนเซ จะไม่วาดภาพพระสันตะปาปาในลักษณะใจจืดใจดำอย่างชัดเจน ในขณะที่พระองค์ในภาพจะแสดงให้เห็นว่าชราวัยและอ่อนแอ แต่ได้ปรากฏลักษณะของพระอุระที่กว้างและพระเนตรที่แหลมคม ซึ่งบ่งบอกถึงความฉลาดและเล่ห์เหลี่ยมของพระองค์ ออตตาวีโอจะมีความเย็นชาและไม่สะทบสะท้าน แต่สิ่งนี้อาจเป็นการสื่อเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของบุคลิกและความเชื่อมั่นของเขา ส่วนอาเลสซันโดรเป็นที่ชื่นชอบจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับพระสันตะปาปามากที่สุด แต่การวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์เผยให้เห็นว่าเดิมทีอาเลสซันโดรยืนอยู่ทางซ้ายของสมเด็จพระสันตะปาปาและจึงค่อยถูกย้ายตำแหน่ง ซึ่งบางทีอาจเป็นไปตามคําขอของอาเลสซันโดรเอง[26] เพื่อย้ายไปยังตําแหน่งที่มือของเขาวางอยู่บนบัลลังก์ของพระสันตะปาปา โดยบ่งบอกถึงการอ้างสิทธิ์ของเขาในตําแหน่งสันตะปาปา[10]

ที่มา[แก้]

ทิเชียนละทิ้งภาพวาดก่อนผลงานจะเสร็จสมบูรณ์[3] และในอีก 100 ปีให้หลัง ภาพวาดจะถูกจัดเก็บไว้ที่ห้องใต้ดินของตระกูลฟาร์เนเซในสภาพที่ชำรุดและไม่ใส่กรอบ ที่ซึ่งรวบรวมงานศิลปะและโบราณวัตถุขนาดใหญ่ของอาเลสซันโดร รวมถึงภาพเหมือนของทิเชียนที่ได้รับการว่าจ้างจากพระสันตะปาปาปอลด้วย และในที่สุดก็ตกทอดมาถึงยังรุ่นของเอลีซาเบตตา ฟาร์เนเซ (ค.ศ. 1692–1766) ผู้ซึ่งอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปนเมื่อ ค.ศ. 1714 ต่อมาผลงานถูกส่งต่อให้กับพระราชบุตรการ์โลส ผู้ซึ่งกลายเป็นดยุกแห่งปาร์มาและหลังจากนั้นจึงเป็นพระมหากษัตริย์สเปน จากนั้นใน ค.ศ. 1734 พระองค์ทรงพิชิตราชอาณาจักรซิซิลีและนาโปลี และผลงานจึงได้รับการเคลื่อนย้ายมายังนาโปลี ต่อมาใน ค.ศ. 1738 พระเจ้าการ์โลสทรงโปรดให้สร้างพระราชวังกาโปดีมอนเต ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์กาโปดีมอนเตเพื่อเป็นที่จัดเก็บผลงานศิลปะของตระกูล ภาพวาดยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน โดยแขวนอยู่ในส่วนห้องแสดงงานศิลปะฟาร์เนเซ[27] พิพิธภัณฑ์กาโปดีมอนเตได้รับการกําหนดให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติใน ค.ศ. 1950[28]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ในบางครั้ง มีการแปลคำในภาษาอิตาลีเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่ถูกต้องว่า Pope Paul III and his Nephews โดยคำว่า nipote สามารถหมายถึงได้ทั้ง "nephew" (หลานชายที่เกิดจากพี่หรือน้อง) หรือ "grandchild" (หลานปู่ย่าตายาย) ก็ได้ ดูที่ นิยามของคำว่า nipote ในวิกิพจนานุกรม
  2. "Portrait of Pope Paul III with His Grandsons - Titian". Google Arts & Culture (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 July 2023.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Dunkerton et al. (2003), 138
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 Kaminski (2007), 86
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Goldsmith Phillips & Raggio (1954), 233
  6. 6.0 6.1 6.2 Zapperi (1991), 159
  7. Hagen & Hagen (2002), 156
  8. 8.0 8.1 8.2 Goldsmith Phillips & Raggio (1954), 240
  9. Rosenberg (2010), 358
  10. 10.0 10.1 10.2 Goldsmith Phillips & Raggio (1954), 234
  11. Ridolfi (1996), 138
  12. 12.0 12.1 Zapperi (1991), 160
  13. 13.0 13.1 Ridolfi (1996), 93
  14. ในขณะที่ภาพเหมือนชุด ค.ศ. 1552 นั้นมีโอกาสสูงอย่างมากที่จะเป็นรูปของออตตาวีโอ ซึ่งการระบุถึงสิ่งบ่งชี้ของทิเชียนนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด
  15. 15.0 15.1 Phillips-Court (2011), 126
  16. สมเด็จพระสันตะปาปาปอลทรงแต่งตั้งกูลีเยลโม เดลลา ปอร์ตา เป็นประติมากรเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้สร้างสรรค์ผลงานของพระองค์เช่นกัน ดูที่: Phillips-Court (2011), 126
  17. 17.0 17.1 Kaminski (2007), 83
  18. 18.0 18.1 18.2 Kennedy (2006), 67
  19. 19.0 19.1 Phillips-Court (2011), 129
  20. Tiziano e il ritratto di corte da Raffaello ai Carracci (ภาษาอิตาลี). Approximately Titian, Museo e gallerie nazionali di Capodimonte. Naples: Electa Napoli. 2006. p. 148. ISBN 88-510-0336-X. OCLC 68598735.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  21. 21.0 21.1 Hagen & Hagen (2002), 159
  22. Phillips-Court (2011), 128
  23. Penny, Nicholas, 1991. "Measuring up", Review of Renaissance Portraits: European Portrait Painting in the 14th, 15th and 16th Centuries by Lorne Campbell, London Review of Books [Online] vol. 13 no. 7 pp. 11-12. subscription required, Accessed 21 August 2017
  24. 24.0 24.1 Phillips-Court (2011), 127
  25. Dunkerton et al. (2003), 55
  26. Hagen & Hagen (2002), 157
  27. Chilvers (2004), 249
  28. Woods (2006), 182

