ผู้ใช้:Naphat Diyen/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติวัดโดยสังเขปของวัดโพธิ์ทัยมณี[1][แก้]

ภาพวัดโพธิ์ทัยมณี

(๑) ตามตำนานเล่าขานกันว่า วัดโพธิ์ทัยมณี เริ่มสร้างในสมัยปี พ.ศ.๑๓๑๙ ซึ่งสถานที่ สร้างวัดแต่เดิมนั้นเป็นเกาะอยู่ปากอ่าวทะเล เกาะนี้ชาวบ้านเรียกขานกันว่าเกาะกลางอ่าว หรือ บ้านเกาะกลางอ่าว ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี เขาวังเป็นกำหนดก็ห่างจากเขาวัง ประมาณ ๖ กิโลเมตรเศษ ไปทางทิศตะวันออกของตัวเมืองเพชรบุรี

(๒) เล่ากันว่าในสมัยนั้น กษัตริย์สิงหลวัติปกครองเมืองราชปุละนคร ได้เสด็จทาง ชลมารคพร้อมเหล่าขุนนางเสนาบดี จะไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองศรีธรรมมาโศกราช (นครศรีธรรมราช) เสด็จผ่านเมืองชัยยะการ (ชัยนาท) ผ่านเมืองสองพัน (สุพรรณ) ผ่านเมืองรัตนมณี (เพชรบุรี) เรือพระที่นั่งได้ผ่านปากอ่าวเกาะกลาง ซึ่งขณะนั้นมีเรือชาวจีนฮ่อค้าขายเครื่องปั้นจอดอยู่ นายท้ายเรือพระที่นั่งได้ดื่มสุราเข้าไปเกิดมึนเมา ไม่สามารถบังคับเรือพระที่นั่งได้ จึงชนสำเภาจีนฮ่อแตกและเรือพระที่นั่งโขนหัก พระองค์จึงตรัสถามเหล่าขุนนาง เหล่าขุนนางจึงแสร้งเท็จทูลกล่าวร้ายจีนฮ่อว่าเป็นขบถ จึงโปรดให้ประหารจีนฮ่อหมดทุกคนสิ้นทั้งเรือ ๑๒ คน ทิ้งไว้ ณ เกาะกลางอ่าวแห่งนี้ แล้วก็เสด็จต่อไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่เมืองศรีธรรมมาโศกราช เมื่อไหว้เสร็จได้เสด็จกลับ ถึงปากอ่าวเกาะกลางจึงหยุดเรือที่เสด็จลง และทรงไต่สวนข้อความใหม่ เมื่อรู้ว่าเสนาบดีเท็จทูลให้ประหารคนที่ไม่ผิดจึงเสียพระทัย จึงให้ประหารขุนนางที่เท็จทูล และ ประหารนายท้ายในที่นี้เป็นการถ่ายโทษ และมีรับสั่งให้สร้างเก๋งจีน พร้อมเจดีย์บรรจุอัฐจีนฮ่อไว้ เป็นอนุสรณ์สถาน เป็นการถ่ายบาปถ่ายกรรม ณ สถานที่เกาะ กลางอ่าว ใน ปี พ.ศ.๑๓๑๙

(๓) วิหารเก๋งจีนนั้น (อุโบสถปัจจุบัน) ภายในประดิษฐานองค์พระประธานซึ่งแกะ ด้วยศิลาแดง หน้าตัก ๕ ศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงาม (ในสมัยหลังมานี้ได้บูรณะตกแต่งปิดทอง สมัยรัตนโกสินทร์ จึงมองไม่เห็นองค์จริงเดิมด้วยหุ้มปูนและทองไว้) ภายในองค์พระประธาน พระองค์ได้ประดิษฐานผะอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ซึ่งพระองค์ได้อัญเชิญจากประเทศศรีลังกา พร้อมหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์มาประดิษฐานไว้ ณ เกาะกลางอ่าวแห่งนี้ เพื่อไถ่บาปกรรม ที่กระทำลงไปโดยมิได้ไตร่ตรองความจริงให้ถ่องแท้ และพระองค์ได้แต่งตั้งท่านเจ้าคุณตามืดและคุณหญิงปุก พร้อมทหารดูแลอีก ๑๐ นาย คอยดูแลปฏิบัติ บำรุงรักษาให้เป็นอนุสรณ์สถานแต่บัดนั้น เป็นต้นมา (ผู้ดูแลก็เป็นชาวสิงหล) เชื้อสายศรีลังกา สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ชำระล้างมลทิน เป็นศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่นั้นมา

