ฟาโรห์กาคาเร ไอบิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กาคาเร ไอบิ เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณในสมัยต้นช่วงระหว่างกลางที่หนึ่ง (ระหว่าง 2181–2055 ปีก่อนคริสตกาล) และเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบสี่แห่งราชวงศ์ที่แปด[3][2][4] ศูนย์อำนาจของพระองค์อยู่ที่เมมฟิส[5] และพระองค์อาจไม่ได้มีอำนาจครอบคลุมเหนืออียิปต์ทั้งหมด ฟาโรห์กาคาเร ไอบิเป็นหนึ่งในฟาโรห์ที่มีหลักฐานยืนยันรับรับรองที่สมบูรณ์ที่สุดในราชวงศ์ที่แปดจากการค้นพบพีระมิดขนาดเล็กของพระองค์ในซัคคาราใต้

หลักฐานรับรอง[แก้]

พระนามของฟาโรห์กาคาเร ไอบิปรากฏในรายการที่ 53 ของบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งอไบดอส ซึ่งเป็นบันทึกพระนามที่บันทึกขึ้นเมื่อประมาณ 900 ปีหลังจากสมัยช่วงระหว่างกลางที่หนึ่งในรัชสมัยของฟาโรห์เซติที่ 1[2][6] โดยอ้างอิงจากการตีความบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูรินใหม่ของคิม รีฮอล์ต ซึ่งบันทึกพระนามแห่งตูรินได้บันทึกขึ้นในรัชสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 โดยพระนามของพระองค์ปรากฏในคอลัมน์ที่ 5 บรรทัดที่ 10 (การ์ดิเนอร์เสนอว่าอยู่ในคอลัมน์ที่ 4 บรรทัดที่ 11 และฟอน เบ็คเคอราทเสนอว่าอยู่ในคอลัมน์ที่ 4 บรรทัดที่ 10) บันทึกพระนามแห่งตูรินให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา "2 ปี 1 เดือน 1 วัน"[3][2] และหลักฐานอื่นเพียงอย่างเดียวสำหรับฟาโรห์กาคาเร ไอบิ คือพีระมิดของพระองค์ในซัคคาราใต้

สถานที่ฝังพระศพ[แก้]

ฟาโรห์กาคาเร ไอบิถูกฝังอยู่ในพีระมิดขนาดเล็กที่ซัคคาราใต้ ถูกค้นพบโดยคาร์ล ริชาร์ด เลปเซียสในคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งบันทึกเป็นหมายเลข XL ในรายการการค้นพบพีระมิดของเขา[7] และพีระมิดแห่งนี้ถูกขุดสำรวจขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1929 ถึง ค.ศ. 1931 โดยกุสตาฟ เฌอกีเออร์[8]

พีระมิดแห่งไอบิเป็นสิ่งปลูกสร้างสุดท้ายที่สร้างขึ้นในซัคคารา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหลุมฝังพระศพของฟาโรห์เซฟเซสคาฟ และใกล้กับทางเดินหลวงของพีระมิดแห่งเปปิที่ 2[9] และพีระมิดของพระองค์มีความคล้ายคลึงกันมากในรูปแบบ ขนาด และการตกแต่งกับพีระมิดของพระราชินีในฟาโรห์เปปิที่ 2 ซึ่งเป็นฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์สุดท้ายในสมัยราชอาณาจักรเก่า ดังนั้นจึงเสนอว่าพีระมิดแห่งนี้เดิมเป็นของพระนางอังค์เอสเอนเปปิที่ 4 (ˁnḫ-n=s ppj, แปลว่า "เปปิมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์") ซึ่งเป็นพระมเหสีของฟาโรห์เปปิที่ 2 และถูกเปลี่ยนมาเป็นของฟาโรห์กาคาเรในภายหลัง[10] มีวิหารขนาดเล็กที่มีพิธีบูชาพระศพติดกับพีระมิด และจนถึงทุกวันนี้ยังไม่พบร่องรอยของทางเดินหลวงหรือห้องโถงและมีแนวโน้มว่าจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เลย

สถานที่ฝังพระศพของฟาโรห์กาคาเร ไอบิ, ซัคคารา

พีระมิด[แก้]

พีระมิดแห่งไอบิไม่ได้ตั้งอยู่ที่จุดสำคัญใดๆ เลย โดยอยู่บนแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พีระมิดนี้น่าจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 31.5 ม. (103 ฟุต) และสูง 21 ม. (69 ฟุต) และมีความลาดชัน 53°7′ ในขณะก่อสร้าง[2] แกนกลางของพีระมิดถูกสร้างขึ้นด้วยหินปูน ซึ่งมีที่มาจากในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ได้หายไปแล้ว อาจจะถูกนำมาใช้ซ้ำในการก่อสร้างในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ พีระมิดนี้จึงปรากฏเพียงแค่กองโคลนและหินปูนสูง 3 เมตร (9.8 ฟุต) ในทะเลทรายของซัคคารา ในบล็อกที่เหลืออยู่บางส่วน พบคำจารึกด้วยหมึกสีแดงที่กล่าวถึงผู้นำแห่งชาวลิเบียซึ่งความหมายไม่ชัดเจน ดูเหมือนว่าแม้ว่าจะมีการวางสร้างโครงสร้างด้านนอกของพีระมิด แต่มันไม่เคยถูกสร้าง

