ข้ามไปเนื้อหา

ระบิล บุนนาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบิล บุนนาค
อาจารย์ระบิล บุนนาค
อาจารย์ระบิล บุนนาค
เกิดพ.ศ. 2445
ตำบลวังหลัง บางกอกน้อย ธนบุรี
นามปากการ. บุนนาค
อาชีพนักเขียน นักถ่ายภาพ
คู่สมรสสวน บุนนาค (สกุลเดิม ณ ระนอง)

ระบิล บุนนาค เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2445 ที่ตำบลวังหลัง บางกอกน้อย ธนบุรี เป็นบุตรชายของหลวงสัณหโลหการ (บง บุนนาค) กับหม่อมหลวงถนอม (สกุลเดิม อิศรางกูร ณ อยุธยา) มีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีก 2 คนคือ ระเบียบ และระบัว ระบิล บุนนาค จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสิงคโปร์ กลับจากต่างประเทศแล้วเข้ามารับราชการที่กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ (ชื่อสมัยนั้น) ระหว่างรับราชการได้เดินทางไปสำรวจพันธุ์ไม้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยร่วมกับข้าราชการชาวต่างประเทศ ระบิล บุนนาค เป็นผู้เคยติดตามหมอคาร์ ( A.F.G. Kerr) ชาวไอริช ผู้อำนวยการแผนกตรวจพันธุ์รุกขชาติ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2464) ออกเก็บพันธุ์ไม้ต่าง ๆ รวบรวมได้ 360 หมายเลข และได้พบกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดบันทึกไว้

ตั้งแต่ในวัยหนุ่ม ขณะที่ทำงานที่กองรุกขชาติได้ออกต่างจังหวัด ขึ้นเขาลงห้วย ตรวจป่าไม้ เก็บพันธุ์ไม้ ได้มีโอกาสเห็นดอกไม้แปลก ๆ สวย ๆ คิดว่าน่าจะถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อการศึกษา เรื่องพันธุ์ไม้ ประกอบกับมีลูกคนแรก จึงอยากจะถ่ายภาพความเจริญเติบโตของลูกทุกระยะ จึงหันมาศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายภาพ โดยได้รับคำแนะนำจากญาติพี่น้อง ที่ทำงานอยู่ที่ห้องภาพนรสิงห์บ้าง ศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษบ้าง ระบิล บุนนาค มีความรู้ทางภาษาอย่างดี เนื่องจากเคยไปศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ 7 ปี ได้ซื้อกล้องมาหัดถ่ายภาพ ซื้อเคมีภัณฑ์มาผสมน้ำยาล้างฟิล์มและทำห้องมืดในบ้านเพื่อขยายภาพเอง

ระบิล บุนนาค สนใจในการถ่ายภาพโบราณสถาน ปูชยีนสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายภาพผู้คนและบ้านเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีโอกาสออกไปเกือบทั่วประเทศ ระบิล บุนนาค ได้ให้เหตุผล ในเรื่องนี้ไว้ว่า "...ภาพถ่ายจะบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ชั่วกาลนาน ภาพถ่ายจะให้การศึกษาถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยผู้ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปดูของจริง จะสามารถศึกษาได้จากภาพถ่าย" ระบิล บุนนาค จึงมีผลงานภาพถ่ายโบราณสถาน วัดวาอาราม ทิวทัศน์ที่งดงาม และภาพเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ภาพที่ถ่ายบันทึกไว้ได้ส่งเข้าประกวดอยู่บ่อย ๆ และได้รับรางวัลอยู่เสมอ

จากความสามารถทางด้านการถ่ายภาพของท่านที่ได้ศึกษาทั้งการถ่ายภาพ การล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพมาด้วยตนเอง จนมีความเชี่ยวชาญและชำนาญทางด้านการถ่ายภาพเป็นอย่างดี ท่านจึงเปิดร้านถ่ายภาพขึ้นแถวถนนสีลม ชื่อร้านถ่ายภาพ ร. บุนนาค เมื่อปีพุทธศักราช 2481 ในขณะนั้นฟิล์มถ่ายภาพม้วนละ 7-8 บาท ท่านสามารถตั้งราคาค่าล้างฟิล์ม ม้วนละ 10 บาทได้

ระบิล บุนนาค ได้ไปช่วยงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถทางด้านการถ่ายภาพ ในหลายกิจการที่สวนโมกขพลาราม รวมถึงการบันทึกภาพของท่านพุทธทาสภิกขุไว้ด้วย นอกจากการไปช่วยงานด้วยตัวท่านเองแล้ว ยังแนะนำศาสตราจารย์พูน เกษจำรัส ไปร่วมกันทำงานรับใช้โครงการของท่านพุทธทาสภิกขุอีกคนหนึ่งด้วย

เมื่อมีโอกาสไปประเทศอินเดีย ระบิล บุนนาค ได้ไปถ่ายสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล คือ สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน และได้ขยายภาพสถานที่ทั้ง 4 แห่งนี้เป็นภาพใหญ่ขนาด 24 นิ้ว ไปติดไว้ที่สวนโมกขพลาราม สุราษฏร์ธานี, ที่วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ และโรงเรียนอีกหลายแห่ง เพื่อการศึกษาของนักเรียน และประชาชนทั่วไป ระบิล บุนนาค เคยให้ความเห็นไว้ว่า ควรจะมีองค์กร หรือหน่วยงานให้ความสำคัญกับภาพศิลปวัตถุ โบราณสถาน สถานที่สำคัญตามจังหวัดต่าง ๆ ของไทย โดยขยายภาพจำนวนหลาย ๆ ชุด ส่งไปตามพิพิธภัณฑ์จังหวัด โรงเรียนหรือวิทยาลัยประจำจังหวัด เพื่อการศึกษา และเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์บ้านเมือง

ด้วยเจตจำนงของระบิล บุนนาค ที่เห็นความสำคัญของโบราณสถานและโบราณวัตถุ รวมถึงความสำคัญของการศึกษา ท่านจึงได้มอบภาพถ่ายและฟิล์มผลงานของท่าน ที่ถ่ายทำมาอย่างประณีต ผ่านกระบวนการล้างอย่างถูกต้องตามหลักวิชา จำนวนประมาณ 23,000 ภาพ ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช 2523

ระบิล บุนนาค เคยเป็นอาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาแผนกช่างภาพ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ในวิชาถ่ายภาพวิจิตร (Pictorial Photography) อยู่ 7 ปี จนสุขภาพของท่านไม่เอื้ออำนวยจึงลาออก ระบิล บุนนาคเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งสมาคม ถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพฯ ในยุคแรก ๆ ท่านเคยเป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์ไทย รางวัลตุ๊กตาทองของสมาคมพ่อค้าไทย

ในปีอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2535 ระบิล บุนนาค ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักอนุรักษ์ดีเด่นด้วยคนหนึ่ง

ภาพส่วนบุคคล นายระบิล บุนนาค ภ.สบ.2 จำนวน 31,109 ภาพ พ.ศ 2493-2509

ประกอบด้วยภาพถ่ายและเนกาตีฟต้นฉบับ ซึ่งเป็นฝีมือการถ่ายของนายระบิล บุนนาค ช่างภาพซึ่งมีฝีมือเยี่ยม สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภาพชุดนี้ประกอบด้วยภาพโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ทุกจังหวัดของประเทศไทย และโบราณสถานในต่างประเทศ เช่น เขาพระวิหาร นครวัด สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ภาพโบราณวัตถุสถานเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าพร้อมทั้งด้านศิลปและรายละเอียดของเนื้อหา นอกจากนี้ยังประกอบด้วยภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น การเสด็จนิวัติพระเนครของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 พระองค์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภาพเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของไทย เช่น การบวชนาค ภาพสถานที่ และทัศนียภาพในจังหวัดต่าง ๆ เมื่อประมาณ 50-60 ปีในอดีต ตลอดจนภาพเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในลักษณะความงามทางศิลปอย่างหลากหลาย

ได้รับรางวัลจากกรมศิลปากรยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่นและได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อ้างอิง

[แก้]