พูดคุย:หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประเทศไทยและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

แปะไว้ก่อน http://72.14.207.104/search?q=cache:gJUPUvrlRmoJ:www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp%3Fstcolumnid%3D432%26stissueid%3D2415%26stcolcatid%3D2%26stauthorid%3D9+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7+&hl=th&ct=clnk&cd=14

ฉบับที่ 2415 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 30 มกราคม 2544 บทความ-สารคดี โดย นิติกร กรัยวิเชียร

นาวาตรี ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักดนตรีสากล) พุทธศักราช ๒๕๔๑ 

หากจะกล่าวถึงทำเนียบยอดนักเปียโนชาวไทยที่มีชื่อเสียงและความสามารถในระดับสากล เราไม่อาจละเว้นที่จะกล่าวถึง นาวาตรี ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เลย เพราะท่านเป็นนักเปียโนที่พิสูจน์ความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่อายุเพียง ๙ ปี จากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปชุบตัวเพาะบ่มประสบการณ์ยังทวีปยุโรปอยู่เป็นเวลานานก่อนที่จะกลับมาสร้างชื่อเสียงและผลงานยังบ้านเกิดเมืองนอนจนประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติในที่สุด

นาวาตรี ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งผมจะขอเอ่ยนามท่านจากนี้ไปว่า “อาจารย์ปิยะพันธ์” เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี ท่านได้เริ่มเรียนเปียโนเป็นครั้งแรกกับท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ จากนั้นก็ได้เรียนต่อกับ ครูบุญชม เชี่ยวชาญ และ มิสหลุยส์ ลามาร์ช ชาวฝรั่งเศส ตามลำดับ ครั้นเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี อาจารย์ปิยะพันธ์ก็ได้เข้าแข่งขันเดี่ยวเปียโน ซึ่งจัดโดย Bangkok Music Society ซึ่งมีพระเจนดุริยางค์เป็นประธานกรรมการตัดสิน โดยได้รับรางวัลที่ ๓ จากนั้นเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๕ ปี อาจารย์ปิยะพันธ์ก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียน George Watson’s College ประเทศสก๊อตแลนด์ ในระหว่างนั้น ก็ได้เรียนเปียโนต่อกับครูเปียโนผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่านด้วย

ขณะที่อาจารย์ปิยะพันธ์อายุ ๑๗ ปี ท่านได้เข้าร่วมแข่งขันเปียโน และได้รับรางวัลที่ ๒ ในรายการ The Scottish International Piano Competition ทั้งยังได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงออเคสตร้าที่มีชื่อเสียงของสก๊อตแลนด์ในหลายโอกาสด้วย

จากสก๊อตแลนด์ อาจารย์ปิยะพันธ์ได้เดินทางไปศึกษาเปียโนที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษกับนักเปียโนที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ Joseph Cooper และ Claudio Arrau และผ่านการสอบที่ Royal College of Music, London จนได้รับปริญญา ARCM เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ จากนั้น อาจารย์ปิยะพันธ์ก็ได้ออกแสดงคอนเสิร์ตในประเทศอังกฤษหลายครั้ง ทั้งการแสดงเดี่ยว และการแสดงร่วมกับวงดุริยางค์ต่างๆ และเคยได้ออกแสดงการเดี่ยวเปียโนในประเทศต่างๆ หลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

เมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว อาจารย์ปิยะพันธ์ได้เข้ารับราชการที่กองดุริยางค์ทหารเรือ โดยเข้าสังกัดในแผนกวิชาการ และควบคุมการฝึกซ้อมของวงดุริยางค์ราชนาวี จนได้รับยศเป็นนาวาตรี ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการแสดงเปียโน และอำนวยเพลง ตลอดจนควบคุมและฝึกซ้อมดนตรีให้กับนักดนตรีของวงดุริยางค์ราชนาวีเพื่อการออกแสดงในโอกาสต่างๆ ทั้งงานในราชการ และงานเพื่อการกุศลโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมแสดงเปียโนกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย อาจารย์ปิยะพันธ์ได้รับราชการอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารเรือเป็นเวลา ๑๓ ปี จึงได้ลาออกจากราชการ หลังจากนั้นก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมการร้องประสานเสียงของชมรมนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

