พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร)
นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม หรือนายกองบ้านธาตุพนม
ก่อนหน้าพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร)
ถัดไปท้าวโพธิสารพินิต (อินทะวงส์ บุคคละ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดธาตุพนม
เสียชีวิตธาตุพนม
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสนางพิทักษ์เจดีย์ (พิมมะทา)

พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น) พื้นเมืองพระนมระบุนามเดิมท้าวสุวันนะคำแก่นหรือท้าวแก่นคำหรือยาพ่อคำแก่น เมื่อดำรงตำแหน่งออกนามเจ้าพีพักแก่นคำ[1] อดีตนายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมหรือนายกองบ้านธาตุพนมลำดับ 6 พ.ศ. 2422-2427 ในราชวงศ์เวียงจันทน์ปกครองธาตุพนมลำดับ 9 เดิมบรรดาศักดิ์ท้าวพระลคร (ท้าวพลคร)[2] รับพระราชทานบรรดาศักดิ์พระพิทักษ์เจดีย์คนที่ 2 ต่อพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) บิดา

ประวัติ[แก้]

เป็นบุตรลำดับแรกของพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) กับนางพิทักษ์เจดีย์ (รัตนะจันทน์) เป็นหลานปู่ท้าวอุปละ (มุง) เหลนทวดพระอุปละ (คำมั่น) กับนางรัตนะหน่อแก้ว สืบเชื้อขุนโอกาสสายนางแก้วอาไพธิดาเจ้าพระรามราชฯ (ราม)[3] ก่อน พ.ศ. 2417 ท้าวอุปละ (มุง) บิดาขอตั้งบุตรเป็นท้าวพระลครแล้วเลื่อนเป็นเพี้ยพระละคอรมหาโคตร[4] หัวหน้าพวกคัพพชุมขับเสพมโหรีถวายพระธาตุพนม[5] มีท้าวพลเสพขวาพลเสพซ้ายช่วยราชการ ตำแหน่งนี้พบในพื้นเมืองพระนมระบุครั้งเจ้าพระรามราชฯ (ราม) ปกครองธาตุพนมให้ชาวเวียงจันทน์ดำรงตำแหน่ง 4 คนคือท้าวพระละคร ท้าวพระไซยา ท้าวพระเสพขวา ท้าวพระเสพซ้าย[6] ครั้งเจ้าอนุวงศ์ปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเคยโปรดเกล้าฯ พระยาคำป้อง (ต้นสกุลคำป้อง) เป็นหัวหน้าพวกเสพถวายพระธาตุพนม[7] พร้อมเครื่องมโหรี อาทิ นางนาด กลอง ฆ้องวง (ฆ้องวงปัจจุบันแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูรวัดพระธาตุพนม) เป็นต้น ต่อมา พ.ศ. 2422 (23) พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ท้าวพระลคร (แก่น) กรมการบ้านธาตุพนมเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระมหาธาตุพนมแทน[8] โปรดฯ มีตราพระราชสีห์น้อยถึงเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ใจความสาส์นตราพระพิทักษ์เจดีย์ (เทบปะจิด) ฟ้องถึงกรุงเทพฯ ระบุ ...แล้วพระพิทักษ์เจดีย์ป่วยถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ยังหาได้กลับขึ้นมาไม่ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวพระลคร (แก่น) ให้เป็นที่พระพิทักษ์เจดีย์นายกองแทนพระพิทักษ์เจดีย์คนเก่า แล้วโปรดมีตราพระราชสีห์น้อยมาถึงเจ้าเมืองกรรมการเมืองมุกดาหารฉบับหนึ่ง, เมืองลครพนมฉบับหนึ่ง, เมืองสกลนครฉบับหนึ่ง รวม 3 ฉบับ ใจความในตราว่าให้เจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนคร ชำระตัวเลกข้าพระทาษพนมส่งให้พระพิทักษ์เจดีย์นายกองตามเดิมอย่าให้ขัดขวางเอาตัวเลกข้าพระทาษพนมไว้ แล้วห้ามเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครไม่ให้เก็บเงิน, ข้าวถังกับตัวเลกข้าพระทาษพนมไปเป็นอาณาประโยชน์ของเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, กะเกณฑ์ใช้ราชการเหมือนแต่ก่อน ให้ท้าวเพี้ยตัวเลกซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระทาษพนมสืบไป แจ้งอยู่ในตราพระราชสีห์น้อย 3 ฉบับนั้นแล้ว แล้วเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครส่งให้พวกฯ ข้าฯ ไม่ เจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร, เมืองลครพนม, เมืองสกลนครยังขืนเก็บเอาเงิน, ข้าวถังกับตัวเลกข้าพระทาษพนมไปเป็นอาณาประโยชน์ ของเจ้าเมืองกรมการทั้งสิ้นและใช้ราชการกะเกณฑ์ทุกปีมิได้ขาด...[9] เนื้อความแสดงปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมที่ยืดเยื้อและปัญหาผลประโยชน์มูลนายธาตุพนมกับหัวเมืองใกล้เคียงซึ่งแม้สมัยนายกองลำดับต่อไปก็ยังไม่จบสิ้น

