วรรณไว พัธโนทัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วรรณไว พัธโนทัย
วรรณไว พัธโนทัยกับนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ผู้เสมือนพ่อบุญธรรม
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
22 มีนาคม พ.ศ. 2539 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2543
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
กรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
22 มีนาคม พ.ศ. 2539 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2543
ผู้บุกเบิกสัมพันธไมตรีไทย-จีน
นายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ผู้แปลสามก๊กจากต้นฉบับภาษาจีน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 สิงหาคม พ.ศ. 2485 (81 ปี)
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสปทุมา พัธโนทัย
บุตร3 คน

วรรณไว พัธโนทัย (25 สิงหาคม พ.ศ. 2485 -) อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง และผู้บุกเบิกสัมพันธไมตรีไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน

ประวัติ[แก้]

วรรณไว พัธโนทัย เป็นบุตรของนายสังข์ พัธโนทัย (ที่ปรึกษาคนสนิทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม) กับนาง วิไล พัธโนทัย เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2485 เป็นบุตรคนที่ 2 ของพี่น้องทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายมั่น พัธโนทัย นายวรรณไว พัธโนทัย นางสิรินทร์ ฮอร์น นางผ่องศรี ฟอร์น วังเด็กก์ และนางวิริยะวรรณ สาทิสสะรัต

นายวรรณไว พัธโนทัย เข้าศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยจนกระทั่งถึงชั้นมัธยม 3 จำเป็นต้องย้ายที่เรียนไปศึกษาต่อยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (ขณะนั้นวรรณไว มีอายุได้ 12 ปี) เนื่องจากต้องไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อแสดงความจริงใจในการผูกมิตรระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้ศึกษาอยู่ที่กรุงปักกิ่งจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง วรรณไว พัธโนทัย สมรสกับนางปทุมา พัธโนทัย (นามสกุลเดิม สุนทรกุมาร) มีบุตรและธิดารวม 3 คน ได้แก่

  1. นายปราชญ์ พัธโนทัย
  2. นายวรัตม์ พัธโนทัย
  3. นางสาววรรณปราณ พัธโนทัย
วรรณไว สัมผัสมือกับมาดามเติ้ง หยิ่ง เชา ภรรยา นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล

เป็นตัวประกันสานมิตรไมตรีกับจีน[แก้]

สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตรงกับช่วงสมัยที่จีนเพิ่งตั้งประเทศใหม่ (จีนคอมมิวนิสต์) ได้เพียง 7 ปี ภายใต้การนำของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานเหมา เจ๋อตง โดยมี โจว เอินไหล เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นโลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ค่ายโลกเสรีอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และค่ายโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไทยเป็นพันธมิตรสหรัฐฯร่วมต่อต้านจีน และสหรัฐฯเองพยายามทุกวิถีทางในการสกัดจีนไม่ให้เติบโต เมื่อสหรัฐฯแพ้คอมมิวนิสต์ในสงครามเกาหลี ทำให้ประเทศเล็กไม่แน่ใจความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ นายสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาคนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอความคิดว่า ประเทศไทยควรปรับท่าทีใหม่ ไม่ควรเป็นศัตรูกับจีน เพราะด้วยจีนกับไทย มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมากกว่าชาติอื่นๆ อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศที่ฟื้นไข้และจะต้องเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เห็นชอบด้วย จึงได้มอบหมายงานสานสัมพันธ์ไทยกับจีนคอมมิวนิสต์ให้แก่นายสังข์ เป็นผู้ดำเนินการ

โจวเอินไหลและภรรยาเติ้งหยิ่งเชา ถ่ายภาพร่วมกับครอบครัวพัธโนทัย ที่บ้านพักในทำเนียบจงหนันห่าย

เนื่องจากนายสังข์ พัธโนทัย เป็นบุคคลที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์จีน และเห็นว่าจีนในอดีตมักเชื่อมความสัมพันธ์ด้วยกันระหว่างก๊กต่อก๊ก โดยใช้วิธีส่งลูกหรือญาติสนิทเพื่อเป็นตัวประกันในการสานสัมพันธ์ นายสังข์ พัธโนทัย จึงตัดสินใจส่ง เด็กชายวรรณไว พัธโนทัย กับเด็กหญิงนวลนภา (สิรินทร์) พัธโนทัย ลูกแท้ๆของตน ไปอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจในความสัมพันธ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ได้ให้การอุปการะแก่ทูตน้อยทั้ง 2 เป็นอย่างดี

ถูกขับช่วงปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมในจีน[แก้]

ในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ประเทศจีนเกิดการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมโดยการสนับสนุนของ ประธานเหมา เจ๋อตง แก๊งอ๊อฟโฟร์ (เจียงชิงภรรยาเหมา, หวังหงเหวิน, จางชุนเฉียว, เหยาเหวินหยวน) และพวกซ้ายจัดที่กุมอำนาจในจีน พยายามเข้าริดรอนอำนาจและทำร้ายเหล่านักปฏิวัติที่เคยร่วมต่อสู้มากับประธานเหมา เจ๋อตง อาทิ ประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี, นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล, เติ้งเสี่ยวผิง ,จอมพลจูเต๋อ ฯลฯ รวมทั้งใช้นโยบายต่อต้านสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรง ขณะนั้นสหรัฐกำลังปราชัยเสียฐานที่มั่นต่างๆหลายแห่งให้แก่พวกเวียดกงในสงครามเวียดนาม ซึ่งสหรัฐฯให้การสนับสนุนอยู่อย่างเต็มที่ จนสหรัฐฯเริ่มเหนื่อยหน่ายจากการสู้รบแบบยืดเยื้อ ของพวกเวียดกงซึ่งได้รับการหนุนหลังจากจีน สหรัฐฯจึงอยากยุติสงครามเวียดนามเต็มทน พอดีห้วงเวลาดังกล่าว ตรงกับช่วงที่ศาลยุติธรรมพิพากษาปล่อยตัวนายสังข์ พัธโนทัย พ้นข้อหาคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่จอมพลสฤษดิ์ จับขังไว้เป็นเวลาถึง 7 ปี สหรัฐรู้ว่านายสังข์ พัธโนทัย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน โดยมีการส่งลูกไปอยู่กับจีนตั้งแต่เด็ก นายนอร์แมน บี ฮันน่า ที่ปรึกษาสถาทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นเพื่อนกับนายสังข์มาก่อน ได้เชิญนายสังข์ไปเลี้ยงแสดงความยินดีที่ได้รับการปล่อยตัวที่สถานทูตสหรัฐฯ และได้ปรารภกับนายสังข์เรื่องนี้ โดยสหรัฐฯยินดีจะพบปะเจรจา เพื่อขอยุติสงครามเวียดนามกับรัฐบาลจีน โดยสหรัฐฯพร้อมเจรจากับผู้แทนจีนในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีสถานทูตสหรัฐฯตั้งอยู่ก็ได้ โดยนายฮันน่าฯ ได้นำเรื่องยุติปัญหาสงครามนี้ มาเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการออกหนังสือเดินทางไทยให้กับนายสังข์ ซึ่งต้องการจะไปเยี่ยมลูกที่ปักกิ่งที่ไม่ได้พบหน้ากันนานเป็นเวลา 10 ปีแล้ว

เมื่อนายสังข์ ได้รับหนังสือเดินทางไทยให้เดินทางออกนอกประเทศได้แล้ว นายสังข์จึงออกเดินโดยใช้เส้นทางฮ่องกงมาเก๊า และดำดินเข้าประเทศจีนไปพร้อมกับนายสุวิทย์ เผดิมชิต อดีตประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ และเปิดการเจรจาเพื่อยุติสงครามเวียดนามนี้ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งขณะนั้นนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ถูกแก๊งอ๊อฟโฟร์พยายามริดรอนอำนาจ ทำให้นายกฯโจว ไม่ทราบการเดินทางมาเยือนเมืองจีนของนายสังข์ พวกเรดการ์ดในกระทรวงต่างประเทศจึงเปิดเจรจากับนายสังข์เสียเอง โดยอ้างว่า นายกฯโจวติดภาระกิจยังไม่ว่างที่จะพบ ทำให้การเจรจาครั้งนั้นล้มเหลวและแสดงท่าที่แข็งกร้าวกับสหรัฐฯอย่างรุนแรงโดยไม่ยอมประณีประนอมใดๆและหลังจากเกลี้ยกล่อมนายสังข์ให้อยู่ร่วมขบวนการปฏิวัติไทยของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในเมืองจีนไม่สำเร็จ นายสังข์จึงถูกส่งตัวออกจากประเทศจีนไป

ไม่ช้าไม่นาน นายวรรณไว พัธโนทัย ซึ่งแสดงท่าทีไม่ยอมอ่อนข้อต่อพวกเรดการ์ดที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกกับนายสังข์และให้อยู่ร่วมขบวนการปฏิวัติไทยในเมืองจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย นายวรรณไว จึงถูกตำรวจจีน 12 คน พร้อมคำประกาศของหน่วยงานความมั่นคงของจีน(กระทรวงสันติบาล) ขับออกจากประเทศจีนภายในเวลา 48 ชั่วโมง ในฐานะเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาและถูกจับตัวส่งออกไปทางเกาะมาเก๊า

