ผู้ใช้:Notpnru/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานสำหรับวิชาการจัดการศูนย์ข้อมูล

วิชาการจัดการศูนย์ข้อมูล[แก้]

วิชาการจัดการศูนย์ข้อมูล เป็นวิชาที่สำคัญของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนคร วิชานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษาได้ทราบถึงความสำคัญและหลักการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล เข้าใจบทบาทอำนาจหน้าที่และการวางแผนการดำเนินงานในฐานะของผู้บริหารศูนย์ข้อมูล การสำรองข้อมูล การออกแบบตารางการทำงาน และ การออกแบบระบบให้สามารถทำงานเป็นอัตโนมัติได้ (ประณต บุญไชยอภิสิทธิ์, 2555)

วิชาการจัดการศูนย์ข้อมูล ประกอบด้วยเนื้อหาต่างๆ ดังต่อไปนี้ ความสำคัญและหลักการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล บทบาทอำนาจหน้าที่และการวางแผนการดำเนินงานในฐานะของผู้บริหารจัดการศูนย์ข้อมูล การจัดองค์กรศูนย์ข้อมูล การจัดการบุคลากรศูนย์ข้อมูลและผู้ใช้ การติดต่อสื่อสารของศูนย์ข้อมูล การสั่งการของศูนย์ข้อมูล และ การควบคุมของศูนย์ข้อมูล (ประณต บุญไชยอภิสิทธิ์, 2555)

การเรียนการสอนโดยใช้การวิจัย[แก้]

การวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาและพัฒนาความรู้อย่างเป็นระบบระเบียบ กระบวนการวิจัย คือ ลำดับของขั้นตอนการดำเนินการวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยประกอบด้วยลำดับขั้นตอน คือ การระบุปัญหาวิจัย การตั้งสมมุติฐานการวิจัย การพิสูจน์ ทดสอบสมมุติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และ การสรุปผลการวิจัย

การเรียนการสอนโดยใช้การวิจัย เป็นการประยุกต์ใช้กระบวนการวิจัยในการจัดการเรียน การสอน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง คือ ผู้สอนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน ผู้เรียนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน ผู้สอนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน และ ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน (ทิศนา แขมมณี, 2548)

ผู้สอนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน[แก้]

ในกรณีนี้ ผู้สอนใช้ผลการวิจัยประกอบการเรียนการสอนเนื้อหาสาระต่างๆ ช่วยให้ผู้เรียนขยายขอบเขตของความรู้ ได้ความรู้ที่ทันสมัย และ คุ้นเคยกับแนวคิดการวิจัย โดยผู้สอนสืบค้นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาระที่สอน ศึกษางานวิจัย ข้อมูล ข่าวสาร และ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสาระที่สอน เลือกผลการวิจัยที่เหมาะสมกับสาระที่สอนและวัยของผู้เรียน นำผลการวิจัยมาใช้ประกอบเนื้อหาสาระที่สอนเสริมให้ผู้เรียน ประยุกต์ใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายผลการวิจัยและกระบวนการวิจัย และ ผู้สอนวัดและประเมินผลการเรียนรู้ผลการวิจัยและกระบวนการวิจัยของผู้เรียน

ในขณะที่ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาสาระโดยมีผลการวิจัยประกอบ และ อภิปรายประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย และ ความสำคัญของการวิจัย

ผู้เรียนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน[แก้]

ในกรณีนี้ ผู้สอนให้ผู้เรียนสืบค้นและศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่เรียนด้วยตนเอง โดยผู้สอนสืบค้นแหล่งข้อมูลและศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่สอน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ เกิดข้อสงสัย อยากรู้ อยากแสวงหาคำตอบของข้อสงสัย แนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลและงานวิจัยที่ผู้เรียนจะต้องสืบค้นเพื่อการศึกษาหาความรู้ คัดเลือกงานวิจัยที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน สรุปงานวิจัยให้เหมาะสมกับระดับของผู้เรียน แนะนำวิธีการอ่าน ศึกษา และ วิเคราะห์รายงานวิจัยตามความเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน เชื่อมโยงสาระของงานวิจัยกับสาระของการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายผลการวิจัย กระบวนการวิจัย และ ความสำคัญของการวิจัย และ ผู้สอนวัดและประเมินผลทักษะการอ่านรายงานวิจัย การเรียนรู้ผลการวิจัย และ กระบวนการวิจัยของผู้เรียน