โครงสร้างภายใน[แก้]

ทางด้านทิศเหนือของสถานที่ฝังพระศพ เฌอกีเออร์พบทางเดินที่ฉาบด้วยหินปูนยาว 8 เมตร (26 ฟุต) ที่ทอดลงมาจากแนวลาดเอียง 25° ไปยังหินแกรนิตขนาดใหญ่ หลังประตูรั้วนี้มีห้องฝังพระศพของฟาโรห์อยู่ ทั้งทางเดินและผนังของห้องฝังพระศพถูกจารึกไว้ด้วยตัวอย่างสุดท้ายของตำราพีระมิด[8][2] ดูเหมือนว่าข้อความจะถูกจารึกไว้โดยตรงสำหรับพระองค์มากกว่า เฌอกีเออร์ได้ตัดสินคุณภาพของจารึกว่า "ธรรมดามาก"[8] นอกจากนี้จารึกมนต์คาถาที่ยังดูไม่เจาะจงนัก[10] เพดานห้องฝังพระศพเรียบและประดับประดาด้วยดวงดาว มันน่าจะสร้างจากหินปูนจากทูรายาว 5 เมตร (16 ฟุต) เพียงก้อนเดียว[8] ซึ่งตอนนี้หายไปแล้ว ในปัจจุบันมีก้อนคอนกรีตขนาดใหญ่มาใช้แทนหินก้อนดังกล่าว

ทางด้านตะวันตกของห้องฝังพระศพมีประตูหลอกและก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งโลงพระศพของฟาโรห์ ทางด้านตะวันออกมีห้องลับสำหรับตั้งรูปสลักดวงวิญญาณของฟาโรห์ผู้ล่วงลับ

วิหาร[แก้]

มีวิหารอิฐโคลนขนาดเล็กติดกับด้านตะวันออกของพีระมิด ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิหารสำหรับพิธีบูชาฟาโรห์ที่สวรรคต[2] ทางเข้าวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ภายในของวิหาร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกำแพงพีระมิด เป็นโถงถวายเครื่องบูชาที่เฌอกีเออร์พบอ่างล้างหน้าหินและประตูเหล็กหรือประตูหลอก ซึ่งเหลือเพียงฐานรากเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบถาดหินปูนและครกหินออบซิเดียนอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. Kim Ryholt: The Late Old Kingdom in the Turin King-list and the Identity of Nitocris, Zeitschrift für ägyptische, 127, 2000, p. 99
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Darrell D. Baker: The Encyclopedia of the Pharaohs: Volume I - Predynastic to the Twentieth Dynasty 3300–1069 BC, Stacey International, ISBN 978-1-905299-37-9, 2008, p. 302
  3. 3.0 3.1 Kim Ryholt: The Late Old Kingdom in the Turin King-list and the Identity of Nitocris, Zeitschrift für ägyptische, 127, 2000, p. 99
  4. Jürgen von Beckerath: Handbuch der ägyptischen Königsnamen, Münchner ägyptologische Studien, Heft 49, Mainz : P. von Zabern, 1999, ISBN 3-8053-2591-6, available online เก็บถาวร 2015-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน see pp. 68-69
  5. Ian Shaw: The Oxford History of Ancient Egypt, p.107, ISBN 978-0192804587
  6. Jürgen von Beckerath: The Date of the End of the Old Kingdom of Egypt, JNES 21 (1962)
  7. Karl Richard Lepsius: Denkmäler aus Aegypten und Aethiopien, available online.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Gustave Jéquier, La pyramide d'Aba, 1935
  9. "Saqqara, City of the Dead: The Pyramid of Ibi" The Ancient Egypt Site เก็บถาวร กันยายน 27, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. 10.0 10.1 Rainer Stadelmann: The Egyptian pyramids. From brick to the wonders of the world. 3rd edition of Saverne, Mainz, 1997, ISBN 3-8053-1142-7, pp. 203-204.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Mark Lehner. The secret of the pyramids of Egypt, Orbis, Munich 1999, ISBN 3-572-01039-X, p. 164
  • Christopher Theis: The Pyramids of the First Intermediate Period. After philological and archaeological sources (= studies of ancient Egyptian culture. Vol 39, 2010). pp. 321–339.
  • Miroslav Verner. The Pyramids Universe Books, New 1998, ISBN 3-499-60890-1, pp. 415–416.