ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Paowenfeng/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การอ่านจับใจความสำคัญการอ่านคิดวิเคราะห์และการพิจารณาหนังสือ[1]http://www.st.ac.th/bhatips/tip49/reading1.html

การอ่านจับใจความสำคัญ[แก้]

ความสำคัญ[แก้]

การอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดในการดำเนินชีวิต การอ่านจึงเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เรื่องต่างๆ

การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องอ่านแล้วจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้แต่การสำรวจการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการอ่านของผู้เรียนคืออ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่สามารถแยกความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นไม่สามารถแยกใจความสำคัญกับใจความรองได้ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านเท่าที่ควรทั้งยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการศึกษาวิชาต่างๆด้วย

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดคุณภาพของผู้เรียนด้านความเข้าใจในการอ่านไว้ในช่วงชั้นเช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดให้อ่านแล้ว ..เข้าใจข้อความที่อ่าน.. ช่วงชั้น 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ..อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความตีความ สรุปความได้.. ช่วงชั้นที่ 3 คือมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นเชิง วิเคราะห์ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผลและในช่วงชั้นปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านแล้วสามารถตีความแปลความ และขยายความเรื่องที่อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้.. ซึ่งผู้เรียนจะมีคุณภาพดังกล่าวได้ ต้องมีความสามารถในการอ่านจับใจความและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านได้เป็นอย่างดี

ความหมาย[แก้]

การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วนใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง

ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือสิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเองใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้

จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้าโดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลังสำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความสังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง

แนวการอ่านจับใจความ[แก้]

การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้ 1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอกเจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้กว้างขวางและรวดเร็ว 3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย 4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆอย่างถูกต้องรวดเร็ว 5.ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบจะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนการอ่านจับใจความ[แก้]

1.อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง 2.อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน 3.อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง 4.เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง

การอ่านวิเคราะห์[แก้]

ความสำคัญ[แก้]

การอ่านวิเคราะห์เป็นทักษะการอ่านในระดับที่สูงขึ้นกว่าการอ่านทั่วๆไป กล่าวคือ มิใช่เป็นเพียงการอ่านเพื่อความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังต้องมีการวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในด้านต่างๆด้วย
ครูควรจัดให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่านวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ ความคิด การตัดสินใจแก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต

ความหมาย[แก้]

การอ่านเชิงวิเคราะห์เป็นการอ่านหนังสือแต่ละเล่มอย่างละเอียดให้ได้ความครบถ้วนแล้วจึงแยกแยะให้ได้ว่าส่วนต่างๆนั้นมีความหมายและความสำคัญอย่างไรบ้าง แต่ละด้านสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อย่างไรวิธีอ่านแบบวิเคราะห์นี้ อาจใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของคำและวลี การใช้คำในประโยควิเคราะห์สำนวนภาษา จุดประสงค์ของผู้แต่ง ไปจนถึงการวิเคราะห์นัยหรือเบื้องหลังการจัดทำหนังสือหรือเอกสารนั้น
การวิเคราะห์เรื่องที่อ่านทุกชนิด สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือ การพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาว่ามีความเหมาะสมกับระดับ และประเภทของงานเขียนหรือไม่ เช่น ในบทสนทนาก็ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นแบบแผนควรใช้สำนวนให้เหมาะสมกับสภาพจริงหรือเหมาะ แก่กาลสมัยที่เหตุการณ์ในหนังสือนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้นการอ่านวิเคราะห์จึงต้องใช้เวลาอ่านมาก และยิ่งมีเวลาอ่านมากก็ยิ่งมีโอกาสวิเคราะห์ ได้ดีมากขึ้นการอ่านในระดับนี้ ต้องรู้จักตั้งคำถามและจัดระเบียบเรื่องราวที่อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องและความคิดของผู้เขียนต้องการ

การวิเคราะห์การอ่าน[แก้]

การวิเคราะห์การอ่านประกอบด้วย 1.รูปแบบ 2.กลวิธีในการประพันธ์ 3.เนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง 4.สำนวนภาษา

กระบวนการวิเคราะห์[แก้]

1.ดูรูปแบบของงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น บทร้อยกรอง หรือบทควมจากหนังสือพิมพ์ 2.แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร 3.แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบกันอย่างไร หรือประกอบด้วยอะไรบ้าง 4.พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนให้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

การอ่านเชิงวิเคราะห์ในขั้นต่างๆ[แก้]

การอ่านวิเคราะห์คำ[แก้]

การอ่านวิเคราะห์คำ เป็นการอ่านเพื่อให้ผู้อ่านแยกแยะถ้อยคำในวลี ประโยค หรือข้อความต่างๆ โดยสามารถบอกได้ว่า คำใดใช้อย่างไร ใช้อย่างไร ใช้ผิดความหมาย ผิดหน้าที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนอย่างไรควรจะต้องหาทางแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น เช่น 1.อย่าเอาไปใช้ทับกระดาษ 2.ที่นี่รับอัดพระ 3.เขาท่องเที่ยวไปทั่วพิภพ 4.เจ้าอาวาสวัดนี้มรณกรรมเสียแล้ว 2.การอ่านวิเคราะห์ประโยค

การอ่านวิเคราะห์ประโยค[แก้]

เป็นการอ่านเพื่อแยกแยะประโยคต่างๆ ว่าเป็นประโยคที่ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ใช้ประโยคผิดไปจาก แบบแผนของภาษาอย่างไร เป็นประโยคที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่มีหน่วยความคิดในประโยคขาดเกินหรือไม่ เรียงลำดับความใน ประโยคที่ใช้ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็นหรือใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ เมื่อพบข้อบกพร่องต่างๆแล้วก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น 1) สุขภาพของคนไทยไม่ดีส่วนใหญ่ 2) การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเกิดการจลาจล 3) ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จท่ามกลางความขยันหมั่นเพียร 4) เขามักจะเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก

การอ่านวิเคราะห์ทัศนะของผู้แต่ง[แก้]

ผู้อ่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผู้เขียนเสนอทัศนะมีน้ำหนักเหตุผลประกอบข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือเพียงใด เป็นคนมองโลกในแง่ใด เป็นต้น

การอ่านวิเคราะห์รส[แก้]

การอ่านวิเคราะห์รส หมายถึง การอ่านอย่างพิจารณาถึงความซาบซึ้งประทับใจที่ได้จากการอ่าน วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงรสอย่างลึกซึ้ง คือการวิเคราะห์รสของเสียงและรสของภาพ

ด้านรสของเสียง[แก้]

ผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดจากการอ่านออกเสียงดังๆไม่ว่าจะเป็นการอ่านอย่างปกติหรือการอ่านทำนองเสนาะ จึงจะช่วยให้รู้สึกถึงความไพเราะของจังหวะ และความเคลื่อนไหว ซึ่งแฝงอยู่ในเสียง ทำให้เกิดความรู้สึกไปตามท่วงทำนองของเสียงสูงต่ำจากเนื้อเรื่องที่อ่าน

ด้านรสของภาพ[แก้]

เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วเกิดความเข้าใจเรื่อง ในขณะเดียวกันทำให้เห็นภาพด้วย เป็นการสร้างเสริมให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมาย การเขียนบรรยายความด้วยถ้อยคำไพเราะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ก่อให้เกิดภาพขึ้นในใจผู้อ่าน ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและเข้าใจความหมายของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น

การอ่านเพื่อวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหาและการตีความเนื้อหาของข้อความ[แก้]

