ข้ามไปเนื้อหา

พระมีนากษี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระแม่มีนากษี)
มีนากษี
เทพารักษ์แห่งนครมตุไร[1]
พระนางมีนากษี
ชื่ออื่นองฺคยรกณฺณิ, ตฑาทไก, มีนาฏฺจิ, มนฺตฺริณิ, มนฺคยกรสิ, มทุไรเทวิ
ส่วนเกี่ยวข้องพระปารวตี, เทวี
ที่ประทับมตุไร
สัตว์นกพาราคีต
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองสุนทเรศวร (พระศิวะ)
บิดา-มารดา
พี่น้องอฬคัน (พระวิษณุ)
ราชวงศ์ปาณฑยะ[2]

มีนากษี (สันสกฤต: Mīnākṣī) หรือ มีนาฏจิ (ทมิฬ: Mīṉāṭci) หรือรู้จักในนาม องฺคยรกณฺณิ (Aṅgayaṟkaṇṇi)[2][3] และ ตฑาทไก (Taḍādakai)[4] เป็นเทวีในศาสนาฮินดู เทพารักษ์แห่งนครมตุไรและถือว่าเป็นอวตารของพระปารวตี[5] ถือเป็นเทวีคู่ครองของพระสุนทเรศวร อวตารหนึ่งของพระศิวะ[6] ปรากฏในวรรณกรรมในฐานะราชินีแห่งอาณาจักรปาณฑยะในแถบมตุไร ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการยกขึ้นเป็นเทพเจ้า[7] ปรากฏหลักฐานการสรรเสริญบูชาโดยอาทิศังกระ และ ศรีวิทยะ[8] มีการบูชาพระนางเป็นหลักอยู่ในอินเดีย และมีเทวสถานสำคัญคือมีนากษีเทวาลัย ในมตุไร รัฐทมิฬนาฑู[9]

ศัพทมูล

[แก้]

คำว่า "มีนากษี" มาจากคำในภาษาสันสกฤตหมายความว่า "ผู้มีดวงตารูปปลา" มาจากคำว่า "มีน" และ "อากฺษี" เทียบเท่ากับความว่า "อังคยัรกัณณิ" หรือ "อังกยังกัณณัมไม" ในภาษาทมิฬ โดยเพราะเหตุที่พระนางทรงไม่เคยที่จะหยุดมองดูเหล่าสาวกของพระนาง

ตำนาน

[แก้]

พระศิวะทรงสาปพระแม่ปารวตี

[แก้]

ครั้งหนึ่งฤๅษีอคัสตยะประกอบพิธีบูชาพระศิวะและพระแม่ปารวตี เมื่อทั้งสองพระองค์ทราบถึงการประกอบพิธีบูชาของฤๅษีอคัสตยะ จึงเสด็จลงมาหาและทรงให้พรแก่ฤๅษีอคัสตยะ ฤๅษีอคัสตยะจึงขอให้พระศิวะและพระแม่ปารวตีทรงฟ้อนรำด้วยกัน ทั้งสองพระองค์จึงทำตามคำขอของฤๅษีอคัสตยะ แต่ระหว่างการฟ้อนรำนั้น พระแม่ปารวตีทรงทำต่างหูหลุดออกจากพระกรรณขณะทรงฟ้อนรำ พระศิวะทรงไม่อยากหยุดฟ้อนรำจึงใช้พระบาทหยิบต่างหูของพระแม่ปารวตีขึ้นมาเหน็บไว้ที่พระกรรณของพระองค์ เมื่อพระแม่ปราวตีทรงเห็นเช่นนั้นก็พิโรธที่พระศิวะหยามพระนางโดยการเอาพระบาทหยิบต่างหูของพระนาง พระแม่ปารวตีจึงทรงต่อว่าพระศิวะด้วยถ้อยคำอันรุนแรง เมื่อพระศิวะทรงได้ยินเช่นนั้นก็พิโรธและสาปให้พระแม่ปารวตีต้องกลับไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง

พระแม่ปารวตีทรงจุติเป็นธิดาของกษัตริย์แห่งนครปาณฑิยัน

[แก้]

หลังจากพระศิวะทรงสาปพระแม่ปารวตี พระนางทรงเศร้าพระทัยเป็นอันมาก จึงทรงลงมาจุติเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งนครปาณฑิยัน โดยการนำพาของพระวิษณุ ผู้มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของพระนาง โดยพระแม่ปารวตีทรงกำเนิดใหม่อีกครั้งในพิธียัชญะของกษัตริย์แห่งนครปาณฑิยัน โดยทรงลอยขึ้นมาจากกองไฟของพิธีขอบุตร บนพระอุระของพระนางปรากฏพระถันถึง 3 จุดด้วยกัน กษัตริย์และรานีแห่งนครปาณฑิยันทรงพอพระทัยเป็นอย่างมากและทรงรับมาเป็นธิดาของตน พร้อมกับตั้งพระนามว่า "ฑดาธไก" ซึ่งแปลว่า ผู้กำเนิดจากพระอัคคี เมื่อพระนางทรงเติบโตขึ้นด้วยความกล้าหาญดุจบุรุษเพศ ทรงเก่งกล้าสามารถเป็นอย่างมาก พระนางมักปลอมตัวออกไปจากพระราชวังอยู่บ่อย ๆ และทรงช่วยเหลือผู้คนไว้มากมาย เมื่อพระนางมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงได้ปกครองนครปาฑิยันแทนพระราชบิดา โดยฤๅษีอคัสตยะเปลี่ยนพระนามให้ใหม่ว่า "มีนากษี" แปลว่า ผู้มีดวงตาดังปลา พระแม่มีนากษีทรงปกครองนครปาณฑิยันด้วยความกล้าหาญและเข้มแข็งและทรงดูแลนครปาณฑิยันด้วยความสงบสุขเช่นกัน

