ลาล พิหารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลาล พิหารี "มฤตัก"
เกิดลาล พิหารี
1955
อมิโล, อะฌัมครห์
สัญชาติอินเดีย
อาชีพเกษตรกร, นักกิจกรรม
ปีปฏิบัติงาน1980-ปัจจุบัน
มีชื่อเสียงจากถูกรัฐประกาศเป็นผู้เสียชีวิตในปี 1975 ถึง 1994 ทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่
รางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพ (2003)

ลาล พิหารี หรือ ลาล พิหารี "มฤตัก" (ฮินดี: लाल बिहारी "मृतक"; Lal Bihari "Mritak", เกิดปี 1955) เป็นเกษตรกรและนักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย จากอมิโลใสอำเภออะฌัมครห์ รัฐอุตตรประเทศ ผู้เคยถูกทางการประกาศเป็นผู้เสียชีวิตแล้วในระหว่างปี 1975 ถึง 1994 เขาต่อสู้กับระบบราชการของอินเดียเป็นเวลา 19 ปีเพื่อยืนยันแก่รัฐว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกัน เขาเติมชื่อ มฤตัก (แปลว่า เสียชีวิตแล้ว) เข้าไปในชื่อของเขา รวมทั้งตั้งสมาคมเพื่อผู้เสียชีวิตอุตตรประเทศ "มฤตักสงฆ์" เพื่อสร้างความสนใจของสาธารณะเกี่ยวกับกรณีอื่นที่คล้ายกันกับเขา[1]

ชีวประวัติ[แก้]

พิหารีเป็นผู้ชายธรรมดาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในชนบทของรัฐอุตตรประเทศ วันหนึ่งเขาประสงค์ทำเรื่องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารซึ่งจำเป็นต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตน เขาจึงเดินทางไปยังสำนักงานสรรพากรที่ศาลาว่าการอำเภออะฌัมครห์เพื่อขอเอกสารยืนยันตัวตน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับแจ้งว่าเขาเป็นผู้เสียชีวิตไปแล้วตามระเบียนของรัฐ โดยมีลุงของพิหารีเป็นผู้แจ้งแก่รัฐว่าพิหารีเสียชีวิต เพื่อที่ลุงจะได้ครอบครองที่ดินขนาดไม่ถึงหนึ่งเอเคอร์ในฆาลีลาบาดที่เป็นทรัยพ์สินของพิหารี เนื่องจากรัฐขึ้นทะเบียนพิหารีว่าเป็นผู้เสียชีวิต จึงมีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ลุงในฐานะผู้รับมรดก[2]

นอกจากนี้ พิหารียังพบอีกว่ามีรายชื่อบุคคลอีกกว่า 100 คนที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เขาจึงตั้งสมาคมเพื่อผู้เสียชีวิตอุตตรประเทศ "มฤตักสงฆ์" ขึ้นมา ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ และสำเร็จในการกู้คืนสถานะของบุคคลจากเสียชีวิตมาแล้วสี่คน (ข้อมูลปี 2004)

ตลอดระยะเวลานับจากนั้น พิหารีพยายามจัดกิจกรรมและสร้างความสนใจในสาธารณชนขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เขาจัดพิธีศพให้กับตัวเองพร้อมทั้งเรียกเงินชดเชยสำหรับแม่หม้ายให้กับภรรยาของเขา ในปี 1980 เข้าเติมคำว่า "มฤตัก" (เสียชีวิต) เข้าในชื่อของเขา รวมถึงลงนามในเอกสารต่าง ๆ ในชื่อ "ลาล พิหารี ผู้ล่วงลับ" เขาเคยสมัครลงแข่งเลือกตั้งกับราชีพ คานธี ในปี 1989 เพื่อพิสูจน์ว่าเขายังไม่เสียชีวิต กระทั่งในปี 1994 หรือราว 19 ปีหลังเขาเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางกฎหมาย รัฐบาลได้แก้ไขสถานะของเขาจากผู้เสียชีวิตเป็นผู้ยังมีชีวิตอยู่

พิหารีได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2003[3] และในปี 2004 เขาได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาในเขตเลือกตั้งลาลคังช์ รัฐอุตตรประเทศ

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ในปี 2021 สาติษ กาวศิกสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องของพิหารี[4] ในชื่อ กากัซ,[5] ผลิตโดยซาลมาน ข่าน ภายใต้ซาลมาน ข่าน ฟิล์มส์[6] นำแสดงโดยปันกัช ตริปตี, โมนัล คัชชร และ อมร อุปัธยาย ออกฉายครั้งแรกบน ZEE5 ในวันที่ 7 มกราคม 2021

อ้างอิง[แก้]

  1. "Plight of the Living Dead". Time. 19 July 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 March 2011.
  2. "Azamgarh Journal; Back to Life in India, Without Reincarnation". New York Times. 24 October 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-04.
  3. Debroy, Bibek (2004). India, redeeming the economic pledge. New Delhi: Academic Foundation. pp. 133–4. ISBN 978-8171883486.
  4. "A movie on Lal Bihari Mritak". Oneindia Entertainment. Lucknow. UNI. 10 April 2006. สืบค้นเมื่อ 19 October 2012.[ลิงก์เสีย]
  5. "Satish Kaushik trains his camera on the 'living dead'". DNAIndia. 13 March 2011. สืบค้นเมื่อ 19 October 2012.
  6. Hungama, Bollywood (2019-01-04). "Salman Khan to produce this Satish Kaushik film based on true incidents : Bollywood News - Bollywood Hungama" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]