ผู้ใช้:Watthatnarai/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตำนานการสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง

มีเรื่องเล่าไว้ใน "อุรังคธาตุนิทาน" คือ ตำนานพระธาตุพนมว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระอรหันต์ประมาณ 500 เสด็จมาจากชมพูทวีปทางอากศ เสด็จแวะลงบิณฑบาตในเมืองหนองหารหลวง ขุนขอมผู้ครองนครในขณะนั้น คือ พญาสุวรรณภิงคาร และพระอัครมเหสีนารายณ์เจงเวง ได้อัญเชิญเสด็จพระพุทธองค์และเหล่าพระอรหันต์ ทั้ง 500 ให้เข้ารับพระกระยาหารในพระนคร เมื่อเสร็จภัตกิจทรงอนุโมทนาแล้ว เสด็จออกจากพระนครเรียบริมฝั่งหนองหารทรงพยากรณ์เมืองหนองหารหลวงว่า "เป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในภัทรกัลปนี้ จะต้องเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ริมฝั่งหนองหาร คือ ภูน้ำลอดเชิงชุม แห่งนี้"

 สิ้นพระดำรัส ก็ปรากฏเป็นดวงแก้ว 3 ดวง ลอยตามกันออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ ทรงถวายพระพรว่า "ดวงแก้วทั้ง 3 ดวงนั้น หมายถึงพระพุทธเจ้าในอดีต คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า" แล้วดวงแก้วอีก 1 ดวงก็ลอยตามออกมาเป็นดวงที่ 4 อันหมายถึงตัวพระองค์เอง และในอนาคตกาลพระพุทธเจ้าพระองคืที่ 5 คือ พระศรีอริยเมตไตรย ก็จะเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้  ที่นี่อีก
 พระพุทธองค์ ทรงประทานรอยพระพุทธบาทของพระองค์พร้อมทั้งแสดงให้พญาสุวรรณภิงคาร ได้ทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาทอีก 3 รอย ซึ่งวางทับซ้อนกันอยู่ก่อนแล้วนั้น จึงปรากฏเป็นรอยพระบาท 4 รอย
 พญาสุวรรณภิงคารทรงเห็นอัศจรรย์ดังนั้น  ทรงเกิดปิติปราโมทย์โสมมนัสพระหฤทัยยิ่งนัก หมายจักกระทำการบูชาด้วยสิ่งสูงสุด คือ พระเศียรที่ประดับด้วยสุวรรณมงกุฏทรงคว้าพระขรรค์หมายจักตัดพระศอ แต่พระอัครมเหสีทรงทัดทานไว้ได้ทันและให้เหตุผลว่า "ขอพระองค์อย่าได้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เลย หากพระองค์มีพระชนม์อยู่ต่อไป จักได้กระทำการบูชาพระพุทธได้วิเศษยิ่งกว่า ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบต่อไป"
 พระราชาทรงมีพระสติยับยั้งพระหทัย ทรงทอดมงกุฏทองคำสวมถวายบูชารอยพระพุทธบาท พร้อมกับทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ด้วยผลแห่งการ ถวายมงกุฏทองบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ขอข้าฯ จงมีชัยต่ออริราชศัตรูที่มาจากทิศทั้ง 4 หากมีบารมีพอขอให้บรรลุธรรมพิสมัย เป็นองค์อรหันต์ในชาตินั้นด้วยเทอญ"
 เสร็จสิ้นคำอธิษฐาน รอยพระพุทธบาทและมงกุฏทองของพระราชา ได้แสดงปาฏิหารย์จมหายไปจากพื้นปฐพี เหลือปรากฏเพียงรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคดมเท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร สิ่งนั้นจักสำเร็จตามปรารถนา" แล้วเสด็จออกจากเมืองหนองหารหลวง มุ่งพระพักตร์สู่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ ณ บริเวณภูกำพร้า หรือที่ตั้งองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน พญาสุวรรณภิงคาร พร้อมทั้งไพร่ฟ้าประชาชนต่างชื่นชมโสมนัสที่พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เสด็จมาสู่นครของตนและทรงประทานรอยพระบาทไว้ จึงสร้างอุโมงค์ธาตุด้วยศิลา ครอบรอยพระพุทธบาทนั้น เพื่อเป็นเจดีย์ที่เคารพบูชาของมหาชนชาวพุทธสืบต่อไป ขนานนามว่า "พระธาตุพุทธบาทโรชุม" ซึ่งต่อมาเรียกว่า "พระธาตุเชิงชุม" เป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองคู่เมือง และใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ตำนานเล่าแทรกไว้อีกว่า ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จมาทางอากาศนั้น กระดุมจีวรของพระพุทธองค์หล่นตกลง ณ พื้นดิน บริเวณริมหนองหารหลวง ต่อมามีผู้เก็บได้ รู้ว่าเป็นสิ่งล่ำค่าเพราะเป็นสิ่งสืบเนื่องมาแต่บริขารเครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า จึงพากันสร้างพระธาตุไว้ ณ จุดที่พบนั้น และนำเอากระดุมเม็ดนั้นบรรจุไว้ในภายใน เรียกขาน กันว่า "พระธาตุดุม" หลังจากพุทธปรินิพพานตำนานยังเล่าต่ออีกว่า เมื่อถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปเถระ พร้อมกับพระอรหันต์ประมาณ 500 รูป ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ คือกระดูกส่วนพระอุระ (หน้าอก) ของพระพุทธเจ้าเพื่อมาประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า ตามพุทธประสงค์ที่ทรงมีพระดำรัสไว้ เมื่อคราวเสด็จครั้งก่อน