เมื่อถูกผลักออกจากแดนจีนเข้ามาเก๊าแล้ว นายวรรณไวก็ถูกตำรวจมาเก๊าจับฐานหนังสือเดินทางไทยหมดอายุไปนานแล้ว นายวรรณไวจึงประกาศขอลี้ภัยทางการเมืองกับทางการมาเก๊าและได้ส่งโทรเลขด่วนถึงนายสังข์ผู้พ่อ นายสังข์จึงนำความไปบอกนายฮันน่าฯว่า นายวรรณไว ลูกชายของตนถูกขับออกจากประเทศจีน เพราะเรื่องที่นายฮันน่าฯฝากนายสังข์ไปกระทำนั้นแหละ นายฮันน่าฯ จึงสั่งหน่วยสืบราชการลับ(CIA)ให้มารับตัวนายวรรณไวกลับมาประเทศไทย เพราะรู้ดีว่านายวรรณไว เป็นบุคคลที่รู้เรื่องราวของประเทศจีนได้ลึกซึ้งที่สุดในยุคนั้น

สัมพันธภาพระหว่างจีนกับสหรัฐและการมาเยือนจีนของนิกสัน[แก้]

สัมพันธภาพระหว่างจีนกับสหรัฐที่ตึงเครียดมาเป็นเวลายาวนาน 20 กว่าปี ได้เริ่มผ่อนคลายลง เมื่อมีการแข่งขันปิงปองโลกครั้งที่ 31 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมปิงปองจีนได้เชื้อเชิญให้ทีมปิงปองของสหรัฐ เดินทางมาแข่งขันที่ประเทศจีน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งสหรัฐได้ตอบรับและส่งทีมปิงปองของตนไปร่วมการแข่งขันในทันที และได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากประชาชนชาวจีน นักกีฬาจีน รวมถึงได้รับเชิญในงานเลี้ยงต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลด้วย

จากวันนั้นไม่นาน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2514 ปีเดียวกันนั้นเอง ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาพิเศษฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ดำดินไปนครปักกิ่ง เพื่อปูทางเชื่อมความสัมพันธ์ โดยได้หายตัวไประหว่างเยือนประเทศปากีสถาน เมื่อเข้าไปจีนแล้ว คิสซิงเจอร์ก็ได้เข้าพบปะเจรจากับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลในทันที การเจรจาดำเนินอยู่เป็นเวลา 2 วัน คิสซิงเจอร์ก็เดินทางกลับในวันที่ 11 กรกฎาคม และในวันที่ 15 กรกฎาคม ประธานาธิบดีนิสันแห่งสหรัฐ ก็ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยประกาศต่อสาธารณชนชาวอเมริกัน ถึงการจะเดินทางไปเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสัน ซึ่งถือเป็นข่าวช๊อคโลกเลยทีเดียว

เฮนรี่ คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐ บุคคลผู้มีส่วนสำคัญคู่กับโจวเอินไหล ในการดำเนินยุทธศาสตร์การทูตปิงปอง

ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างฉับพลัน หลายประเทศที่ล่มหัวจมท้ายกับสหรัฐ และตั้งตัวเป็นศัตรูกับจีนอย่างรุนแรงตลอดมานั้น ก็เริ่มมีปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงท่าทีตาม รวมถึงไทยในขณะนั้น โดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เอง ก็เริ่มโลเลว่าควรจะปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนหรือไม่อย่างไร จีนยังคงใช้กีฬาปิงปอง เป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศทั่วโลกต่อไปไม่หยุดยั้ง หลังจากใช้ได้ผลกับสหรัฐ โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 นั้นเอง จีนก็ได้ขอให้ไทยส่งทีมปิงปองไปร่วมการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเชียขึ้นที่นครปักกิ่ง ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติในขณะนั้น ก็ได้จัดส่งคณะทีมปิงปองไทยไปร่วมการแข่งขันตามคำเชิญ โดยจอมพลถนอม ได้มอบหมายให้คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งตำแหน่งในขณะนั้นคือ รองผอ. ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลังของคณะปฏิวัติ ร่วมเดินทางไปกับทีมปิงปองไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะฯ โดยจุดประสงค์ที่รัฐบาลให้คุณประสิทธิ์ร่วมเดินทางไปกับทีมปิงปองไทย ก็เพื่อต้องการให้คุณประสิทธิ์หาโอกาสผูกสัมพันธ์กับผู้นำจีน

