ข้ามไปเนื้อหา

มานูเอล เปียร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มานูเอล เปียร์
เกิด28 เมษายน ค.ศ. 1774(1774-04-28)
วิลเลมสตัด, กูราเซา
เสียชีวิต16 ตุลาคม ค.ศ. 1817(1817-10-16) (43 ปี)
รัฐโบลิบาร์, ประเทศเวเนซุเอลา
ชั้นยศผู้บัญชาการทหารสูงสุด

มานูเอล การ์โลส มาริอา ฟรันซิสโก เปียร์ โกเมซ (28 เมษายน พ.ศ. 2317 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพสเปนในช่วงสงครามประกาศเอกราชเวเนซุเอลา

ชีวิตวัยเด็ก[แก้]

เขาบุตรชายของเฟอร์นันโด อลอนโซ เปียร์ วาย ลอตติน พ่อค้าชาวสเปนที่มีเชื้อสายมาจากหมู่เกาะคานารี [1] และแม่ของเขา มาเรีย อิซาเบล โกเมซ เป็นหญิงลูกครึ่งดัตช์ที่เกิดจากพ่อชาวแอฟโฟร-เวเนซุเอลาและแม่ชาวดัตช์ในวิลเลมสตัด กือราเซา เปียร์เติบโตมาในฐานะลูกครึ่งผู้ต่ำต้อย ขึ้นอยู่กับขอบเขตการเลือกปฏิบัติที่กำหนดโดยบรรทัดฐานทางสังคมในยุคอาณานิคม

เขาเดินทางมาถึงเวเนซุเอลาพร้อมกับแม่เมื่อเขาอายุสิบปีและตั้งถิ่นฐานที่รัฐลากวยรา แม้ไม่ได้รับการศึกษา แต่เขาก็สามารถเรียนรู้และศึกษาความรู้ทั่วไปด้วยตนเอง รวมถึงสอนตัวเองให้พูดได้หลายภาษา

เมื่ออายุได้ 23 ปี เขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชและมีส่วนร่วมในการสมคบคิดกวาลและเอสปาญาในปี พ.ศ. 2340 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

อาชีพทหาร[แก้]

ในปี พ.ศ. 2347 เขาเข้าร่วมกองทหารอาสาในกูราเซาที่กำลังต่อสู้กับการยึดครองของอังกฤษ กองทหารอาสาประสบความสำเร็จในการขับไล่อังกฤษและฟื้นฟูการปกครองของดัตช์ ในปี พ.ศ. 2350 เขาอยู่ในเฮติเพื่อช่วยการปฏิวัติบนเกาะและเป็นผู้บัญชาการเรือรบ

ภายในปี พ.ศ. 2353 ประสบการณ์ทางการทหารและความปรารถนาของเขาที่จะได้รับเอกราชจากรัฐบาลอาณานิคม ทำให้เขาเข้าร่วมการกบฏที่กำลังเริ่มต้นขึ้นของเวเนซุเอลาต่อต้านสเปน เขาเริ่มในกองทัพเรือและถูกส่งไปที่ปวยร์โตอายากูโช ในฐานะผู้บัญชาการเรือรบ เขาได้เข้าร่วมในการรบหลายครั้งกับกองทัพเรือสเปน รวมถึงในยุทธการที่ซอรอนโดในแม่น้ำโอริโนโกในปี พ.ศ.2355

สถานการณ์ที่เลวร้ายและการพ่ายแพ้ทำให้เขาต้องลี้ภัยไปยังตรินิแดดชั่วคราว เมื่อกลับมาเวเนซุเอลาในปี พ.ศ.2356 ในตำแหน่งพันเอกของกองทัพ เขาสามารถป้องกันเมืองมาตูรินได้สำเร็จและช่วยปลดปล่อยส่วนตะวันออกของประเทศจากกองกำลังสเปน

ในปีถัดมา พ.ศ. 2357 ในตำแหน่งนายพลจัตวา เปียร์นำทัพต่อสู้ในจังหวัดบาร์เซโลนา คารากัส และคูมานา ได้พ่ายแพ้ต่อกองกำลังของโฮเซ่ โทมัส โบเวสใกล้เอลซาลาโด

เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพลโท เขาได้เข้าร่วมกับซีมอน โบลิวาร์ในเฮติในกองทัพลอสกายอซซึ่งประสบความสำเร็จ และยุทธการที่หมู่เกาะโลสฟรายเลสและคารูปาโน

