พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. 1713

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชกฤษฎีกาได้ตราขึ้นในปี 1713 จักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ลงนาม

พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. 1713 (อังกฤษ: Pragmatic Sanction of 1713) หรือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติของอาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซา เป็นพระราชกฤษฎีกาที่จักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ออกในวันที่ 19 เมษายน ปี ค.ศ. 1713 มีเนื้อหายืนยันว่าตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาร์คดัชชีแห่งออสเตรีย กษัตริย์แห่งฮังการี กษัตริย์แห่งโครเอเชีย กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ กษัตริย์แห่งซาร์ดิเนีย กษัตริย์แห่งออสเตรียเนเธอแลนด์ และ ดัชชีแห่งมิลาน จะตกเป็นของทายาทสายตรงของตระกูลฮาพส์บวร์คที่นั่นก็คืออาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซา พระราชธิดาพระองค์โตของพระองค์เพียงคนเดียว

พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศใช้เพื่อจะแก้ปัญหาการขาดแคลนรัชทายาทเพศชายที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์กกำลังเผชิญอยู่ ด้วยว่าอาณาจักรออสเตรียนั้นยึดกฎหมายซาริค (Salic law) เป็นแบบแผนในการปกครองประเทศ ซึ่งตามกฎหมายซาริคแล้ว ผู้ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ของออสเตรียนั้นจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น การที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์กไม่มีรัชทายาทผู้ชายนั่นหมายความว่า หลังสิ้นราชบัลลังก์ของจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 ไป ตระกูลฮาพส์บวร์กสายตรงก็จะหมดสิ้นอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง และอาจจะเกิดควาเปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวงต่อจักรวรรดิของพระองค์ ซึ่งคาร์ลไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น ดังนั้นแล้วเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้พระองค์จึงหาทางให้ทายาทเพียงคนเดียวของพระองค์ซึ่งเป็นผู้หญิง นั่นก็คืออาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซา พระราชธิดาของพระองค์ อย่างไรก็ตามก่อนที่กฤษฎีกาฉบับนี้จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต้องเจอด่านหินสองข้อ ประการแรกคือปัญหาลำดับสันตติวงศ์ เพราะถึงแม้ว่าราชสำนักฮาพส์บวร์คจะขาดแคลนรัชทายาทเพศชาย แต่ในสายสืบสันตติวงศ์พระราชธิดาพระองค์โตอย่างอาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซาก็ไม่ใช้ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์เป็นอันดับที่ 1 เพราะผู้มีสิทธิตัวจริงก็คือ อาร์คดัชเชส มาเรีย โจเซฟา พระราชธิดาพระองค์โตของจักรพรรดิโยเซฟที่ 1 กษัตริย์พระองค์ก่อน ซึ่งหากจะตั้งมาเรีย เทเรซาเป็นรัชทายาท ก็จะถือเป็นการข้ามสิทธิและลำดับของพระราชธิดาของจักรพรรดิโยเซฟไปโดยปริยาย ประการที่สองก็คือตัวกฎหมายซาริคที่ห้ามราชนิกูลเพศหญิงเป็นกษัตริย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตามจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 ก็ประสบความสำเร็จในการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ และส่งผลให้อาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซาเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ออสเตรียโดยชอบธรรม ทว่าหลังจากที่จักรพรรดิคาร์ลที่ 6 สวรรคตลง ชาล์ล อัลเบิร์ต เจ้าผู้คัดเลือกแห่งบาวาเรียกลับอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์โดยได้รับแรงสนับสนุนจากฝรั่งเศส พระราชกฤษฎีกาแม้จะประกาศใช้แต่ไม่ได้รับการยอมรับ ในที่สุดก็เป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามสืบราชสมบัติออสเตรียในปี 1740

ความเสี่ยงของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค[แก้]

ปี 1700 พระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปนสวรรคตโดยไร้รัชทายาท ทางฝรั่งเศสและออสเตรียต่างก็แย่งกันอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์นั้น จนเกิดเป็นสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนขึ้นมา ราชสำนักออสเตรียนั้นได้วางตัวให้อาร์คดยุคคาร์ล (ภายหลังเป็นจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสเปนพระองค์ต่อไป ในระหว่างที่คาร์ลอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์สเปนอยู่นั้น ความกังวลในเรื่องรัชทายาทเพศชายก่อตัวขึ้นอย่างมากในบรรดาเชื้อพระวงศ์ เพราะรัชทายาทองค์ปัจจุบันอาร์คดยุคโจเซฟ กำลังเผชิญกับการที่ตัวเองไม่มีทายาทเพศชายเลย และเหลือลูกสาวเพียงสองคน เขาจึงเข้าไปคุยและทำความเข้าใจกับน้องชายของเขาในเรื่องความเป็นไปได้หากว่าราชวงศ์ฮาพส์บวร์คไม่เหลือทายาทเพศชายสายตรงอีกเลย ซึ่งหากเป็นไปตามฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด หากบัลลังก์ตกไปอยู่กับคาร์ลและคาร์ลไม่มีทายาทเพศชายแล้ว ราชบัลลงก์จะต้องตกไปอยู่กับลูกสาวคนโตของโจเซฟ อย่างอาร์คดยุคมาเรีย โจเซฟา ซึ่งทั้งสองก็มีการทำข้อตกลงความเข้าใจกันในปี 1703 ถึงเรื่องนี้

