ผู้ใช้:Sry85/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระรัชทายาท คือเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สมมุติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป ทรงมีสิทธิอำนาจที่จะทรงเลือกตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นพระรัชทายาท โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศแก่บรรดา พระบรมวงศานุวงศ์และเสนามาตย์ราชเสวกบริพาร อีกทั้ง สมณพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎรให้ทราบทั่วกัน ในบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานอุปราชาภิเษกหรือยุพราชาภิเษกด้วย[1]

ส่วน สมเด็จพระยุพราช คือพระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

ประวัติ[แก้]

การสืบราชสมบัตินั้น แต่เดิมพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติโดยการรบพุ่งแก่งแย่งกัน หรือการปราบดาภิเษก (เช่นพระเจ้าตากสินและพระพุทธยอดฟ้าฯ)[2]

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในระหว่างรัชสมัย พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราชให้แต่พระอนุชาธิราชพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท[3] ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีห์นาท หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า "วังหน้า" เมื่อพระอนุชาธิราชสวรรคต (พ.ศ. 2346) หลังจากนั้นมิได้แต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แทน จนในปี พ.ศ. 2350 จึงโปรดตั้งสมเด็จพระบรมโอรส เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช[4] เป็นครั้งเดียวในประวัติของพระบรมราชวงศ์จักรี ที่พระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นวังหน้า[5] ในที่สุดพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงประชวรหนัก และในไม่กี่วันเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ทรงมีพระสติดีพร้อมอยู่จนวาระสุดท้าย และสามารถทรงมอบราชสมบัติแด่พระราชโอรส เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้[6] แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีธรรมเนียมว่า พระเจ้าแผ่นดินนั้นที่ประชุมพระราชวงศ์ พระสงฆ์ราชาคณะ และข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นผู้เลือกตั้งในนามของชาวไทย เข้าประชุมกันตามระเบียนในที่ประชุม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ได้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงรับราชสมบัติ[7]

รัชกาลที่ 2 ทรงแต่งตั้งพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เป็นพระมหาอุปราช แต่เมื่อสวรรคต ก็มิได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นพระมหาอุปราชแทน ถึงแม้จะได้ทรงยกย่องสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพิเศษในโอกาสต่าง ๆ แต๋ก็ไม่เคยทรงประกาศว่าทรงเป็นพระยุพราชและธรรมเนียมว่า เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่จะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่มี เมื่อเสด็จสวรรคตราชบังลังก์จึงว่างเปล่า[8]

กรมพระราชวังบวรฯ ของรัชกาลที่ 1 และที่ 2 เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระมารดา หากว่ายังมีพระชนม์อยู่และสมเด็จพระเชษฐาธิราชสวรรคตไปเสียก่อนแล้ว ก็อาจจะได้ครองราชย์แทน การที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้สืบราชสมบัติ มิใช่เพราะทรงเป็นเจ้าฟ้าองค์หัวปี แต่เป็นเพราะได้ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรฯ และเพราะที่ประชุมพระราชวงศ์และพระสงฆ์ราชาคณะ และขุนนางผู้ใหญ่ รับรองสนับสนุน ถึงแม้จะดูว่ากรมพระราชวังบวรฯ มีสิทธิอย่างไม่มีปัญหา ก็ไม่แน่เสมอไป จะมั่นคงจริง ๆ คือได้รับมอบราชสมบัติจากพระเจ้าแผ่นดินที่จวนจะสวรรคตและที่ประชุมสนับสนุน[9] หลังรัชกาลที่ 2 สวรรคต ที่ประชุมได้อัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเลย ในขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเพิ่งจะได้ทรงผนวช จึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรึกษาหารือภายในที่ประชุม หากจะทรงลาผนวชออกจากสมณเพศเมื่อสิ้นพรรษาซึ่งมีกำหนดราว 3 เดือน ก็ยังทรงพระเยาว์เกินไป จึงไม่น่าจะได้รับตำแหน่งอย่างดีอะไรในราชการที่มีอายุไล่เลี่ยกับพระองค์อยู่หลายพระองค์ ดังนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงตัดสินพระทัยที่จะยังครองผ้าเหลือต่อไป[10]

