ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Nattap2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยมีลักษณะที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหา เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น มีความรับผิดชอบ มีวินัย เน้นทักษะชั้นสูงเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าและนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้แก่

·        ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

·        ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

·        หลักการการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

·        คุณลักษณะของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

·        รูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

·        บทบาทของครูผู้สอนและผู้เรียนกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

          1. ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

     วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู (2562: 138)  [1] กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning หมายถึงกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ทุกขั้นตอน โดยลงมือปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นศูนย์กลาง ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ใช้กระบวนคิดขั้นสูง (Higher order thinking) ในการแก้สถานการณ์ปัญหาอย่างเป็นระบบอย่างสร้างสรรค์สามารถใช้การปฏิสัมพันธ์ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนผลของการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน จนสามารถสร้างองค์ความรู้จากกิจกรรมการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและส่งผลให้ผู้เรียนบรรลุตามผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ อันเป็นคุณลักษณะของคนไทย 4.0 ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติทั้ง

3 ด้าน ได้แก่ 1) เป็นผู้เรียนรู้ 2) เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 3) เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

     สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2562: 4) [2]กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning หมายถึง การเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนการสอน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง (Higher-Order Thinking) ด้วยการวิเคราะห์สังเคราะห์และประเมินค่า ไม่เพียงแต่เป็นผู้ฟัง ผู้เรียนต้องอ่าน เขียน ตั้งคำถาม และถาม อภิปรายร่วมกันผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง โดยต้องคำถึงความรู้เดิมและความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้

     สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหา เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ โดยมีครูผู้สอนคอยเป็นผู้แนะนำแนวทางกระตุ้น หรืออำนวยความสะดวกจนส่งผล ให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

     นนทลี  พรธาดาวิทย์ (2559: 24) [3]กล่าวว่า Active Leaning เป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยผู้สอนแปลงเนื้อหาจากหลักสูตรซึ่งเป็นนามธรรม หรือเป็นแนวคิดที่คลุมครือมาสู่แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ สามารถจดจำเนื้อหาได้นาน และเก็บรวบรวมเป็นคลังความรู้ในสมอง ทำให้การเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่นำมาใช้ไม่ได้เป็นรูปแบบที่ตายตัวแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมในห้องเรียนซึ่งผู้สอนต้องนำไปปรับใช้ ผู้สอนบางคนอาจต้องใช้วิธีหลากหลายวิธีในห้องเรียน เพื่อให้เกิด Active Learning แต่บางคนอาจวิธีสอนจากหลักการเพียงเล็กน้อยก็สามาถทำให้เป็นห้องเรียน Active Learning ได้

         3. หลักการการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

     วิจารณ์ พาณิช (2556 : 18 อ้างใน นนทลี พรธาดาวิทย์, 2559: 31)[4] กล่าวว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นกระบวนการซึ่งหมายถึง การดําเนินการอย่างเป็นขั้นตอน หรือการใช้วิธีการต่าง ๆ ที่นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ช่วยให้บุคคล เกิดการเรียนรู้ เพิ่มสมรรถนะ และเพิ่มความสามารถของการเรียนรู้ในอนาคต มีความเข้าใจ สาระหรือกระบวนการต่าง ๆ อย่างชัดเจนลึกซึ้ง เกิดความรู้สึก หรือทัศนคติในทางที่เหมาะสม และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการกระทํา หรือพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบสําคัญ 3 ประการ คือ

              1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการ (Process) ที่สามารถตรวจสอบผลลัพธ์ได้

              2. การเรียนรู้ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ ความเชื่อ พฤติกรรม หรือทัศนคติ ซึ่งมีผลในระยะยาวต่อการคิด และพฤติกรรมของผู้เรียน

              3. การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องลงมือทําด้วยตนเอง ตีความ และตอบสนองต่อ ประสบการณ์ของตนเอง

              ทั้งนี้ยังได้กล่าวต่อถึงบทบาทของผู้สอนว่าความสําคัญในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ (Learning Skills) ได้เสนอแนวทางในการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