ในปี 1705 จักรพรรดิเลโอพอลที่ 1 สวรรคต ราชบัลลังก์ตกมาอยู่กับจักรพรรดิโจเซฟที่ 1 พระองค์ครองราชย์ได้ 6 ปี ก็สวรรคตโดยไร้รัชทายาท บัลลังก์จึงตกมาสู่น้องชายก็คือคาร์ล เสวยราชย์ขึ้นเป็นจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับพี่ชายผู้ล่วงลับ หากว่าพระองค์ไม่มีพระราชโอรส อาร์คดัชเชสมาเรีย โจเซฟา จะเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมของราชบัลลังก์ ซึ่งก็เป็นไปตามฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด แม้ว่าคาร์ลที่ 6 จะมีพระราชโอรส แต่พระราชโอรสนั้นก็สวรรคตลงตั้งแต่เยาว์วัย เหลือเพียงแค่ธิดา 2 คนเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าหากคาร์ลสวรรคตไป ราชบัลลังก์จะไปตกอยู่กับสายของมาเรีย โจเซฟา

อย่างไรก็ตามคาร์ลเกิดเปลี่ยนใจ และเลือกที่จะแก้ไขตัวรัชทายาทโดยข้ามสายของพี่ชายทั้งหมดไป ในที่สุดเขาก็ประกาศกับสภาว่า จะมีการส่งมอบอำนาจในราชบัลลังก์ให้กับลูกสาวคนโตของเขาเองที่มีนามว่าอาร์คดัชเชสมาเรีย เทเรซา[1] ทว่าปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการประกาศในข้อนี้ ก็คือกฎหมายซาริคที่ห้ามผู้หญิงขึ้นครองราชย์

การยอมรับจากนานาชาติ[แก้]

จักรพรรดิคาร์ลที่ 6 พยายามแก้กฎหมายซาริค และออกกฤษฎีกาเพื่อให้ผู้หญิงขึ้นครองราชย์ได้ ทว่าในเรื่องนี้อย่างน้อยต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับธิดาของตัวเองว่าจะได้นั่งบนบัลลังก์อย่างไม่มีความขัดแย้ง คาร์ลที่ 6 ใช้เวลานานแรมปีในการไปเจรจากับชาติต่าง ๆ และยอมให้ผลประโยชน์มหาศาลแก่ชาติอื่นเพื่อให้ชาติต่าง ๆ ยอมรับในราชบัลลังก์

และนี่คือส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการแลกกับการยอมรับในตัวของกฤษฎีกาฉบับนี้

  • ฝรั่งเศส ทางราชสำนักออสเตรียยินยอมที่จะยกดินแดนดัชชีลอแรนให้
  • สเปน ยินยอมตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเวียนนาปี 1738 และมีการแลกเปลี่ยนดินแดนกับดยุคชาล์ลแห่งสเปน โดยแลกดินแดนปาร์มากับซิซิลีและเนเปิลส์
  • อังกฤษและดัชต์ ขอให้ทางออสเตรียยุบบริษัทการค้าออสเทนด์ (Ostend Company) ซึ่งทางออสเตรียก็ยุบบริษัทการค้านี้ตามคำขอ
  • ปรัสเซีย กษัตริย์แห่งปรัสเซียยินยอมอยู่ใต้อำนาจของจักรพรรดิ

นอกจากนี้ยังดึงให้รัสเซียและโปแลนด์มาเป็นพวก ภายใต้การที่ออสเตรียสนับสนุนการทำสงครามของสองประเทศนี้มาก่อน

ทว่ามีสองอาณาจักรที่ไม่ยอมรับกฤษฎีกานี้อย่างออกหน้าออกตา นั่นก็คือรัฐผู้คัดเลือกแห่งแซคโซนี และรัฐผู้คัดเลือกแห่งบาวาเรีย ซึ่งทั้งสองรัฐนี้เป็นรัฐที่มีสิทธิในการครองบัลลังก์ออสเตรียผ่านการแต่งงานกับลูกสาวทั้งสองของจักรพรรดิโยเซฟที่ 1 นั่นก็คือ พระเจ้าเฟรเดริค ออกุสตุสที่ 2 เจ้าผู้คัดเลือกแห่งแซตโซนี ทรงแต่งงานกับอาร์คดัชเชสมาเรีย โจเซฟา และพระเจ้าชาร์ล อัลเบิร์ตเจ้าผู้คัดเลือกแห่งบาวาเรีย ทรงแต่งงานกับอาร์คดัชเชสมาเรีย อมิลเลีย

สถานการณ์ภายใน[แก้]

พระราชกฤษฎีกาทำให้เหล่าราชรัฐภายในอาณาจักรออสเตรียเองแตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับสายตระกูลฮาพส์บวร์คนั้นมีอิทธิพลสูงมากในฝ่ายราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งธรรมเนียมเดิมของพวกขุนนางคือการโหวตกันว่าใครเหมาะสมเป็นกษัตริย์ แต่ธรรมเนียมนี้ใช้ครั้งสุดท้ายในปี 1687 หลังจากนั้นกษัตริย์แห่งฮาพส์บวร์คก็ผูกขาดตำแหน่งนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดปัญหากับรัชทายาทเพศชายตามกฎหมายซาริค

อย่างไรก็ตาม รัฐสภาแห่งฮังการีก็ได้มีมติยอมรับในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ และยอมรับในตัวของมาเรีย เทเรซาในการเป็นราชินีของฮังการีโดยชอบธรรม[2] อาณาจักรโครเอเชียก็ให้การสนับสนุนพระนางมาเรีย เทเรซาด้วยเช่นกัน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Holborn, 128.
  2. R. W. SETON -WATSON: The southern Slav question. "Full text of "The southern Slav question and the Habsburg Monarchy"". archive.org. p. 22.
  3. "Hrvatski sabor". sabor.hr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018.