การอ่านเชิงวิเคราะห์ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา และการตีความเนื้อหาของหนังสือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา[แก้]
  • จัดประเภทหนังสือตามชนิดและเนื้อหา หนังสือแต่ละประเภทมีวิธีอ่านต่างกัน ก่อนอ่านต้องวิเคราะห์รู้ว่า หนังสือเล่มนั้นอยู่ในประเภทใด การแบ่งประเภทจะดูแต่ชื่อเรื่องหรือลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องสำรวจเนื้อหาด้วย อย่างไรก็ตาม ชื่อเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ใช้้เป็นแนวทางได้ เพราะผู้เขียนย่อมต้องพยายามตั้งชื่อเรื่องให้ตรงแนวเขียนหรือจุดมุ่งหมายในการเขียนของตนให้มากที่สุด
  • สรุปให้สั้นที่สุดว่า หนังสือนั้นกล่าวถึงอะไร หนังสือที่ดีทุกเล่มต้องมีเอกภาพ มีการจัดองค์ประกอบของส่วนย่อยอย่างมีระเบียบ ผู้อ่านต้องพยายามสรุปภาพดังกล่าวออกมาเพียง 1-2 ประโยคว่า หนังสือเล่มนั้นมีอะไรเป็นจุดสำคัญหรือเป็นแก่นเรื่องแล้วจึงหาความสัมพันธ์กับส่วนสำคัญต่อไป
  • กำหนดโครงสังเขปของหนังสือ เมื่ออ่านต้องตั้งประเด็นด้วยว่าจากเอกภาพของหนังสือเล่มนั้นมีส่วนประกอบสำคัญบ้าง ส่วนที่สำคัญๆสัมพันธ์กันโดยตลอดหรือไม่ และแต่ละส่วนก็มีหน้าที่ของตน สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือไม่
  • กำหนดปัญหาที่ผู้เขียนต้องการแก้ ผู้อ่านควรพยายามอ่านและค้นพบว่าผู้เขียนเสนอปัญหา อะไร อย่างไร มีปัญหาย่อยอะไร และให้คำตอบไว้ตรงๆหรือไม่ การตั้งปัญหาเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง แจ่มแจ้ง ยิ่งตั้งปัญหาได้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ยิ่งเข้าใจได้เพิ่มขึ้นเพียงนั้น
  • การตีความเนื้อหาของหนังสือ การตีความเป็นสิ่งที่ผู้อ่านทำความเข้าใจ ความคิดของผู้เขียน พิจารณาวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้บอกความหมายหรือนัยของข้อความที่เขียนออกมาตรงๆ แต่ผู้อ่านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทของเรื่องเป็นอย่างดี จึงจะตีความได้ถูกต้อง การทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียนนั้น ไม่ว่าความคิดจะถูกต้องหรือไม่เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามแต่การพยายามเข้าใจเช่นนั้นทำให้เราไม่วิจารณ์ผู้เขียนอย่างไม่ยุติธรรม แต่จะพิจารณาทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง ของงานเขียนนั้นอย่างแจ่มแจ้ง การตีความเนื้อหาของหนังสือมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
ตีความหมายของคำสำคัญ และค้นหาประโยคสำคัญที่สุด ผู้อ่านต้องพยายามเข้าใจคำสำคัญ และเข้าใจประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนเสนอ เพื่อเข้าใจความคิดของผู้เขียน
สรุปความคิดสำคัญของผู้เขียน โดยพิจารณาว่าประโยคใดเป็นเหตุ ประโยคใดเป็นผล ประโยคใดเป็นข้อสรุป ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้สรุปความคิดออกมาให้เห็นชัดเจน แต่ผู้อ่านต้องพยายามสรุปออกมาให้ได้
ตัดสินว่าอะไรคือการแก้ปัญหาของผู้เขียน เมื่อผู้อ่านตีตวามสำคัญให้ตรงกับผู้เขียน เข้าใจความคิดสำคัญของผู้เขียน และสรุปความคิดของผู้เขียนได้แล้ว ผู้อ่านก็จะวิเคราะห์หรือตัดสินได้ว่า จากเรื่องราวหรือเหตุผลต่างๆที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลหนักแน่น น่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด เพื่อนำไปสู่การวิจารณ์หนังสือเรื่องนั้นๆต่อไป

การพิจารณาหนังสือ[แก้]

การพิจารณาหนังสือเป็นการประเมินคุณค่าหนังสือด้านต่างๆ ถ้าผู้อ่านรู้หลักการประเมินจะทำให้การอ่านหนังสือมีคุณค่า และความหมายมากยิ่งขึ้น เมื่ออ่านแล้วสามารถแสดงความคิดเห็นเชิงประเมินคุณค่าของหนังสือได้อย่าง มีหลักเกณฑ์ ผู้อ่านจะเข้าใจหนังสือนั้นได้อย่างลึกซึ้งและการพิจารณาหนังสือของตนจะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย หนังสือมีหลายประเภทให้เลือกอ่าน แต่ละประเภทก็มีรายละเอียดหรือโครงสร้างแตกต่างกันไปตามลักษณะของหนังสือประเภทนั้นๆ ในที่นี้จะนำเสนอการพิจารณาหรือประเมินคุณค่าของหนังสือ บทความ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องเรียน หรืออ่านในชีวิตประจำวัน ดังนี้

