วัดพระงาม (ตำบลคลองสระบัว)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระงาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระงาม, วัดชะราม
ที่ตั้งหมู่ที่ 4 ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทโบราณสถานร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระงาม หรือ วัดชะราม เป็นโบราณสถานร้างอยู่ในกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น่าจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310[1]

ไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารเกี่ยวกับวัดพระงาม จากหลักฐานการขุดแต่งพบว่าวัดพระงามมีผังตามที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขอบเขตของวัด กำหนดจากคูน้ำล้อมรอบทุกด้าน มีเจดีย์แปดเหลี่ยมประธานอยู่หน้าอุโบสถซึ่งสันนิษฐานว่าถูกดัดแปลงมาจากวิหาร เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม มีร่องรอยการพอกเจดีย์ชั้นหนึ่งแต่ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนรูปร่าง รูปแบบเจดีย์สมัยยอยุธยาตอนต้นและสืบต่อมาถึงอยุธยาตอนปลาย อุโบสถยกพื้นมีฐานรอบอาคาร มีร่องรอยการสร้างทับอาคารเดิม

จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทดินเผาปูนปั้น และโลหะ กระเบื้องมุงหลังคา ลวดลายปูนปั้นรูปนาค เทวดา เทพนม ตะปูจีน ฯลฯ พบส่วนหน้าตักของพระประธาน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางสมาธิ พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น สิ่ว ผอบ หม้อก้นกลม เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบ้านบางปูน เตาแม่น้ำน้อย เตาศรีสัชนาลัย เตาสุโขทัย พบเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยเวียดนามและญี่ปุ่น[2]

จุดเด่นของวัดคือซุ้มประตูวัดที่โอบรอบด้วยต้นโพธิ์ จนได้รับการขนานนามว่า ประตูแห่งกาลเวลา ซึ่งแสงอาทิตย์จะสาดส่องผ่านซุ้มประตู เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศคัดเลือกให้ต้นโพธิ์วัดพระงาม เป็นหนึ่งในต้นไม้ รุกข มรดกของแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระงาม กับ ประตูแห่งกาลเวลา กรุงเก่า อยุธยา งดงามตระการตา".
  2. "วัดพระงาม (ชะราม)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "ประตูแห่งกาลเวลา วัดพระงาม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "'ต้นโพธิ์วัดพระงาม' ได้รับคัดเลือกเป็น 'รุกข มรดกแผ่นดิน' จามจุรี จุฬาฯ-ชมพูพันธุ์ทิพย์ มก.ติดด้วย". มติชน.