ข้ามไปเนื้อหา

รหัสตุ๊กตาเต้นรำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รหัสตุ๊กตาเต้นรำ  
โฮมส์ตรวจสอบรูปตุ๊กตาเต้นรำ ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ตในนิตยสารสแตรนด์ปี ค.ศ. 1903
ผู้ประพันธ์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Adventure of the Dancing Men
ผู้แปลอ. สายสุวรรณ
ประเทศสหราชอาณาจักร
สหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ชุดเรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุดคืนชีพ
ประเภทเรื่องสั้นนวนิยายนักสืบ
วันที่พิมพ์ธันวาคม ค.ศ. 1903
เรื่องก่อนหน้าช่างก่อสร้างเจ้าเล่ห์ 
เรื่องถัดไปนักจักรยานผู้เดียวดาย 
ข้อความรหัสตุ๊กตาเต้นรำ ที่ วิกิซอร์ซ

"รหัสตุ๊กตาเต้นรำ" (อังกฤษ: The Adventure of the Dancing Men) เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน 56 เรื่องที่เกี่ยวกับเชอร์ล็อก โฮมส์ เขียนโดยอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารสแตรนด์ ในสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1903 และในนิตยสารคอลเลียร์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1903 เป็นเรื่องสั้นลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 13 เรื่องที่รวบรวมตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด คืนชีพ ในปี ค.ศ. 1905

ดอยล์จัดอันดับให้ "รหัสตุ๊กตาเต้นรำ" อยู่ในอันดับที่ 3 ในรายการเรื่องสั้นของโฮมส์ 12 เรื่องที่ชื่นชอบ[1] เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์เรื่องหนึ่งในเพียง 2 เรื่องซึ่งลูกความของโฮมส์เสียชีวิตหลังมาขอให้โฮมส์ช่วย อีกเรื่องหนึ่งคือ "เมล็ดส้มห้าเมล็ด" ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย การถอดรหัสตุ๊กตาเต้นรำของโฮมส์ให้เหตุผลใกล้เคียงกับที่เลอกรองค์ทำในเรื่อง "รหัสลับแมลงหัวกะโหลก" ของเอดการ์ แอลลัน โพ

ชื่อเรื่องดั้งเดิมภาษาอังกฤษของเรื่องสั้นคือ "The Dancing Men" ขณะตีพิมพ์ในนิตยสารสแตรนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1903.[2]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อฮิลตัน คิวบิตต์ (Hilton Cubitt) แห่งคฤหาสน์ไรดิงทอร์ป (Ridling Thorpe Manor) ในนอร์ฟอล์กมาพบเชอร์ล็อก โฮมส์และนำกระดาษแผ่นหนึ่งที่เขียนรูปตุ๊กตาเต้นรำที่มีลำดับรูปเป็นปริศนามาให้

รูปวาดโดยโคนัน ดอยล์
รูปวาดโดยโคนัน ดอยล์

คิวบิตต์อธิบายให้โฮมส์และหมอวัตสันฟังว่าตนเพิ่งแต่งงานกับหญิงชาวอเมริกันชื่อเอลซี แพตริก (Elsie Patrick) ก่อนการแต่งงานเธอขอให้สามีอย่าถามเกี่ยวกับอดีตของเธอ เนื่องจากเธอมี "การเกี่ยวข้องที่ไม่สมควร" ในชีวิตของเธอ แม้ว่าเธอจะบอกว่าไม่มีอะไรที่เธอต้องละอายใจโดยส่วนตัวก็ตาม การครองคู่ของพวกเขาเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งเริ่มมีข้อความมาถึง โดยส่งทางไปรษณีย์จากสหรัฐอเมริกาก่อนแล้วจึงมาปรากฏในสวน

ข้อความดังกล่าวทำให้เอลซีหวาดกลัวมาก แต่เธอไม่ได้บอกเหตุผลที่ทำให้เธอกลัว และคิวบิตต์ยืนกรานที่จะรักษาสัญญาของเขาที่จะไม่ถามเกี่ยวกับชีวิตของเอลซีในสหรัฐอเมริกา โฮมส์ตรวจสอบรูปตุ๊กตาเต้นรำที่ส่งมาทั้งหมด และจึงตีความได้ว่ารูปตุ๊กตาเต้นรำเหล่านี้่เป็นรหัสแทนที่และสามารถถอดรหัสโดยการวิเคราะห์ความถี่ ข้อความตุ๊กตาเต้นรำข้อความสุดท้ายที่ฮิวบิตต์ส่งมาให้โฮมส์ในภายหลังทางจดหมาย ทำให้โฮมส์เกรงว่าคิวบิตต์กำลังตกอยู่ในอันตราย

โฮมส์รีบไปที่คฤหาสน์ไรดิงทอร์ปและพบว่าคิวบิตต์เสียชีวิตแล้วเพราะถูกยิงด้วยปืนเข้าที่หัวใจ ส่วนภรรยาของเขาบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนปืนที่ศีรษะ สารวัตรมาร์ติน (Inspector Martin) แห่งสถานีตำรวจนอร์ฟอล์กเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมและอัตวินิบาตกรรมตาม โดยเอลซีเป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ แต่ภายหลังโฮล์มส์สังเกตเห็นความไม่สอดคล้องกันบางอย่างในข้อสันนิษฐานนั้น จึงพิสูจน์ได้ว่ามีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง

โฮมส์เขียนข้อความด้วยรูปตุ๊กตาเต้นรำส่งไปยังชาวอเมริกันอีกคนชื่อเอบ สลานีย์ (Abe Slaney) ซึ่งอาศัยอยู่ที่ไร่ใกล้เคียง ขณะที่รอผลลัพธ์ของข้อความนี้ โฮมส์อธิบายให้วัตสันและสารวัตรมาร์ตินฟังว่าตนถอดรหัสตุ๊กตาเต้นรำได้อย่างไร ในคำอธิบายของเขา โฮมส์กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาถอดรหัสข้อความที่สาม เขาโทรเลขหาเพื่อนตำรวจในนิวยอร์กชื่อวิลสัน ฮาร์กรีฟ (Wilson Hargreave) ถามเกี่ยวกับสลานีย์ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในข้อความแรก และฮาร์กรีฟตอบกลับโฮล์มส์ว่าสลานีย์เป็นผู้ร้ายที่น่ากลัวที่สุดในชิคาโก

ข้อความสุดท้าย ซึ่งทำให้โฮมส์และวัตสันต้องรีบไปนอร์ฟอล์ก อ่านว่า "ELSIE PREPARE TO MEET THY GOD" (เอลซี เตรียมตัวตายเสียเถิด)

สลานีย์ถูกจับกุม ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ตในปี ค.ศ. 1903
ภาพวาดโดยเฟรดเดริก ดอร์ สตีลในนิตยสารคอลเลียร์

สลานีย์ไม่รู้ว่าเอลซีบาดเจ็บสาหัส จึงมายังคฤหาสน์ไรดิงทอร์ปและถูกจับกุมเมื่อผ่านประตูเข้ามา โฮมส์ส่งข้อความตุ๊กตาเต้นรำไปหาสลานีย์โดยรู้ว่าสลานีย์จะต้องเชื่อว่าข้อความนี้มาจากเอลซี สลานีย์เปิดเผยว่าเขาหมั้นหมายกับเอลซี ลูกสาวของหัวหน้าอาชญากรแห่งชิคาโกที่สลานีย์ทำงานให้ และเธอหนีออกมาจากชีวิตเดิม สลานีย์มาที่อังกฤษเพื่อรับเธอกลับ เมื่อสลานีย์และเอลซีกำลังสนทนากันผ่านหน้าต่าง คิวบิตต์ก็ปรากฏตัวขึ้นและมียิงกันเกิดขึ้น คิวบิตต์ถูกฆ่าตายและสลานีย์หนีไป เป็นที่แน่ชัดว่าเอลซียิงตัวเอง สลานีย์ถูกจับและถูกตัดสินให้แขวนคอ แต่โทษของเขาลดลงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตเพราะคิวบิตต์เป็นคนยิงก่อน เอลซีฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ และใช้ชีวิตหลังจากนั้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและจัดการมรดกของสามีผู้ล่วงลับ

ประวัติการตีพิมพ์

[แก้]

"รหัสตุ๊กตาเต้นรำ" ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหราชอาณาจักรในนิตยสารสแตรนด์เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1903 และในสหรัฐอเมริกาในนิตยสารคอลเลียร์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1903[3]นิตยสารสแตรนด์มีภาพวาดประกอบเนื้อเรื่อง 7 ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ต ในนิตยสารคอลเลียร์มีภาพวาดประกอบ 6 ภาพวาดโดยเฟรดเดอริก ดอร์ สตีล[4] เรื่องสั้นถูกรวมในหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด คืนชีพ[4] ซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905 และในสหราชอาณาจักรในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1905[5]

รหัสแทนที่

[แก้]

รูปตุ๊กตาเต้นรำที่มีลำดับเป็นปริศนานั้นเป็นรหัสแทนที่อย่างง่าย ซึ่งรูปตุ๊กตาเต้นรำแต่ละรูปแทนที่ตัวอักษรในภาษาอังกฤษแต่ละตัว

ข้อความที่ 5 และข้อความสุดท้ายที่กล่าวไว้ข้างต้นมีข้อความที่ถอดรหัสได้ว่า "ELSIE PREPARE TO MEET THY GOD" (เอลซี เตรียมตัวตายเสียเถิด) มีลักษณะข้อความดังนี้:

สังเกตได้ว่ารูปตุ๊กตาเต้นรำมีการซ้ำในตำแหน่งที่ 1, 5, 8 และ 12 โดยเป็นการแทนที่ตัวอักษร "e" สองครั้งในคำว่า "Elsie" (เอลซี) และสองครั้งในคำว่า "prepare" (เตรียมตัว) รูปตุ๊กตาเต้นรำที่ถือธงรูปแรกและรูปที่สองแสดงถึงอักษรสุดท้ายของคำ ทั้งสองคำลงท้ายด้วยอักษร "e"

อ้างอิงและบรรณานุกรม

[แก้]
อ้างอิง
  1. Temple, Emily (22 May 2018). "The 12 Best Sherlock Holmes Stories, According to Arthur Conan Doyle". Literary Hub. สืบค้นเมื่อ 6 January 2019.
  2. Sir Arthur Conan Doyle (1998). David Stuart Davies (บ.ก.). The Best of Sherlock Holmes. Wordsworth Classics. p. 250.
  3. Smith (2014), p. 119.
  4. 4.0 4.1 Cawthorne (2011), p. 115.
  5. Cawthorne (2011), p. 110.
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]