 พญาสุวรรณภิงคาร พระอัครมเหสี และชาวเมืองหนองหารหลวง รวมทั้งชาวเมืองหนองหารน้อย (จังหวัดอุดรธานี) ทราบข่าวการมาของพระอรหันต์เหล่านั้น จึงพากันเตรียมการต้อนรับ และตั้งใจว่าจะขอส่วนแบ่งของพระอุรังคธาตุนั้น เพื่อประดิษฐานไว้ ณ เมืองหนองหารหลวงนี้ด้วยส่วนหนึ่ง จึงดำเนินการสร้างพระธาตุขึ้น 2 องค์
 องค์ที่หนึ่ง โดยการนำของพระอัครมเหสีนารายณ์เจงเวง และสนมกำนัลในฝ่ายหญิงล้วน กำหนดสร้าง ณ บริเวณอุทยานหลวง ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมือง
 องค์ที่สอง โดยการนำของเจ้าทัพนายกอง เสนาอำมาตย์ฝ่ายชายทั้งสิ้น กำหนดสถานที่ ณ บริเวณดอยแท่น บนเทือกเขาภูพานด้านทิศตะวันตก อันเป็นสถานที่เคยประทับของพระพุทธองค์ก่อนเสด็จกลับชมพูทวีป และปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน นครกุสินารา
 เมื่อกำหนดสถานที่เรียบร้อยแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการสร้าง เพราะมีสัญญากันไว้ว่า "หากฝ่ายใดสร้างเสร็จทันการมาของพระมหากัสสปเถระ ฝ่ายนั้นจักได้รับส่วนแบ่งพระอุรังคธาตุ บรรจุไว้ในเจดีย์ของตน"
 เมื่อเป็นดังนี้ พระอัครมเหสีจึงให้กำลังใจแก่ฝ่ายหญิงว่า "ผู้ชายไม่ได้มีมือ 4 มือ เหมือนพระนารายณ์ ดอกนา" บ้างก็ว่า ฝ่ายหญิงออกอุบายใช้กลลวง ใช้มายาหญิงหลอกล่อให้ฝ่ายชายหนีงานมาช่วยฝ่ายตน และเมื่อใกล้วันเข้ามา ก็มีมติกันอีกว่า ให้สร้างเสร็จก่อนดาวเพ็ก คือ ดาวประกายพรึก บ้างก็ว่าดาวศุกร์ ขึ้นสู่ท้องฟ้า
 ในคืนนั้น ฝ่ายหญิงใช้กลอุบายลวงฝ่ายชาย ด้วยการทำโคมไฟใหญ่ผู้กติดปลายไม้ แล้วนำขึ้นไปแขวนบนต้นไม้สูงใหญ่ ทั้งๆที่ดาวเพ็กยังไม่ขึ้นท้องฟ้า แต่กลับทำมายาโห่ร้องก้องเสียง ตีกลองร้องป่าว ขึ้นว่า "ดาวเพ็กขึ้นแล้วๆ" เมื่อฝ่ายชายทราบดังนั้น ก็ยุติการก่อสร้าง ทิ้งเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้าง ละทิ้งการก่อสร้าง ทำให้ปราสาทบนดอยแท่นไม่เสร็จ ต่อมาจึงรู้ว่าโดนหลอกแต่ก็สายไปเสียแล้ว ปราสาทหลังนี้จึงถูกขนานนามว่า "ภูเพ็กมุสา" และกลายเป็น "ปราสาทภูเพ็ก" คือ "พระธาตุภูเพ็ก" อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทราบไปถึงพญาสุวรรณภิงคาร เมื่อทราบดั้งนั้นทรงพิโรธเป็นอย่างหนัก ถึงกับจะลงทัณฑ์ประการชีวิตพระอัครมเหสี ในข้อหาที่ว่า "พระนางทรงเป็นต้นเหตุให้ฝ่ายชายพ่ายแพ้ด้วยกลอุบายหลอกลวง" แต่เมื่อพระมหากัสสปเถระเดินทางมาถึง ก็ได้ขอประทานอภัยโทษ ให้ทรงรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระนางทรงทัดทานพระองค์ไว้ เมื่อครั้งที่จะปลงพระชนม์ชีพถวายบูชารอยพระพุทธบาทในครั้งโน้น อีกทั้งได้เทศนาเตือนพระสติให้ดำรงอยู่ในศีล เพื่อสร้างพระบุญญาบารมีธรรมสืบต่อไป พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า ผู้ชายที่ถูกหลอกล่อด้วยมารยาหญิงแล้วหลงใหลคลั่งใคล่นั้น ก็เพราะฝ่ายชายไม่สำรวมระมัีดระวัง และไม่รักษาใจของตนเอง เพราะขาดสติสัมปชัญญะจึงทำให้เสียงาน ฉะนั้น จึงไม่สมควรจะโทษฝ่ายหญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว

 เมื่อทรงมีพระหทัยโสมนัสยินดีแล้ว ก็ได้มีพิธีบูชาเฉลิมฉลองสมโภชพระอุรังคธาตุ ที่พระมหากัสสปเถระิัญเชิญมานั้น และเมื่อพิธีสมโภชบูชาเส็จสิ้นลง พญาสุวรรณภิงคาร ทรงเล่าเรื่องการสร้างพระธาตุไว้รอ พร้อมทั้งขอส่วนแบ่งพระอุรังคธาตุ เพื่อบรรจุไว้ในพระธาตุองค์ที่สร้างเสร็จทันเวลา แต่ถูกพระมหากัสสปเถระกล่าวทัดทานว่า 
 "ขอถวายพระพรมหาบพิตร การกระทำเช่นนี้ผิดพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ทรงมีรับสั่งให้นำพระอุรังคธาตุส่วนนี้ไปบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า (กปณคีรี) แคว้นศรีโคตรบูรณ์โน้น อาตมาแบ่งให้ไม่ได้ดอก"
 แต่เพื่อถนอมน้ำใจของพญาสุวรรณภิงคาร พระมหากัสสปเถระจึงมีเณรบัญชา ให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง กลับไปนำเอาพระอังคาร (เถ้าถ่าน) จากสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระมาถวาย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวนครหนองหารหลวง ไว้เป็นเจดีย์สักการบูชาต่อไป โดยให้บรรจุไว้ในพระธาตุของฝ่ายหญิง ณ อุทยานหนองหารหลวง เรืียกชื่อว่า "พระธาตุนารายณ์เจงเวง" โดยถือเอาคำว่า "ผู้ชายไม่ได้มี 4 มือ เหมือนพระนารายณ์ ดอกนา" มาเรียกขาน และพระนามของพระนางก็ถูกเรียกขานกันต่อมาว่า "พระนางนารยณ์เจงเวง" หมายถึง "นางผู้งามระหงดังนารายณ์"

ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า "อรดีมายานารายณ์เจงเวง" เพราะกลอุบายมายาของฝ่ายหญิง ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกชื่อโบราณสถานทั้งสองแห่งตามที่มาของการก่อสร้างว่า "อูบมุงอิตถีมายานายณ์เจงเวง" หรือ "อุโมงค์อิตถีมายานารายณ์เจงเวง" และ "ภูเพ็กมุสา" เพื่อเป็นการลงโทษฝ่ายหญิง จึงไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างพระธาตุพนมเลยแม้แต่คนเดียว

 จากตำนานอุรังคธาตุนิทาน หรือตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมาจากฝ่ายล้านนา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา เครือญาติ ชาติพันธุ์ การเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ ประการสำคัญก็คือ พระพุทธศาสนา วึ่งแท้ที่จริงแล้วแสดงถึงการเป็นตำนานที่เขียนขึ้นมาภายหลัง ซึ่งกำหนดเอาศาสนสถานในคติพราหมณ์ฮินดู ของวัฒนธรรมจามหรือขอมมาแต่เดิม โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยลักษระของพระธาตุเจดีย์อันเป็นรูปแบบของพระธาตุองค์ต่างๆในแถบลุ่มแม่น้ำโขงดังปรากฏในปัจจุบัน
 ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามวัสดุก่อสร้าง และจากการสันิษฐานของนักโบราณคดีแล้ว พระธาตุแต่ละองค์ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น สรุปได้ว่า สร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจเช่นเดียวกันกับปรางค์ขอมอื่นๆที่ปรากฏอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของดินแดนอีสาน และเคยเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์ฮินดูมาก่อนทั้งนั้น แต่เมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรือง จึงได้ดัดแปลงเทวสถานเหล่านั้น และเปลี่ยนคำนำหน้าจากคำว่า "ปราสาท" หรือ "ปรางค์" มาเรียกว่า "พระธาตุ"ทั้งสิ้น

...........................................................................................................................................

(คัดลอกจากหนังสือ ประวัติพระธาตุนารายณ์เจงเวง โดย พระมหาประมวล ฐานทตฺโต,ดร. หน้า 8-16)

แหล่งอ้างอิง ตำนานการสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง