ปลาหมอลายตารางหมากรุก
ปลาหมอลายตารางหมากรุก | |
---|---|
ปลาหมอแคระฟิลาเมนโตซัส (D. filamentosus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Cichlidae |
วงศ์ย่อย: | Geophaginae |
สกุล: | Dicrossus Steindachner, 1875 |
ชนิดต้นแบบ | |
Dicrossus maculatus Steindachner, 1875 | |
ชนิด | |
|
ปลาหมอลายตารางหมากรุก หรือ ปลาหมอแคระไดครอสซัส เป็นสกุลของปลาจำพวกหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) เป็นปลาขนาดเล็กจำพวกปลาหมอแคระ ใช้ชื่อสกุลว่า Dicrossus (/ได-ครอส-ซัส/)
เป็นปลาที่มีลำตัวเพรียวบาง ปากแหลมเล็ก พื้นลำตัวสีขาวหรือเทา มีลายจุดสี่เหลี่ยมไขว้เรียงกันเป็นระเบียบจนดูคล้ายตารางหมากรุกในแนวนอนอย่างมีระเบียบสองแถว อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ มีความยาวเฉลี่ยไม่เกิน 4 นิ้ว สำหรับปลาตัวผู้ และ 2 นิ้วสำหรับปลาตัวเมีย
พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน, โอริโนโค, เนโกร, ทาปาโฆส และมาไดรา ในประเทศบราซิลและใกล้เคียง ทั้งในบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำสีชาและแหล่งน้ำใส มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่
- Dicrossus filamentosus (Ladiges, 1958)
- Dicrossus foirni Römer, Hahn & Vergara, 2010
- Dicrossus gladicauda Schindler & Staeck, 2008 (ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าเป็นชนิดเดียวกับ D. filamentosus[1])
- Dicrossus maculatus Steindachner, 1875
- Dicrossus warzeli Römer, Hahn & Vergara, 2010
มีพฤติกรรมการหากิน คือ จะค่อย ๆ ว่ายเพื่อสอดส่องอาหารตามพื้นน้ำ บางครั้งจะสั่นครีบเพื่อให้ตะกอนที่พื้นฟุ้งขึ้นมา หรือใช้ปากคาบเศษใบไม้ยกขึ้น เพื่อหาสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ใต้ใบไม้กิน
นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะในชนิด D. filamentosus และ D. maculatus
แต่การแบ่งแยกเพศทำได้ยากมาก โดยเฉพาะในปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย สันนิษฐานว่า ปลาตัวผู้จะมีสีที่แก้มและครีบเข้มกว่าตัวเมีย ในวงการปลาสวยงาม พบว่าเมื่อเลี้ยงไปสักพัก เพศของปลาตัวที่คาดไว้ กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด จึงทำให้เกิดเป็นความเชื่อในนักเลี้ยงปลาสวยงามบางกลุ่มว่า ปลาในสกุลนี้สามารถเปลี่ยนเพศได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่เป็นทางการยืนยันถึงเรื่องนี้ นอกจากนี้แล้ว การเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงทำได้ยากมาก เมื่อปลาจะวางไข่ จะว่างไว้บนวัสดุที่มีพื้นราบเรียบ เช่น ใบของไม้น้ำขนาดใหญ่ ในช่วงนี้ ปลาจะเปลี่ยนสีลำตัวจนเข้มดูดำ ทำให้ลายตารางหมากรุกนั้นจางหายไป ปลาหมอลายตารางหมากรุก มีพฤติกรรมการดูแลไข่ค่อนข้างห่าง ไม่ดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนปลาหมอสีสกุลหรือชนิดอื่น
ปลาหมอลายตารางหมากรุก นี้มีลักษณะที่คล้ายกับปลาหมอแคระอีกสกุลหนึ่ง คือ Crenicara ซึ่งในอดีตเคยถูกให้อยู่ร่วมสกุลเดียวกัน[2] [1]