วอร์เรน บัฟเฟตต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วอร์เรน บัฟเฟตต์
เกิด (1930-08-30) 30 สิงหาคม ค.ศ. 1930 (93 ปี)
โอมาฮา , รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
อาชีพประธานและซีอีโอ , เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์
คู่สมรสซูซาน บัฟเฟตต์ (1952–2004) (เสียชีวิต),
แอสตริด เมงค์ (2006–)[1]
บุตรซูซี บัฟเฟตต์,
โฮเวิร์ต แกรแฮม บัฟเฟตต์,
ปีเตอร์ บัฟเฟตต์
เว็บไซต์www.berkshirehathaway.com
ลายมือชื่อ

วอร์เรน เอดเวิร์ด บัฟเฟตต์ (อังกฤษ: Warren Edward Buffett) เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนผู้ใจบุญชาวอเมริกันโดยเป็นซีอีโอของบริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์[4] ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก โดยมีทรัพย์สินเมื่อเดือน มกราคม ค.ศ. 2024 อยู่ที่ประมาณ 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เขาเป็นบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 7 ของโลก

บัฟเฟตต์มักจะได้รับฉายาว่าเป็น เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา [5] หรือไม่ก็ ปราชญ์แห่งโอมาฮา[6] เขามีชื่อเสียงจากปรัชญาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าและความเป็นอยู่อย่างประหยัด ถึงแม้ว่าเขาจะร่ำรวยก็ตาม เขายังมีชื่อเสียงจากความใจบุญ วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2012 เขาได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และได้รับการรักษาสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ปี 2012

บัฟเฟตต์นับเป็นผู้ใจบุญสุนทานคนหนึ่ง เขาให้สัญญาที่จะบริจาคทรัพย์สิน 99 เปอร์เซ็นต์ของเขาให้กับการกุศล โดนหลักผ่านทางมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์

ประวัติช่วงต้นและการศึกษา[แก้]

บัฟเฟตต์เกิดในปี ค.ศ. 1930 ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา โดยเป็นลูกคนที่สองจากสามคน และเป็นลูกชายคนเดียวของผู้แทนสภาสหรัฐ ฮาเวิร์ด บัฟเฟตต์ เขาเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประถม Rose Hill ในโอมาฮา หลังจากจบมัธยมศึกษาและพบความสำเร็จในด้านธุรกิจและการลงทุน เขาอยากที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแต่ถูกพ่อขัดขวางเอาไว้

บัฟเฟตต์มีความสนใจในเรื่องธุรกิจและการลงทุนตั้งแต่เด็ก เขาได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ One Thousand Ways to Make $1000 ที่ยืมมาจากห้องสมุดในวัย 7 ขวบ หนึ่งในธุรกิจแรกที่บัฟเฟตต์ทำคือการขายหมากฝรั่ง, โค้ก, และนิตยสารรายสัปดาห์ตามบ้าน ในสมัยมัธยมปลาย บัฟเฟตต์และเพื่อนรวมเงินกัน 25 ดอลลาร์เพื่อซื้อเครื่องเล่นพินบอลใช้แล้วไปตั้งไว้ในร้านตัดผม ไม่กี่เดือนต่อมา เขาก็มีเครื่องเล่นพินบอลตั้งในร้านตัดผม 3 แห่งทั่วเมืองโอมาฮา กิจการนี้ถูกขายภายในปีเดียวกันให้กับทหารผ่านศึกคนหนึ่งในมูลค่า 1,200 ดอลลาร์

ความสนใจในด้านตลาดหุ้นของบัฟเฟตต์เริ่มตั้งแต่เด็กเช่นกันโดยได้ซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี ในสมัยมัธยมปลาย เขาลงทุนในธุรกิจของพ่อและเป็นเจ้าของฟาร์มขนาด 40 เอเคอร์ที่มีชาวนาเช่าอยู่

ในปี ค.ศ. 1947 เขาเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่โรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และได้ย้ายไปเรียนและจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในปีค.ศ. 1951 เป็นต้นมา

ปรัชญาการลงทุน[แก้]

เมื่อครั้งที่ยังศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียอยู่นั้นวอร์เรน บัฟเฟต์ได้ศึกษาถึงปรัชญาการลงทุนจาก เบนจามิน เกรแฮม หลังจากนั้นก็นำปรัชญาการลงทุนจาก ฟิลิป ฟิชเชอร์ มาปรับประยุกต์เข้าด้วยกัน วอร์เรน บัฟเฟต์ ถือเป็นนักลงทุนที่เน้นคุณค่าของหุ้นที่มั่นคงในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น

กองทุนดัชนีและการบริหารแบบแอคทีฟ[แก้]

บัฟเฟตต์สนับสนุนกองทุนดัชนีสำหรับผู้ที่ไม่สนใจบริหารเงินของตนเองหรือไม่มีเวลามากพอ บัฟเฟตต์กังขาว่าการบริหารแบบแอคทีฟจะสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาวและเขาได้แนะนำทั้งผู้ลงทุนรายย่อยและสถาบันให้ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำและผูกโยงกับดัชนีที่กระจายความเสี่ยง บัฟเฟตต์เคยเขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า "เมื่อเงินหลักล้านๆ ดอลลาร์ถูกบริหารโดยคนวอลล์สตรีทที่คิดค่าธรรมเนียมแพงๆ กำไรใหญ่ๆก็มักจะถูกเหล่าผู้จัดการเก็บเกี่ยว ไม่ใช่ลูกค้า" [7] ในปี ค.ศ. 2007 บัฟเฟตต์พนันกับผู้จัดการกองทุนหลายคนว่ากองทุนดัชนี S&P 500 ธรรมดาจะทำความสามารถได้ดีกว่า เฮดจ์ฟันด์ที่คิดค่าธรรมเนียมแพงมาก เวลาล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ. 2017 กองทุนดัชนีสามารถที่จะเอาชนะทุกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่พนันกับบัฟเฟตต์ [7]

มิตรสหาย[แก้]

  • วอร์เรน บัฟเฟต์มีมิตรสหายเป็นมหาเศรษฐีชื่อ บิลล์ เกตส์ ซึ่งเคยชวนให้เขาร่วมลงทุนในบริษัทไมโครซอฟท์ แต่วอรร์เรนก็ขอปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในระบบธุรกิจประเภทนี้ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยินดีที่จะบริจาคเงินจำนวนมหาศาลแก่มูลนิธิของบิลล์ เกตส์แทน
  • ในบางโอกาสเขามักเล่นเกมไพ่บริดจ์กับบิลล์ เกตส์ผ่านทางระบบออนไลน์ (เพื่อลับสมองมากกว่าเพื่อการพนัน)

อ้างอิง[แก้]

  1. "How Does Warren Buffett Get Married? Frugally, It Turns Out". New York Times. 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-20.
  2. "Warren E Buffett, CEO Compensation". Forbes.com. 2006-03-30. สืบค้นเมื่อ 2009-02-23.
  3. Forbes http://www.forbes.com/profile/warren-buffett/. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  4. "The Greatest Investors: Warren Buffett". Investopedia.com. สืบค้นเมื่อ 2009-03-06.
  5. Markels, Alex (2007-07-29). "How to Make Money the Buffett Way". U.S. News & World Report.
  6. Sullivan, Aline (1997-12-20). "Buffett, the Sage of Omaha, Makes Value Strategy Seem Simple: Secrets of a High Plains Investor". International Herald Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-30. สืบค้นเมื่อ 2009-05-08.
  7. 7.0 7.1 "Warren Buffett, 'Oracle of Omaha', criticizes Wall Street and praises immigrants". Reuters via the Guardian. 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]