พรรคคอมมิวนิสต์มลายา
พรรคคอมมิวนิสต์มลายา 马来亚共产党 Mǎláiyǎ gòngchǎndǎng Parti Komunis Malaya ڤرتي کومونيس ملايا மலாயா கம்யூனிஸ்ட் கட்சி Malāyā kamyūṉisṭ kaṭci | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ | Kaum buruh semua negeri, bersatulah! (Workers of the world, unite!) |
ก่อตั้ง | 30 เมษายน ค.ศ.1930 |
ยุบ | 2 ธันวาคม ค.ศ.1989 |
ก่อนหน้า | South Seas Communist Party |
หนังสือพิมพ์ | Min Sheng Pau |
จำนวนสมาชิก (ปี 1939) | 40,000 |
อุดมการณ์ | ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิมากซ์-เลนิน |
จุดยืน | ซ้ายสุด |
สี | แดง |
การเมืองมาเลเซีย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (อังกฤษ: Malayan Communist Party, Communist Party of Malaya) เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 และประกาศวางอาวุธเมื่อ พ.ศ. 2532 บทบาทที่สำคัญของพรรคนี้คือ ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินมลายา
การก่อตั้ง[แก้]
แนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวดัตช์หัวรุนแรงและเติบโตขึ้นตามการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2455 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดสำนักงานขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นจุดกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้หรือพรรคอมมิวนิสต์หนานหยาง พรรคนี้มีกิจกรรมมากในดัตช์อีสต์อินดีสและอินโดจีนฝรั่งเศส ในสิงคโปร์ การทำงานของพรรคมีศูนย์กลางที่สหภาพการค้า หลังจากการลุกฮือที่ล้มเหลวเมื่อ พ.ศ. 2468 ชาวอินโดนีเซียที่นิยมคอมมิวนิสต์ได้ลี้ภัยมายังสิงคโปร์และดำเนินกิจการทางการเมืองร่วมกัน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2473 พรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ได้สลายตัวและตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มลายาขึ้นแทน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในมลายาและสิงคโปร์ และยังมีกิจกรรมบางส่วนในไทยและดัตช์อีสต์อินดีส
การเติบโต[แก้]
พรรคนี้เป็นพรรคนอกกฎหมาย ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 ผู้นำพรรคหลายคนถูกจับกุม อย่างไรก็ตาม พรรคยังมีอิทธิพลในสหภาพการค้าและจัดให้มีการนัดหยุดงานหลายครั้งเช่นที่ เหมืองถ่านหินบาตูอารัง เมื่อ พ.ศ. 2478 และยังสนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมการแรงงานในที่ทำงาน ซึ่งคณะกรรมการและการนัดหยุดงานมักถูกปราบปรามโดยตำรวจ ผู้ประท้วงที่มีเชื้อชาติจีนถูกส่งกลับจีน ซึ่งมักจะถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งประหารชีวิตด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนใน พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
โครงสร้าง[แก้]
พรรคคอมมิวนิสต์มลายานำโดยคณะกรรมกลางสูงสุด 12–15 คน โดยประมาณ 6 คนจัดเป็นคณะโปลิตบูโร ในแต่ละรัฐจะมีคณะกรรมการเป็นของตนเอง โครงสร้างที่เล็กที่สุดของพรรคเรียกเซลล์ ซึ่งอยู่ในระดับหมู่บ้านหรือที่ทำงาน
สงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกรานมลายา อังกฤษได้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเพื่อร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นและได้ปล่อยสมาชิกพรรคที่ถูกคุมขังเมื่อ 15 ธันวาคม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม กองทัพอังกฤษเริ่มฝึกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ให้สู้รบแบบกองโจรเพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังพิเศษแห่งสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกราว 165 คน พรรคเริ่มจัดตั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธที่รัฐยะโฮร์ก่อนสิงคโปร์แตกเมื่อ 15 กมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 และได้ประกาศตัวเป็นกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น เริ่มโจมตีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีพลเรือนชาวจีน ทำให้ชาวมลายาเชื้อสายจีนอพยพออกไปจากเมือง หลังจากสิงคโปร์แตก ไล เตกถูกทหารญี่ปุ่นจับกุม ต่อมาใน 1 กันยายน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นเข้าทำลายการประชุมลับของฝ่ายต่อต้าน และจับกุมสมาชิกพรรคไปได้มากกว่าร้อยคน ที่บาตู จาเรสทางเหนือของกัวลาลัมเปอร์ และถูกฆ่าทั้งหมด ทำให้การดำเนินการของพรรคยากขึ้นเพราะขาดผู้นำ
