ผู้ใช้:Nvachanon/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ประวัติ

นายนิยม วาจานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2469 ที่ตำบลทุ่งคา อำเภอบางงั่ว จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรคนที่4 ของพระพิเนตสุขประชา (นิ่ม) และนางพิเนตสุขประชา (ฝรั่ง วาจานนท์) อาศัยอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิดซึ่งในขณะนั้นบิดารับราชการอยู่ ต่อมาได้ย้ายติดตามบิดาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ


นายนิยม วาจานนท์ มีพี่น้องรวม 6 คน

  1. นาย อุดร วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)
  2. น.ส. ระเบียบ วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)
  3. นาย อุดม วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)
  4. นาย นิยม วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)
  5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภูเก็ต วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)
  6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุขประชา วาจานนท์ (ถึงแก่กรรม)


ประวัติการศึกษา
2475 – 2479 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนพญาไทวิทยาคาร
2479 – 2482 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
2482 – 2485 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนมัธยมหอวัง
2485 – 2489 เรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนนานาชาติ กรุงโตเกียว และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมตอนปลายที่ Fukuoka High School ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
2489 – 2490 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมปีที่ 2 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
2490 – 2493 สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทุนของกระทรวงศึกษาธิการ
2496 – 2497 ศึกษาต่อปริญญาโททางด้านวิศวกรรมศาสตรที่ University of Colorado at Denver รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาถูกทางราชการเรียกตัวกลับเพื่อรับงานที่กรมชลประทาน
2495 – 2497 ฝึกปฏิบัติงาน (in-service training) ที่ Transmission Plant and Substation Design, Section, Electrical branch, U.S. Bureau of Reclamation รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยทุนกรมชลประทานจนได้รับประกาศนียบัตร Certificate of Merit in Electric
2508 – 2509 เรียนภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัย Bordeaux และฝึกอบรมดูงานการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของ Electricité de France ประเทศฝรั่งเศส โดยทุนรัฐบาลฝรั่งเศส
2516 ฝึกอบรมเรื่อง การพัฒนานโยบายและแผนระดับกระทรวง ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
2518 ดูงานการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น โดยทุนของกระทรวงการศึกษาประเทศญี่ปุ่น
2522 สัมมนาพัฒนานักบริหาร รุ่นที่ 45 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
2524 การอบรมและสัมมนาหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยรุ่นที่ 46 ที่กรมประมวลข่าวกลาง
2526 สัมมนานักบริหารรวมรุ่น 43 – 44 – 45 และ 46 หลักสูตรการลดความสูญเสียในหน่วยงานที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
2526 ไปศึกษาดูงานและเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุดมศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง


ประวัติครอบครัว
3 มีนาคม 2503 สมรสกับ น.ส. เพ็ชรฑูรย์ เอครพานิช
6 ตุลาคม 2504 มีบุตรชาย นิพัทธ์ วาจานนท์
15 มีนาคม 2506 มีบุตรชาย นิพันธ์ วาจานนท์