              1. ผู้สอนควรพิจารณาความรู้เดิมของผู้เรียน เพราะความรู้เดิมเป็นต้นทุนสําคัญ ที่อาจจะส่งเสริมหรือขัดขวางการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนมีพื้นความรู้เดิมแน่น และแม่นยําถูกต้อง เมื่อได้รับการกระตุ้นความรู้เดิมอย่างเหมาะสม ความรู้เดิมเหล่านี้จะเป็นฐานรากสําคัญของการ สร้างความรู้ใหม่ แต่ถ้าความรู้เดิมคลุมเครือ ไม่แม่นยํา เมื่อถูกกระตุ้นในช่วงเวลาหรือวิธีการ ที่ไม่เหมาะสม ความรู้เดิมนี้จะกลายเป็นสิ่งขัดขวางการเรียนรู้

              2. การจัดระเบียบโครงสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียน มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ และ การนําความรู้ที่มีอยู่เดิมออกมาใช้ หากผู้เรียนจัดโครงสร้างความรู้ดี มีความแม่นยํา และ มีความหมาย ผู้เรียนก็จะสามารถเรียกความรู้เดิมที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม หากการจัดระเบียบความรู้ไม่เป็นระบบ ก็จะดึงความรู้เดิมออกมาใช้ได้ยาก ผู้สอน มีบทบาทสําคัญในการแนะนําวิธีการจัดโครงสร้างความรู้ด้วยการนําเสนอเนื้อหาที่เป็น เดอะแกรม แผนผัง แสดงให้เห็นลําดับของข้อมูลหลัก ข้อมูลรอง และข้อมูลย่อย นอกจากนั้น ยังเห็นถึงความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกันของข้อมูล ผู้สอนควรให้ผู้เรียนฝึกหัดการจัดโครงสร้าง องค์ความรู้โดยการให้ผู้เรียนเขียน Mind Mapping สรุปเนื้อหาที่เรียน

              3. แรงจูงใจของผู้เรียน มีผลต่อพฤติกรรมตั้งใจเรียน ความมานะพยายามของผู้เรียน เป็นสิ่งกําหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน หากผู้เรียนเห็นคุณค่าของเป้าหมายการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ เห็นเส้นทางความสําเร็จ และได้รับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะทําให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจต่อการเรียน จึงอาจกล่าวได้ว่า แรงจูงใจต่อการเรียน เกิดจากปฏิสัมพันธ์ ระหว่างเป้าหมาย ความเชื่อมั่นว่าเรียนวิชานั้นได้สําเร็จ และมุมมองต่อสภาพแวดล้อมว่าเอื้อ ให้ตนเรียนได้สําเร็จ

              4. การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความชํานาญต้องฝึกทักษะการบูรณาการวิชาความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่เรียนรู้แบบแยกเป็นส่วน ๆ เพราะในชีวิตจริงความรู้ต้องใช้ในบริบทที่หลากหลาย โดยผู้สอนทําหน้าที่เป็นผู้ฝึกความชํานาญให้แก่ผู้เรียนอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ แบบรู้จริง (Mastery Learning) ซึ่งหมายถึง การฝึกฝนทักษะหลากหลายขั้นตอน เพื่อให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ไม่เพียงแต่รู้เนื้อหาตามทฤษฎีเท่านั้น แต่การรู้จริง คือการนําทฤษฎีที่ เรียนรู้นั้นไปสู่การปฏิบัติ สามารถนําความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งการ เรียนรู้ระดับรู้จริงมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) เรียนรู้ทักษะองค์ประกอบย่อยของเรื่อง 2) เรียนรู้วิธีบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อยเข้าด้วยกัน และ 3) เรียนรู้การบูรณาการให้ได้ รูปแบบที่เหมาะสมต่อกาลเทศะ ดังนั้นการที่ผู้สอนสอนแล้วผู้เรียนอาจยังไม่สามารถปฏิบัติ ในเรื่องที่เรียนมาได้ เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้เพียงองค์ประกอบที่ 1 ส่วนองค์ประกอบที่ 2 และ 3 ผู้สอนต้องฝึกฝนผู้เรียนให้รู้จักการบูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระในแต่ละส่วน และการบูรณาการ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ จึงจะทําให้ผู้เรียนรู้แบบรู้จริง