พี่น้องบุตรธิดา[แก้]

มีพี่น้อง 6 ท่านคือพระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น), พระพิทักษ์เจดีย์ (สี) หรือท้าวเทพพระสี, ท้าวเทพพระนม, นางเทพสวัสดิ์, นางเทพทุมมา, นางคำอ้วน มีภริยาปรากฏนาม 1 ท่านคือนางพิทักษ์เจดีย์ (พิมมะทา) มีบุตรธิดา 8 ท่านคือท้าวฮุง, ท้าวลี, ท้าวดี, ท้าวโม, ท้าวคำโสม, นางมาลีราช, นางพรหมประกาย, นางหม่าน[10]

การพระศาสนา[แก้]

พื้นเมืองพระนมระบุผลงานไว้จำนวนมาก เช่น ถวายพวกเสพเพิ่มแด่พระธาตุพนม บูรณะลานพระธาตุ เกณฑ์ไพร่พลข้าโอกาสขุดลอกบึงธาตุหน้าวัด เทครัวข้าโอกาสบางส่วนที่อพยพไปอยู่ฝั่งซ้ายน้ำโขงมาอยู่บ้านดอนจัน ปัจจุบันคือบ้านดอนกลาง ตำบลธาตุพนม เป็นต้น[11]

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

ป่วยถึงแก่กรรม ณ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2427 ก่อนปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล 17 ปี หลังเป็นพระพิทักษ์เจดีย์ 6 ปี ด้วยเหตุเดินทางฟ้องร้องเจ้าเมืองทั้ง 3 เรื่องแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมและการเก็บเงินส่วยข้าวถังข้าเลก[12] สาส์นตราพระพิทักษ์เจดีย์ (เทบปะจิด) ว่า ...ครั้นถึงปีวอก จศก (พ.ศ. 2427) พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น) ลงไปกรุงเทพฯ ทำคำร้องทุกข์ขึ้นกราบทูลในสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ยังหาทันได้ขึ้นมาไม่ พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น) ป่วยถึงแก่กรรมอยู่กรุงเทพฯ...[13] พื้นเมืองพนมระบุถึงแก่กรรม พ.ศ. 2428 (จ.ศ. 1247) ด้วยอาการไข้เจ็บนาน 5 เดือน พระราชทานเพลิงที่กรุงเทพฯ ท้าวโพธิสารกรมการเชิญอัฐิบรรจุธาตุทิศเหนือพระธาตุพนม[14]


ก่อนหน้า พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร) ถัดไป
พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร) นายกองข้าพระธาตุพนม,
หัวหน้าผู้ควบคุมตัวเลกข้าพระธาตุพนม

ท้าวโพธิสารพินิต (อินทะวงส์ บุคคละ)

อ้างอิง[แก้]

  1. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), (ม.ป.ท.: วัดบวรนิเวศวิหาร คณะแดงรังสี, ม.ป.ป.), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  2. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนม: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, (กาฬสินธุ์: ประสารการพิมพ์, 2545), หน้า 108.
  3. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  4. เรื่องเดียวกัน
  5. ดูรายละเอียดใน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ, คัมภีร์พระธรรมศาสตร์บูราณ (กฎหมายเก่าของลาว), (กรุงเทพฯ: สบายสาร, 2529).
  6. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  7. สัมภาษณ์นายณัฏฐกรณ์ คำลุน เรื่อง ประวัติพระยาคำป้องและตระกูลคำป้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม อายุ 23 ปี เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554.
  8. เอกสาร ร.5 ม.2 (12 ก.) เล่ม 20 ร.ศ. 107. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
  9. เอกสาร ร.5 ม.2 (12 ก.) เล่ม 20 ร.ศ. 107 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
  10. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  11. เรื่องเดียวกัน.
  12. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนม: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, หน้า 109.
  13. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสาร ร.5 ม.2 (12 ก.) เล่ม 20 ร.ศ. 107.
  14. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).