วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีชื่อย่อว่า วสท . ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 (1943) ก่อนที่จะได้ก่อรูปองค์กรมาเป็นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้มีประวัติการรวมกลุ่มของวิศวกร กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2447 (1904) ได้มีกลุ่มนายช่างชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ประกอบอาชีพทางช่างอยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป และอเมริกา ได้พยายามก่อตั้งสมาคมทางการช่างขึ้น แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตลอด เพราะการช่างในสมัยนั้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และยังไม่เห็นความจำเป็นในการดำเนินการ การบริหารงานของสมาคมนี้จึงได้ยุติลงในเวลาต่อมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 (1928) นักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้ไปศึกษาวิชาการก่อสร้างที่ประเทศอังกฤษและกลับมาทำงานในประเทศไทย ได้เริ่มรวมตัวฟื้นฟูสมาคมสำหรับผู้ประกอบอาชีพทางช่างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2471 (1928) นี้เอง ก็ได้ไปขอจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมนายช่างขึ้นใหม่โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมนายช่างนี้ประกอบด้วย คุณพระเวชยันต์ รังสฤษฏ์ คุณพระชำนาญ คุณหลวงชำนิ และคุณพระประกอบ ยันตรกิจ ในปี พ.ศ. 2478 (1935) นายช่างที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งสมาคมวิศวกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งในการร่วมมือทางวิชาชีพวิศวกรรมในหมู่สมาชิกด้วยกัน

กำเนิด วสท.[แก้]

ในปี พ.ศ. 2486 (1943) คุณพระประกอบ ยันตรกิจ ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมนายช่างฯ ได้พบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นนักเรียนรถไฟที่จบการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาเป็นนายช่างต่างก็แก่ตัวลงเกษียณราชการไปเป็นส่วนมาก ทำให้สมาชิกลดลง ขณะที่สมาคมวิศวกรรมฯ ซึ่งประกอบด้วยนายช่างที่จบทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงเกิดความคิดว่า ควรรวมสองสมาคมเป็นสมาคมเดียวกัน โดยรัฐบาลในสมัยนั้นเองก็มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมอาชีพวิศวกรรมให้เจริญเป็นปึกแผ่น และจะออกพระราชบัญญัติวิศวกรรมเพื่อให้มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพกันเองในหมู่วิศวกร จึงได้มีการหารือกับกรรมการสมาคมวิศวกรรมฯ ซึ่งบางท่านเป็นกรรมการอยูในทั้งสองสมาคมได้ข้อตกลงที่ให้ต่างฝ่ายต่างเลิกสมาคมของตนและมารวมกันตั้งเป็นสมาคมใหม่คือสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 (1943) และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (1950) ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

กรรมการอำนวยการชุดแรกนั้น ท่านพลอากาศตรี มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษดิ์ ได้รับเป็นประธานกรรมการท่านแรกของ วสท. มีสมาชิกผู้ก่อตั้งรวมทั้งหมด 27 คน โดยงานแรกที่ วสท. ได้รับมอบหมายให้จัดทำคือ ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม

การประชุมวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ[แก้]

การประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ (National Convention on Civil Engineering - NCCE) เป็นงานประชุมวิชาการประจำปีที่จัดโดยวิศวกรรมสถาน โดยในแต่ละปีจะมีการหมุนเวียนสถานที่จัด และผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพดังต่อไปนี้[1]

  • ครั้งที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดที่ จ.นครราชสีมา, 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537
  • ครั้งที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดที่ จ.เชียงใหม่, 9-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
  • ครั้งที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดที่ จ.สงขลา, 16-18 มกราคม พ.ศ. 2540
  • ครั้งที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดที่ จ.สงขลา, 12-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
  • ครั้งที่ 5 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดที่ จ.ชลบุรี, 24-26 มีนาคม พ.ศ. 2542
  • ครั้งที่ 6 จัดที่ จ.เพชรบุรี, พฤษภาคม 2543
  • ครั้งที่ 7 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดที่ จ.กรุงเทพมหานคร, พฤษภาคม 2544
  • ครั้งที่ 8 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดที่ จ.ขอนแก่น, 23-25 ตุลาคม พ.ศ. 2545
  • ครั้งที่ 9 จัดที่ จ.เพชรบุรี, 19-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
  • ครั้งที่ 10 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดที่ จ.ชลบุรี, 2-4 พฤษภาคม 2548
  • ครั้งที่ 11 จัดที่ จ.ภูเก็ต, 20-22 เมษายน พ.ศ. 2549
  • ครั้งที่ 12 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดที่ จ.พิษณุโลก, 2-4 พฤษภาคม 2550
  • ครั้งที่ 13 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดที่ พัทยา, 14-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
  • ครั้งที่ 14 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดที่ จ.นครราชสีมา, 13-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
  • ครั้งที่ 15 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดที่ จ.อุบลราชธานี, 12-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
  • ครั้งที่ 16 ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดที่ จ.ชลบุรี, 18-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
  • ครั้งที่ 17 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิทยาเขตบางเขน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิทยาเขตกำแพงแสนและภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดที่ จ.อุดรธานี, 9-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
  • ครั้งที่ 18 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดที่ จ.เชียงใหม่, 8-10 พฤษภาคม 2556
  • ครั้งที่ 19 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดที่ จ.ขอนแก่น, 14-16 พฤษภาคม 2557

ที่ตั้ง[2][แก้]

ที่ทำการสำนักงาน วสท. 487 ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถนนรามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310

อ้างอิง[แก้]

  1. รู้จักกับ วิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. ที่ทำการ วสท.