สังคมราษฎรนิยม
สังคมราษฎรนิยม Communauté socialiste populaire សង្គមរាស្ត្រនិយម | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | พระนโรดม สีหนุ |
ก่อตั้ง | 22 มีนาคม ค.ศ. 1955 |
ถูกยุบ | 18 มีนาคม ค.ศ. 1970 |
ที่ทำการ | ราชธานีพนมเปญ, พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฎรนิยม) |
ฝ่ายเยาวชน | ยุวชนสังคมราษฎรนิยม |
สมาชิกภาพ (ปี 1955) | 450,000 คน[1] |
อุดมการณ์ | ชาตินิยมเขมร เชื้อชาตินิยม ฟาสซิสต์ อนุรักษ์นิยม ลัทธินิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสนาพุทธนิยม[2] |
จุดยืน | Big tent |
ศาสนา | พุทธศาสนานิกายเถรวาท |
สี | สีเหลือง |
การเมืองพระราชอาณาจักรกัมพูชา รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
สังคมราษฎรนิยม (เขมร: សង្គមរាស្ត្រនិយម สงฺคมราสฺตฺรนิยม; อักษรโรมัน: Sangkum Reastr Niyum; อังกฤษ: People's Socialist Community) เป็นพรรคการเมืองในกัมพูชา มีชื่อเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า สังคม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพระนโรดม สีหนุ[3] กลุ่มนี้อธิบายตนเองว่าเป็นขบวนการมากกว่าพรรคการเมือง พรรคนี้มีบทบาทมากในราชอาณาจักรกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2498– 2513[3]
การก่อตั้ง
[แก้]พรรคสังคมเกิดขึ้นหลังจากพระนโรดม สีหนุ สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2498 ให้พระบิดาของพระองค์คือพระนโรดม สุรามฤต ขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระองค์หันมาเล่นการเมือง ตั้งพรรคสังคมราษฎรนิยมขึ้น สมาชิกของพรรคเป็นสมาชิกราชวงศ์ กลุ่มฝ่ายขวา เช่นกลุ่มของดาบ ฌวน กลุ่มเขมรใหม่ของลน นล พรรคนี้เข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2498 โดยมีพรรคฝ่ายตรงข้ามคือพรรคประชาธิปไตยและกรมประชาชน ในที่สุดผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งและทำให้พระนโรดม สีหนุได้ทรงบริหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง ประมุขแห่งรัฐบ้างไปอีกถึง 15 ปี จนชาวกัมพูชาในขณะนั้นพร้อมใจกันเรียกพระองค์ว่า สมเด็จเอิว (อังกฤษ: Samdech Euv); (เขมร: សម្ដេចឪ) หรือ "สมเด็จพ่อ" ของประชาชนชาวกัมพูชานั่นเอง
นโยบาย
[แก้]นอกจากจะมีลักษณะทางด้านสังคมนิยมแล้ว พรรคสังคมยังมีลักษณะอนุรักษนิยม ชาตินิยม พุทธศาสนานิยม และมีลักษณะของลัทธิฟาสซิสต์ด้วย พรรคนี้ได้กล่าวอ้างว่าการบริหารงานควรเป็นสังคมนิยมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เน้นความจงรักภักดีเพื่อคงไว้ซึ่งราชวงศ์ และใช้สังคมนิยมชาวพุทธเป็นฐานของอำนาจ และเป็นสังคมนิยมของชนชั้นสูง มีลักษณะของการเป็นอาณานิคมภายในตนเอง ใน พ.ศ. 2500 พรรคสังคมได้จัดตั้งแผนกเยาวชนขึ้น
สัญลักษณ์
[แก้]ในช่วงที่พรรคสังคมได้ปกครองประเทศนั้นได้มีการแต่งเพลงประจำพรรคขึ้นถึง 2 เพลง ได้แก่ เพลงขะแมร์รสสุกซาน "เขมรอยู่อย่างสุขสันต์" (ខ្មែររស់សុខសាន្ត)[4] และเพลงเชียตขะแมร์เมียนแตสมเด็จเอิว "ชาติเขมรมีแต่สมเด็จพ่อ" (ជាតិខ្មែរមានតែសម្ដេចឪ)[5] นอกจากยังมีการนำเพลงพระราชนิพนธ์ของพระนโรดม สีหนุมาบรรเลงอีกด้วย
การเมืองภายใต้ระบอบสังคม
[แก้]ในยุคที่พรรคสังคมครองอำนาจ พรรคนี้เป็นศูนย์รวมของกลุ่มฝ่ายขวา มีเพียงกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้นำคอมมิวนิสต์บางคนเช่น ฮู นิมและเขียว สัมพันได้เข้าร่วมกับระบอบสังคมด้วย[6] ในขณะที่พรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองที่เป็นกลางและนิยมสาธารณรัฐ ได้ถูกบีบให้เข้าร่วมกับพรรคสังคมใน พ.ศ. 2500[7] ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐบางคนหยุดเล่นการเมืองจนกระทั่ง พ.ศ. 2513
