พระนางพญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระนางพญา เป็นพระเครื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีมูลเหตุการสร้างจากการที่พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภกพระพุทธศาสนาอีกทั้งมีพระอาจารย์ที่เป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ พระองค์จึงสร้างพระเครื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดศาสนาพุทธทั้งใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชนในขณะนั้นให้อยู่ในกรอบศีลธรรม รวมถึงเป็นขวัญกำลังใจให้เหล่าทหารในยามศึกสงคราม มีพุทธคุณที่เน้นในเรื่องป้องกันภยันตรายไม่ให้เข้ามาแผ้วพาน อยู่ยงคงกระพัน เกิดเมตตามหานิยมจากผู้พบเห็น

พระนางพญาจำแนกได้หลายพิมพ์ ได้แก่พระนางพญาพิมพ์ใหญ่คือ พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง พระนางพญาพิมพ์เข่าตรง ซึ่งแยกออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พระนางพญาพิมพ์เข่าตรงธรรมดา พระนางพญาพิมพ์เข่าตรงพิมพ์มือตกเข่า ส่วนพระนางพญาขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือพระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ[1]

กรุแตก[แก้]

วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก

พระนางพญาแตกกรุประมาณ พ.ศ. 2444 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยวัดนางพญาซึ่งอยู่ใกล้กันได้มีการปรับที่ดินเพื่อรับเสด็จ ทำให้พบกรุพระเครื่องนางพญา เป็นพระนางพญาเนื้อดินประทับนั่งปางมารวิชัย มีรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วอย่างทรงเลขาคณิตหลายพิมพ์ด้วยกันและมีประมาณ 84,000 องค์ ตามคตินิยมของท่านคณาจารย์ในยุคโบราณ[2] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปวัดนางพญา ก็ได้มีการนำพระนางพญาส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ครานั้นพระองค์ทรงแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จกันโดยถ้วนหน้า ดังนั้นพระนางพญาส่วนหนึ่งจึงมีการนำกลับยังกรุงเทพมหานคร

ประมาณ พ.ศ. 2512 ที่จังหวัดพิษณุโลกได้ขุดพบกรุพระนางพญาอีก 1 กรุอยู่ห่างจากบริเวณวัดนางพญาไปประมาณ 4–5 กิโลเมตร องค์พระถูกน้ำกัดสึกกร่อนจนเห็นเม็ดกรวดทรายชัดเจนพระบางองค์ จะปรากฏคราบรารักติดอยู่เต็มองค์บ้าง บางองค์มีรารักสีดำติดอยู่เป็นจุด ๆ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2530 ขุดพบบริเวณเจดีย์นอกวัดนางพญาที่สร้างติดกับถนนทางหลวง เป็นพระที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากและงดงามมีพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่

เมื่อ พ.ศ. 2553 มีการขุดพบพระนางพญาที่วัดบ่อทองคำ จังหวัดพิษณุโลก[3]

มวลสาร[แก้]

พระนางพญาเป็นพระดินเผาที่มีเนื้อหยาบที่สุดในบรรดาพระเนื้อดินของชุดเบญจภาคี มีเนื้อสีอิฐแดงเหลือง เนื้อเขียวเนื้อต่ำ มีทั้งมวลดินมงคลมวลเม็ดทรายแทรกปนอยู่ในเนื้อมากเรียกกันว่าเม็ดแร่ มีทั่วองค์พระมีส่วนผสมมวลสารเหล็กไหลเหล็ก น้ำพี้พระธาตุมีสีขาวขุ่นพระธาตุสีชมพูผงถ่านใบลานเกสรดอกไม้ 108 ว่าน น้ำมนต์ทิพย์[1]

พุทธลักษณะ[แก้]

พุทธลักษณะองค์จำลองพระนางพญาขนาดใหญ่

พุทธลักษณะอันโดดเด่นอันเป็นเหตุที่ทำให้เรียกว่า "พระนางพญา" เพราะมีความงดงามสง่า โดยจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับอิสสตรี จึงได้รับสมญาว่า "ราชินีแห่งพระเครื่อง"[4]

ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วองค์ขนาดปานกลาง ไม่เล็กหรือใหญ่มาก ฐานกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.8 เซนติเมตร

พื้นผิวด้านข้างไม่เรียบนัก ด้านหลังบางองค์จะมีลายนิ้วมือของพระหรือครูบาอาจารย์ มักมีเม็ดผดปรากฏนูนขึ้นมาจนกระทั่งสัมผัสได้มีหลายสี ได้แก่ สีดำ สีมันปู สีแดง สีดอกจำปี สีดอกพิกุลแห้ง สีหัวไพลแห้ง สีขมิ้นชัน สีเขียวใบไม้ สีเขียวมะกอกดิบ สีเขียวครกหิน สีตับเป็ด สีสวาด สีอิฐ บางองค์ที่แม้มีสภาพสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพียงแต่มีคราบไคลขี้กรุฝังอยู่ในเนื้อขององค์พระเท่านั้น[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 พัชรินทร์ อนันต์ศิริวัฒน์. "วิเคราะห์ "พระนางพญา" ในยุคของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช". วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธาน.
  2. นิดา หงส์วิวัฒน์ (บรรณาธิการ). พระนางพญา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด, 2555.
  3. "กรุแตกที่พิษณุโลกอีกแล้ว! เจอนางพญาพิมพ์ใหญ่ที่วัดบ่อทองคำตรึม". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "ตำนานพระนางพญา วัดนางพญา". สยามรัฐออนไลน์.