ภารกิจอัลบานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภารกิจอัลบานี
ส่วนหนึ่งของ ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด, การรุกรานนอร์มังดี

กองพลพลร่มที่ 101 สหรัฐอเมริกา
วันที่6 มิถุนายน – 15 มิถุนายน ค.ศ. 1944
สถานที่
ผล สหรัฐอเมริกาชนะ
คู่สงคราม
 สหรัฐอเมริกา  นาซีเยอรมนี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหรัฐ แมกซ์เวลล์ ดี. เทเลอร์ นาซีเยอรมนี เฟรเดอริก ฟอน เดอ ฮีด์เทอ
กำลัง
พลร่ม 6,928 นาย
กองกำลังเครื่องร่อน 2,300 นาย
ประมาณ 6,000 นาย (7 กองพันทหารราบ, 1 กรมทหารปืนใหญ่)
ความสูญเสีย
(การรบ)
เสียชีวิต 546 นาย
บาดเจ็บ 2,217 นาย
สูญหาย 107 นาย
เสียชีวิต, บาดเจ็บ และสูญหาย ประมาณ 4,500 นาย

ภารกิจอัลบานี (อังกฤษ: Mission Albany) เป็นปฏิบัติการจู่โจมของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 สหรัฐ ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 เป็นส่วนหนึ่งของการจู่โจมของพลร่มอเมริกาที่แคว้นนอร์ม็องดี เป็นการเปิดฉากของปฏิบัติการเนปจูน และการจู่โจมของสัมพันธมิตรในการปลดปล่อยฝรั่งเศส (ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด) พลร่ม 6,928 นายกระโดดออกจากเครื่องบินขนส่งซี - 47 (C-47 Skytrain) จำนวน 443 ลำที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของ คาบสมุทรโกเต็นแต็งในฝรั่งเศส เป็นบริเวณกว้าง 39 ตร.กม. ห้าชั่วโมงก่อนการยกพลขึ้นบก[1] หลังจากกระโดดพลร่มกระจัดกระจายเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและปืนต่อสู้อากาศยานของเยอรมันยิงต่อต้านเป็นจำนวนมาก พลร่มบางนายกระโดดผิดจากจุดที่กำหนดไว้ไปไกลถึง 32 กม.

แผนการคือกองพลพลร่มที่ 101 ต้องทำภารกิจส่วนใหญ่ในวันดีเดย์ แต่กลับต้องใช้เวลาถึงสี่วันในการรวมพลที่กระจัดกระจายอยู่และทำภารกิจให้สำเร็จ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการวางแนวป้องกันปีกซ้ายและแนวหลังของกองทัพน้อยที่ 7 (สหรัฐฯ) โดยมีกองหนุนคือทหารราบเครื่องร่อน 2,300 นาย ที่กำลังยกพลขึ้นบกขึ้นมา

ภาพรวม[แก้]

ภารกิจของกองพลพลร่มที่ 101 คือการยึดทางออกของถนนคันดินทั้ง 4 สาย หลังหาดยูทาห์, ทำลายฐานปืนใหญ่ของเยอรมันที่แซงก์มาแต็งเดอแวร์วีย์ (Saint-Martin-de-Varreville), ยึดอาคารบริเวณใกล้เมซีแยรส์ ซึ่งเชื่อกันว่าถูกใช้เป็นที่พักและศูนย์บัญชาการของหน่วยทหารปืนใหญ่เยอรมัน, ยึดแนวแม่น้ำดูฟว์ใกล้ ลา แบร์แกตต์ ตรงข้ามเมืองการ็องตง (Carentan), ยึดสะพานข้ามแม่น้ำดูฟว์ที่ลาปอร์ ตรงข้ามเมืองแบร์วองส์ (Brevands), ทำลายสะพานข้ามแม่น้ำดูฟว์ที่แซงก์กงดูมงต์ (Sainte-Come-du-Mont) และวางแนวป้องกันรอบแม่น้ำดูฟว์

ในระหว่างขั้นตอนของภารกิจนั้น หน่วยจะต้องทำลายการสื่อสารของฝ่ายเยอรมัน, สร้างสิ่งกีดขวางการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเยอรมันรวมถึงวางแนวตั้งรับระหว่างหัวหาดและที่วาโลญส์ (Valognes), จัดตั้งพื้นที่ส่งกำลังบำรุงในขอบเขตของหน่วยที่เลฟอร์ช (les Forges) และเชื่อมแนวกับกองพลพลร่มที่ 82

กองกำลังของฝ่ายเยอรมันที่ทำการตั้งรับในปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วย กองพันที่ 3 ของกรมทหารเกรเนเดียร์ที่ 1058 (กองพลขนส่งทางอากาศที่ 91) ในบริเวณใกล้เคียงกับแซงก์ โกม ดู มงต์, กรมทหารเกรเนเดียร์ที่ 919 (กรมทหารราบที่ 709) หลังหาดยูทาห์, กรมทหารปืนใหญ่ที่ 191 (105 มม.โฮล์วิตเซอร์, กองพลขนส่งทางอากาศที่ 91) และกรมพลร่มที่ 6 ที่ถูกส่งไปที่การ็องตง (Carentan) ในวันดีเดย์

บรรยายสรุป[แก้]

ภารกิจอัลบานีเป็นหนึ่งในสองปฏิบัติการกระโดดร่มร่วมกับ "ภารกิจบอสตัน" ที่ตามมาหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นเพื่อส่งกองพลพลร่มที่ 82 ในแต่ละภารกิจจะประกอบด้วยกรมพลร่มสามกรม จุดลงของกองกองพลพลร่มที่ 101 อยู่ทางตะวันออกและใต้ของ แซงก์ แมร์ เอกลิส กำหนดด้วยตัวอักษร A, C และ D จากเหนือถึงใต้ (จุดลง B เป็นจุดลงของกรมพลร่มที่ 501 ก่อนการเปลี่ยนจุดกระโดดในวันที่ 27 พฤษภาคม)

เครื่องซี - 47 ของกองขนส่งทางอากาศที่ 439 ที่ได้นำพลร่มกรมพลร่มที่ 506 (หรือ แบนด์ ออฟ บราเธอร์) ไปที่นอร์มังดี

กรมพลร่มแต่ละกรมจะถูกขนส่งไปเป็นชุดละ 3 หรือ 4 (ในแต่ละขบวนจะประกอบด้วยเครื่องซี - 47 36, 45 หรือ 54 ลำ) รวมทั้งหมดสิบชุดหรือ 432 ลำเครือ่งบินแต่ละลำจะได้รับการพ่นสีในแต่ละชุดของตัวเอง (หมายเลขเหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยเหลือพลร่มให้ขึ้นเครื่องได้อย่างถูกต้อง) และแปรขบวนเป็นรูปตัวอักษร "V" (เครื่องบินสามลำในแต่ละแถวและชุดละ 9 ลำ) แต่ละชุดถูกวางกำหนดเวลาให้ปล่อยพลร่มเป็นกลุ่มเหนือจุดปล่อยห่างกัน 6 นาทีโดยที่เครื่องแต่ละลำสามารถขนพลร่มได้ลำละ 15-18 นาย

การเตรียมการโดดก่อนการกระโดดร่มหลักได้ถูกเตรียมการโดยทีมพาร์ธไฟน์เดอร์ สามทีมซึ่งมาถึงจุดลงสามสิบนาทีก่อนกองกำลังหลักจะมาถึง เพื่อติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณนำทางประกอบด้วย เครื่องส่งสัญญาณยูเรก้า และไฟสัญญาณบอกตำแหน่ง เพื่อนำทางเครื่องซี - 47 ไปถึงจุดปล่อยในความมืดได้

เพื่อให้เกิดความประหลาดใจ พลร่มได้บินผ่านเหนือนอร์มังดีในความสูงระดับต่ำจากทางทิศตะวันตก เครื่องบินในแต่ละชุดได้แยกตัวเมื่อเวลา 22.30 น. ของคืนวันที่ 5 มิถุนายน หลังจากนั้นได้บินข้ามทางตะวันตกเฉียงใต้ของช่องแคบอังกฤษ ในระดับความสูง 150 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเพื่อป้องกันการตรวจจับจากเรดาห์ของฝ่ายเยอรมัน ในขณะที่บินอยู่เหนือน้ำเครื่องบินทุกลำได้รับคำสั่งให้ดับไฟทุกดวงในเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินมาถึงเรือนำทางรหัส "โฮโบเคน" (Hoboken) ที่บรรทุกเครื่องส่งสัญญาณยูเรกามาด้วย เครื่องบินแต่ละลำได้เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออกเฉียงใต้และบินเหนือหมู่เกาะในช่องแคบอังกฤษเพื่อไปถึงจุดหมายสุดท้ายคือ แหลมโกเต็นแต็งรหัส "โมลชูส์" (Muleshoe)

