พูดคุย:เตรียม ชาชุมพร

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
เพิ่มหัวข้อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อความต้นฉบับก่อนการปรับปรุงบทความ[แก้]

(ย้ายมาเนื่องจากข้อความเดิมที่ปรากฏอยู่ไม่เข้ารูปแบบของสารานุกรม ซึ่งมีข้อจำกัดบางอย่างในรูปแบบการนำเสนอ)

เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนฝีมือระดับแนวหน้าของไทยผู้ล่วงลับด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลงเหลือไว้แต่ผลงานอันเป็นอนุสรณ์ ความโดดเด่นอยู่ที่ลายเส้นและบรรยากาศแบบไทย ๆ ที่หาดูได้ยากในการ์ตูนไทยสมัยปัจจุบัน เช่น ผลงานภาพประกอบในแบบเรียนชุด มานี – มานะ ที่กลายเป็น "ตำนานแห่งยุคสมัย" ทำนองเดียวกับที่ภาพประกอบของ เหม เวชกร เคยทำไว้กับแบบเรียนชุด เรณู-ปัญญา เมื่อในอดีต

เตรียม ชาชุมพร เกิดที่บ้านหนองหวาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ (พ่อ แม่ พี่เตรียม ย้ายจากบ้านหนองหวาย มาอยู่ที่บ้านห้วยขะยุง จ.อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ใกล้กัน ปัจจุบัน พี่ ๆ น้อง ของพี่เตรียม อยู่ที่บ้านห้วยขะยุง ต.ห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบล ฯ ) เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2495 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านหนองหวาย แล้วไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ อ.วารินชำราบ ช่วงปลายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เตรียมได้รู้จักกับ จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ที่เขาเรียนอยู่ จึงฝากตัวเป็นศิษย์

หลังจากจบ ม.ศ.3 เตรียมเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้วาดเขียนโท เขาสอนหนังสือและเขียนการ์ตูนไปด้วย เมื่อฝีมือใช้ได้ จุก เบี้ยวสกุล จึงนำไปเสนอให้ทีมงานของการ์ตูน ท้อปป๊อป พิจารณา และการ์ตูนท้อปป๊อปก็เปิดตัว เตรียม ชาชุมพร (ในนามปากกา “จิ๋ว เบี้ยวสกุล) ด้วยเรื่อง มังกรผยอง นิยายภาพแนวเรื่องจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ใน พ.ศ.นั้น แต่ลงได้เพียงตอนเดียว ท้อปป๊อปก็ถึงแก่กาลอวสานเลิกกิจการไป

หลังจากใช้ชีวิตสอนหนังสืออยู่ 2 ปี เตรียมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำผลงานของเขาไปเสนอต่อ อ.วิริยะ สิริสิงห ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์” อ.วิริยะ มอบหมายให้เตรียมเขียนนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ โดยมี comic ต่างประเทศเป็นต้นแบบนำร่อง และใช้นามปากกาว่า “ตรี นาถภพ” ก่อนที่จะถูก “พี่รงค์” หรือ ณรงค์ ประภาสะโนบล ดึงตัวไปช่วยงานที่ ชัยพฤกษ์การ์ตูน และ “ตู๊นตูน” ในที่สุด และใน “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” นี่เอง ที่ศักยภาพของเตรียมได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ฝีมือของเตรียมพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเมื่อนิยายภาพของเตรียมเรื่องหนึ่งได้ตีพิมพ์ ชื่อ “เตรียม ชาชุมพร” ก็ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น

นิยายภาพเรื่อง “เพื่อน” ที่กลายเป็นงานสร้างชื่อให้เตรียม มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “รุ่นกระทง” ของ “มน เมธี” เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายชาวชนบทกับเด็กหญิงชาวกรุงที่มีโอกาสได้รู้จักกัน และได้ใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ร่วมกันท่องไปในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของท้องไร่ท้องนา ก่อนจะจากกันในท้ายที่สุด จุดเด่นของนิยายภาพชุดนี้ คือบรรยากาศชนบทที่เตรียมรังสรรค์ได้อย่างงดงาม ชวนประทับใจ และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา การที่เตรียมสามารถสร้างบรรยากาศชนบทอย่างได้อารมณ์ก็เพราะใช้ชีวิตอยู่กับชนบทมาแต่อ้อนแต่ออก บรรยากาศทั้งหลายทั้งปวงจึงฝังตรึงอยู่ในความทรงจำ เมื่อสบกาลอันเหมาะสม ก็ถั่งเทออกมาอย่างงดงาม ช่วงปี 2520 - 2521 นับเป็นยุคทองของเตรียมอย่างแท้จริง งานของเขาไปปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนมากมายหลายหัว - ไม่เว้นแม้แต่บนปกการ์ตูนเล่มละบาท ที่สำนักพิมพ์หวังขายชื่อของ "เตรียม ชาชุมพร" ตามกระแสนิยม

นอกจากงานนิยายภาพเพื่อความบันเทิง - ในระยะหลัง งานของเตรียมเริ่มพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม นิยายภาพเหล่านี้ เตรียมไม่ต้องคิดแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องจินตนาการให้เกิดโครงเรื่องอันลึกซึ้ง เขาหยิบมันขึ้นมาจากข่าวสารที่เราได้ยินจนชินหู มาจากเรื่องของความยากจนสุดชายขอบของสังคมเมือง เรื่องของชะตากรรมอันน่าสลดใจ เรื่องของความไร้มนุษยธรรมที่กลายเป็นข่าวแทบไม่เว้นวัน มีข้อสังเกตว่า เตรียมใกล้ชิดอยู่กับการงานของมูลนิธิเด็ก และบรรดาอาสาสมัครผู้ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้น ข้อมูลของเขาหรือผู้ให้ข้อมูลแก่เขาจึงมาจากคนทำงานกลุ่มนี้ อย่างเช่นเรื่อง "เพื่อนบ้านใหม่" นั้น สุจินดา อัศวไชยชาญ ช่วยเขียนเรื่อง ส่วน "เอื้องผึ้ง" ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวเขาที่ถูกนำมาขายเป็นโสเภณีในเมืองกรุง แต่งโดย มนตรี สินทวิชัย เป็นต้น

นิยายภาพ 4 เรื่องในแนวนี้ ได้แก่ "ยายจ๋า", "ตากับหลาน", "เพื่อนบ้านใหม่" และ "ตุ๊กตาขาด้วน" ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม และได้รับการยกย่องจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็นหนึ่งใน 100 ชื่อเรื่องหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน

ผลงานอันโดดเด่นในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ที่ทำให้ เตรียม ได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบใน หนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุด มานี-มานะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 และเตรียมก็ทำหน้าที่ของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของ เตรียม ที่โดดเด่นไม่แพ้แบบเรียนชุด มานี-มานะ ก็คือ งานภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยองค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริง สดใส ของบรรดาเด็ก ๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัดเรื่องราวว่าด้วยชีวิตชนบทเป็นพิเศษ

ด้วยอุบัติเหตุจากรถประจำทางปรับอากาศพุ่งเข้าชนจนเสียชีวิต เตรียม ชาชุมพร จึงจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2533


--สุทธิพงษ์ พื้นแสน 21:11, 8 มิถุนายน 2552 (ICT)

ปรับปรุงเสร็จแล้ว รู้สึกว่าของเดิมเขียนได้ค่อนข้างดีอยู่แล้วเลยปรับได้ไม่มากนอกจากสำนวนภาษาบางอย่างเท่านั้น --สุทธิพงษ์ พื้นแสน 21:52, 8 มิถุนายน 2552 (ICT)