สถานีรถไฟตีมีชออาราเหนือ

พิกัด: 45°45′4″N 21°12′27″E / 45.75111°N 21.20750°E / 45.75111; 21.20750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีรถไฟตีมีชออาราเหนือ

Gara Timișoara Nord
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง2 ถนนเกอรีย์ (Gării) ตีมีชออารา โรมาเนีย
พิกัด45°45′4″N 21°12′27″E / 45.75111°N 21.20750°E / 45.75111; 21.20750
เจ้าของCăile Ferate Române
สาย9 สาย
ชานชาลา13
ราง14
ผู้ให้บริการรถไฟCFR Călători
Regio Călători
Astra Trans Carpatic
โครงสร้าง
ที่จอดรถมี
สิ่งอำนวยความสะดวกจักรยานมี
ทางเข้าออกสำหรับผู้พิการมี
สถาปนิกFerenc Pfaff
รูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก (หลังเดิม)
มอเดิร์น (หลังปัจจุบัน)
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ1897
สร้างใหม่1976
ติดตั้งระบบไฟฟ้า1974
ชื่อเดิมIosefin (1897–1919)
Domnița Elena (1919–1944)
ที่ตั้ง
แผนที่

สถานีรถไฟตีมีชออาราเหนือ (โรมาเนีย: Gara Timișoara Nord; Timișoara North railway station) เป็นสถานีรถไฟหลักในเมืองตีมีชออารา และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโรมาเนียตะวันตก[1] สถานีมีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 5,530 คนต่อวัน ทำให้เป็นหนึ่งในสถานีที่พลุกพล่านที่สุดในประเทศโรมาเนีย[2]

ประวัติศาสตร์[แก้]

สถานีรถไฟอีโอเซฟิน ภาพถ่ายปี 1904

สถานีหลังแรกสร้างขึ้นในปี 1857 บนพื้นที่ที่เดิมเป็นโกดังสินค้าขนส่งทางราง[3] ถึงแม้สถานีเดิมจะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีบริการเดินรถไปยังเมืองสำคัญ ๆ เช่น อะราด, ออร์ชอวา, บูคาเรสต์, เรชีซา[3] หลังปริมาณผู้ใช้งานสถานีเพิ่มสูงขึ้นจนไม่เพียงพอต่อขนาดของอาคาร ในปี 1897 จึงได้มีการก่อสร้างสถานีขนาดใหญ่ขึ้นแทน โดยมีสถาปนิกชาวฮังการี Ferenc Pfaff (1851–1913) เป็นผู้ออกแบบสถานี Pfaff ยังเป็นผู้ออกแบบสถานีรถไฟแห่งอื่น ๆ เช่นที่ เซเกด, เปซ, มิชโกลส์, แดแบร็ตแซ็น, รีเยกา, ซาเกรบ, บราติสลาวา, กอชีเซ, วรัส, กลุช-นาปอกา, ยิมโบลิยา และ อะราด[4] การก่อสร้างสถานีใช้เงินทุนกว่าสี่ล้านกรอเนิน[4] และตั้งชื่อสถานีว่า Josefstädter Bahnhof (ในภาษาเยอรมัน)[5] หรือ Józsefvárosi indóház (ในภาษาฮังการี)[6] หรือชื่อแปลคือ "สถานีอีโอเซฟิน" (Iosefin railway station) ตามชื่อของอำเภออีโอเซฟินที่สถานีตั้งอยู่ สถานีสร้างด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก มีอิทธิพลของเรนเนสซองส์แบบฝรั่งเศส ประดับประดาโดยรอบอย่างโอ่อ่าอลังการ[3] ในสถานียังมีลานตรงกลางเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นสนปลูกไว้[3] ในต้นศตวรรษที่ 20 มีรถไฟโดยสารรวม 49 ขบวน และรถไฟขนส่งรวม 30 ขบวน ที่มาจอดที่สถานีนี้ต่อวัน[3] รถไฟสาย Orient Express ที่โด่งดังเริ่มจอดที่สถานีนี้นับตั้งแต่ปี 1905 เรื่อยมา[3]

ในปี 1919 หลังการรวมบานาตเข้ากับราชอาณาจักรโรมาเนีย และเริ่มมีรัฐบาลของโรมาเนียในท้องที่ของตีมีชออารา ได้เปลี่ยนชื่อสถานีใหม่เป็นสถานีดอมนีซา เอเลนา (Domnița Elena) ตามชื่อของมเหสีของอาเล็กซันดรู อีอวน ซูซา กษัตริย์แห่งโรมาเนีย[7] ชื่อนี้ใช้เรื่อยมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง[4] ส่วนชื่อของสถานีที่คนตีมีชออาราเรียกกันคือ "สถานีใหญ่" (โรมาเนีย: Gara Mare) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1944 สถานีได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร และถูกทิ้งระเบิดอีกครั้งในวันที่ 30/31 ตุลาคม 1944 โดยลุฟท์วัฟเฟอ ส่งผลให้อาคารสถานีเสียหายแทบทั้งหมด[8] การก่อสร้างสถานีขึ้นใหม่หลังสงครามสิ้นสุดเป็นไปตามแปลนอาคารเดิม และได้สร้างคืนมาบางส่วนเท่านั้น ในปี 1976 ปีกตะวันออกของสถานีได้รับการปรับโฉมใหม่ให้เป็นทันสมัยมากขึ้น และรูปแบบสถาปัตยกรรมชองสถานีก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง[9] จนถึงปัจจุบัน อาคารของสถานีมีสถาปัตยกรรมแบบมอเดิร์น

อ้างอิง[แก้]

  1. "North Railway Station Timisoara". Spotlight Timisoara.
  2. "Anexa nr. 4. Centralizator fișe observații" (PDF). Consiliul Național de Supraveghere din Domeniul Feroviar. 2017. p. 12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-27. สืบค้นเมื่อ 2022-10-27.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Ivănescu, Valentin (2009). Cronica ilustrată a Regionalei de Căi Ferate Timișoara. Editura Marineasa. pp. 19–20.
  4. 4.0 4.1 4.2 Both, Ștefan (23 October 2013). "Gara Mare din Timișoara a fost bijuterie arhitectonică. Astăzi este o clădire de tristă amintire". Adevărul.
  5. Nubert, Roxana; Pintilie-Teleagă, Ileana (2006). Mitteleuropäische Paradigmen in Südosteuropa: ein Beitrag zur Kultur der Deutschen im Banat. Praesens Verlag. p. 43. ISBN 9783706903400.
  6. "Temesvár-Józsefváros". Magyarország vasútállomásai és vasúti megállóhelyei.
  7. Barbu, Dinu (2013). Mic atlas al județului Timiș (caleidoscop) (PDF) (5th ed.). Timișoara: Artpress. p. 25. ISBN 978-973-108-553-1.
  8. Berinde, Andrei (27 November 2014). "Iunie-iulie 1944: O ploaie de foc se abate asupra monumentalei clădiri a Gării Timișoara". Historia.
  9. Dogaru, Viorel (3 July 2016). "A fost odată ca niciodată… cea mai frumoasă gară de provincie!". Banatul Azi.