ขณะที่บินอยู่เหนือแหลมโกเต็นแต็งมีปัจจัยหลายอย่างที่ลดความแม่นยำในการนำทางไปสู่จุดปล่อยตัว เช่นกลุ่มเมฆหนาทางตะวันตกประมาณครึ่งนึงของแหลมที่ความสูง 1,500 ฟุตและหมอกในบริเวณพื้นดินเหนือจุดปล่อย และการยิงต่อต้านจากปืนต่อสู้อากาศยานของเยอรมัน สภาพอากาศที่ย่ำแย่ทำให้ฝูงบินแต่ละชุดแยกกันและการยิงต่อต้านจากภาคพื้นดินก็ทำให้ฝูงบินกระจัดกระจายมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักที่ทำให้การกระโดดร่มมีข้อจำกัด ไม่ใช่ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น หากแต่เป็นการตัดสินใจที่จะกระโดดร่มในตอนกลางคืนต่างหาก

การจู่โจมในวันดีเดย์[แก้]

จุดปล่อย เอ (Drop Zone A)[แก้]

นายพลไอเซนฮาวเออร์พูดกับ ร.อ.วอลเลซ ซี.สโตรเบล และทหารในกองร้อย อี กรมพลร่มที่ 502 ในวันที่ 5 มิถุนายน ป้ายที่แขวนไว้ที่คอของ ร.อ.สโตรเบล บ่งบอกว่าเขาเป็นผู้ควบคุมการกระโดดเครื่องหมายเลข 23 ของหน่วยขนส่งทางอากาศที่ 438

พลร่มกองพลพลร่มที่ 101 "อินทรีโกญจนาท" ได้กระโดดออกจากเครื่องในช่วงเวลา 00.48 น. ถึง 01.40 น. ในวันที่ 6 มิถุนายน พลร่มระลอกแรกได้เดินทางมาถึงจุดปล่อย เอ (DZ A) ซึ่งอยู่เหนือสุด กลุ่มเมฆหนาไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้รูปขบวนของฝูงบินแตกตัว แต่ระบบนำร่องและสัญญาณที่ขาดๆหายๆของเครื่องส่งสัญญาณยูเรก้าต่างหากที่เป็นสาเหตุ ถึงแม้ว่ากองพันที่ 2 ของกรมพลร่มที่ 502 จะกระโดดเป็นกลุ่มขนาดเล็ก แต่ก็โดดลงผิดจุด ในขณะที่ผู้บังคับการกองพันที่สอง พ.ท.สตีฟ เอ แชปเพียส กระโดดลงถูกจุดแต่แทบจะเป็นคนเดียวที่โดดถูกจุด พ.ท.สตีฟ และพลร่มที่รวมพลมาได้เข้ายึดฐานปืนใหญ่และคนพบว่าฐานปืนใหญ่นี้ถูกทำให้ใช้การไม่ได้แล้วจากการโจมตีทางอากาศ

พลร่มที่เหลือของกรมพลร่มที่ 502 (70 กลุ่มใน 80) กระโดดร่มแบบไร้ซึ่งรูปขบวนรอบๆ จุดปล่อยที่ถูกกำหนดไว้โดยหน่วยพาร์ธไฟน์เดอร์บริเวณใกล้ชายหาด ผู้บังคับการกองพันที่ 1 และ 3 (พ.ท.แพทริก เจ.แคซซิดี (1/502) และ พ.ท.โรเบิร์ท จี.โคล (3/502) ได้จัดตั้งหน่วยขนาดเล็กและปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายในวันดีเดย์ได้สำเร็จ หน่วยของ พ.ท.แคซซิดี ได้ยึดแซงก์มาแต็งเดอแวร์วีย์ (Saint-Martin-de-Varreville) สำเร็จในเวลา 06.30น. และได้ส่งหน่วยลาดตระเวณภายใต้การควบคุมของ ส.อ.แฮร์ริสัน ซี.ซัมเมอร์ส เข้ายึดเป้าหมาย "XYZ" ซึ่งเป็นค่ายทหารใกล้เมซีแยรส์ และตั้งแนวป้องกันตั้งแต่โฟการ์วีย์ (Foucarville) จนถึงเบอเซอวีย์ (Beuzeville) พ.ท.โคล และคณะเคลื่อนที่ในตอนกลางคืนจากบริเวณใกล้แซงต์แมร์เอกลีส (Sainte-Mère-Église) ไปที่ฐานปืนใหญ่ใกล้แวร์วีย์ (Varreville) หลังจากนั้นได้ทำการยึดถนนคันดินสายที่ 4 ซึ่งถูกป้องกันโดยการยิงจากปืนใหญ่เยอรมันหลังจากนั้น พ.ท.แคสซิดี ได้แจ้งกับ กองพลทหารราบที่ 4 ว่าถนนสายนี้ไม่สามารถใช้เป็นทางออกได้

ปืนใหญ่ของกองพลที่ถูกขนส่งมาทางอากาศ ไม่ได้ถูกใช้งานเท่าที่ควรและเป็นการขนส่งทางอากาศที่แย่ที่สุดในปฏิบัติการครั้งนี้ ปืนใหญ่เหล่านี้สูญหายไปเกือบหมดยกเว้นปืนใหญ่โฮล์วิตเซอร์ 1 กระบอกส่วนที่เหลือพลาดจุดปล่อยไปทางเหนือ 32 กม.