นอกจากการเป็นนักเปียโนผู้มีความสามารถโดดเด่นแล้ว อาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ยังมีผลงานการสร้างสรรค์ ทั้งการแต่งคำร้องและทำนองเพลง ตลอดจนเรียบเรียงเสียงประสานเพลงของศิลปินท่านอื่นๆ อีกมากมายดังนี้

ผลงานการประพันธ์เพลงทั้งคำร้อง และทำนอง - ใจรำพึง ฝากรัก รักแท้ เปรียบรักแท้ รักขม ผลงานการประพันธ์เพลงเฉพาะทำนอง - เปรียบดาวรักเดือน ความรักของฉัน เกลียวรัก ใจหาย อย่าหลงโลก ปิยะคีตา แอบแสงจันทร์ ห่วงเธอ พ้อรำพัน ใจครวญ ลมกระซิบ ผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงของนักประพันธ์เพลงท่านอื่น อาทิ - ลมหวน ธารทิพย์ รักฉันจริงหรือเปล่านะ! เพ้อจันทร์ คิดถึงเธอ รักอย่าตรม สยามานุสติ เกี้ยวสาว ขอให้เหมือนเดิม ฝากรักไว้ในเพลง เงาไม้ สายทิพย์ ฝากดิน ดอกไม้ ฯลฯ อาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นับได้ว่าเป็นบุคลากรผู้ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง

ของวงการดนตรีสากลในประเทศไทย ท่านได้ทุ่มเททั้งใจกายให้กับดนตรีมาโดยตลอด นอกจากการเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถสูงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เป็นผู้ที่มีผลงานการประพันธ์เพลง ตลอดจนเรียบเรียงเสียงประสานจำนวนมากแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดนตรีอีกหลายประการ ได้แก่ การจัดตั้ง “มูลนิธิปิยะพันธ์ สนิทวงศ์” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอนดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย โดยจัดให้มีกิจกรรมทางด้านดนตรีอย่างสม่ำเสมอทั้งการแสดง และการแข่งขันเปียโน ตลอดจนการจัดทำห้องสมุดเกี่ยวกับดนตรีขึ้น นอกจากนั้นแล้ว อาจารย์ปิยะพันธ์ ยังเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมไปถึงการสอนเปียโนอยู่ที่บ้าน จนสามารถสร้างนักเปียโนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสามารถเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้ช่วยเหลืองานเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ อาทิ การร่วมแสดงคอนเสิร์ตเพื่อการกุศลต่างๆ หลายรายการ

ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมา ทำให้อาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักดนตรีสากล) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑

ผมรู้สึกเกร็งไม่น้อย เมื่อถึงเวลาที่จะไปถ่ายภาพ อาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในครั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่านอกจากท่านจะเป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงและผลงานดีเด่นอย่างที่ทราบกันดีแล้ว ท่านยังเป็นนักถ่ายภาพสมัครเล่นที่มีฝีมือ ทั้งยังเป็นเจ้าของกิจการสตูดิโอถ่ายภาพ “เปียแอนด์ป๊อป” ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการโฆษณาว่าเป็นสตูดิโอถ่ายภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้พบกับท่าน ก็ได้รับความเมตตาเป็นกันเอง ให้อิสระแก่ผมในการเลือกหามุม และจัดสถานที่ได้ตามความพอใจ ทำให้ผมผ่อนคลายความเกร็งไปได้มาก ในส่วนของการเตรียมการนั้นแม้ว่าผมจะได้เดินทางไปดูสถานที่ที่บ้านท่านไว้ก่อนล่วงหน้า ๑ วันแล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงวันที่นัดถ่ายภาพจริง ผมก็ยังต้องใช้เวลาเลือกมุมและจัดเตรียมการถ่ายภาพอีกกว่า ๑ ชั่วโมง เนื่องจากอาจารย์ปิยะพันธ์ท่านสะสมเปียโนเอาไว้ถึง ๗ หลัง ในจำนวนนี้ล้วนเป็นเปียโนชั้นเยี่ยมของโลกทั้งสิ้น ทำให้ผมเกิดความลังเล รักพี่เสียดายน้องในการเลือกมุมอยู่นานจนในที่สุดผมก็ไปลงเอยที่แกรนด์เปียโนยี่ห้อ “สไตน์เวย์ แอนด์ ซันส์” อายุ ๑๐๕ ปี แต่ยังคงสภาพดีเยี่ยมเหมือนใหม่ ส่วนพิเศษของเปียโนหลังนี้คือบริเวณที่วางโน้ตเพลง ทำเป็นลายฉลุงดงามเป็นรูปโลโก้ของบริษัทผู้ผลิต สีของเปียโนเป็นลายไม้ธรรมชาติสีน้ำตาลเข้มทั้งหลัง ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ผมได้ทดลองจัดตำแหน่งภาพ และจัดแสงโดยให้จักรกฤษณ์เป็นผู้แสดงแบบแทนก่อนที่จะถ่ายจริงจนพอใจจึงได้เชิญอาจารย์ปิยะพันธ์มาถ่ายภาพ

บุคลิกและลักษณะของอาจารย์ปิยะพันธ์ในความรู้สึกของผมนั้น เป็นผู้ที่น่าถ่ายภาพมาก ด้วยเหตุที่ใบหน้าของท่านมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านไว้เคราขาวที่คางนั้น ยิ่งส่งเสริมให้ดูน่าเกรงขาม และไม่ธรรมดา ซึ่งโดยปกติแล้วตามทัศนะของผมในการถ่ายภาพบุคคลนั้น หากผู้เป็นแบบเป็นผู้ที่หน้าตาดีหรือมีบุคลิกลักษณะที่พิเศษก็จะมีส่วนช่วยให้ภาพดูดีไปได้ประมาณ ๕๐% แล้ว เหมือนเวลาที่ผมถ่ายภาพลูกค้า หากรายใดที่เดินเข้ามาด้วยใบหน้าที่สะสวยหรือหล่อเหลา ผมก็จะรู้สึกว่างานของผมง่ายขึ้น เพียงถ่ายไปตามปกติก็ออกมาดูดีโดยง่าย ในทางตรงกันข้าม หากรายใดที่มีข้อด้อยมาก งานของผมก็จะยากขึ้นเพราะทุกคนมักคาดหวังให้ภาพของตนเองดูดีกว่าความจริงที่เป็นอยู่ ทำให้ต้องหาทางที่จะช่วยลดข้อด้อยนั้นลงไม่ว่าจะด้วยการเลือกมุมมอง การจัดท่าทาง การจัดแสง รวมไปถึงการตกแต่งภาพภายหลังจากที่ถ่ายเสร็จแล้ว

ผมถ่ายภาพอาจารย์ปิยะพันธ์อยู่หลายมุม ทั้งใกล้และไกลจนได้ภาพที่น่าพอใจหลายภาพ เมื่อเลือกดูแล้วก็ได้ตัดสินใจนำภาพที่เห็นท่านยืนอยู่หลังเปียโนมาลงเป็นภาพหลัก เพราะดูจะสะท้อนความเป็นอาจารย์ปิยะพันธ์ได้ดีกว่าภาพอื่นๆ ครับ

จากการที่ อาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่ใน

วงการดนตรีด้วยความรักและมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ประกอบกับพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เยาว์วัยส่งผลให้ท่านเดินทางมาถึงจุดแห่งความสำเร็จขั้นสูงในชีวิตอย่างที่ไม่มากคนนักจะก้าวมาถึง

ขอขอบคุณ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