              5. การเรียนรู้ควรมีการฝึกปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย โดยการกําหนดเป้าหมาย ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพในระดับที่เหมาะสม ทําซ้ำบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ ผู้เรียนควรได้รับคําแนะนํา ป้อนกลับ (Feedback) อย่างชัดเจนในส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขด้วยวิธีการและความถี่ในการแนะนําที่เหมาะสม นอกจากนั้นผู้เรียนยังต้องการกำลังใจ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความก้าวหน้า และบรรลุผลในระดับเชี่ยวชาญ

              6. การเรียนรู้นอกจากช่วยพัฒนาด้านสติปัญญาให้แก่ผู้เรียนแล้ว ด้านสังคมและอารมณ์ของผู้เรียนก็เป็นสิ่งสําคัญที่ควรพัฒนาไปพร้อม ๆ กับสติปัญญา ดังนั้นผู้สอนควรตระหนัก ว่าผู้เรียนยังไม่มีวุฒิภาวะสูงสุดในด้านสังคมและอารมณ์ ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้และพัฒนา ไปพร้อม ๆ กับสติปัญญา ผู้สอนจึงควรส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ผ่านการ จัดบรรยากาศในห้องเรียน

              7. ผู้เรียนควรฝึกทักษะการตรวจสอบ ประเมิน และปรับปรุงกระบวนการการเรียนรู้ ของตนเอง ควรทําความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ (Metacognitive Process) คือเข้าใจ การเรียนรู้ของตนเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเองรู้ความยากง่ายของบทเรียนรู้วิธีเรียนวิธีต่าง ๆ รู้วิธีประเมิน ตรวจสอบ และสามารถปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้

          4. คุณลักษณะการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

     นนทลี พรธาดาวิทย์ (2559: 26 อ้างใน Bonwell & Eison, 1991) [5]กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีเป้าประสงค์หลัก คือต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพการดำรงชีวิตประจำวัน การปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียนจะทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำข้อมูลหรือองค์ความรู้ ที่ได้รับอย่างเป็นระบบในสมอง สามารถเรียกข้อมูลมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วการเรียนรู้แบบ Active learning เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการนำเสนอเนื้อหาความรู้ แต่เน้นกระบวนการเรียนรู้การมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผู้เรียนมีความสนุกสนานในการเรียนรู้ ซึ่งมีคุณลักษณะการเรียนรู้ ดังนี้

  1. ผู้สอนควรกำหนด เป้าประสงค์ (Purposive) โดยเป้าประสงค์นั้นควรสัมพันธ์กับกิจกรรม/งานที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เน้นการพัฒนาทักษะผู้เรียนมากกว่าการเนื้อหา เน้นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  2. ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวคิด การวางแผนการเรียนรู้ การยอมรับ การประเมินผลและการนำเสนอผลงาน

  3. วิธีการจัดการเรียนสามารถสะท้อน สิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้จากกิจกรรม และสามารถผู้เรียนได้รับข้อมูลสะท้อนกลับจากผู้สอนทันทีทันใดในการทำกิจกรรม

  4. ควรมีกิจกรรมการเจรจาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน

  5. ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนวิพากษ์วิจารณ์ ในสิ่งที่ผู้เรียนชื่นชอบ และไม่ชอบ รวมทั้งวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาในการเรียนรู้

  6. ผู้สอนต้องออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสนใจ และความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคนแต่ละกิจกรรมที่ทำต้องมีความหมาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง แก้ปัญหาได้ตามสภาพจริง (Authentic Situation)

  7. การจัดการเรียนรู้ที่มีการสร้างสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดในระดับสูง (Higher Order Thinking) ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ การประเมินผล เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือสถานการณ์นั้น

  8. การจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยระหว่างสิ่งที่เรียน กับชีวิตจริ หรือสถานการณ์จริง รวมถึงการบูรณาการวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

  9. การจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเรียนเหมือนไม่เรียน สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ จัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เอื้อตการทำงานร่วมกับผู้อื่น ใช้กระบวนการกลุ่ม และมีการประเมินผลที่หลากหลายทั้งตัวผู้เรียน เพื่อนและผู้สอน

  10. การจัดการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะการเรียนรู้ภายในห้องเรียน สามารถเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ที่บ้าน และสามารถเรียนรู้ได้จากบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องทำให้ความรู้ไม่มีขอบเขตจำกัด

          5. รูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

              นนทลี พรธาดาวิทย์ (2559: 94), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2562: 7) และวารินท์พร ฟันเฟื่องฟู (2562: 140)[6] กล่าวว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning มีดังนี้

     1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด หรือเทคนิคคู่คิด (Think-pair-share) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดแต่ละคน ประมาณ 2-3 นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)

      2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning Group)คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4-6 คน สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตน และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

     3. การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led Review Sessions) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา

     4. การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้ามาบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นการสอน การมอบหมายงานและขั้นการประเมินผล

5. การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or Reactions to Videos) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวีดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม

     6. การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student Debates) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่มโดยผู้สอนกำหนดหัวข้อหรือประเด็น ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม แบ่งกลุ่มเพื่อให้สมาชิกแต่ละกลุ่มไปค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อใช้สำหรับนำเสนอหน้าชั้นเรียน ฝึกซ้อมและเตรียมตัวด้านการพูดนำเสนอเป็นการฝึกฝนด้านความคิดและฝึกทักษะการพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ การออกเสียง สำเนียงการพูดให้ผู้อื่นสนใจ คล้อยตาม และแฝงไปด้วยความสนุกสนาน

     7. การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student Generated Exam Questions) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้เช่น ให้ผู้เรียนเขียนคำถามและตัวเลือกของคำตอบ จากเรื่องที่เรียน และผลัดกันถามตอบกับเพื่อน

     8. การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research Proposals or Project) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้ วางแผนการเรียนเรียนรู้ตามแผน

สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือ อาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน (Project-based Learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning)

     9. การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze Case Studies) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหา

ภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด

     10. การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping Journals or Logs) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน

     11. การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and Produce a Newsletter) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่น ๆ

     12. การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept Mapping) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่น ๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

     13. การเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ (Anchored Instruction) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนได้แบ่งกลุ่มและกำหนดสถานการณ์ให้ และให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันแสดงความคิดเห็น หาข้อมูลในสถานการณ์ที่ได้และออกมาแสดงท่าทาง ใช้บทสนทนา รวมถึงเปิดโอกาสให้แสดงความคิดความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย

     14. การสอนโดยใช้คำถาม (Questioning Method) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนตั้งคำถามในลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นคำถามเชิงท้าทาย มุ่งเน้นพัฒนาความคิดของผู้เรียนซึ่งลักษณะคำถามตามระดับชั้นของ Bloom คือ ถามความรู้ เป็นคำถามที่ผู้เรียนสามารถตอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ใคร (who) อะไร (what) เมื่อไหร่(when) ที่ไหน (where) ถามความเข้าใจเป็นคำถามที่ผู้เรียนสามารถอธิบายด้วยคำพูด มักใช้คำว่า อย่างไร (how) ถามการนำไปใช้ เป็นคำถามที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ได้ถามการวิเคราะห์

เป็นคำถามที่ผู้เรียนสามารถจำแนกแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ได้ถามการสังเคราะห์ เป็นคำถามที่ผู้เรียนใช้กระบวนการคิด สรุปเป็นหลักการหรือแนวคิดใหม่ ถามการประเมินค่า เป็นคำถามที่ให้ผู้เรียนตีคุณค่าโดยใช้ความรู้ความรู้สึก

     15. การเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD (Student Teams Achievement Division) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยทุกคนจะต้องพัฒนาความรู้ของตนเองในเรื่องที่ผู้สอนกำหนด ซึ่งจะมีการช่วยเหลือทบทวนความรู้ให้แก่กัน มีการทดสอบเป็นรายบุคคลแทนการแข่งขัน และ

รวมคะแนนเป็นกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะเหมาะสำหรับใช้ในการเรียนการสอนในบทเรียนที่มีเนื้อหาไม่ยากเกินไป