จุดปล่อย ซี (Drop Zone C)[แก้]

การกระโดดระลอกสองได้กำหนดให้กรมพลร่มที่ 506 กระโดด ณ จุดปล่อย ซี (DZ C) ระยะ 1.6 ก.ม.ทางตะวันตกของแซงต์มารีดูมงต์ (Sainte-Marie-du-Mont) กลุ่มเมฆที่หนาและการยิงตอบโต้จากภาคพื้นดินในระยะ 16 ก.ม.ได้ทำให้เครื่องบิน 3 จาก 81 ลำหลงทางก่อนการกระโดดจะเริ่มต้นขึ้น เครื่องบินลำแรกนำโดย ร.ท.มาร์วิน เอฟ.เมียร์ จากฝูงบินขนส่งทางอากาศที่ 439 ถูกระดมยิง ร.ท.เมียร์ ได้ประคองเครื่องระหว่างที่พลร่มกำลังกระโดดออกจากเครื่องก่อนเครื่องจะตก วีรกรรมในครั้งนี้ทำให้เขาได้รับ "กางเขนสดุดีวีรกรรมอันโดดเด่น" (Distinguished Service Cross) กองพันที่ 1 ของกรมพลร่มที่ 506 นำโดย พ.ท.วิลเลียม แอล.เทอเนอร์ (ซึ่งเสียชีวิตในการรบในวันต่อมา) ได้กระโดดร่มลงในจุดปล่อย ซี อย่างแม่นยำส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 รวมถึงผู้บังคับการกรมพลร่มที่ 506 พ.อ.รอเบิร์ต เอฟ. ซิงก์ ได้กระโดดลงห่างจากจุดที่กระโดดไว้ในระยะไม่เกินหนึ่งไมล์

กองพันที่ 2 ที่ควบคุมโดย พ.ท.โรเบิร์ต แอล.สเตรเยอร์ ส่วนใหญ่ได้กระโดดร่มห่างจากจุดที่กำหนดไว้คือทางตะวันตกของแซงต์แมร์เอกลีส (Sainte-Mère-Église) ในที่สุดกองพันที่ 2 ก็สามารถรวมพลได้บริเวณใกล้โฟการ์วีย์ (Foucarville) บริเวณส่วนเหนือสุดของพื้นที่เป้าหมายของกองพล ระหว่างทางกองพันได้พบกับการต่อต้านบริเวณทางเข้าหมู่บ้านเลอเชอแมง (le Chemin) ใกล้ ๆ โอเดียงวีย์ (Houdienville) จนถึงตอนบ่าย หลังจากนั้นพบว่ากรมทหารราบที่ 4 ได้ทำการยึดทางออกไว้แล้วในเวลาก่อนหน้านี้ กองพันที่ 3 ของกรมพลร่มที่ 501 ควบคุมโดย พ.ท.จูเลี่ยน เจ.อีเวลล์ (3/501) ได้ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องกระโดดลงในจุดปล่อย ซี เช่นกันได้กระจัดกระจายลงทั่วบริเวณจุดปล่อยแต่ก็สามารถยึดทางออกตามจุดประสงค์ได้ กองร้อยกองบังคับการกองพลรวมถึงผู้บังคับการกองพล พลตรี.แม๊กซ์เวลล์ ดี.เทเลอร์ ได้ไปถึงทางออกที่โปป์เปอวีย์ (Pouppeville) เมื่อเวลา 06.00 น. หลังจากนั้นได้มีการปะทะกับกองกำลังบางส่วนจากกรมทหารเกรเนเดียร์ที่ 1058 ของเยอรมันเป็นเวลาหกชั่วโมง กองร้อยกองบังคับการกองพลก็สามารถยึดทางออกจากหัวหาดมาได้ก่อนที่กองพลทหารราบที่ 4 จะมาถึง

อ้างอิง[แก้]

  1. Dr. John C. Warren (1956). "Appendix A: Operation Neptune statistical tables". USAF Historical Study 97: Airborne Operations in World War II, European Theater of Operations. Air University., 224

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]