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 3 เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีการเลื่อนและแต่งตั้งกรม ถ้าจะนับว่าตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ นั้นควรเป็นตำแหน่งรัชทายาทอย่างสมบูรณ์ แต่พระองค์ไม่ทรงมีพระอนุชาร่วมพระารดา และไม่ทรงแต่งตั้งพระอนุชาพระองค์อื่น กลับทรงสถาปนาเสด็จอา คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ พระโอรสของพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งมีพระชนม์แก่กว่าพระเจ้าอยู่หัว 2 ปี เป็นวังหน้าแทน และทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 8 ปี จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2375 ต่อนั้นมาก้มิได้ตั้งเจ้าพระองค์ใดเป็นวังหน้าตลอดรัชกาล[11] ตลอดรัชกาลทรงมีพระสุขภาพแข็งแรงดี ครั้นล้มประชวรก็ทรงทราบว่าจะไม่ทรงรอด จึงโปรดให้เรียกขุนนางที่ทรงใช้สอยสนิทเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสว่า "ถ้าพระองค์เองจะไม่ทรงเลือกเจ้านายพระองค์ใดขึ้นครองราชบัติแทน อาจจะไม่เป็นที่พอใจแก่คนทั้งปวง จึงทรงขอให้ไปบอกที่ประชุมเมื่อสิ้นแผ่นดิน ถ้าเห็นพระราชวงศ์พระองค์ใด มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร ก็ให้ร่วมใจกันยกท่านขึ้นราชบัลลังก์ ไม่มีพระราชประสงค์จะยกพระโอรสของพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน แล้วทรงวิจารณ์วิพากษ์เจ้านายหลายพระองค์ ตรัสว่า ที่จะมีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ (คือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ)"[12]

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุมาตลอด 27 พรรษา ถึงแม้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ จะทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ในบรรดาพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 ที่เป็นเจ้าฟ้า แต่ก็มิทำให้พระองค์มีสิทธิจะสืบราชสมบัติมากกว่าเจ้านายชั้นสูงพระองค์อื่น แต่ที่ประชุมพระราชาคณะ พระราชวงศ์ และท่านขุนนางผู้ใหญ่ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสมควรจะทูลเชิญขึ้นครองราชสมบัติ[13] พระบรมนามาภิไธยของรัชกาลที่ 4 มีตอนพิเศษและเป็นของใหม่ 3 ตอน โดยหนึ่งในนั้น "มหาชนนิกรสโมสรสมมติ" อันแปลว่า มหาชนได้รวมกันเลือกตั้งขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้เข้าร่วมประชุมเวลาต้นรัชกาลถือตนว่า เป็นผู้แทนของชนชาวไทยทั่วไป[14] เมื่องานพระบรมพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไป จึงถึงเวลาจะทรงตั้งสมเด็จพระมหาอุปราช และก็เป็นดังที่เดากันว่า ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาพระองค์เดียวที่ร่วมพระมารดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุธามณี แต่แทนที่จะทรงแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ 4 กลับทรงตั้งพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยมีพระราชทานพระราชพิธีบวรราชาภิเษกอันใหญ่หลวงเกือบจะเท่าเทียมกับบรมราชาภิเษก และทรงพระราชทานพระนามว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเมื่อพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2407 ไม่ทรงคิดจะตั้งผู้ใดเป็นวังหน้าแทน และถึงแม้พระองค์จะทรงโปรดระเบียบแบบแผนอย่างยุโรปก็จริง แต๋มิได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมาร (Crown Prince) แต่น่าจะทรงคิดว่าความเห็นของคนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ก้าวหน้าพอ[15] และทรงทำเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 คือไม่ทรงเลือกเจ้านายพระองค์ใดให้สืบราชสมบัติแทน มีพระราชดำรัสว่าให้ไปปรึกษากันจงพร้อม แล้วแต่จะเห็นผู้ใดมีปรีชาควรรักษาแผ่นดินได้ก็ให้ยกขึ้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะทรงเกรงว่าเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งขณะนั้นพระชนม์ 15 พันษา ยังทรงพระเยาว์เกินไป[16]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2411 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้เรียกประชุม ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแผ่นดิน ดูไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์อย่างแน่นอน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้จัดการทูลเชิญพระราชาคณะที่เป็นพระราชวงศ์ สำหรับที่ประชุมในตอนนั้น ประกอบด้วย ฝ่ายราชอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร

  • ฝ่ายราชอาณาจักร ประกอบด้วย
    • พระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมหมื่นถาวรวรยศ กรมหลวงวรศักดาพิศาล กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กรมขุนบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล กรมหมื่นอักษรสารโสภณ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ กรมหมื่นอนัตการฤทธิ์ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ และเจ้านายที่ผนวชอยู่ ได้แก่ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์
    • ข้าราชการ ได้แก่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (สมุหพระกลาโหม) เจ้าพระยาภูธราภัย (สมุหนายก) พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชภักดี พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพ็ชรพิชัย พระยาสีหราชเดโช พระยาสีหราชฤทธิไกร พระยาราชวรานุกูล พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตชาญชัย พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระยาศรีเสาวราช เจ้าพระยามุขมนตรี พระยามณเทียรบาล พระยาเสนาภูเบศร์ พระยาศิริไอศวรรย์ พระยาสุรินทรราชเสนี
  • ฝ่ายพุทธจักร ได้แก่ พระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระสาสนโสภณ พระอมรโมลี และฐานานุกรมและเปรียญอีกจำนวนหนึ่ง

ในที่ประชุม กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นผู้เสนอชื่อ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ถามที่ประชุมเรียงตัว แต่ไม่เชิญให้พระราชาคณะออกเสียง นอกจากกรมหมื่นบวรรังษี ทุก ๆ พระองค์ และทุก ๆ คนยินยอมเห็นด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าว่า สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงหนักพระทัยว่า พระโอรสยังทรงพระเยาว์อยู่นัก กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทรก็ทรงเสนอและที่ประชุมยินดีเห็นด้วยว่า ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชนมายุพอที่จะทรงผนวชได้ คือ 20 พรรษา[17]

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2429 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นตำแหน่งใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในไทย และขัดกับธรรมเนียมเก่า เพราะขณะนั้น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ ก็ยังมีพระชนม์อยู่ ฉะนั้นทฤษฎีเดิมที่ว่า วังหน้า อาจจะสืบราชสมบัติได้ดีกว่าพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัว ก็เป็นอันว่าหมดสิ้นไปในคราวนั้น แต่อย่างไรก็ตามการสืบราชสันตติวงศ์ยังหาได้มีกำหนดเด็ดขาดเช่นของฝรั่งมิได้ คือ ของเขาลูกคนใหญ่ ของลูกใหญ่จะต้องได้เป็นตลอด ถ้าขาดองค์จึงจะนับขององค์รอง แต่ต้องให้ใกล้เป็นสายตรงที่สุด ส่วนของไทย พระเจ้าอยู่หัวยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจและสิทธิ จะแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์ไหนให้ขึ้นครองราชสมบัติได้อยู่เสมอ[18] แต่เมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุ 17 พันษา เมื่อปี พ.ศ. 2437 จึงทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2453 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อสิ้นรัชกาลในพระบรมราชวงศ์จักรี พระองค์สมเด็จพระยุพราชทรงรับการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย คือ พระบรมราชโองการ อันมีประกาศทางราชการเมื่อ 15 ปีก่อน ฉะนั้นจึงไม่มีการสมมติว่าจะทรงได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมพระราชาคณะ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่เช่นแต่ก่อน[19] เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีพระมเหสีหรือพระราชโอรส จึงเป็นที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากว่าทูลกระหม่อมจักรพงษ์ พระอนุชาร่วมพระมารดาองค์รอง ทรงอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท อนึ่งเพราะพระเจ้าอยู่หัวย่อมทรงหวังจะทรงทำการราชาภิเษกสมรสในวันหนึ่ง และจะทรงมีพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่จะทรงแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระยุพราช การจะประกาศตั้งทูลกระหม่อมจักรพงษ์เป็นรัชทายาทอย่างเปิดเผยก็ย่อมทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงทรงทำตามระบอบราชวงศ์ยุโรป คือถือว่าพระอนุชาพระองค์รองเป็นรัชทายาทโดยอนุโลม ซึ่งวิธีนี้ยังเป็นของใหม่ในไทย แต่เมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีผู้คิดและกล่าวกันว่าทูลกระหม่อมจักรพงษ์ไม่เคยเป็นรัชทายาทเลยเพราะไม่มีประกาศ[20] แต่แท้ที่จริงเมื่อต้นรัชกาล เมื่อพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก มีพระราชดำรัสถึงเรื่องรัชทายาทว่า "ข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ว่า ให้น้องที่เกิดแต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ อันเป็นน้องร่วมอุทรเป็นรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล จำเดิมด้วยน้งเล็ก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถกรมขุนพิศณุโลกประชานารถ ผู้เป็นน้องที่มีอายุพรรษารองตัวข้าพเจ้านี้ไป"[21]

หลังจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2463 อีกทั้งพระอนุชาองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2466) และต่อมา เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระอนุชาองค์ที่ 2 (ทิวงคต พ.ศ. 2467) จึงเหลือแต่เพียงทูลกระหม่อมประชาธิปก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2467 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งเป็นกฎการสืบราชสมบัติของไทยฉบับแรกที่กำหนดเอาการสืบโดยสายตรง ฉะนั้นโอรสของรัชทายาทที่สิ้นพระชนม์แล้ว จะได้สืบราชสมบัติก่อนทูลกระหม่อมอา ถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชโอรส ให้มีการสืบราชสมบัติทางสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก่อน ถ้าไม่มีทายาทที่สมควรให้ไปสายของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา คือ ทูลกระหม่อมมหิดล แล้วจึงถึงสายพระนางเจ้าสุขุมาลยมารศรี ซึ่งมีพระราชโอรสคือ ทูลกระหม่อมบริพัตร แต่ในกฎมณเฑียรบาลฉบับ มาตรา 11 ข้อ 4 ที่กล่าวว่า "มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว" ให้ยกเว้นการเป็นรัชทายาท รวมถึงข้อ 5 คือ พระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของพระองค์นั้น ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น ซึ่งก็คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์[22] อย่างไรก็ดีตอนต้นของกฎฯ หมวดที่ 3 มาตราที่ 5 มีความว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิที่จะทรงสมมติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นพระรัชทายาท สุดแท้แต่ทรงพระดำริห์ เห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ ให้ถือว่าสมมติเจ้านายเชื่อพระบรมราชวงศ์ให้เป็นรัชทายาทของพระองค์นั้น"

ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ได้บ่งชี้ชัดว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ราชนารีจะเสด็จขึ้นสืบราชสมบัติ ดังนั้นพระราชธิดาพระองค์เดียวของพระมงกุฏเกล้าฯ จึงยกเว้นไป พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ฉบับหนึ่ง คือ ทรงแต่งตั้งกระหม่อมประชาธิปกเป็นรัชทายาทสืบต่อไป ดังนั้นพระราชนัดดาพระชันษา 3 ขวบ คือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ผ่านพ้นการที่จะต้องสืบราชสมบัติ[23] ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระปกเกล้าฯ ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ และไม่ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์ใดให้สืบราชสมบัติ มาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติยวงศ์ ท่านที่ทรงเป็นรัชทายาทตามกฎหมายในขณะนั้นคือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชันษา 10 ขวบ[24] หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต สภาให้ความเห็นชอบแก่การสืบสันตติวงศ์ของสมเด็จพระอนุชา เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยเอกฉันท์[25]

อ้างอิง[แก้]

  1. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
  2. เจ้าชีวิต, หน้า 216
  3. เจ้าชีวิต, หน้า 144
  4. เจ้าชีวิต, หน้า 207
  5. เจ้าชีวิต, หน้า 208
  6. เจ้าชีวิต, หน้า 213
  7. เจ้าชีวิต, หน้า 217
  8. เจ้าชีวิต, หน้า 269
  9. เจ้าชีวิต, หน้า 272
  10. เจ้าชีวิต, หน้า 273
  11. เจ้าชีวิต, หน้า 277
  12. เจ้าชีวิต, หน้า 344
  13. เจ้าชีวิต, หน้า 347
  14. เจ้าชีวิต, หน้า 359
  15. เจ้าชีวิต, หน้า 398
  16. เจ้าชีวิต, หน้า 433
  17. เจ้าชีวิต, หน้า 437
  18. เจ้าชีวิต, หน้า 450
  19. เจ้าชีวิต, หน้า 463
  20. เจ้าชีวิต, หน้า 565
  21. เจ้าชีวิต, หน้า 567
  22. เจ้าชีวิต, หน้า 657
  23. เจ้าชีวิต, หน้า 662
  24. เจ้าชีวิต, หน้า 715
  25. เจ้าชีวิต, หน้า 738

บรรณานุกรม[แก้]

  • จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.เจ้าชีวิต, คลังวิทยา. 2517