การอ่านพิจารณาคอลัมน์ต่างๆจากหนังสือพิมพ์[แก้]

หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่คนจำนวนมากอ่านเป็นประจำทุกวัน มีคอลัมน์หลากหลายการอ่านหนังสือพิมพ์มีแนวการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้

การพาดหัวข่าว[แก้]

การพาดหัวข่าวเป็นการตั้งชื่อข่าวให้กระทัดรัดและพิมพ์ด้วยตัวอักษรใหญ่เป็นพิเศษเพื่อดึงดูด ความสนใจ การพาดหัวข่าวที่ดีมีลักษณะดังนี้
1 หัวข่าวตรงกับสาระของข่าว ผู้เขียนข่าวไม่ควรพาดหัวข่าวไม่ตรงกับเนื้อหาสาระของข่าวเพื่อเรียกร้อง ความสนใจ
2 หัวข่าวใช้ภาษาที่กะทัดรัด เข้าใจง่าย ไม่ควรใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและใช้คำผิดความหมายเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการขาย โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางภาษา เช่น

1)ทัพกีฬาพิการหวัง 30 ทอง

2)เปิดตัวกินปุ๋ยวัดใจนายก

3)หื่นรุมสังฆกรรมสาวรุ่น

เนื้อหาของข่าว[แก้]

มีแนวพิจารณาดังนี้

1 เนื้อหาข่าวที่ดี ต้องเป็นข่าวจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรมีความคิดเห็นหรือเพิ่มเนื้อหาตามใจผู้เขียน เพื่อให้ผู้ฟังชื่นชอบ ข่าวที่ดีต้องเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มากหรือส่วนรวม เช่น ข่าวการเมือง การเลือกตั้ง ข่าวการปกครอง ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการประกอบอาชีพหรือข่าวเกี่ยวกับการอนามัย เป็นต้น ไม่ควรเป็นข่าวของคนใดคนหนึ่ง เพื่อยกย่องเชิดชู โดยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง และต้องเป็นข่าว ที่ไม่ทำลายความมั่นคงของชาติ ความสงบสุขของประชาชนและศีลธรรมอันดีงาม

2 ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาสุภาพ ไม่ควรใช้ภาษาหยาบคาย

3 การเล่าเหตุการณ์ในข่าวควรเล่าตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ปิดบังอำพราง มีเงื่อนงำสลับซับซ้อน

4 การเล่าเหตุการณ์ทุกตอน ต้องอ้างอิงหลักฐานที่มา สถานที่เวลา รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านทราบรายละเอียด และมีความเชื่อถือในข่าว การปกปิดสถานที่ ชื่อหรือนามของบุคคลควรเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ใจที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ผู้เยาว์หรือเป็นจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์

การพิจารณาบทความในวารสารหนังสือพิมพ์[แก้]

มีดังนี้ บทความในวารสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนอย่างเต็มที่ บทความที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

1 ผู้เขียนบทความต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องที่เขียนอย่างถ่องแท้ มีข้อมูลสามารถอ้างอิงได้

2 ผู้เขียนบทความต้องแสดงความคิดเห็นโดยอาศัยข้อเท็จจริง และเหตุผลอื่นๆ ประกอบอย่างกว้างขวาง การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียว การแสดงความคิดเห็นนั้น ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และไม่อคติลำเอียง

3 การวิจารณ์ของผู้เขียนบทความ ต้องตั้งอยู่บนหลักการการตำหนิ ไม่ควรเน้นที่ตัวบุคคล แต่เน้นที่วิธีการหรือหลักการ ควรชี้ให้เห็นปัญหา และเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้รูปแบบการเขียนและการใช้ภาษา ควรมีความถูกต้องเข้าใจง่ายไม่ใช้ถ้อยคำที่ส่อเสียดหยาบคาย

4 การพิจารณาคอลัมน์อื่นๆ คอลัมน์อื่นๆ มีวิธีการพิจารณาดังนี้ นอกจากข่าวและบทความแล้ว วารสารหรือหนังสือพิมพ์ยังมีอีกหลายคอลัมน์ เช่น บันเทิงคดี ประกาศ โฆษณา ความรู้ต่างๆ การพิจารณาคุณค่าในแต่ละคอลัมน์ ควรพิจารณาเรื่องการใช้ภาษาการเขียน และคุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน เป็นต้น

การพิจารณาหนังสือประเภทสารคดี[แก้]

สารคดี ได้แก่ หนังสือที่ให้แนวความรู้ต่างๆ เช่น ด้านปรัชญา ตรรกวิทยา การศึกษาควรพิจารณาในด้านต่างๆดังนี้

เนื้อหาสาระ[แก้]

มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาหรือไม่ เรื่องนำมาเขียนมีสาระประโยชน์เพียงใด เหมาะสำหรับผู้อ่านระดับใด

วิธีเสนอหนังสือ[แก้]

อาจเสนอเป็นความเรียงวิชาการ มีการค้นคว้าหาความรู้ อ้างอิงประกอบ หรือเสนอเป็นบันทึกของผู้เขียน เล่าประสบการณ์ของตน หรือเสนอเป็นจดหมายให้โต้ตอบควรพิจารณาว่าผู้เขียนมีวิธีเขียนที่ชวนอ่าน เข้าใจง่ายหรือไม่สำนวนภาษาสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งหรือไม่เหมาะแก่ระดับของผู้อ่าน ตามความตั้งใจของผู้เขียนหรือไม่ เพียงใด

การวางเค้าโครงเรื่อง[แก้]

เค้าโครงเรื่องที่เขียน จะต้องมีการจัดลำดับอย่างมีระเบียบจึงควรพิจารณาว่าผู้เขียนสามารถทำให้ความสำคัญๆ เชื่องโยงต่อเนื่องกันได้ดีเพียงใด มีการเรียงลำดับความยากง่ายเพื่อช่วยความเข้าใจของผู้อ่านหรือไม่

ส่วนประกอบของหนังสือ[แก้]

ส่วนประกอบต่างๆ ของหนังสือได้แก่ คำนำ สารบัญ ดัชนี บรรณานุกรม อภิธานศัพท์สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความสำคัญของหนังสือได้รวดเร็ว ควรพิจารณาว่าหนังสือนั้นๆ มีส่วนประกอบอำนวยประโยชน์ดังกล่าวหรือไม่

วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียน[แก้]

หนังสือสารคดีบางเล่ม จะมีประวัติย่อ วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียนบอกไว้ด้านหลัง รายละเอียดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้นว่าเรื่องนั้นๆมีคุณค่าน่าเชื่อถือหรือไม่

คุณภาพการพิมพ์และการออกแบบรูปเล่ม[แก้]

สิ่งที่ชี้ให้เห็นคุณภาพของหนังสือ เช่น การจัดหัวเรื่องทำให้สื่อความได้ชัดเจน การพิสูจน์อักษรถูกต้อง การออกแบบรูปเล่มเหมาะสมน่าอ่าน

การพิจารณาหนังสือประเภทบันเทิงคดี[แก้]

หนังสือประเภทบันเทิงคดี อาจมีวิธีการพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้

1 แก่นของเรื่องหรือแนวเรื่อง หมายถึง แนวคิดสำคัญของผู้เขียน ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่อง

2 การวางโครงเรื่อง หมายถึง การผูกเรื่องให้มีตัวละครและเหตุการณ์เชื่อมโยง สัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแกนของเรื่องที่ผู้แต่งวางแนวไว้และต้องดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล

3 ตัวละคร ตัวละครอาจมีน้อยหรือมากแล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง การเสนอตัวละครที่น่าสนใจต้องเป็นตัวละครที่มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่มีความสมจริง คือ เป็นบุคคลที่อาจหาได้ในชีวิตจริง มิใช่ดีหรือเลวจนผิดมนุษย์ธรรมดา นอกจากนั้นพฤติกรรมต่างๆของตัวละคร ควรสะท้อนภาพชีวิตจริงของสังคม ตามความเป็นจริงด้วย