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 กองกำลังที่ 136 ของอังกฤษได้ติดต่อกับกลุ่มกองโจรในมลายา ซึ่งกองทัพประชาชนยินดีร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรและได้รับความช่วยเหลือทางอากาศ
หลังสงคราม[แก้]
หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ กองกำลังอังกฤษกลับมาในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2488 สิงคโปร์ถูกอังกฤษปกครองอีกครั้งในวันที่ 8 กันยายน การถอนตัวของญี่ปุ่นทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง กองทัพประชาชนได้เข้ามาทดแทนช่องว่างนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวจีนอาศัยอยู่ ในวันที่ 12 กันยายน มีการจัดตั้งหน่วยบริหารกองทัพอังกฤษในกัวลาลัมเปอร์ ส่วนกองทัพประชาชนได้สลายตัวไป พรรคคอมิวนิสต์มลายายังคงเป็นพรรคนอกกฎหมาย
พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ออกมาเรียกร้องเอกราช มีการนัดหยุดงานโดยการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ พรรคนี้ยังมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองอื่นคือพรรคสหภาพประชาธิปไตยมลายาและพรรคชาตินิยมมลายู ใน พ.ศ. 2489 ผู้นำพรรคคือไล เตก ต่อมา เมื่อเขาถูกตั้งข้อสงสัยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 เขาได้หนีออกจากประเทศไปพร้อมกับเงินของพรรค จีนเป็งขึ้นมาเป็นเลขาธิการของพรรคคนใหม่
ภาวะฉุกเฉินในมลายา[แก้]
รัฐบาลอาณานิคมได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในมลายาเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2491 หลังจากที่มีชาวยุโรปถูกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฆ่าตายในรัฐเปรัก ตำรวจพยายามเข้ากวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ ในอีกสองสัปดาห์ต่อมา สมาชิกพรรคฯราว 100 คนถูกจับกุม พรรคกลายเป็นพรรคนอกกฎหมายเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 พรรคนี้ได้จัดตั้งกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่มาจากกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่นเดิม เลา เยิวถูกฆ่าในการปะทะเมื่อ 16 กรกฎาคม ส่วนจิน เป็งหลบหนีไปได้ กองทัพของพรรคเริ่มหลบหนีเข้าป่า เพื่อจัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยในพื้นที่ห่างไกล กองกำลังประชาชนมลายาต่อต้านอังกฤษก็ประสบความสำเร็จน้อย เพราะการจัดองค์กรไม่ดีและขาดการฝึกฝน
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 กองกำลังประชาชนต่อต้านอังกฤษเปลี่ยนชื่อมาเป็นกองทัพปลดปล่อยประชาชนมลายา และพรรคได้ประกาศต่อสู้เพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนมลายาซึ่งรวมสิงคโปร์ด้วย กองทัพปลดปล่อยควบคุมโดยคณะกรรมการกลางทางการทหาร ที่ประกอบด้วยคณะโปลิตบูโร และบางส่วนของผู้บัญชาการทางทหารและตำรวจ สมาชิกที่มีอิทธิพลได้แก่ จินเปง เยือง โกว และเลา ลี กองทัพมีทหารประมาณ 4,000 คนและเป็นหญิง 10% แบ่งเป็น10 ส่วน 9 ส่วนเป็นกองกำลังชาวมลายาเชื้อสายจีน อีก 1 ส่วนเป็นของชาวมลายู และชาวมลายาเชื้อสายอินเดีย ซึ่งส่วนสุดท้ายนี้ถูกอังกฤษทำลายไปเพื่อให้พรรคนี้เป็นพรรคของชาวจีน