กลุ่มฝ่ายขวาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เข้าร่วมกับระบอบสังคมคือกลุ่มฝ่ายขวาที่ต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเขมรเสรีและได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย พระนโรดม สีหนุได้เรียกเขมรฝ่ายขวาว่าเขมรสีน้ำเงิน[8] เพื่อให้แตกต่างจากกลุ่มฝ่ายซ้ายที่เรียกเขมรแดง นอกจากนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2502 – 2503 ยังเกิดความรุนแรงต่อผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับระบอบสังคม เช่น กรมประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับเวียดมิญ[9] และเขมรเสรีที่ต่อต้านระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ เช่น เปรียบ อิน เขมรเสรีที่ปฏิเสธการเจรจากับพระนโรดม สีหนุเมื่อ พ.ศ. 2506 ถูกจับกุม และถูกประหารชีวิต สิ่งที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นกับเขมรเสรีคนอื่นด้วย เช่น เจา บอรี เจา มาธุราและเซา งอย ใน พ.ศ. 2510
การสิ้นสุดระบอบสังคม
[แก้]พระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นประมุขของรัฐเมื่อ พ.ศ. 2506 และการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2509 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งอย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มฝ่ายซ้ายซึ่งนำโดยลน นลและฝ่ายทหารในนามของพระนโรดม สีหนุ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เคยร่วมมือกับเวียดมิญมาก่อน (พระนโรดม สีหนุเรียกว่าเขมรเวียดมิญ) สิ่งเหล่านี้กลับไปเพิ่มความนิยมให้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านเวียดนามและต่อต้านราชวงศ์ นำโดยพล พต[10] ระบอบสังคมถูกล็อกเข้ากับสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง ระหว่างเวียดมิญ ขบวนการปะเทดลาวกับกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งลามเข้ามาในดินแดนกัมพูชาด้วย ความหวาดกลัวของชนชั้นสูงในกัมพูชา นอกจากหวาดกลัวกลุ่มฝ่ายซ้ายที่อยู่นอกประเทศ ยังหวาดกลัวฝ่ายซ้ายในกัมพูชา โดยเฉพาะหลังจากเกิดกบฏในเขตชนบทของพระตะบองซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังในต้นปี พ.ศ. 2510 สิ่งนี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในกัมพูชา[11] เขียว สัมพัน กับฮู นิมออกจากฝ่ายรัฐบาลหนีเข้าป่าในช่วง พ.ศ. 2510 – 2511 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ่ายตำรวจของสีหนุกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามมาก
การพ้นจากตำแหน่งของพระนโรดม สีหนุ
[แก้]เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น พระนโรดม สีหนุพ้นจากตำแหน่งหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2513 โดยลน นล และฝ่ายขวาอื่น ๆ เช่น พระสีสุวัตถิ์ สิริมตะ และอิน ตัม พรรคสังคมสลายตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 กลุ่มที่เคยสนับสนุนพระนโรดม สีหนุเข้าร่วมกับกลุ่มฟุนซินเปกและกองทัพแห่งชาติสีหนุ ซึ่งมีกองบัญชาการในเขตชนบทของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2523
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "1955 polls: the Sangkum takes hold". The Phnom Penh Post. 13 February 1998. สืบค้นเมื่อ 12 July 2019.
- ↑ "Cambodia under the Khmer Rouge". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-16. สืบค้นเมื่อ 2019-07-22.
- ↑ 3.0 3.1 Dommen, A. The Indochinese experience of the French and the Americans, Indiana University Press, 2001, p.318
- ↑ เพลงขะแมร์รสสุกซาน "เขมรอยู่อย่างสุขสันต์" (ខ្មែររស់សុខសាន្ត) ที่ยูทูบ
- ↑ เพลงเชียตขะแมร์เมียนแตสมเด็จเอิว "ชาติเขมรมีแต่สมเด็จเอิว" (ជាតិខ្មែរមានតែសម្ដេចឪ) ที่ยูทูบ
- ↑ Kiernan, p.197
- ↑ Dommen, pp.359-360
- ↑ Library of Congress Country Studies: Cambodia - Major Political and Military Organizations
- ↑ Kiernan, pp. 175-176. The official historiography of the Khmer Rouge, by contrast, depicts even this period as characterised by violent struggle against a repressive regime.
- ↑ Kiernan, p.227
- ↑ Kiernan, pp.250-253