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2562: 7)[7] กล่าวถึงรูปแบบวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ในลักษณะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มีวิธีการจัดการเรียนรู้หลากหลายวิธี ดังนี้

              1. การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนามาจากแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เผยแพร่ในปลายศตวรรษที่ 20

ที่เรียกว่า การเรียนรู้ที่เน้นบทบาท และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน หรือ “การเรียนรู้เชิงรุก” (Active Learning)

ซึ่งหมายถึง รูปแบบการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียน "ใช้กิจกรรมเป็นฐาน" หมายถึง นำกิจกรรมเป็นที่ตั้งเพื่อที่จะฝึกหรือพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนด

              1.1 ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน

                   1.1.1 ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นด้านการรู้คิดกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากตัวผู้เรียนเอง มากกว่าการฟังผู้สอนในห้องเรียน และการท่องจำ

                   1.1.2 พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนอกห้องเรียนด้วย

                   1.1.3 ได้ผลลัพธ์ในการถ่ายทอดความรู้ใกล้เคียงกับการเรียนรู้รูปแบบอื่น แต่ได้ผลดีกว่าในการพัฒนาทักษะด้านการคิด และการเขียนของผู้เรียน

                   1.1.4 ผู้เรียนมีความพึงพอใจกับการเรียนรู้แบบนี้มากกว่ารูปแบบที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบตั้งรับ (Passive Learning)

                   1.1.5 มุ่งเน้นความรับผิดชอบของผู้เรียนในการเรียนรู้โดยผ่านการอ่าน เขียน คิด อภิปราย และเข้าร่วมในการแก้ปัญหา และยังสัมพันธ์กับการเรียนรู้ตามลำดับขั้นการเรียนรู้ของบลูม ทั้งในด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย


1.2   หลักการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน

1.2.1 ให้ความสนใจที่ตัวผู้เรียน

1.2.2 เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการปฏิบัติที่น่าสนใจ

1.2.3    ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก

1.2.4    ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียน

1.2.5    ไม่มีการสอบ แต่ประเมินผลจากพฤติกรรม ความเข้าใจ และผลงาน

1.2.6    เพื่อนในชั้นเรียนช่วยส่งเสริมการเรียน

1.2.7    มีการจัดสภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิด และเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง

          1.3 ประเภทของกิจกรรมในการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรม

เป็นฐาน มีหลากหลายกิจกรรม การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนั้น ๆ ว่ามุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หรือพัฒนาในเรื่องใด สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ

1.3.1    กิจกรรมเชิงสำรวจ เสาะหา ค้นคว้า (Exploratory) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวบรวม สั่งสมความรู้ ความคิดรวบยอด และทักษะ

1.3.2    กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์(Constructive) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวบรวม สั่งสมประสบการณ์โดยผ่านการปฏิบัติ หรือการทำงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์

1.3.3    กิจกรรมเชิงการแสดงออก (Expressional) ได้แก่กิจกรรมที่เกี่ยวกับ การนำเสนอ การเสนอผลงาน

1.4   กิจกรรมการเรียนรู้ที่นิยมใช้จัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน

1.4.1    การอภิปรายในชั้นเรียน (class discussion) ที่ใช้ได้ทั้งในห้องเรียนปกติ และการอภิปรายออนไลน์

1.4.2    การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small Group Discussion)

1.4.3    กิจกรรม “คิด-จับคู่-แลกเปลี่ยน” (think-pair-share)

1.4.4    เซลล์การเรียนรู้ (Learning Cell)

1.4.5    การฝึกเขียนข้อความสั้น ๆ (One-minute Paper)

1.4.6    การโต้วาที (Debate)

1.4.7    การแสดงบทบาทสมมุติ (Role Play)

1.4.8    การเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ (Situational Learning)

1.4.9    การเรียนแบบกลุ่มร่วมแรงร่วมใจ (Collaborative learning group)

1.4.10 ปฏิกิริยาจากการชมวิดิทัศน์ (Reaction to a video)

1.4.11 เกมในชั้นเรียน (Game)