ประวัติการรับราชการ
8 ธันวาคม 2494 นายช่างตรี แผนกเครื่องจักรไฟฟ้า กองช่างกล กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร
2 มีนาคม 2497 นายช่างโท แผนกเครื่องจักรไฟฟ้า กองช่างกล กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร
1 กุมภาพันธ์ 2499 ลาออกไปรับราชการทหาร ที่กรมการทหารสื่อสาร
1 กุมภาพันธ์ 2500 กลับเข้ารับราชการเป็นนายช่างโท แผนกเครื่องผลิตไฟฟ้า กองพลังน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร
24 พฤศจิกายน 2501 นายช่างโท ไปปฏิบัติงานกับบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสำรวจและก่อสร้างสายส่งกำลังศักย์สูงที่หัวงานโครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
16 กรกฎาคม 2502 นายช่างโทปฏิบัติงานกับบริษัทที่ปรึกษาทางด้านเดิม ที่กรมชลประทาน กรุงเทพฯ
31 มกราคม 2505 นายช่างเอกแผนกระบบกระแสพลังงานไฟฟ้า กองพลังน้ำ กรมชลประทาน
1 สิงหาคม 2507 โอนไปรับราชการที่สำนักงานวิชาการและงานแผน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายช่างเอก กองวิเคราะห์โครงการวิศวกรรม
5 ตุลาคม 2510 หัวหน้ากองวิเคราะห์โครงการวิศวกรรม สำนักงานวิชาการและวางแผน
12 ตุลาคม 2515 โอนไปสังกัดสำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
10 มกราคม 2516 หัวหน้ากองแผนงาน สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
10 กันยายน 2518 ผู้อำนวยการกองแผนงาน สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ (ระดับ 7)
5 มกราคม 2519 ผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ (ระดับ 7)
1 ตุลาคม 2522 ผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัย
(ระดับ 8) 8 ตุลาคม 2522 ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงาน สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง
1 กรกฎาคม 2525 ผู้อำนวยการกองสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัย (ระดับ 8)
22 มกราคม 2529 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา (นักวิชาการศึกษาระดับ 9) สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
1 ตุลาคม 2530 เกษียณอายุราชการ


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ
5 ธันวาคม 2497 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม 2499 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
7 ธันวาคม 2500 จัตรุถาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม 2508 จัตรุถาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม 2512 ตริตาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม 2519 ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม 2520 จักรพรรดิมาลา
5 ธันวาคม 2523 ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม 2528 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย


หมายเหตุประกอบประวัตินายนิยม วาจานนท์

เขียนโดยนายนิพันธ์ วาจานนท์ บุตรชายคนที่ 2 ของคุณพ่อนิยม วาจานนท์

จากคำบอกเล่าของคุณพ่อและคุณแม่ สรุปความได้ว่าคุณพ่อนิยม วาจานนท์ เมื่อครั้นสมัยเรียน คุณพ่อเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีมาก การศึกษาในสมัยก่อนมีระดับประถมศึกษา ป.1 – ป.4 และระดับมัธยมศึกษา ม.1 – ม.8 คุณพ่อเล่าว่าสมัยที่คุณพ่อเรียนอยู่ชั้น ม.6 ที่โรงเรียนหอวัง คุณครูประจำชั้นได้เดินทางมาที่บ้านเพื่อบอกกับคุณปู่และคุณย่าว่าคุณพ่อสอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย (สมัยนั้นยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเหมือนสมัยนี้) และคุณพ่อได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ไปศึกษาภาษาญี่ปุ่นตลอดจนมัธยมปลาย และปริญญาตรีอีกด้วย

เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น ได้ศึกษาภาษาญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนมัธยมปลายที่เมืองฟูกุโอกะ จากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นจนกระทั่งมีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ ช่วงนั้นญี่ปุ่นเกิดความวุ่นวายมาก ทำให้ระบบการศึกษาหยุดชะงัก คุณพ่อติดภาวะสงครามราว 4 ปี จึงได้เพียงความรู้ภาษาญี่ปุ่นและวิธีการศึกษาแบบญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอีก 2 ปีและสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยได้ทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาไฟฟ้า)

