วังสุริยะคึมซูซัน
วังสุริยะคึมซูซัน | |
---|---|
![]() วังอนุสรณ์สุริยะคึมซูซัน (ภาพเหมือนของคิม จ็อง-อิลถูกเพิ่มเข้ามาใน ค.ศ. 2011 หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเขา) | |
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
สถาปัตยกรรม | สมัยใหม่, ฟื้นฟูคลาสสิก |
ประเทศ | ![]() |
พิกัด | 39°3′51″N 125°47′15″E / 39.06417°N 125.78750°E |
เปิดใช้งาน | 1976 |
เจ้าของ | รัฐบาลเกาหลีเหนือ |
ชื่อเกาหลี | |
โชซ็อนกึล | 금수산태양궁전 |
ฮันจา | 錦繡山太陽宮殿 |
อาร์อาร์ | Geumsusan Taeyang Gungjeon |
เอ็มอาร์ | Kŭmsusan T'aeyang Kungjŏn |
วังสุริยะคึมซูซัน (เกาหลี: 금수산태양궁전; อังกฤษ: Kumsusan Palace of the Sun) เดิมชื่อ วังอนุสรณ์คึมซูซัน (금수산기념궁전; อังกฤษ: Kumsusan Memorial Palace) เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ใกล้มุมตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเปียงยางที่ใช้เป็นสุสานของคิม อิล-ซ็อง ผู้นำสูงสุดคนแรกและผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ และของคิม จ็อง-อิล บุตรชายของเขา โดยร่างที่ได้รับการเก็บรักษาของทั้งสองได้ถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณะตั้งแต่ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1994 และ 2011 ตามลำดับ ทั้งสองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำตลอดกาลของเกาหลีเหนือ (ประธานาธิบดีตลอดกาลและเลขาธิการใหญ่ตลอดกาล ตามลำดับ) หลังถึงแก่อสัญกรรม[1]
ภาพรวม
[แก้]ภายในวัง ร่างที่ผ่านการอาบน้ำยาของคิม อิล-ซ็องนอนอยู่ในโลงหินแก้วใส ศีรษะของเขาหนุนอยู่บนหมอนบักวีตเกาหลีแบบดั้งเดิมและร่างของเขาถูกคลุมด้วยธงพรรคแรงงานเกาหลี คิม จ็อง-อิลถูกจัดแสดงอยู่ในห้องใกล้กับร่างของบิดาและถูกวางในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก[2]
ด้วยขนาด 115,000 ตารางฟุต (10,700 ตารางเมตร)[3] คึมซูซันจึงเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดที่อุทิศให้แก่ผู้นำคอมมิวนิสต์[4] และเป็นแห่งเดียวที่เก็บรักษาร่างของบุคคลหลายคน บางโถงบางภายในอาคารมีความยาวถึง 1 กิโลเมตร (3,300 ฟุต)[3] ด้านหน้าของวังเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 500 เมตร (1,600 ฟุต)[5] วังถูกล้อมรอบด้วยคูเน้ำทางด้านทิศเหนือและตะวันออก
ไม่ไกลจากวังคือที่ตั้งของวังรับรองคึมซูซัน (39°03′40″N 125°48′06″E / 39.06123742°N 125.801766607°E) ซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ. 2019 และใช้เป็นที่พำนักของสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และเรือนรับรองแพ็กฮวาว็อน (39°02′48″N 125°48′38″E / 39.046631806°N 125.81060982°E) ซึ่งเก่าแก่กว่า และใช้เป็นที่พำนักของมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไมก์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และเซียร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย[6]
ประวัติศาสตร์
