พระสิริมังคลาจารย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระภิกษุไทยชาวเชียงใหม่ มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 2020–2100 มีผลงานวรรณกรรมพุทธศาสนาที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ เวสสันตรทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา มังคลัตถปนี (หรือ มงคลทีปนี) และจักกวาฬทีปนี

ประวัติ[แก้]

พระสิริมังคลาจารย์ถือกำเนิดในเมืองเชียงใหม่ มีนามเดิมว่า ศรีปิงเมือง โดยถือเอานิมิตในวันคลอดที่เกิดพายุใหญ่พัดจนบ้านพังทลาย ขณะนั้นมารดาของท่านกำลังครรภ์แก่ หลบพายุไปอาศัยอยู่โคนต้นโพธิ์ (ไม้ศรี) และเจ็บครรภ์จึงคลอดที่โคนต้นโพธิ์นั้น บิดาจึงตั้งชื่อว่า ศรีปิงเมือง[1] โดยบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี จากนั้นได้เดินทางไปลังกา[2] เรียนหนังสือสำนักของพระพุทธวีระ[3] ครูของท่านชื่อ พระพุทธวีระ น่าจะเป็นภิกษุนิกายสิงหล จากนั้นเดินทางกลับเชียงใหม่ในสมัยพระเมืองแก้ว และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสิริมังคลาจารย์ ตามฉายาของท่าน และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด (วัดมหาโพธาราม) ที่นี่ท่านได้รจนาคัมภีร์ 3 เรื่องแรก คือ เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี และ สังขยาปกาสกฎีกา ต่อมา พ.ศ. 2067 เกิดน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงที่วัดสวนขวัญ ท่านจึงไปหาสถานที่วิเวกเป็นเรือนร้าง เพื่อรจนามังคลัตถปนี ต่อจนสำเร็จปีฉลู จ.ศ. 879 (พ.ศ. 2060)

พระสิริมังคลาจารย์มรณภาพในระหว่าง พ.ศ. 2068–2078 ตรงกับสมัยพระเมืองเกษเกล้า ศพของท่านคงได้รับการถวายเพลิง ณ วัดสวนดอก อันเป็นวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส และได้สร้างกู่บรรจุอัฐิในบริเวณวัด กู่นี้ถูกรื้อเมื่อ พ.ศ. 2470[4] รวมสิริอายุท่านประมาณ 47 ปี[5]

ผลงาน[แก้]

  • เวสสันตรทีปนี รจนาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2060 ในสมัยพระเมืองแก้ว อธิบายอรรถกถาเวสสันดรชาดก เกี่ยวกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ
  • สังขยาปกาสกฎีกา รจนาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2063 อธิบายคัมภีร์สังขยาปกาสกะ ที่พระญาณวิลาสเถระรจนา ให้เข้าใจง่ายขึ้น
  • มังคลัตถปนี (หรือ มงคลทีปนี) รจนาเมื่อ พ.ศ. 2067 เป็นวรรณกรรมเรื่องเอกของพระสิริมังคลาจารย์ อธิบายความในมงคลสูตร
  • จักกวาฬทีปนี รจนาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2063 กล่าวถึงเรื่องราวในจักรวาลและโลกธาตุ พรรณนาถึงภูมิของสัตว์ทั้งหลาย อาหารของสัตว์ ภูเขา แม่น้ำ เทวดา อสูร ฯลฯ

อ้างอิง[แก้]

  1. พระมหาสง่า ธีรสํวโร และคณะ, ชีวิตและงานพระสิริมังคลาจารย์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, 2546), หน้า 1–7
  2. เพ็ญสุภา สุขคตะ. ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทยศึกษาครั้งที่ 13" (10) 500 ปี วรรณกรรมทีปนีของพระสิริมังคลาจารย์". มติชนสุดสัปดาห์.
  3. ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์สังฆปราชญ์ล้านนา, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, (เชียงใหม่ : โรงพิมพ์จรรยาพิมพ์, 2556), หน้า 9.
  4. ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์สังฆปราชญ์ล้านนา, หน้า 9–10.
  5. "บทบาทการเชื่อมโยงภูมิภาคของพระสิริมังคลาจารย์" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-30.