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว คุณพ่อนิยม วาจานนท์ เข้ารับราชการที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ซึ่งในสมัยนั้นกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดูแลการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล และการวางสายไฟฟ้าแรงสูงจากเขื่อนภูมิพลลงมายังกรุงเทพก่อนที่จะลงไปภาคใต้ คุณพ่อเล่าว่ามีวิศวกรจำนวนมากทำงานในกรมชลประทาน แต่หลายคนปฏิเสธงานควบคุมการก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงจากเหนือจรดใต้ เนื่องจากเป็นงานบุกเบิกที่ยากลำบาก ถนนหนทางในสมัยก่อนแย่มาก แต่คุณพ่อมิได้ปฏิเสธ จึงถูกส่งตัวไปศึกษาระดับประกาศนียบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (Certificate of Merit in Electric) เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประสานงานกับบริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ศึกษาระดับประกาศนียบัตรที่ University of Colorado at Denver รัฐโคโลราโด คุณพ่อได้ใช้เงินทุนส่วนตัวในการลงทะเบียนเรียนระดับปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าด้วยในช่วงภาคค่ำ แต่เมื่อได้รับประกาศนียบัตรแล้วทางกรมชลประทานได้เรียกตัวกลับโดยทันที ซึ่งคุณพ่อได้เล่าเพิ่มเติมว่า คุณพ่อยึดหลักระเบียบวินัยข้าราชการอย่างเคร่งครัด จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯโดยเร็วที่สุดตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้คุณพ่อเรียนไม่จบหลักสูตรปริญญาโท

ตลอดชีวิตคุณพ่อทุ่มเทให้กับการรับราชการอย่างมาก ผลงานที่คุณพ่อภาคภูมิใจมากที่สุด 2 อย่างคือ 1. การเป็นนายช่างอำนวยการก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงจากภาคเหนือผ่านกรุงเทพฯไปยังภาคใต้ เป็นงานบุกเบิกที่ยากลำบากมาก คุณพ่อได้ใช้รถจี๊ปประจำตำแหน่งไปสำรวจและกำหนดวางสายไฟฟ้าแรงสูงจากเขื่อนภูมิพลผ่านกรุงเทพฯไปจนถึงจังหวัดภูเก็ต ทำให้แทบทุกครัวเรือนตลอดจนอุตสาหกรรมได้รับความสะดวกสบายและส่งผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตของประเทศอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะได้รับการโยกย้ายมาอยู่ที่สำนักงานวิชาการและวางแผน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้ากองวิเคราะห์โครงการทางวิศวกรรม 2. หลังจากสำนักงานวิชาการและวางแผน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ถูกยุบเป็นสำนักงานปลัดทบวง มหาวิทยาลัย คุณพ่อได้ถูกโอนย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองแผนงาน และได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการกองแผนงาน ผู้อำนวยการกองวิชาการ และผู้อำนวยการกองสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามลำดับ ขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนได้ แต่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขและออกกฎทบวงใหม่เพื่อรองรับให้มีการเปลี่ยนแปลงประเภทสถาบันอุดมศึกษา จากวิทยาลัยเอกชนเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งคุณพ่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างกฎทบวงดังกล่าวก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ และในที่สุดได้มีประกาศใช้ ทำให้วิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาลัยหอการค้า วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยื่นคำร้องขอยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้พิจารณาอนุมัติยกระดับวิทยาลัยทั้งสามแห่งให้เป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในคราวเดียวกัน นับว่าเป็นการแบ่งเบาภาระการจัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐเป็นอย่างมาก

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ คุณพ่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (ระดับ 9) คุณพ่อมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเพราะตลอดการรับราชการ คุณพ่อยึดถือหลักความถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง โปร่งใส โดยไม่ได้เรียกรับผลประโยชน์อื่นใด คุณพ่อเกษียณราชการเมื่ออายุ 61 ปีเนื่องจากเกิดหลังวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณแผ่นดิน

ชีวิตคุณพ่อในวัยเกษียณ คุณพ่อได้ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกและจากอาจารย์หลายท่าน งานอดิเรกคือชอบปลูกต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ รวมทั้งจัดทำเอกสารด้านธรรมะเพื่อแจกจ่ายไปยังสหายธรรม ซึ่งพี่หน่อย (นิพัทธ์ วาจานนท์) และผม (นิพันธ์ วาจานนท์) ได้ดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิดจนถึงวาระสุดท้ายของคุณพ่อนิยม วาจานนท์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 สิริอายุรวม 94 ปี