[แก้]วังถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1976 ในชื่อหอสมัชชาคึมซูซัน (금수산의사당) และใช้เป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการของคิม อิล-ซ็อง หลังคิมผู้พ่อถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1994 คิม จ็อง-อิลได้สั่งปรับปรุงอาคารและเปลี่ยนให้เป็นสุสานของบิดาของเขา[7] เชื่อกันว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนั้นมีมูลค่าอย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์[8] แหล่งข่าวบางแห่งระบุตัวเลขสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์[9][10]
อสัญกรรมของคิม อิล-ซ็อง
[แก้]ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 คิม อิล-ซ็องทรุดตัวลงที่ฮยังซันจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน หลังอาการหัวใจวาย คิม จ็อง-อิล บุตรชายของเขาสั่งให้คณะแพทย์ที่อยู่กับบิดาของเขาตลอดเวลาออกไป และจัดให้แพทย์ที่ดีที่สุดของประเทศถูกส่งมาจากเปียงยางโดยเครื่องบิน การเคลื่อนไหวนี้มีแนวโน้มว่าเป็นความพยายามขอรับการรักษาทางการแพทย์ในระดับสูงสุดเพื่อช่วยชีวิตคิม อิล-ซ็อง แม้จะมีความพยายามมากมายเพียงใด คิม อิล-ซ็องก็ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 สิริอายุ 82 ปี อสัญกรรมของเขาถูกประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนเกาหลีเหนือและทั่วโลกในสองวันถัดมา คือวันที่ 10 กรกฎาคม
อสัญกรรมของคิม อิล-ซ็องนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ครั้งใหญ่ในเกาหลีเหนือ การส่งต่ออำนาจให้แก่คิม จ็อง-อิล บุตรชายของเขาได้รับการวางแผนมาอย่างรอบคอบนานหลายปี คิม จ็อง-อิลมีส่วนร่วมในบทบาทสำคัญของรัฐบาลและกองทัพอยู่แล้ว เป็นการเตรียมเขาให้พร้อมรับช่วงต่อตำแหน่งผู้นำ อสัญกรรมของคิม อิล-ซ็องส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเกาหลีเหนือ คิม อิล-ซ็องได้รับการเคารพในฐานะ "ประธานาธิบดีตลอดกาล" และรูปแบบการเป็นผู้นำและอุดมการณ์ของเขาได้กำหนดนโยบายและอัตลักษณ์ของประเทศ การเป็นผู้นำของคิม จ็อง-อิลได้สานต่อมรดกของบิดาโดยรักษากรอบอุดมการณ์และการเมืองเดิมที่รู้จักในชื่อชูเช ซึ่งเน้นการพึ่งพาตนเองและความเป็นอิสระ
อสัญกรรมของคิม จ็อง-อิล
[แก้]ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของคิม จ็อง-อิลในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011 ร่างของเขาถูกตั้งไว้ที่วังเป็นเวลา 10 วัน[11] หลังจากช่วงเวลานี้ ในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 2011 วังถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของขบวนเคลื่อนศพระยะทาง 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) ซึ่งกินเวลานานสามชั่วโมง ขบวนเคลื่อนศพเป็นสัญญาณการเริ่มต้นพิธีศพสองวัน[12][13]
มีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียถูกนำตัวไปยังสุสานเพื่อทำการอาบน้ำยารักษาสภาพศพของคิม จ็อง-อิลเพื่อจัดแสดงถาวรในลักษณะเดียวกับบิดาและอดีตผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ เช่น วลาดิมีร์ เลนิน เหมา เจ๋อตง โฮจิมินห์[14] และโจเซฟ สตาลิน (กระทั่ง ค.ศ. 1961 เมื่อเขาถูกฝังไว้ที่สุสานกำแพงเครมลิน)
วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2012 รัฐบาลเกาหลีเหนือยืนยันว่าร่างที่ได้รับการเก็บรักษาของคิม จ็อง-อิลจะถูกนำมาจัดแสดงถาวรในวังแห่งนี้และประกาศแผนการสร้างรูปปั้นคิม จ็อง-อิลใหม่และสร้าง "หอคอยแห่งความเป็นอมตะของเขา"[1][15]
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 วันครบรอบวันเกิดปีที่ 70 ของคิม จ็อง-อิล อาคารนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็นวังสุริยะคึมซูซันโดยการกระทำร่วมกันของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกาหลีเหนือ และผู้นำพรรคแรงงานเกาหลี ซึ่งได้มีการอ่านประกาศอย่างเป็นทางการ[16] ในวันนั้นกองทัพประชาชนเกาหลีจัดการสวนสนามทหารในบริเวณวังเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวใหม่อย่างเป็นทางการของวัง โดยก่อนหน้านั้นมีการแสดงดอกไม้ไฟ
หลังทำการปรับปรุงมานานหลายเดือน ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2012 วันครบรอบการอสัญกรรมปีแรกของคิม จ็อง-อิล วังได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการในพิธีหนึ่ง ร่างที่ได้รับการเก็บรักษาของคิม จ็อง-อิลถูกนำมาแสดงต่อสาธารณชนในห้องแยกต่างหาก เช่นเดียวกับสิ่งของหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขาและเอกสารที่เขาทำขึ้นเป็นการส่วนตัว วังแห่งนี้จัดแสดงพาหนะส่วนตัว[17] เครื่องแต่งกาย เหรียญ[17] และเครื่องอิสริยาภรณ์ของเขา ซึ่งขณะนี้ได้ถูกนำมารวมกับของสะสมอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลังการปรับปรุงใหม่ โถงทางเข้ากว้างใหญ่ที่ว่างเปล่า ซึ่งเคยใช้ในพิธีของรัฐ ถูกเปลี่ยนเป็นสวนที่มีน้ำพุและทางเดินเพื่อความเพลิดเพลินของผู้มาเยือน ปัจจุบันมีลานพลาซาอยู่ตรงกลาง
นอกเหนือจากการปรับปรุงภายในแล้ว บริเวณวังยังได้รับการปรับปรุงใหม่และเปลี่ยนเป็นสวนขนาดใหญ่และสวนดอกไม้เพื่อประโยชน์ของผู้มาเยือน การก่อสร้างและออกแบบสวนนั้นมีรายงานว่าถูกกำกับดูแลโดยคิม จ็อง-อึน[18][19] บริเวณสวนเปิดให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเข้าชม
วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2013 สมัชชาประชาชนสูงสุดในการประชุมเต็มคณะประจำปีทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานะของวังและผ่านกฎหมายว่าด้วยวังสุริยะคึมซูซันและกฤษฎีกาสมัชชาประชาชนสูงสุดที่เกี่ยวข้องโดยประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นสถานที่สำคัญของชาติ กำหนดสถานะ ภารกิจ และวิสัยทัศน์ และเตรียมมาตรการเพื่อรักษาวังเพื่อประโยชน์ของชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งหน้าที่ของพลเมืองเกาหลีเหนือที่มีต่ออาคารอนุสรณ์แห่งนี้
การเข้าถึง
[แก้]
นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเข้าชมวังได้เฉพาะในการทัวร์ของรัฐบาลอย่างเป็นทางการเท่านั้น ห้ามถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และสูบบุหรี่ภายในวังทุกจุด อย่างไรก็ตาม ลานวังเปิดให้เข้าชมได้ตลอดทั้งสัปดาห์ และเป็นสถานที่สำหรับจัดการชุมนุมระดับชาติ[ต้องการอ้างอิง]
อาคารสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางลอดใต้ดินซึ่งอยู่ติดกับป้ายรถรางฝั่งตรงข้ามถนน เมื่อเข้าไปในอาคาร ผู้เยี่ยมชม (ทั้งชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีเหนือ) จะต้องเดินผ่านอุปกรณ์ทำความสะอาดรองเท้า[20] ถูกขอให้ฝากสิ่งของส่วนตัวทั้งหมดยกเว้นกระเป๋าสตางค์ไว้ในห้องฝากของ และจะได้รับตั๋วหมายเลขเพื่อรับสิ่งของเหล่านั้นคืนเมื่อออกจากอาคาร[21] ผู้เยี่ยมชมเคลื่อนที่ไปตามทางเลื่อนยาวหลายช่วง[22]