พระแม่มีนากษีทรงต่อสู้กับพระอินทร์

[แก้]

พระแม่มีนากษีทรงยกเลิกธรรมเนียมที่ฝ่ายหญิงต้องนำของหมั้นไปให้แก่ฝ่ายชาย และทรงยกเลิกพิธีการบูชาพระอินทร์ โดยพระนางกล่าวว่า การบูชาพระอินทร์ไม่ได้สร้างความเจริญอะไรเลย ฝ่ายพระอินทร์เมื่อทรงรับรู้และพิโรธเป็นอย่างมาก ได้ส่งกองทัพเทวดามาสร้างความวุ่ยวายในนครปาณฑิยัน แต่พระศิวะทรงทราบเสียก่อนจึงทรงแปลงองค์เป็นบุรุษมาช่วยพระแม่มีนากษีจนได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นพระแม่มีนากษียกทัพขึ้นไปบนนครอมรวดีของพระอินทร์ เมื่อเหล่าเทวดาทราบก็หนีกันอลหม่าน ฝ่ายพระอินทร์จึงหนีไปเขาไกรลาสเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระศิวะ เมื่อพระแม่มีนากษีทราบข่าวจากนารทมุนี จึงออกติดตามไปยังเขาไกรลาส แต่โคนนทิออกมาห้ามไว้ จึงถูกพระแม่มีนากษีทำร้ายจนสาหัส ร้อนถึงพระศิวะจึงทรงออกมาพบกับพระแม่มีนากษี เมื่อพระแม่มีนากษีทรงพบพระศิวะก็ทรงตกหลุมรักในทันทีและทำให้พระถันที่สามของพระนางหายไป คำสาปของพระศิวะได้หมดสิ้นไป และทรงได้วิวาห์กับพระศิวะอีกครั้งในรูปพระสุนทเรศวร

พระศิวะในรูปพระสุนทเรศวรอภิเษกกับพระแม่มีนากษี

[แก้]

ในวันพิธีสยุมพรนั้นมีเหล่าทวยเทพทั่วจักรวาลมาชุมนุมกันที่นครปาณฑิยัน พระวิษณุทรงจูงพระแม่มีนากษีทำพิธีทักษิณานุปาทาน 7 รอบกองกูณฐ์บูชาเพื่อเป็นการเข้าสู่พิธีสยุมพร ในพิธีนั้นพระศิวะในรูปพระสุนทเรศวรทรงสร้างอสูรนามว่า "ไวไก" ให้ทำหน้าที่สร้างแม่น้ำสายสำคัญให้แก่นครปาฑิยัน ในวันที่พระศิวะทรงวิวาห์กับพระแม่มีนากษีนั้นได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เรียกกันเรียกว่า "วันมีนากษีกัลยาณัม" พระศิวะในรูปพระสุนทเรศวรและพระแม่มีนากษีทรงปกครองนครปาณฑิยันเรื่อยมา จนกระทั่งมีพระโอรสด้วยกันนามว่า "พระศรีรุทรปาณฑิยัน" ซึ่งต่อมาได้เป็นกษัตริย์ของชาวทมิฬ หลังจากพระศรีรุทรปาณฑิยันเป็นกษัตริย์แห่งทมิฬแล้ว พระศิวะในรูปพระสุนทเรศวรกับพระแม่มีนากษีจึงทรงกลับสู่เขาไกรลาสและพระแม่มีนากษีทรงได้กลับเป็นพระแม่ปารวตีในที่สุด ต่อมาพระศรีรุทรปาณฑิยันทรงสร้างเทวาลัยของพระแม่มีนากษีผู้เป็นพระมารดาไว้กับพระสวยมภูลึงค์ของพระบิดาในป่าต้นกระทุ่ม

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Great Temple of Madurai: English Version of the Book Koilmanagar. Sri Meenakshisundareswarar Temple Renovation Committee. 1963.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ William P. Harman 1992 24
  3. Proceedings of the First International Conference Seminar of Tamil Studies, Kuala Lumpur, Malaysia, April, 1966. International Association of Tamil Research. 1968. p. 543.
  4. Menon, A. Sreedhara (1978). Cultural Heritage of Kerala: An Introduction (ภาษาอังกฤษ). East-West Publications. p. 250.
  5. Howes, Jennifer (2003-09-02). The Courts of Pre-Colonial South India: Material Culture and Kingship (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 27. ISBN 9781135789961.
  6. Rajarajan, R. K. K. (2005-01-01). "Minaksi or Sundaresvara: Who is the first principle?". South Indian History Congress Annual Proceedings. Madurai: Madurai Kamaraj University. XXV: 551–553. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2019.
  7. Fiedler, Amanda (2006). Where does Meenakshi take her turmeric bath?: a multiply-constructed religious history and deity in Tamilnadu (ภาษาอังกฤษ). University of Wisconsin--Madison. p. 1.
  8. Journal of Kerala Studies (ภาษาอังกฤษ). Vol. 36. University of Kerala. 2009. p. 97.
  9. Nelson, Louis P. (2006). American Sanctuary: Understanding Sacred Spaces (ภาษาอังกฤษ). Indiana University Press. p. 121. ISBN 9780253218223.