4 ฉาก เป็นส่วนที่ช่วยทำให้บรรยากาศของเรื่องเป็นไปอย่างสมจริง ซึ่งผู้เขียนจะต้องบรรยายให้ตรงกับความเป็นจริง หรืออยู่ในวิสัยที่เป็นจริงได้

5 สำนวนภาษาและลีลาในาการเขียน นักเขียนจะมีสำนวน หรือลีลาการเขียนเป็นแบบฉบับของตน ดังนั้นผู้วิจารณ์จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ว่าผู้เขียนมีลีลาการเขียนอย่างไร

6 สารจากผู้เขียน สารที่ผู้เขียนให้ หมายถึง ข้อคิด หรือบางสิ่งบางอย่างที่ผู้เขียนฝากไว้ให้ ซึ่งผู้อ่านอาจได้รับแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของผู้อ่าน ควรฝึกทักษะให้ไวต่อการรับสารของผู้เขียน และตีความเข้าใจ เพื่อให้การอ่านเรื่องบันเทิงคดีมีรสชาติมากยิ่งขึ้น

การพิจารณาหนังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์[แก้]

นังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ มีวิธีการพิจารณาดังนี้

1 รูปแบบของฉันทลักษณ์ รูปแบบของฉันทลักษณ์ คือลักษณะบังคับของบทร้อยกรองแต่ละประเภทซึ่งต่างกัน ควรพิจารณาความถูกต้องของรูปแบบฉันทลักษณ์นั้นๆเป็นเกณฑ์

2 ความคิดเห็นและเนื้อหาสาระในบทกวี บทกวีที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระที่แสดงความนึกคิดอันมีคุณค่าแก่ชีวิต บทกวีบางบทให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์รัก อารมณ์เศร้า อารมณ์โกรธ ฯลฯ บางบทให้คติเตือนใจ ให้ความรู้เรื่องต่างๆ เป็นต้น จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ากวีให้ความคิดอะไรแก่ผู้อ่านบ้าง และมีเนื้อหาสาระอย่างไร

3 กลวิธีการแต่ง หรือวรรณศิลป์ กลวิธีในการแต่งหรือวรรณศิลป์นี้อาจพิจารณาได้จากการเลือกคำมาใช้ให้เหมาะสมกับความ การเล่นเสียงด้วยสัมผัสสระ พยัญชนะ การใช้โวหารแบบต่างๆการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งกวีแต่ละคนจะมีกลวิธีแต่งแตกต่างกันไปเป็นเฉพาะตน

4 รสของบทร้อยกรอง หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ผู้อ่าน เมื่อถ้อยคำแก่ผู้อ่าน เมื่อถ้อยคำสำนวนหรือเรื่องราวในบทร้อยกรองนั้นๆ มากระทบอารมณ์ อาจให้ความรู้สึกทางด้านความรัก ความเศร้า ความตื้นเต้น ฯลฯ แล้วแต่ลักษณะของบทร้อยกรองและอารมณ์ของผู้อ่านขณะนั้น

5 สารจากบทร้อยกรอง บทร้อยกรองก็มีสารของผู้แต่งฝากไว้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อรับสารจากผู้เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินคุณค่าของหนังสือไม่ว่าประเภทใด ผู้ประเมินควรอ่านหนังสือนั้นๆอย่างละเอียด และพิจารณาทั้งจุดดีและจุดด้อยของหนังสือด้วยใจเป็นธรรม ปราศจากอคติ ซึ่งเมื่อได้อ่านหนังสือมากๆ และฝึกการวิเคราะห์ ตลอดจนมีการประเมินคุณค่าของหนังสืออยู่เสมอแล้ว ก็จะช่วยให้มีวิญญาณ ในการอ่านหนังสือและอ่านหนังสืออย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น[2]
  1. จัดทำและนำเสนอโดย คุณครูภาทิพ ศรีสุทธิ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสุราษฎร์ธานี
  2. วิชาการ, กรม การจัดสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. พุทธศักราช 2544 พ.ศ.2546