กระทั่ง ค.ศ. 2015 ผู้เยี่ยมชมต้องเดินผ่านโถงยาวที่มีรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของคิมทั้งสองที่อาบด้วยแสงสีแดงนวล สิ่งนี้ถูกแทนที่ด้วยภาพเหมือน 3 มิติของผู้นำตระกูลคิมโดยมีภูเขาแพ็กดูเป็นฉากหลัง และมีธงชาติและธงพรรคประดับอยู่ด้านข้าง เสาโค้งหินอ่อนเรียงรายอยู่รอบโถง ผู้เยี่ยมชมจะได้รับแจ้งให้หยุดที่เส้นสีเหลืองบนพื้น และหลังจากช่วงเวลาแห่งการครุ่นคิดสักครู่ ก็จะถูกเรียกให้เข้าไปในห้องอื่น ที่นี่ พวกเขาจะได้รับลำโพงขนาดเล็กที่เล่นคำบรรยายถึงความโศกเศร้าของชาวเกาหลีเมื่อคิม อิล-ซ็องถึงแก่อสัญกรรม ห้องนั้นมีรูปปั้นครึ่งตัวสีบรอนซ์ของผู้ที่กำลังโศกเศร้า ในที่สุด ผู้เยี่ยมชมก็ขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นบนสุดของอาคารที่ผนังทำจากหินอ่อนสีขาวและเทา พวกเขาถูกส่งผ่านเครื่องเป่าฝุ่นและเข้าไปในห้องที่มีร่างที่ถูกเก็บรักษาของคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิลนอนตั้งอยู่ เชือกกั้นสีแดงล้อมรอบโลงแก้วคริสตัลใส ผู้เยี่ยมชมจะถูกส่งเข้าไปเป็นกลุ่มละสี่คนและได้รับคำสั่งให้โค้งคำนับที่เท้าของคิม อิล-ซ็องทางด้านซ้ายและขวาของเขา จากนั้นผู้เยี่ยมชมจะเดินแถวเข้าไปในห้องพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงรางวัลและเกียรติยศที่มอบให้แก่คิมในช่วงชีวิตของเขาจากต่างประเทศ มหาวิทยาลัย สมาคมมิตรภาพ ฯลฯ จากนั้นลำดับเหตุการณ์นี้จะถูกทำซ้ำในชั้นล่างซึ่งมีห้องชุดที่เกือบจะเหมือนกันซึ่งบรรจุโลงร่างของคิม จ็อง-อิล และห้องที่จัดแสดงของที่ระลึกที่คล้ายคลึงกันของเขา
ของที่ระลึก
[แก้]ห้องที่อยู่ติดกันเต็มไปด้วยสิ่งของของคิม อิล-ซ็อง รวมถึงของขวัญและรางวัลที่เขาได้รับจากทั่วโลก[23] ไม่มีป้ายหรือข้อมูลภาษาเกาหลีอยู่ที่นี่ รางวัลที่ได้รับรวมถึงใบปริญญาบัตร โดยมีเพียงใบเดียวเท่านั้นที่มาจากมหาวิทยาลัยตะวันตก ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยเคนซิงตันในแคลิฟอร์เนีย[24] (เคนซิงตันเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพ โดยทั่วไปถือว่าเป็นโรงสีปริญญา ซึ่งหลังพยายามปิดทำการมาสองปี[25] ก็ถูกหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดใน ค.ศ. 1996[26] จากนั้นเปิดทำการอีกครั้งในปีเดียวกันในรัฐฮาวาย[27] และถูกศาลฮาวายสั่งยุบใน ค.ศ. 2003[28])
เหรียญสันติภาพจากญี่ปุ่นวางอยู่ข้างเหรียญ "เพื่อชัยเหนือญี่ปุ่น" ที่เขาได้รับจากสหภาพโซเวียต[29] ห้องนี้มีภาพวาดขนาดใหญ่และภาพถ่ายของคิม อิล-ซ็องที่พบปะกับผู้นำโลกในระหว่างการเยือนเกาหลีเหนือและระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศของคิม เช่น ฮุสนี มุบาร็อก (อียิปต์), พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี (ลิเบีย), ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมา เจ๋อตง (จีน), นีกอลาเอ ชาวูเชสกู (โรมาเนีย), เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ เลขาธิการใหญ่และประธานอดีตประเทศเยอรมนีตะวันออก, กุสตาว ฮูซาก (อดีตประเทศเชโกสโลวาเกีย), วอยแชค ยารูแซลสกี (โปแลนด์), ตอดอร์ ซีฟกอฟ (บัลแกเรีย), ยาโนช กาดาร์ (ฮังการี), ฟิเดล กัสโตร (คิวบา), ยอซีป บรอซ ตีโต (อดีตประเทศยูโกสลาเวีย), โฮอารี บูเมเดียน (แอลจีเรีย) ม็อกตาร์ อูลด์ ดัดดาห์ (มอริเตเนีย) และยัสเซอร์ อาราฟัต (ปาเลสไตน์) รวมถึงผู้นำสหภาพโซเวียตหลายคน เช่น โจเซฟ สตาลิน, นีกีตา ครุชชอฟ, เลโอนิด เบรจเนฟ, คอนสตันติน เชียร์เนนโค, มีฮาอิล กอร์บาชอฟ และบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่น เช เกบารา และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จิมมี คาร์เตอร์[ต้องการอ้างอิง]
ดูเพิ่ม
[แก้]- มันกย็องแด
- อนุสรณ์สถานใหญ่เขามันซู
- หอศึกษาใหญ่ประชาชน
- นิทรรศการสันถวไมตรีนานาชาติ
- หอนิทรรศการคิมอิลซ็องเกียและคิมจ็องอิเลีย
- สุสานวีรชนปฏิวัติ
- สุสานวีรชนผู้รักชาติ
- สุสานแห่งชาติโซล
- วันแห่งดาวจรัสแสง
- วันแห่งสุริยะ
- หอรำลึกประธานเหมา
- หอรำลึกซุน ยัตเซ็น
- สุสานฉือหู
- สุสานโถวเหลียว
- สุสานซุคบาทาร์
- สุสานโฮจิมินห์
- ศูนย์ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส
- สุสานเลนิน
- หุบเขาแห่งผู้ล่วงลับ
- สุสานกอร์กี ดิมิทรอฟ
- เรือนดอกไม้ (สุสาน)
- อนุสรณ์สถาน
- สุสานรูฮุลลอฮ์ โคมัยนี
- มัสยิดเติร์กเมนบาชี รูฮี
- มาซาร์-อี-ควาอิด
- สุสานบูร์กีบา
- สุสานควาเม นครูมาห์
- สุสานของอากอสตินโญ เนโต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Kim Jong Il to be enshrined as "eternal leader"". ซีบีเอสนิวส์. 12 มกราคม 2011. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2011.
- ↑ "First Western Tourists Inside Kim Mausoleum Describe "Surreal" Experience". เอ็นเคนิวส์. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2013.
- ↑ 3.0 3.1 ชา, วิกเตอร์ (2013). The Impossible State: North Korea, Past and Future. ลอนดอน: วินเทจ. p. 4. ISBN 978-0-099-57865-9.
- ↑ มาร์ก โจฮันสัน (23 มกราคม 2013). "Kim Jong-il's Mausoleum, As Described By Its First Western Visitors". International Business Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2013. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Willoughby 2008, p. 126
- ↑ โคลิน ซวีร์โก (21 กุมภาพันธ์ 2013). "Large construction camp pops up near Pyongyang's foreign leader guesthouses". NK News. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013.
- ↑ Burdick 2010, p. 100
- ↑ Hassig 2009, p. 53
- ↑ Kim 2001, p. 20
- ↑ Kongdan 2000, p. 97
- ↑ "North Korea leader lies in state". บีบีซีนิวส์. 20 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2011.
- ↑ "Kim Jong-il state funeral held in North Korea". บีบีซีนิวส์. 28 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
- ↑ แมกเคอร์รี, จัสติน (28 ธันวาคม 2011). "Kim Jong-il funeral: thousands mourn North Korean leader". เดอะการ์เดียน. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2011.
- ↑ แซลมอน, แอนดรูว์ (28 ธันวาคม 2011). "Kim Jong-il: a lavish North Korean funeral beneath a leaden sky". เดลีเทลิกราฟ. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2011.
