ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีจุดประสงค์ที่จะให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ และช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องร้องต่อแพทย์ เน้นการช่วยเหลือผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดมากกว่าการหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่แพทย์เกิดความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าผลกระทบของกฎหมายอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์[1]

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้กล่าวถึงความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

  1. ผู้ป่วยไม่ค่อยเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับบริการผิดพลาดและไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือในกรณีที่ไปฟ้องร้องต่อศาล ก็พบว่าการพิสูจน์ความถูกผิดนั้นเป็นไปได้ยาก
  2. ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบัญญัติให้มีการกันเงินไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 จ่ายเป็นค่าช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ขอรับความช่วยเหลือเพียง 810 ราย จากผู้ใช้บริการประมาณ 200 ล้านครั้ง แต่รวมเฉพาะคนไข้บัตรทองประมาณ 47 ล้านคน ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีบัตรทองจึงไม่มีระบบใด ๆ มารองรับ
  3. ความขัดแย้งของแพทย์และคนไข้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสาเหตุหลายประการ อาทิ ระบบสิทธิขึ้นพื้นฐานในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การแพทย์สาธารณสุขที่เป็นการค้ามากขึ้น การพัฒนาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เป็นต้น โดยมีสถิติการฟ้องร้องคดีแพ่งต่อศาลในช่วงปี พ.ศ. 2539-2551 จำนวน 76 คดี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น[2]

ในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขและกลุ่มอื่น ๆ พยายามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้น โดยประสานความร่วมมือกับมงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยได้เสนอให้มีคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติและมีองค์ประกอบจากทั้งนักวิชาการ แพทยสภา กองประกอบโรคศิลปะ ตัวแทนผู้เสียหาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากการทำงานร่วมกันในชั้นกฤษฎีกาแล้ว ได้มีข้อตกลงร่วมกันเป็นร่างพระราชบัญญัติที่รอเข้าสมัยประชุมสภา[3]

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ทบทวนมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 เพื่อดูผลกระทบวงกว้างและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในหนังสือกล่าวว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอโดยกลุ่มเอ็นจีโอ และทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับผลกระทบเนื่องจากผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่นั้นได้[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. มติชน. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการ สาธารณสุข แพทย์กลายเป็นผู้ร้ายจริงหรือ?. สืบค้นเมื่อ 17-10-2553.
  2. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (30 กรกฎาคม). ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เก็บถาวร 2010-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 17-10-2553.
  3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (30 กรกฎาคม 2553). ความเป็นมาของร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธาณสุข พ.ศ. .. เก็บถาวร 2010-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 17-10-2553
  4. สำนักงานสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข. (22 มิถุนายน 2553). ปลัด สธ. เตรียมนำผลสรุปความเห็น 3 กลุ่มและข้อเสนอแนะ ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เสนอรมว.สธ.ในสัปดาห์หน้า[ลิงก์เสีย]. สืบค้นเมื่อ 17-10-2553.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]