1.4.12 แกลเลอรี่ วอล์ค (Gallery Walk)

          6. บทบาทของครูผู้สอนและผู้เรียนกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

     6.1 บทบาทของครูผู้สอน[แก้]

    นนทลี  พรธาดาวิทย์ (2559: 27)[8] กล่าวถึงบทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ไว้ว่า การจัดกิจกรมและวิธีการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง Active Learning ผู้สอนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการทำหน้าที่สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก แนะนำ ช่วยเหลือ ดูแล และกระตุ้นผู้เรียนในการเรียนรู้ จึงควรมีบทบาท ดังนี้

    1. เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ไม่ใช่ศูนย์กลางของการสอน กล่าวคือ เป็นผู้วางแผนกิจกรรม หรือเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาผู้เรียน เน้นผลที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดวิธีการเรียนรู้ของตนเอง

    2. สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม และการเจรจาโต้ตอบในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้สอน และเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน

    3. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นพลวัต ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรมที่สนใจรวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียน กิจกรรมที่เป็นพลวัต ได้แก่ การฝึกแก้ปัญหา การศึกษาด้วยตนเอง การฝึกวิเคราะห์กรณีตัวอย่าง และโครงงาน เป็นต้น

    4. จัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaboratory Learning) ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในกลุ่มผู้เรียน

    5. จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งเนื้อหาสาระ วิธีการ และฝึกให้ผู้เรียนได้มีการบูรณาการเนื้อหาสู่การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง

    6. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ท้าทาย และให้โอกาสผู้เรียนได้รับวิธีการสอนที่หลากหลายกว่าการบรรยายเพียงอย่างเดียว แม้รายวิชาที่เน้นทางด้านการบรรยายหลักการ และทฤษฎีเป็นหลักก็สามารถจัดกิจกรรมเสริม อาทิ การอภิปราย การแก้ไขสถานการณ์ที่กำหนด เสริมเข้ากับกิจกรรมการบรรยาย

    7. วางแผนในเรื่องเวลาการจัดการเรียนรู้อย่างชัดเจน ทั้งในประเด็นเนื้อหา และกิจกรรมในการเรียน ทั้งนี้เนื่องจากการเรียนรู้แบบ Active Learning ใช้เวลาการจัดกิจกรรมมากกว่าการบรรยาย ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องวางแผนอย่างชัดเจน โดยสามารถกำหนดรายละเอียดลงในประมวลรายวิชา

    8. ผู้สอนควรใจกว้าง ยอมรับในความสามารถในการแสดงออก และความคิดเห็นที่ผู้เรียนนำเสนอ

  วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู (2562: 142) [9]กล่าวถึงบทบาทของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังนี้

     1. วิเคราะห์เป้าหมายของการเรียนรู้และเลือกเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนับสนุน การเรียนรู้ตามแนว Active Learning 1-2 วิธี ที่เหมาะสมกับเนื้อหาและสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนปฏิบัติ

     2. เลือกใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ง่ายและใช้เวลาไม่มากสำหรับการเริ่มต้น เช่น

“one minute paper” และ “Think-pair-share” หรือให้ผู้เรียนแข่งขันกันตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเรียนต่อไป เป็นต้น

     3. มีการมอบหมายงานให้ผู้เรียนเพื่อการเตรียมตัวหรือเตรียมความรู้ก่อนการเข้าเรียน เช่น มีการมอบหมายให้อ่านเนื้อหาสาระที่จะเรียนหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่จะเรียนล่วงหน้า

     4. บอกถึงกิจกรรมและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมกิจกรรม

     5. กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบด้วยตนเอง มีความเข้าใจและสร้างมโนทัศน์ที่ได้จากการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้เช่น มอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาสื่อวีดีโอโดยมีการตั้งคำถามและให้ผู้เรียนหาคำตอบ

6. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรจัดเป็นกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา

7. สร้างสรรค์กิจกรรมอย่างหลากหลายมีความยืดหยุ่น เพื่อขยายประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการลงมือปฏิบัติ

8. ให้ความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนโดยใช้ทักษะการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้