- ↑ "Kim Jong-il to be put on display". เอบีซี ซิดนีย์. 13 มกราคม 2012. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2012.
- ↑ "North Korea marks late leader Kim Jong-il's birthday". บีบีซีนิวส์. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2012.
- ↑ 17.0 17.1 "Kumsusan Memorial Palace of the Sun in Pyongyang, North Korea". โลนลีแพลเน็ต. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016.
- ↑ มย็อง-ฮุน, คิม. "Plaza Park of Kumsusan Palace of Sun Laid Out Well". โรดงซินมุน. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013.
- ↑ เมลวิน, เคอร์ติส (17 ธันวาคม 2012). "Kumsusan Palace renovations". North Korean Economy Watch. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013.
- ↑ "Inside The Kumsusan Palace of the Sun: Surreal even by North Korean Standards". visitthedprk.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มกราคม 2021. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2018.
- ↑ Burdick 2010, p. 110
- ↑ Burdick 2010, p. 109
- ↑ Becker 2005, p. 77
- ↑ Burdick 2010, p. 116
- ↑ แชนด์เลอร์, จอห์น (23 เมษายน 1996). "Kensington University Faces Closure Hearing". ลอสแอนเจลิสไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2011.
- ↑ แชนด์เลอร์, จอห์น (4 มกราคม 1996). "State Orders Closure of Area School: Regulators say the private, Glendale-based Kensington University lacks 'credible academic standards'". ลอสแอนเจลิสไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012.
- ↑ แชนด์เลอร์, จอห์น (27 มิถุนายน 1996). "University Sidesteps Close Order: Kensington correspondence school transfers Glendale student enrollment to 'paper campus' in Hawaii". ลอสแอนเจลิสไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2011.
- ↑ "มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน". กรมพาณิชย์และกิจการผู้บริโภค รัฐฮาวาย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2011.
- ↑ "Past Presidents of North Korea – The Mausoleum". เอิร์ทนัตเชลล์. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2021.
บรรณานุกรม
[แก้]- เบ็คเกอร์, แจสเปอร์ (2005), Rogue regime: Kim Jong Il and the looming threat of North Korea, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, ISBN 978-0-19-517044-3
- เบอร์ดิก, เอ็ดดี (2010), Three Days in the Hermit Kingdom: An American Visits North Korea, แมกฟาร์แลนด์, ISBN 978-0-7864-4898-2
- ฮัสซิก, ราล์ฟ (2009), The Hidden People of North Korea: Everyday Life in the Hermit Kingdom, โรว์แมนแอนด์ลิตเทิลฟีลด์, ISBN 978-0-7425-6718-4
- คิม, ซามูเอล เอส. (2001), The North Korean System in the Post-Cold War Era, พาลเกรฟ แมกมิลแลน, ISBN 978-0-312-23974-9
- คงดัน, โอ (2000), North Korea Through the Looking Glass, สำนักพิมพ์สถาบันบรูคกิงส์, ISBN 978-0-8157-6435-9
- วิลโลบี, รอเบิร์ต (2008), The Bradt Travel Guide: North Korea, แบรดต์ทราเวลไกด์, ISBN 978-1-84162-219-4
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Kumsusan Palace of the Sun (PDF). เปียงยาง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. 2016. No. 683203.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มูลนิธิคิม อิลซ็อง-คิม จ็องอิล เก็บถาวร 2016-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่แนนารา
- ภาพพาโนรามา 360 องศา ที่ DPRK 360
- การเยี่ยมชมเชิงลึก ที่เอิร์ทนัตเชลล์
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่กรกฎาคม 2021
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่ธันวาคม 2011
- สิ่งก่อสร้างในเปียงยาง
- อนุสรณ์และอนุสรณ์สถานในประเทศเกาหลีเหนือ
- สุสานในประเทศเกาหลีเหนือ
- คิม อิล-ซ็อง
- คิม จ็อง-อิล
- สิ่งก่อสร้างที่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2519
- ก่อตั้งในประเทศเกาหลีเหนือในปี พ.ศ. 2519
- สถาปัตยกรรมศตวรรษที่ 20 ในประเทศเกาหลีเหนือ