วันที่ประวัติศาสตร์โลก ต้องบันทึกเป็นก้าวแรกในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน เมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เยือนประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ และได้สัมผัสมือกับ ประธานเหมาเจ๋อตง ผู้นำประเทศจีนในขณะนั้น

กับภารกิจเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน รอบ 2[แก้]

จากการที่จอมพลถนอม มอบหมายให้คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ร่วมเดินทางไปกับทีมปิงปองไทย เพื่อต้องการให้คุณประสิทธิ์หาโอกาสผูกสัมพันธ์กับผู้นำจีน เพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง คุณประสิทธิ์จึงได้ขอให้นายวรรณไว ซึ่งเคยพำนักศึกษาอยู่ในประเทศจีนมาเป็นเวลานาน ครั้งเมื่อถูกส่งไปเชื่อมความสัมพันธ์เมื่อวัยเยาว์สมัยจอมพล ป. โดยขอให้นายวรรณไว ช่วยติดต่อกับผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการวางแผนเดินทางไปเยือนจีน และช่วยนำพาคณะเข้าพบปะสนทนากับผู้นำระดับสูงของจีนด้วย

เนื่องจากขณะนั้น พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ยังคงบังคับใช้อยู่ นายวรรณไวจึงไม่มั่นใจว่า หากตกปากรับคำเป็นธุระในภารกิจใหญ่นี้แล้ว สุดท้ายจะไม่ถูกพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวกลับมาเล่นงานในภายหลัง ดังนั้น นายวรรณไว จึงขอให้คุณประสิทธ์แจ้งไปยังคณะปฏิวัติ ให้รับรองการปฏิบัติภารกิจเชื่อมสัมพันธ์ในครั้งนี้ และให้มีลายเซ็นการอนุมัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ของผู้ใหญ่ในคณะปฏิวัติ ซึ่งในที่สุดผู้แทนคณะปฏิวัติโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าคณะปฏิวัติในขณะนั้น ก็ได้ลงนามในเอกสารอนุมัติให้นายวรรณไว ร่วมเดินทางไปกับคณะปิงปอง หากแต่ปกปิดชื่อของนายวรรณไว มิให้เผยแพร่ให้สาธารณะทราบ และภายหลังจากการเจรจาอย่างลับ ๆ ของนายวรรณไว รัฐบาลไทยก็ได้รับคำตอบจากรัฐบาลจีนว่า รัฐบาลจีนขอแสดงความยินดีต้อนรับ ในฐานะแขกพิเศษของรัฐบาลจีน ซึ่งคำในสาสน์ที่ใช้ว่า แขกพิเศษของรัฐบาลนั้น หมายความว่า ทางคณะจะมีโอกาสได้พบกับประธานเหมาเจ๋อตงหรือ อย่างน้อยก็ต้องโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี

และแล้วในวันที่ 27 สิงหาคม 2514 คณะทีมปิงปองของไทย ก็ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง โดยที่นายวรรณไว ได้เดินทางไปก่อนล่วงหน้า 1 วัน (26 สิงหาคม ) เพื่อเตรียมการ และเมื่อคณะทีมปิงปองเดินทางไปถึงกรุงปักกิ่ง ก็ได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลจีนอย่างดีเยี่ยม มีริ้วขบวนชูช่อดอกไม้ รวมถึงร้องรำทำเพลงต้อนรับคณะฯ อย่างมโหฬาร และหลังจากเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง คุณประสิทธิ์ ก็ได้แยกตัวออกจากทีมปิงปองพร้อมด้วยนายวรรณไว และได้เข้าพบกับคณะผู้นำระดับสูงท่านต่างๆตลอด 15 วัน ที่พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลด้วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นายกโจวฯ ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปจากประเทศไทยอย่างเปิดเผย หลังจากที่ขาดการติดต่อสัมพันธ์กันไปกว่า 14 ปี ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ โดยคุณประสิทธิ์ ได้มอบของขวัญที่ระลึกเป็นงาช้าง มีฆ้องไทยแขวนอยู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นศิลปหัตถกรรมของไทยแล้ว ยังมีความหมายว่า เราได้มาเคาะเรียกมิตรภาพกับจีนแล้ว การพบปะสนทนาดำเนินไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรอย่างยิ่ง จีนยินดีที่จะติดต่อกับไทยในด้านต่างๆอย่างไม่เป็นทางการไปก่อน และหลังจากนั้น ก็มีการติดต่อไปมาหาสู่กัน อย่างไม่เป็นทางการและกึ่งทางการเรื่อยมา จนกระทั้ง ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ก็ได้มีการบรรลุความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการเดินทางไปลงนามเชื่อมความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ที่นครปักกิ่ง

อ้างอิง[แก้]