ในขณะที่ผู้เรียนแสวงหา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่เรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง ศึกษารายงานวิจัยต่างๆโดยศึกษาทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็น นำเสนอสาระของงานวิจัยอย่างเชื่อมโยงกับสาระที่กำลังเรียนรู้ อภิปรายประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย และ ความสำคัญของการวิจัย และ ประเมินตนเองเกี่ยวกับทักษะการอ่านรายงานวิจัย และ การเรียนรู้เกี่ยวกับผลการวิจัย และ กระบวนการวิจัย

ผู้สอนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน[แก้]

ในกรณีนี้ ผู้สอนใช้กระบวนการวิจัยบางขั้นตอนหรือครบทุกขั้นตอนในการจัดการเรียนการสอน พิจารณาตามความเหมาะสมกับสาระการเรียนการสอนและวัยของผู้เรียน โดยผู้สอนพิจารณาวัตถุประสงค์และสาระที่จะให้แก่ผู้เรียน และ วิเคราะห์ว่าสามารถใช้ขั้นตอนการวิจัยขั้นตอนใดได้บ้างในการเรียนการสอน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยหรือขั้นตอนการวิจัยที่กำหนด เพื่อการเรียนรู้สาระที่ต้องการตามแผน ดำเนินกิจกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัยหรือขั้นตอนการวิจัยที่กำหนดในการสอน ฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยให้แก่ผู้เรียน สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ทักษะกระบวนการวิจัยของผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยและผลการวิจัยที่เกิดขึ้น และ ผู้สอนวัดและประเมินทักษะกระบวนการวิจัยและผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ในขณะที่ผู้เรียนเรียนรู้ตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัยที่ผู้สอนกำหนด ฝึกทักษะกระบวนการวิจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามขั้นตอนการวิจัยที่ผู้สอนกำหนด อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยที่ตนเองมีประสบการณ์และผลการวิจัยที่เกิดขึ้น และ ประเมินตนเองในด้านทักษะกระบวนการวิจัยและผลการการวิจัยที่ได้รับ

ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน[แก้]

ในกรณีนี้ ผู้สอนให้ผู้เรียนทำวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยครบทุกขั้นตอนในการทำวิจัย เพื่อแสวงหาคำตอบหรือความรู้ใหม่ตามความสนใจของผู้เรียน โดยผู้สอนพิจารณาและวิเคราะห์วัตถุประสงค์และสาระการเรียนรู้ว่ามีส่วนใดที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถทำวิจัยได้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทำวิจัยได้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดสนใจใฝ่รู้ ฝึกทักษะกระบวนการวิจัยให้แก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนทำวิจัย สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้และทักษะกระบวนการวิจัยของผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยและผลการวิจัยที่เกิดขึ้น และ ผู้สอนวัดและประเมินทักษะกระบวนการวิจัยและผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ในขณะที่ผู้เรียนคิดประเด็นวิจัยที่ตนสนใจ ฝึกทักษะกระบวนการวิจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินการ ดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม บันทึกความคิดและประสบการณ์ รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆที่ตนประสบจากการดำเนินงาน อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยและผลการวิจัยที่เกิดขึ้น และ ประเมินตนเองในด้านทักษะกระบวนการวิจัย

การหาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผล[แก้]

เกณฑ์ประสิทธิภาพ หมายถึง ระดับประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูปที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นระดับคุณภาพที่ผู้สร้างเกิดความพึงพอใจ หากบทเรียนสำเร็จรูปมีประสิทธิภาพถึงระดับที่กำหนดไว้แล้วจะมีคุณค่าที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ ดังนั้นในการกำหนดเกณฑ์จึงต้องคำนึงถึงกระบวนการและผลลัพธ์ โดยกำหนดตัวเลขเป็นร้อยละของคะแนนมีค่าเป็น E1/E2 โดย E1 หมายถึง ค่าประสิทธิภาพกระบวนการจัดเป็นร้อยละของคะแนนจากการทำกิจกรรมระหว่างเรียนและทดสอบย่อย และ E2 หมายถึง ค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์คิดเป็นร้อยละของคะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียน การกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพสามารถตั้งได้หลายระดับ เช่น 80/80 85/85 และ 90/90 สำหรับวิชาเนื้อหา และ ไม่ต่ำกว่า 75/75 สำหรับวิชาทักษะ ตารางที่ 2.1 แสดงตัวอย่างคะแนนจากการทำกิจกรรมระหว่างเรียนและทดสอบย่อย (E1) และ คะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียน (E2)

ตารางที่ 2.1 ตัวอย่างคะแนนจากการทำกิจกรรมระหว่างเรียนและทดสอบย่อย (E1) และ คะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียน (E2)

คนที่ E1 (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) E2 (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
1 85 88
2 75 80
3 75 81
4 85 87
5 75 80
6 80 80
7 85 83
ร้อยละ 560/7=80.00 579/7=82.71

การวิจัยปฏิบัติการ[แก้]

การกำหนดประเด็นปัญหา[แก้]

การกำหนดประเด็นปัญหา เป็นการกำหนดประเด็นปัญหาที่เหมาะสมกับการวิจัยปฏิบัติการ ซึ่งควรมีลักษณะของปัญหา คือ มีความสำคัญสำหรับสภาพในชั้นเรียนที่จะทำให้การเรียนรู้แตกต่างไปจากเดิม ข้อค้นพบของการวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติ และ นำไปสู่โครงการการดำเนินการที่มีความยืดหยุ่นของเวลา ความพยายาม และ ทรัพยากร ตัวอย่างของปัญหา ได้แก่ ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่ต่ำ ซึ่งนอกจากการกำหนดประเด็นปัญหาแล้ว ในขั้นตอนนี้ควรสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบงานที่เหมาะสมต่อไป

การวางแผน[แก้]

การวางแผน เป็นการเขียนแผนงาน (Plan) ซึ่งกำหนดลำดับของกิจกรรมต่างๆที่ต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยปฏิบัติการ โดยให้มีความเหมาะสมกับเวลาและทรัพยากร ตัวอย่างของกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการสำรวจและทบทวนสภาพของปัญหาปัจจุบัน กิจกรรมการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา กิจกรรมการออกแบบกระบวนการการเรียนการสอน กิจกรรมการจัดทำองค์ประกอบของกระบวนการการเรียนการสอนเช่น เอกสารคำสอน กิจกรรมการทดสอบและใช้กระบวนการการเรียนการสอน และ กิจกรรมการประเมินผลวิธีการแก้ปัญหา และ เรียบเรียงรายงานการวิจัย

การปฏิบัติการ[แก้]

การปฏิบัติการ เป็นการดำเนินการกิจกรรมต่างๆที่ได้มีการกำหนดไว้แผนงาน โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด และ อาจจะต้องมีการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ

การสังเกตผล[แก้]

การสังเกตผล เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการกิจกรรมต่างๆที่ได้มีการกำหนดไว้แผนงาน และ การวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การสังเกต การจดบันทึก การทดสอบ การสอบถามความเห็น การพิจารณาจากชิ้นงาน และ การสอบ สำหรับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การใช้วิธีการทางสถิติ เช่น การหาค่าเฉลี่ย และ ร้อยละ

การสะท้อนกลับ[แก้]

การสะท้อนกลับ เป็นการประเมินผลวิธีการแก้ปัญหาซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหาซ้ำในรอบต่อไป หรือ นำไปประยุกต์ใช้กับแก้ปัญหาอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึง

ทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง[แก้]

