ฟาสแทร็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โลโก้ฟาสแทร็ก
ทรานสปอนเดอร์ฟาสแทร็ก

ฟาสแทร็ก (อังกฤษ: FasTrak) เป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ที่ใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบนี้มีการใช้งานทั่วทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย ครอบคลุมถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง (toll roads) สะพานที่มีการเก็บค่าผ่านทาง (toll bridges) และช่องจราจรพิเศษสำหรับยานพาหนะที่มีผู้โดยสารหลายคน (high-occupancy toll lanes) ทั้งหมดที่อยู่ในระบบทางด่วนและทางด่วนพิเศษของรัฐแคลิฟอร์เนีย

เช่นเดียวกับระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ระบบ FasTrak ถูกออกแบบมาเพื่อลดความจำเป็นที่รถยนต์จะต้องหยุดเพื่อจ่ายเงินที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดที่มักเกิดขึ้นบนทางด่วนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งของ FasTrak นี้ สอดคล้องกับโครงการ "ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ" (Intelligent Transportation Systems) ของกระทรวงคมนาคมสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Transportation)

ในโครงสร้างการบริหารของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีหน่วยงานและเขตพื้นที่พิเศษ (special-purpose district) ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในการดำเนินการเก็บค่าผ่านทางบนทางด่วน ด้วยความกังวลว่าแต่ละหน่วยงานอาจจะนำเสนอระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แตกต่างกันและไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ สภานิติบัญญัติรัฐแคลิฟอร์เนียจึงผ่านร่างพระราชบัญญัติวุฒิสภา 1523 (Senate Bill 1523) ในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงคมนาคมรัฐแคลิฟอร์เนีย (Caltrans) พัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานระดับรัฐที่หน่วยงานเก็บค่าผ่านทางทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตาม[1] 3 ปีต่อมา หน่วยงานจัดการทางหลวง (Transportation Corridor Agencies) ได้เปิดทางพิเศษฟุตฮิลล์ (Foothill Toll Road) ในเทศมณฑลออเรนจ์ โดยเป็นการนำระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาตรฐานระดับรัฐมาใช้เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อระบบนี้ว่า ฟาสแทร็ก (FasTrak) ปัจจุบัน รัฐแคลิฟอร์เนียยังคงมอบหมายหน้าที่ในการจำหน่ายและดูแลบัญชี FasTrak ให้กับหน่วยงานเก็บค่าผ่านทางแต่ละหน่วยงานต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  1. Halloran, James V. III (September 1992). "Standardizing Electronic Toll Collection". Reason Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2006. สืบค้นเมื่อ April 27, 2006.