ในปี พ.ศ.2359 เขาเอาชนะกองทัพของฟรานซิสโก โทมัส โมราเลสที่เอลฮุนคาล จากนั้นเปียร์เดินทัพไปยังกัวยานาเพื่อเริ่มการปลดปล่อยจังหวัดนั้น ในต้นปี พ.ศ.2360 เขาล้อมเมืองอังโกสตูรา เมื่อวันที่ 11 เมษายน กองทัพของเขาประสบชัยชนะครั้งใหญ่เหนือกองกำลังของนายพลสเปน มิเกล เด ลา ตอร์เร่ ที่ยุทธการที่ซานเฟลิกซ์ ไม่กี่วันต่อมา เปียร์ยึดภารกิจคาปูชินในกัวยานาและปลดปล่อยตูเมเรโม ผู้รอดชีวิตชาวสเปนถูกจับกุมและตัดสินประหารชีวิต จากนั้นเมืองกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์และค่ายทหารของทหารผู้รักชาติที่นำโดยซีมอน โบลิวาร์ หนึ่งเดือนต่อมา เปียร์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพลเอกผู้บัญชาการทหารสูงสุด

การล่มสลาย การพิจารณาคดี และการประหารชีวิต[แก้]

ในช่วงเวลานี้ หลังจากชัยชนะทางทหารของเขา เปียร์เกิดความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาชาวคริโอโยที่มีตำแหน่งสูงกว่า รวมถึงซิมอน โบลิวาร์ ความขัดแย้งนี้ส่งผลให้โบลิวาร์ถอดเปียร์ออกจากการบังคับบัญชาทหารโดยตรง เปียร์จึงขอลาพัก ซึ่งได้รับอนุมัติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2360

นอกเหนือจากการเรียกร้องเอกราช เปียร์ยังต้องการการแบ่งปันอำนาจที่มากขึ้น สิทธิทางสังคมและสิทธิทางการเมืองสำหรับชาวเมสตีโซ ไม่พอใจกับวิธีที่ชาวเมสตีโซถูกปฏิบัติภายใต้ระบบอาณานิคม เปียร์หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นหลังจากเอาชนะราชวงศ์สเปนได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เปียร์ที่ขณะนี้ไม่มีทหารให้บังคับบัญชาตัดสินใจที่จะอยู่ในกัวยานาและล๊อบบี้สนับสนุนความคิดเห็นของเขาที่ขัดแย้งกับผู้นำคริโอโยเกือบทั้งหมด (เปียร์เป็นข้อยกเว้นเพียงคนเดียว)

เปียร์อยู่กับผู้บัญชาการทหารอาวุโสคนอื่น ๆ ที่ต่อต้านการนำของโบลิวาร์เช่นกัน รวมถึงโฮเซ่ เฟลิกซ์ ริบาส,ซานติอาโก มารีโญ และโฮเซ่ ฟรานซิสโก เบร์มูเดซ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเป็นชาวคริโอโยและเหตุผลในการต่อต้านโบลิวาร์แตกต่างจากเปียร์ที่สนับสนุนสิทธิของชาวเมสตีโซ

ในหนึ่งในเหตุการณ์ที่มืดมนที่สุดของการต่อสู้เพื่อเอกราช โบลิวาร์สั่งให้จับกุมและพิจารณาคดีเปียร์ในข้อหาละทิ้งหน้าที่ ไม่เชื่อฟัง และสมรู้ร่วมคิดต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากเปียร์เป็นคนเดียวที่ถูกตั้งข้อหาและจับกุมในเหตุการณ์นี้ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าโบลิวาร์ต้องการใช้เปียร์เป็นตัวอย่างในหมู่ผู้นำทางทหาร เปียร์เป็นคนโชคร้ายที่ถูกเลือก เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2360 และถูกพิจารณาโดยศาลทหารซึ่งพบว่าเขามีความผิดในทุกข้อกล่าวหา และในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2360 เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ในวันเดียวกันนั้น ซิมอน โบลิวาร์ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดได้ยืนยันโทษประหารชีวิต วันถัดมา มานูเอล เปียร์, พลเอกผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถูกประหารชีวิตที่กำแพงของมหาวิหารอังโกสตูราโดยหมู่ปืน ในช่วงเวลาที่น่าพิศวง โบลิวาร์ซึ่งตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประหารชีวิตได้ยินเสียงปืนจากสำนักงานใกล้เคียงของเขาและกล่าวด้วยน้ำตา “He derramado mi sangre” (ข้าได้หลั่งเลือดของข้า)

อ้างอิง[แก้]

  1. "La Emigracion y Su Trascendencia en la Historia del Pueblo Canario". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-10-07.. LA EMIGRACION Y SU TRASCENDENCIA EN LA HISTORIA DEL PUEBLO CANARIO (VIII) (THE Emigration AND ITS SIGNIFICANCE IN THE HISTORY of CANARY (VIII)) (Accessed on October 5, 2010 at 17:55 (VIII))(In Spanish)