รูปแบบการสอน (Pedagogical model) ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในทุกระดับของการศึกษามีพื้นฐานมาจากรูปแบบการสั่งสอน (Instructive model) โดยเป็นการถ่ายทอดข้อมูล สารสนเทศ จำนวนมากจากผู้สอน (Active teacher) ไปยังผู้เรียน (Passive learner) และ มีรูปแบบการสอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับผู้เรียนทั้งชั้นเรียน รูปแบบการสั่งสอนมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การสอนที่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้นเรียนไม่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีพื้นฐานความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ที่ต่างกัน และ มักเป็นการเรียนรู้จากการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้สอน ไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่ผู้เรียนมีบทบาทในการคิด การสร้าง และ การปฏิบัติ

เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของรูปแบบการสั่งสอนดังกล่าวข้างต้น ได้มีการนำแนวคิดจากทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง (Constructivism theory) มาใช้ในกระบวนการการเรียนรู้ โดยได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบ Social Constructivism และ แนวคิดแบบ Cognitive Constructivism ของ Vygotsky และ Piaget ตามลำดับ สำหรับแนวคิดที่สำคัญของทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง ได้แก่ ในส่วนของผู้สอน ผู้สอนนอกจากการทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แล้วยังทำหน้าที่เป็น ผู้ให้แนวทาง ผู้ฝึกสอน ที่ปรึกษา พี่เลี้ยง และ ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในกระบวนการการเรียนรู้ของผู้เรียน

ในส่วนของผู้เรียน ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์การทดลองและการทำงานเป็นกลุ่ม ผู้เรียนจะสร้างความรู้ของตนเองแทนการได้รับความรู้จากชั้นเรียนหรือจากตำรา ในขณะที่ผู้สอนมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำและการกระตุ้นผู้เรียน ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและผู้เรียนในกลุ่ม ความหลากหลาย แตกต่าง ของแนวคิด ความต้องการ และ ปัญหาในแต่ละโครงงานที่ได้รับมอบหมาย นำไปสู่การเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการรับรู้จากผู้สอนเพียงผู้เดียว และ ยังเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของผู้สอนและผู้เรียน

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง[แก้]

สาคร ปานทอง (2555) [1] ศึกษาเปรียบเทียบการตั้งสมมุติฐานและทักษะการตีความหมายข้อมูลและการลงสรุปของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดการการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน และ แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ทดสอบค่าที ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่เรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานมีทักษะการตั้งสมมุติฐานและทักษะการตีความหมายข้อมูลและการลงสรุป หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยศำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05ศึกษาเปรียบเทียบการตั้งสมมุติฐานและทักษะการตีความหมายข้อมูลและการลงสรุปของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดการการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน และ แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ทดสอบค่าที ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่เรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานมีทักษะการตั้งสมมุติฐานและทักษะการตีความหมายข้อมูลและการลงสรุป หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยศำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05

ดาริวรรณ เศรษฐีธรรม (2554) [2] ประเมินประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานวิชาการประเมินอันตรายของอาหารและการจัดการ ผลการวิจัยพบว่าการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานมีประสิทธิผลระดับมาก โดยวัดจากการส่งรายงานการวิจัยตามกำหนด และ วัดจากความคิดเห็น/ความพึงพอใจของนักศึกษาในการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน

วิสาลักษณ์ สิทธิ์ขุนทด (2556) [3] ศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐานวิชาระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ ผลการวิจัยพบว่าการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐานช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจ การวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และ การได้ลงมือทำวิจัยทำให้เข้าใจระเบียบวิธีวิจัยได้ดี อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนพบอุปสรรคต่อการเรียน คือ ระยะเวลาไม่เพียงพอสำหรับการทำวิจัยและความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม

เอกสารอ้างอิง[แก้]

  1. สาคร ปานทอง. (2555). การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิจัยเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการตั้งสมมติฐาน และทักษะการตีความหมายข้อมูลและการลงข้อสรุปของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบรี เขต 2. วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. กรุงเทพ
  2. ดาริวรรณ เศรษฐีธรรม. (2554). ประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วิจัยเป็นฐาน วิชา 512724 การประเมินอันตรายของอาหารและการจัดการ. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น.
  3. วิสาลักษณ์ สิทธิ์ขุนทด. (2556). การศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบใช้วิจัยเป็นฐานในรายวิชา BUS304 ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ. รายงานวิจัย. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. กรุงเทพ