ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Suthipapond tupthipakorn/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


แนวโน้มการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน[แก้]

ถ้ามองดูตลาดไอทีของโลกในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นความแตกต่างอย่างมากระหว่างตลาดคอมพิวเตอร์ที่ซบเซา ขณะที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกลับเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัจจัยลบต่อตลาดคอมพิวเตอร์มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก เนื่องจากภาคธุรกิจชะลอการลงทุนด้านไอทีลงต่อเนื่อง ในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ในยามที่หมดอายุการใช้งาน (replacement) มากกว่าที่จะซื้อเพราะต้องการ upgrade เป็นสินค้ารุ่นใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดตัว Window 8 และ Ultrabook รุ่นใหม่ๆ ออกมา แต่ไม่ช่วยกระตุ้นยอดขายมากนัก โดยเฉพาะ desktop ที่ยอดส่งสินค้าในตลาดโลกติดลบ 3% ต่อปีในช่วงปี 2010-2012 ขณะที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกลับเติบโตแบบก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 45% ในปี 2010 มาเป็น 60% ของยอดการส่งสินค้า IT ในตลาดโลกในปี 2012

ทำไมสมาร์ทโฟนจึงมาแรง?...ถ้าดูจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปัจจัยสนับสนุนความต้องการสมาร์ทโฟนที่สำคัญมาจากการใช้งานที่มากกว่าการโทรเข้า/ออก แต่ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ถ้าดูปริมาณการใช้ข้อมูลในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนในปี 2012 เติบโตถึง 80% และยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ตามฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายและการพัฒนาแอพลิเคชันใหม่ๆ ที่มีต่อเนื่อง

ปัจจัยสนับสนุนอีกปัจจัยหนึ่งคือ ราคาที่ถูกลงมาก ถ้าย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน เราแทบจะไม่เห็นสมาร์ท โฟนราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท แต่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาสมาร์ทโฟนราคาประหยัด แม้เรามีงบเพียง 3-5 พันบาท ก็สามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ ราคาที่ถูกลงเป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดขายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเติบโตแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว โดยถ้าดูยอดขายในปี 2012 พบว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนถึงราว 60% ของยอดขายทั้งหมดและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 70% ในปี 2014 โดยเฉพาะกลุ่ม BRICs (จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย) คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยราว 23% เทียบกับในประเทศพัฒนาแล้วที่คาดว่าจะโตราว 10% ทั้งนี้ IDC คาดการณ์ว่าสัดส่วนยอดขายสมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทจะเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2012 มาเป็นเกือบราว 40% ในปี 2014 และราคาเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนจะปรับลดลงประมาณ 7% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ถ้าย้อนมาดูตลาดในบ้านเรา...มียอดขายสมาร์ทโฟนเติบโตไม่แพ้ประเทศอื่นๆ มูลค่าตลาดในช่วง 2008-2012 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อปี อยู่ที่ราว 4.4 หมื่นล้านบาทในปี 2012 แต่คงมีหลายคนสงสัยว่าแนวโน้มยังจะโตต่อเนื่องหรืออิ่มตัว? ถ้าดูการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของไทย อยู่ที่ราว 111 เลขหมายต่อประชากร 100 คน สูงกว่าจีนและ อินโดนีเซีย แต่ที่น่าสนใจคือ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนของไทยยังไม่สูงนัก หากดูสัดส่วนของสมาร์ทโฟนเทียบกับจำนวนโทรศัพท์มือถือทั้งหมด จะพบว่ามีสัดส่วนเพียง 34% เมื่อเทียบกับจีนซึ่งมีระดับรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน แต่กลับมีสัดส่วนของสมาร์ทโฟนถึงราว 63% สะท้อนว่าตลาดสมาร์ทโฟนในไทยยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัด

แต่เมื่อ 3G เปิดให้บริการ ทำให้คาดว่าความต้องการสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนจาก 2G มาเป็น 3G ซึ่งผู้บริโภคจะหันมาใช้บริการประเภท non-voice เพิ่มขึ้นมาก ทั้งการดูหนัง social network รวมไปจนถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อเทียบยอดขายโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนกับฟีเจอร์โฟน (โทรศัพท์แบบเบสิค) ของไทยในช่วงปี 2008-2012 จะเห็นความแตกต่างของอัตราเติบโตค่อนข้างชัด โดยยอดขายในแง่ปริมาณของสมาร์ทโฟนเติบโตถึง 85% เทียบกับฟีเจอร์โฟนที่โตเพียง 2% ต่อปี

แม้ตลาดสมาร์ทโฟนยังมีโอกาสเติบโต แต่มองอีกมุมหนึ่งการเติบโตย่อมมาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรง ในแง่ผู้ผลิต ต่างยังคงเร่งพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนแบ่งตลาดก็ยังกระจุกตัวแต่เฉพาะผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่แบรนด์ โดยอันดับ 1 ยังคงเป็น Samsung รองลงมาคือ Apple ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันแบรนด์อื่นๆ ก็ยังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกลับมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งถ้าจับตาดูเทรนด์สมาร์ทโฟนในระยะต่อไป จะเห็นว่ากระแสความต้องการสมาร์ทโฟน หน้าจอใหญ่มากกว่า 5 นิ้วหรือที่เรียกว่าแฟ๊บเล็ต (Phablet) มีแนวโน้มเติบโตสูง ขณะเดียวกันสมาร์ทโฟนยังเน้นชูจุดขายเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานด้านความบันเทิง เช่น หน้าจอเป็น full-HD ลูกเล่นด้านการถ่ายภาพและเสียง ซึ่งก็กระตุ้นตลาดให้เติบโตได้ไม่น้อย

แต่หากมองการแข่งขันด้านราคา เราจะเห็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดในตลาดบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสินค้าไอทีต่างมีการปรับตัวเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทสมาร์ทโฟนและแท๊บเล็ตเพื่อทดแทนตลาดคอมพิวเตอร์ที่ซบเซา คงต้องจับตามองการปรับตัวเนื่องจาก แม้ว่าผู้ประกอบการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่จะมียอดขายในแง่ปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่บางรายกลับมียอดขายในแง่มูลค่าและมีมาร์จินที่ปรับลดลง เนื่องจากราคาเครื่องโทรศัพท์มือถือปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนของยอดขายฟีเจอร์โฟนเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเน้นสมาร์ทโฟนแล้ว แต่หากเลือกรุ่นที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ก็ยังส่งผลให้ยอดขายปรับลดลงได้

โอกาสของตลาดสมาร์ทโฟนยังมีอีกมาก แต่ผู้ประกอบการควรจะต้องพิจารณาเลือกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพเนื่องจากสมาร์ทโฟนมีการออกรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลาและสงครามราคายังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

[1]

  1. https://www.scbeic.com/THA/document/topic_krungtep_smartphone/