พระครูอุตรการบดี (ทา โสณุตฺตโร)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระครูอุตรการบดี (ทา) เป็นภิกษุชาวไทย มีชื่อเสียงในระหว่าง พ.ศ. 2430-2460 ความเฉียบขาดและความดุของท่านทำให้นักเลงและเสือร้ายเกรงกลัวมาก จนได้รับฉายาว่า "หลวงพ่อเสือ" บ้างก็เรียก "พ่อเสือกระเบนยอดด้วน" เนื่องจากท่านชอบถือหางกระเบนลงอาคมหรือที่เราเรียกว่ากระเบนยอดด้วนบ้างหรือกระเบนหางด้วนบ้างนั่นเอง สมณศักดิ์สุดท้ายที่ "พระครูอุตรการบดี" ดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะแขวงรองเมืองนครไชยศรีและพระอุปัชฌาย์ทางตอนเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕"
ประวัติ[แก้]
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พื้นเพเป็นชาวบ้านหนองเสือ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2366 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุ 6 ขวบ ท่านได้ศึกษาที่วัดโพธาราม และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปีที่วัดเดียวกัน ต่อมาเมื่อครบอายุบวช จึงได้อุปสมบท ณ วัดบ้านฆ้อง (วัดบ้านฆ้อง ในอดีตเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและพระกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาก)
พระทาภายหลังจากการอุปสมบทแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้อย่างแตกฉาน เมื่อเห็นสมควรแล้ว ได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติพระกัมมัฏฐานควบคู่ไปกับการเรียนคาถาอาคมต่าง ๆ จนชำนาญ จึงกราบลาพระอาจารย์ ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ กาลเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ที่ท่านพระทาได้ออกออกธุดงค์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2417 ขณะนั้นท่านมีอายุ 51 ปี ได้เดินมาถึงบริเวณ ตำบลพะเนียงแตกหรือมาบแคในปัจจุบันจังหวัดนครปฐม ซึ่งบริเวณนั้นเป็นพื้นที่รกร้างนอกเมือง ท่านได้ปักกรดพักแรมและทราบด้วยฌาณว่า บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน พระทาจึงได้ออกเดินสำรวจโดยรอบ และได้พบระฆังใบใหญ่ใบหนึ่งมีอักขระขอมจารึกไว้ เป็นข้อความปริศนาแต่ตีความได้ไม่ยาก แสดงว่าเจ้าของทรัพย์ได้อธิษฐานมอบแก่ผู้มีบุญบารมีและมีจิตเป็นกุศลจึงจะสามารถพบเจอสมบัติ ซึ่งท่านพระทาทราบเจตนารมณ์ของเจ้าของสมบัติ จึงนำสมบัตินั้นไปสร้างวัด
พระทา วัดพะเนียงแตก ช่วงนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ได้รับการยอมรับนับถือกันอย่างกว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทราบถึงกิติคุณดังกล่าว จึงรับสั่งโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอ พระทาก็เป็นเถราจารย์องค์หนึ่งที่พระองค์ท่านโปรดปราน ดังนั้นพระราชพิธีหลวงต่าง ๆ ท่านจะนิมนต์พระทาอยู่เสมอ
โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และทรงแต่งตั้งพระเถระ 4 รูป เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์และเฉลิมพระเกียรติองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำทั้ง 4 ทิศ
- พระครูอุตรการบดี ประจำทิศเหนือ โดยหลวงพ่อทา ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์แรก และองค์ต่อมาคือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว,หลวงพ่อสุข วัดห้วยจระเข้
- พระครูทักษิณานุกิจ ประจำทิศใต้ พระเถระที่เคยดำรงสมณศักดิ์นี้คือ หลวงพ่ออยู่ วัดโคกแขก,หลวงพ่อแจ้ง วัดธรรมศาลา,หลวงพ่อผัน วัดสรรเพชร ,หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
- พระครูปริมานุรักษ์ ประจำทิศตะวันออก พระเถระที่เคยดำรงสมณศักดิ์นี้คือ หลวงพ่อคต วัดใหม่สุประดิษฐ์,หลวงพ่อนวม วัดธรรมศาลา,หลวงพ่อคล้าย วัดศิลามูล
- พระครูปัจฉิมทิศบริหาร พระเถระที่เคยดำรงสมณศักดิ์นี้คือ หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้,หลวงพ่อเกิด วัดงิ้วราย
พระทาได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในปี พ.ศ. 2462 รวมสิริอายุได้ประมาณ 96 ปี 76 พรรษา
การรับเป็นศิษย์[แก้]
พระทามีลูกศิษย์มากมาย แต่ที่มี่ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมีอย่างน้อย 6 ท่าน
- หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง
- หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม
- หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก
- หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด
- หลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม