มอดแป้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มอดแป้ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Coleoptera
วงศ์: Tenebrionidae
สกุล: Tribolium
สปีชีส์: T.  castaneum
ชื่อทวินาม
Tribolium castaneum
(Herbst, 1797)

บทนำ[แก้]

ศัตรูทางการเกษตร[แก้]

มอดแป้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tribolium castaneum เป็นแมลงศัตรูทางการเกษตรที่สำคัญ โดยปนเปื้อนในโกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวสาร กาแฟ ข้าวโพด เผือก ถั่ว รวมถึงผลผลิตแปรรูป เช่น แป้ง บิสกิต พาสต้า เป็นต้น โดยตัวอ่อน และตัวเต็มวัย กินผลผลิตเป็นอาหารและเพิ่มจำนวนมาก มีการสร้างสารเคมีประเภทควิโนน ที่มีกลิ่นเหม็น สร้างความเสียหายกับผลผลิตเป็นอย่างมาก มอดแป้งมีการแพร่กระจายในโกดังเก็บผลผลิตของมนุษย์ทั่วโลก มูลค่าความเสียหายจากมอดแป้ง(และแมลงปีกแข็งชนิดอื่น)เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี [1]

สัตว์ทดลองเพื่อการศึกษาพันธุศาสตร์[แก้]

มอดแป้งมีความสำคัญในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะสาขาพันธุศาสตร์ โดยเป็นโมเดลแมลงที่สำคัญรองจากแมลงหวี่ (Drosophila melanogaster) ทั้งนี้เพราะมีรูปแบบการเจริญของเอ็มบริโอ ที่คล้ายคลึงกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆมากกว่าแมลงหวี่ ปี ค.ศ. 2008 ข้อมูลจีโนมของมอดแป้งตีพิมพ์ในวารสาร Nature [2] สามารถเข้าไปใช้ข้อมูลได้ที่ฐานข้อมูล BeetleBase.org [2] สามารถใช้เทคนิค RNAi ศึกษาหน้าที่ของยีนชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การศึกษาพันธุศาสตร์โดยใช้แมลงชนิดนี้ทำได้ง่าย [3] [4]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของมอดแป้ง[แก้]

การปรับตัวของวงศ์ยีนรีเซพเตอร์รับสารเคมี (รีเซพเตอร์รับกลิ่นและรีเซพเตอร์รับรส)[แก้]

มอดแป้งมียีนที่สร้างรีเซพเตอร์รับกลิ่น(odorant receptor)340 ยีน และรีเซพเตอร์รับรส (gustatory receptor)340 ยีน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับแมลงกลุ่มแมลงหวี่ (ประมาณ 60 ยีน) หรือกลุ่มผีเสื้อ (40-70 ยีน) ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการปรับตัวเพื่อให้ใช้อาหารได้หลากหลาย และสามารถหาแหล่งอาหารได้กว้าง ยีนรีเซพเตอร์รับกลิ่นมีการแสดงออกต่างกันในตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยมีจำนวนยีนแสดงออกมากกว่า และยีนที่แสดงออกในตัวอ่อนเกือบทั้งหมดแสดงออกในตัวเต็มวัยด้วย [5]

อวัยวะเพื่อลดการเสียน้ำ[แก้]

มอดแป้งมีอวัยวะที่ลดการสูญเสียน้ำจากทางเดินอาหาร ชื่อ cryptonephridial organ (ส่วนปลายของ malpighian tubules ที่เชื่อมกับส่วน hind gut) ทำหน้าที่ดูดน้ำกลับ มอดแป้งจึงดำรงชีวิตในสภาพที่แห้งแล้งมากได้ โดยอาศัยน้ำจากอาหารที่กิน [6]

การทนทานต่อยาฆ่าแมลง[แก้]

มีรายงานการดื้อยาฆ่าแมลงหลายชนิดของมอดแป้ง ได้แก่ malathion, carbaryl, lindane, phosphine และ pyrethrins [7] อาจสัมพันธ์กับการที่มอดแป้งมียีนที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารพิษ (detoxificaiton) คือวงศ์ยีน Cytochrome P450 (CYP) มากถึง 134 ยีน [1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Richards S, Gibbs RA, Weinstock GM et al. (2008) The genome of the model beetle and pest Tribolium castaneum. Nature 452 (7190):949-955. doi:10.1038/nature06784 http://www.nature.com/nature/journal/v452/n7190/full/nature06784.html
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-01. สืบค้นเมื่อ 2013-09-19.
  3. Bucher G, Scholten J, Klingler M (2002) Parental RNAi in Tribolium (Coleoptera). Current Biology 12 (3):R85-R86. doi:http://dx.doi.org/10.1016/S0960-9822(02)00666-8 http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982202006668
  4. Tomoyasu Y, Denell R (2004) Larval RNAi in Tribolium (Coleoptera) for analyzing adult development. Dev Genes Evol 214 (11):575-578. doi:10.1007/s00427-004-0434-0 http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00427-004-0434-0
  5. Engsontia P, Sanderson AP, Cobb M, Walden KKO, Robertson HM, Brown S (2008) The red flour beetle's large nose: An expanded odorant receptor gene family in Tribolium castaneum. Insect Biochemistry and Molecular Biology 38 (4):387-397. doi:http://dx.doi.org/10.1016/j.ibmb.2007.10.005 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18342245
  6. Park Y, Beeman RW (2008) Postgenomics of Tribolium: Targeting the endocrine regulation of diuresis. Entomological Research 38 (2):93-100. doi:10.1111/j.1748-5967.2008.00143.x http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1748-5967.2008.00143.x/abstract
  7. Zettler LJ, Cuperusi GW (1990) Pesticide Resistance in Tribolium castaneum (Coleoptera: Tenebrionidae) and Rhyzopertha dominica (Coleoptera: Bostrichidae) in Wheat. Journal of Economic Entomology 83 (5):1677-1681 http://www.ingentaconnect.com/content/esa/jee/1990/00000083/00000005/art00005