9. กิจกรรมการเรียนรู้ยึดปัญหาเป็นสำคัญและกระตุ้นให้ผู้เรียนเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างหลากหลายเป็นระบบ

10. กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดขั้นสูง

11. ให้ผู้เรียนรับผิดชอบในผลงาน โดยกำหนดเวลาและงบประมาณที่ใช้

12. มีการสรุปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก่อนเริ่มเนื้อหาใหม่

ผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการทำหน้าที่สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก

6.2 บทบาทของนักเรียนในการเรียนรู้แบบ Active Learning[แก้]

                Bonwell & Eison (1991 อ้างใน นนทลี  พรธาดาวิทย์, 2559: 28-29) [10] กล่าวถึงบทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Leaning ผู้เรียนไม่ได้เป็นผู้นั่งฟังผู้สอนบรรยายอย่างเดียวแต่ในทางกลับกัน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้น ผู้เรียนควรมีบทบาท ดังนี้

    1. มีความรับผิดชอบ เตรียมตัวล่วงหน้าให้พร้อมที่จะเรียนรู้ ศึกษา และปฏิบัติงานในสิ่งที่ผู้สอนมอบหมายให้ศึกษาล่วงหน้า

    2. ให้ความร่วมมือกับผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ เริ่มจากการวางแผนการจัดการเรียนรู้ การดำเนินกิจกรรม และการประเมินผล

    3. ส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ผู้สอน และผู้เรียนร่วมกันวางแผนไว้อย่างกระตือรือร้น

    4. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียนในการร่วมมือ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การทำงานเป็นทีม และการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

    5. มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ได้ลงมืปฏิบัติในสถานการณ์จริงด้วยตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

    6. มีการใช้ความคิดเชิงระบบ ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงเหตุผล การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดเชื่อมโยง และการคิดอย่างสร้างสรรค์

    7. มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อ แต่เป็นการเรียนรู้แบบสนุกสนาน มีชีวิตชีวา

     วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู (2562: 143)[11] กล่าวถึงบทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังนี้

     1. สามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

     2. สามารถแสดงออกถึงการทำงานแบบร่วมกันในการเรียนรู้และการรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่

ของตนเอง

     3. มีความสามารถในการสื่อสาร ถ่ายทอดความคิดผ่านการเขียน อภิปรายโต้แย้ง ให้เหตุผลสามารถแสดงความคิดเห็นและแสดงทัศนคติ

     4. มีปฏิสัมพันธ์ที่แสดงออกถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

     5. สามารถแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้วให้เข้ากับสถานการณ์ปัญหาใหม่ได้

     6. สามารถแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์จากสถานการณ์ปัญหาที่หลากหลาย      7. สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และนำองค์ความรู้นั้นไปสร้างผลง



  1. วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู. (2562). การจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้สำเร็จ. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). 9(1), 135-145.
  2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562). แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning). หน่วยศึกษานิเทศก์ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  3. นนทลี  พรธาดาวิทย์. (2559). การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.
  4. วิจารณ์ พาณิช. (2556). ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสยามกัมมาจล.
  5. Bonwell, C and Eison, J. (1991).  Active learning: Creating excitement in the classroom. Avaliable from ERIC Clearinghouse on Higher Education. (No.ED340272). บทบาทของครูในการเรียนรู้แบบ Active Learning
  6. นนทลี  พรธาดาวิทย์. (2559). การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562). แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning). หน่วยศึกษานิเทศก์ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิจารณ์ พาณิช. (2556). ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสยามกัมมาจล.
  7. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562). แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning). หน่วยศึกษานิเทศก์ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  8. นนทลี  พรธาดาวิทย์. (2559). การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.
  9. วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู. (2562). การจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้สำเร็จ. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). 9(1), 135-145.
  10. Bonwell, C and Eison, J. (1991).  Active learning: Creating excitement in the classroom. Avaliable from ERIC Clearinghouse on Higher Education. (No.ED340272). บทบาทของครูในการเรียนรู้แบบ Active Learning
  11. วารินท์พร ฟันเฟื่องฟู. (2562). การจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้สำเร็จ. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). 9(1), 135-145.