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bartlett, Kenneth R. A Short History of the Italian Renaissance. Toronto: University of Toronto, 2013. ISBN 1-4426-0014-4
  • Chilvers, Iain (ed). The Oxford Dictionary of Art. Oxford: Oxford University Press, 2004. ISBN
  • Dunkerton, Jill; Hope, Charles; Fletcher, Jennifer; Falomir, Miguel. In: Titian. London: National Gallery London, 2003. ISBN 1-85709-904-4
  • Freedman, Luba. Titian's Portraits Through Aretino's Lens. University Park: Pennsylvania State University Press, 1995. ISBN 0-271-01339-7
  • Goldsmith Phillips, John; Raggio, Olga. "Ottavio Farnese". Metropolitan Museum of Art Bulletin, Volume 12, No. 8, April 1954. 233–240
  • Hagen, Rose-Marie & Hagen, Rainer. What Great Paintings Say, Volume 2. London: Taschen, 2002. ISBN 3-8228-1372-9
  • Hale, Sheila. Titian: His Life. New York: HarperCollins, 2012, pp. 468–473. ISBN 978-0-06-059876-1
  • Kaminski, Marion. Titian. Potsdam: H.F. Ullmann, 2007. ISBN 3-8480-0555-7
  • Kennedy, Ian. "Titian". Cologne: Taschen, 2006. ISBN 3-8228-4912-X
  • Phillips-Court, Kristin. The Perfect Genre. Drama and Painting in Renaissance Italy. Surrey: Ashgate, 2011. ISBN 1-4094-0683-0
  • Ridolfi, Carlo. The Life of Titian. University Park: Pennsylvania State University Press, 1996. ISBN 0-271-01627-2 (first published in 1648)
  • Rosenberg, Charles M. (ed). The Court Cities of Northern Italy: Milan, Parma, Piacenza, Mantua, Ferrara, Bologna, Urbino, Pesaro, and Rimini. Cambridge: Cambridge University Press, 2010. ISBN 0-521-79248-7
  • Woods, Kim. Making Renaissance Art: Renaissance Art Reconsidered. New Haven CT: Yale University Press, 2006. ISBN 0-300-12189-X
  • Zapperi, Roberto. "Alessandro Farnese, Giovanni della Casa and Titian's Danae in Naples". Journal of the Warburg and Courtauld Institutes, Volume 54, 1991. 159–171