ราชาแห่งจักรวาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปนูนพระเจ้าซาร์กอนที่ 2 แห่งจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ (ขวา) พระอิสริยยศของพระองค์คือ กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย กษัตริย์แห่งบาบิโลน กษัตริย์แห่งซูเมอร์และแอกแคด ราชาแห่งสี่มุมโลก และ ราชาแห่งจักรวาล รูปสลักนี้อยู่บนจารึกที่พิพิธภัณฑ์บริติช กรุงลอนดอน

ราชาแห่งจักรวาล (ซูเมอร์: lugal ki-sár-ra[1] or lugal kiš-ki,[2] แอกแคด: šarru kiššat māti,[1] šar-kiššati[1] or šar kiššatim[3]) หรือ ราชาแห่งสรรพสิ่ง ราชาทั้งปวง[2] ราชาของโลก[4] เป็นพระอิสริยยศอันทรงเกียรติที่ผู้ปกครองในเมโสโปเตเมียโบราณใช้อ้างสิทธิ์ในการปกครองโลก บางครั้งพระอิสริยยศนี้หมายถึงพระเป็นเจ้าตามธรรมเนียมยิว–คริสต์และศาสนาอับราฮัม

ที่มาของพระอิสริยยศนี้มาจาก "ราชาแห่งคิช" (ซูเมอร์: kiš,[5] แอกแคด: kiššatu[6]) ซึ่งเป็นตำแหน่งทรงเกียรติอยู่แล้ว คิชถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญเหนือกว่าเมืองในเมโสโปเตเมียอื่น ๆ เนื่องจากตำนานซูเมอร์กล่าวว่าคิชเป็นเมืองที่ผู้เป็นราชาเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์หลังเกิดน้ำท่วม[1] แนวคิด "ราชาแห่งคิช" เทียบเท่า "ราชาแห่งจักรวาล" ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยแอกแคด

ผู้ปกครองคนแรกที่ใช้พระอิสริยยศราชาแห่งจักรวาลคือ พระเจ้าซาร์กอนแห่งแอกแคด (ครองราชย์ประมาณ 2334–2284 ปีก่อนคริสตกาล) และสืบต่อมาโดยผู้ปกครองยุคหลังเพื่อแสดงว่าจักรวรรดิตนสืบทอดมาจากจักรวรรดิของพระเจ้าซาร์กอน[7] แอนติโอคัสที่ 1 แห่งจักรวรรดิซิลูซิด (ครองราชย์ 281–261 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายที่ใช้พระอิสริยยศนี้[8]

มีความเป็นไปได้ (อย่างน้อยในหมู่ผู้ปกครองอัสซีเรีย) ที่ตำแหน่งราชาแห่งจักรวาลไม่ได้สืบทอดตามปกติ เนื่องจากมีเพียงผู้ปกครองสมัยอัสซีเรียใหม่บางคนที่ดำรงพระอิสริยยศนี้ และบางคนได้รับหลังครองราชย์หลายปี สเตฟานี ดัลลีย์ นักอัสซีเรียวิทยาชาวบริติชเสนอในปี ค.ศ. 1998 ว่าผู้ปกครองอาจได้รับพระอิสริยยศนี้หลังประสบความสำเร็จในทำสงครามเจ็ดครั้ง และไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งนี้ได้หากปราศจากความสำเร็จ[9] พระอิสริยยศคล้ายกันคือ ราชาแห่งสี่มุม (šar kibrāt erbetti) ซึ่งมอบให้แก่ผู้ปกครองที่พิชิตสี่ทิศของโลก[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Levin 2002, p. 362.
  2. 2.0 2.1 Steinkeller 2013, p. 146.
  3. Roaf & Zgoll 2001, p. 284.
  4. Stevens 2014, p. 73.
  5. The Electronic Text Corpus of Sumerian Literature.
  6. Electronic Pennsylvania Sumerian Dictionary.
  7. Levin 2002, p. 365.
  8. Stevens, Kathryn (2014). "The Antiochus Cylinder, Babylonian Scholarship and Seleucid Imperial Ideology". The Journal of Hellenic Studies (ภาษาอังกฤษ). 134: 73. doi:10.1017/S0075426914000068. ISSN 0075-4269.
  9. Karlsson 2013, p. 201.
  10. Levin 2002, p. 360.