ศาลเจ้าชินโตศรีราชา
ศาลเจ้าชินโตศรีราชา | |
---|---|
真楽茶神社 | |
ศาสนา | |
ศาสนา | ชินโต |
เทพ | อามาเตราซุ อูกาโนมิตามะ |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | 106/10 ถนนสุรศักดิ์สงวน ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°09′48″N 100°55′38.5″E / 13.16333°N 100.927361°E |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบ | ญี่ปุ่น |
ผู้ก่อตั้ง | สมาคมศาลเจ้าชินโต ศรีราชา |
เริ่มก่อตั้ง | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 |
เว็บไซต์ | |
http://sriracha.jp | |
อภิธานศัพท์ชินโต |
ศาลเจ้าชินโตศรีราชา (ญี่ปุ่น: 真楽茶神社; โรมาจิ: Shiracha Jinja)[1] เป็นศาลเจ้าของลัทธิชินโต ตั้งอยู่ถนนสุรศักดิ์สงวน ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ภายในประดิษฐานสุริยเทวีอามาเตราซุ และอูกาโนมิตามะ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาคมญี่ปุ่นในศรีราชาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก[2] และถือเป็นศาลเจ้าชินโตแห่งที่สองในประเทศไทย[3]
ประวัติ
[แก้]ก่อนหน้านี้เคยมีการก่อสร้างศาลเจ้าชินโตแห่งแรกในประเทศไทย ภายในมูลนิธิเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียในสงครามโลกครั้งที่สอง[4] ต่อมามาซาฮิโระ อาเบะ นายกสมาคมศาลเจ้าชินโต ศรีราชา มีแนวคิดที่จะสร้างศาลเจ้าชินโต ในท้องที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพราะเป็นแหล่งอาศัยของชาวญี่ปุ่นกลุ่มใหญ่ และทางสมาคมอยากเห็นเยาวชนญี่ปุ่นเข้าร่วมพิธีแห่มิโกชิ (神輿) หรือพระเกี้ยว รอบเมืองศรีราชา ซึ่งเป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวญี่ปุ่น[5]
ทางสมาคมได้เริ่มการก่อสร้างศาลตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยใช้สถาปัตยกรรมญี่ปุ่น นำเข้าวัสดุการก่อสร้างและนำช่างก่อสร้างมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด รวมถึงเชือกชิเมนาวะน้ำหนัก 130 กิโลกรัม ซึ่งแขวนไว้หน้าศาลเจ้าเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ก็ถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมนักธุรกิจชิเมนาวะจากจังหวัดชิมาเนะ[3] ศาลเจ้าก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[5] แต่พิธีเปิดศาลเจ้าถูกเลื่อนเรื่อยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19[3]
วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีการเชิญนักบวชชินโต คือกูชิและคันนูชิจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำพิธีเปิด[5] และวันที่ 22 กรกฎาคมปีเดียวกัน ศาลเจ้าชินโตศรีราชาได้จัดพิธีอัญเชิญเทพเจ้ามาประดิษฐาน ณ ที่ตั้งใหม่ มีเทพเจ้าสำคัญสองพระองค์ คือ อามาเตราซุ สุริยเทวีแห่งแสงสว่าง และอูกาโนมิตามะ เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยมีฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชาเป็นประธานในพิธี[2][3]
ศาลเจ้าชินโตศรีราชามีการจ้างหญิงสาวชาวไทยทำงานเป็นมิโกะแบบไม่เต็มเวลา ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ทำความสะอาด และขายเครื่องรางแก่ผู้ที่มาสักการะศาลเจ้า[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "「真楽茶神社(シラチャ神社)」建立、シラチャの街でお神輿を". タイランドハイパーリンクス (ภาษาญี่ปุ่น). 23 Jul 2022. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "ยกญี่ปุ่นมาไว้พัทยา! "ศาลเจ้าชินโต ศรีราชา" เปิดให้เข้าสักการะแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 23 Jul 2022. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2022.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "เตรียมพบกับ "ศาลเจ้าชินโต" วัฒนธรรมญี่ปุ่น ใจกลางเมืองศรีราชา". คมชัดลึกทั่วไทย. 30 Jun 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-23. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2022.
- ↑ "สวนชินโตะ". Kanchanaburi Center. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2022.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ""ศาลเจ้าชินโตศรีราชา" (Sriracha Shinto Shrine) ศาลเจ้าสไตล์ญี่ปุ่นลัทธิชินโตเตรียมเปิดให้ผู้สนใจเข้าสักการะที่ศรีราชา!". DACO. 23 Jul 2022. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2022.
- ↑ "สานฝันคนอยากเป็นคิเคียว! ศาลเจ้าชินโตศรีราชา เปิดรับสมัคร Part-time ตำแหน่ง "มิโกะ"". Manga Zero. สืบค้นเมื่อ 30 Mar 2024.