กองทัพอังกฤษได้จัดให้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่และอารักขาหมู่บ้านใหม่ด้วยตำรวจ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 อังกฤษได้ใช้นโยบายปิดล้อมให้อดอาหาร ซึ่งในพื้นที่จำกัดอาหาร จะให้ทำอาหารกินที่บ้านเท่านั้น ห้ามมีร้านอาหารหรือการขายอาหารในที่ทำงาน ร้านค้าถูกจำกัดจำนวนขายโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง การเผาหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป การปิดล้อมทางอาหารให้ผลสำเร็จมาก ใน พ.ศ. 2496 กองทัพปลดปล่อยฯประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและจำนวนทหารลดลง การจัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยไม่ประสบความสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องกลับมาดำเนินงานในฐานะพรรคการเมือง
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 มีการเลือกตั้งทั่วไปในมลายาและตวนกูอับดุลเราะห์มานได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2498 จิน เป็งได้เขียนจดหมายถึงอับดุลเราะห์มานเพื่อเจรจาสันติภาพ และได้รับการยอมรับในวันที่ 17 ตุลาคม ตัวแทนของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ได้เจรจากันแต่ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้สลายพรรค แต่ทางพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิเสธ ใน พ.ศ. 2499 จิน เป็งได้ติดต่ออับดุลเราะห์มานเพื่อขอเจรจาอีกแต่อับดุลเราะห์มานปฏิเสธ ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2501 กองทัพปลดปล่อยมลายาคงอยู่เฉพาะในรัฐเปรักและทางใต้ของยะโฮร์ ต่อมา ใน พ.ศ. 2502 กองทัพปลดปล่อยมีกิจกรรมเฉพาะตามแนวชายแดนไทยเท่านั้น
หลัง พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา[แก้]
คาดการณ์ว่าในช่วงนี้สมาชิกพรรคเหลือประมาณ 2,000 คน กองกำลังของพรรคถูกบีบให้ลดจำนวนลงและอยู่ตามแนวชายแดนไทย จิน เป็งอยู่ในจีนและมีการติดต่อกับสมาชิกได้จำกัด ใน พ.ศ. 2512 ได้เปิดสถานีวิทยุที่เกาะไหหลำในชื่อเสียงแห่งการปฏิวัติมลายาและถูกปิดเมื่อ พ.ศ. 2524 ตามคำร้องขอของเติ้ง เสี่ยวผิง ใน พ.ศ. 2512 นี้ พรรคได้เพิ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์คือสงครามเวียดนามและการปฏิวิติวัฒนธรรมในจีน ใน พ.ศ. 2513 พรรคได้แตกแยกเป็นสองฝ่ายและต่างก็ประณามกันเอง และจิน เปงประกาศไม่ยุ่งเกี่ยว ใน พ.ศ. 2532 พรรคได้ตัดสินใจวางอาวุธเมื่อ 2 ธันวาคมที่หาดใหญ่ ประเทศไทย หลังจากมีการลงนามสันติภาพระหว่างพรรคกับรัฐบาลไทยและมาเลเซีย
อ้างอิง[แก้]
- Cheah, Boon Kheng (2003). Red Star over Malaya: resistance and social conflict during and after the Japanese occupation of Malaya, 1941-1946. Singapore: Singapore University Press. ISBN 978-9971-69-274-2.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help) - Chin, C. C., and Karl Hack. eds., Dialogues with Chin Peng: New Light on the Malayan Communist Party. (2004) Singapore: Singapore University Press, 2004 ISBN 9971-69-287-2
- Chin, Peng (2003). Alias Chin Peng: My Side of History. Singapore: Media Masters. ISBN 978-981-04-8693-8.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help) - O'Ballance, Edgar (1966). Malaya: The Communist Insurgent War, 1948-1960. Hamden, Connecticut: Archon Books.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help) - Rashid, Maidin (2009). Memoirs of Rashid Maidin: From Armed Struggle to Peace. Petaling Jaya, Malaysia: Strategic Information and Research Development Centre. ISBN 978-983-3782-72-7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-11. สืบค้นเมื่อ 2013-12-09.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help) - Singh Sandhu, Kernial (1964). "The Saga of the 'Squatter' in Malaya". Journal of South East Asian History. Cambridge: Cambridge University Press.
{{cite journal}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help) - Short, Anthony (1975). The Communist Insurrection in Malaysa, 1948-1960. London: Frederick Muller. ISBN 0-584-10157-0.
{{cite book}}
: Cite ไม่รู้จักพารามิเตอร์ว่างเปล่า :|coauthors=
(help)