ว่าน หู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดว่าน หู่ ขณะพยายามขึ้นสู่อวกาศ

ว่าน หู่ (จีน: 万虎; พินอิน: Wàn Hǔ) หรือ ว่าน ฮู่ (จีน: 万户; พินอิน: Wàn Hù) เป็นขุนนางจีนซึ่งบางตำนานว่า มีชีวิตอยู่ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล บางตำนานว่า อยู่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตรงกับกลางสมัยราชวงศ์หมิง เอกสารที่ผลิตขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบุว่า เขาพยายามจะเป็นนักผจญอวกาศคนแรกของโลกโดยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดที่ทำเอง ภายหลัง ชื่อของเขาได้ใช้ตั้งเป็นนามปล่องภูเขาไฟแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์

ตำนาน[แก้]

หวัง ถู[แก้]

เรื่องราวของว่าน หู่ นั้นปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความที่จอห์น เอลเฟรท วัตกินส์ (John Elfreth Watkins) เขียนลงนิตยสาร ไซอันติฟิกอะแมริคัน (Scientific American) ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1909 แต่ใช้นามว่า "หวัง ถู" (王屠) แทนที่จะเป็นว่าน หู่ บทความนั้นว่า

"ตำนานอ้างว่า บุคคลแรกที่อุทิศตนให้แก่ปัญหาเรื่องการเหาะเหินเดินอากาศนั้น คือ หวัง ถู ขุนนางชาวจีนซึ่งอยู่ในราว ๆ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล เขาทำว่าวขนาดยักษ์คู่หนึ่งซึ่งมีรูปร่างเหมือนกันมาวางขนานกัน แล้วนั่งบนเก้าอี้ซึ่งผนึกไว้กลางว่าวคู่นั้น ก่อนให้บ่าวไพร่ 47 คนเอาเทียนที่แต่ละคนถือในมือจุดจรวด 47 ดอกที่ติดไว้ใต้เครื่องนั้น แต่จรวดซึ่งอยู่ใต้เก้าอี้เกิดระเบิดจนไหม้คลอกเขา ทั้งยังเป็นเหตุให้จักรพรรดิกริ้วถึงขนาดรับสั่งให้โบยเขาอย่างสาหัส"

อย่างไรก็ดี ในเวลา 2,000 ปีก่อนคริสตกาลดังอ้างถึงนั้น ประเทศจีนยังไม่มีดินปืนใช้ทำจรวด ดินปืนมีขึ้นหลังจากนั้น 3,000 ปี จึงเห็นกันว่า ตำนานข้างต้นเป็นแต่เรื่องขำขัน[1]

ว่าน หู่[แก้]

เรื่องราวของว่าน หู่ ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เมื่อเฮอร์เบิร์ต เอส. ซิม (Herbert S. Zim) นักเขียนชาวอเมริกัน เขียนลงหนังสือ รอกเกตส์แอนด์เจตส์ (Rockets and Jets) เมื่อ ค.ศ. 1945 โดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปแต่อย่างใด[2] หนังสือนั้นว่า

"ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่านตกลงใจจะอาศัยประโยชน์จากวิชาการผลิตจรวดและดอกไม้ไฟอันก้าวหน้าของจีนในการส่งตนเองขึ้นสู่อวกาศ ร่ำลือกันว่า เขาสั่งทำเก้าอี้อันผนึกด้วยจรวด 47 ดอก ในวันออกสู่อวกาศนั้น ว่านนุ่งห่มอย่างดีแล้วขึ้นนั่งเก้าอี้จรวด ก่อนสั่งให้บ่าวไพร่ 47 คนจุดชนวนแล้วรีบวิ่งไปหลบเสีย ขณะนั้น เกิดระเบิดขนานใหญ่ เมื่อควันจางหาย ว่านกับเก้าอี้ก็อันตรธานหายไป และว่ากันว่า ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย"

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Watkins, J (2 October 1909). "The Modern Icarus". Scientific American.
  2. Amazon.com: Rockets and jets,: Herbert Spencer Zim: Books

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]