(๔) เล่ากันว่า สถานที่แห่งนี้ได้มีชื่อเรียกขานกันว่า เกาะพักเสด็จสิงหล เป็นชื่อที่ชาวบ้าน เรียกขาน ส่วนพระเจดีย์ที่สร้างนั้นเป็นทรงปรางค์คู่แบบโบราณ ก่อด้วยอิฐมอญใหญ่มีความสูง ๗ วา (ถือเอาเท่าส่วนพระธรรมเจ็ดคัมภีร์เป็นเกณฑ์) ส่วนฐานกว้าง ๓ วา ฐานล่างบรรจุอัฐิ จีนฮ่อทั้ง ๑๒ คน ส่วนกลางองค์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ส่วนยอดบรรจุดิน เปลือก ใบ เมล็ด ตรงสถานที่ตรัสรู้ไว้ เรียกขานกันว่า พระเจดีย์ศรีสิงหล เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน

(๕) ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้ทรงปลูกไว้ใกล้กับองค์พระเจดีย์ เจริญงอกงาม และโปรดให้ถวายการสมโภช สถานที่แห่งนี้เป็นเวลาเจ็ดวันเท่าพระคัมภีร์ พระองค์ทรงเปิดฤกษ์มหามงคลพิธี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๖ แห่งวิสาขมาศ วันจันทร์ ปีมะเส็ง ในปีพุทธศักราช ๑๓๒๕ ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

(๖) ในสมัยก่อนโน้น บริเวณที่ตั้งนี้เป็นเกาะ ต่อมากาลเวลาผ่านไปแผ่นดินได้งอกยื่นไป มากมาย ปัจจุบันนี้จากวัดจะไปทะเลนั้น มีระยะทางอีก ๘ กิโลเมตร จึงจะถึงทะเล แต่ส่วนล่าง ของพื้นดินขุดลงไปประมาณ ๑ วาเศษ จะพบทรายและเปลือกหอยมากมาย น้ำที่ออกมาก็เค็ม กร่อย ส่วนน้ำจืดต้องขุดให้ลึกอย่างน้อย ๑๐ วา จึงจะพบน้ำจืด ตามที่ได้พบในปัจจุบัน

(๗) กาลต่อมา สมัยขอมเรืองอำนาจ ได้ยกพลมาทางเรือ ขึ้นตีเอาเมืองหน้าด่านนี้ ทางทิศตะวันออกโดยยึดเกาะกลางอ่าวนี้เป็นฐาน พวกขอมได้เผาทำลายวิหารเก๋ง พระเจดีย์ และ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยไฟไหม้และได้ทำการประหารผู้ดูแลและทหารจนหมดสิ้น พร้อมนั้นก็ได้สร้างพระปรางค์เป็นชัยชนะไว้ ด้านหน้าวิหารเก๋ง ซ้าย ขวา ๒ องค์ มีความสูงประมาณ ๖ วา มีฐานกว้างประมาณ ๒ วา (ต่อมาชำรุดได้บูรณะปรับปรุงให้คงสภาพเดิมและเพิ่มเติมลายปูนปั้น บางส่วน) กาลต่อมาขอมเกิดอดอยากขาดอาหารจึงทิ้งและหนีกลับไปในสมัยพุทธศักราช ๑๔๑๒

(๘) กาลต่อมา พระญาติพระวงศ์ ในสมัยกษัตริย์ชาวสิงหล ได้พร้อมกันสละทรัพย์บูรณะ ปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้คืนสู่สภาพเดิมอีกครั้งคงลักษณะเดิม และได้ให้ท่านพญาเรือง พญาราย พญาโหรา เสนาบดีผู้ใหญ่พร้อมครอบครัว และข้าทาสชายหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ และทหาร จำนวน ๓๐ คน รับหน้าที่ดูแลพิทักษ์รักษาได้รับสมญานามว่า เจ้าสามพระยาวังหน้า ดูแลในสมัย ปีพุทธศักราช ๑๔๑๗ เป็นต้นมา

(๙) การเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป ตามกาลเวลา ตามวัฏจักร เกาะกลางอ่าว แต่เดิมหรือเกาะพักเสด็จสิงหล หรือเกาะสามพญาวังหน้าได้เป็นตำนานเล่าขานกันมาแต่โบราณกาล แต่ยังคงมีร่องรอยของตำนานไว้ให้ปรากฎทั้งทางด้านศาสนสถาน ศาสนธรรม และคงความเป็นปึกแผ่นมีแก่นสารมาถึงบัดนี้เพื่อให้พวกเราเหล่าลูกหลานเหลนได้ศึกษากัน ต่อไปตลอดกาลนาน สิ่งที่ได้นำมากล่าวนี้ได้มีท่านผู้ทรงคุณประเสริฐท่านได้มาเข้านิมิตแล้วได้พาให้ดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย และได้ศึกษาค้นคว้าจากประวัติศาสตร์ และคำเล่าขาน ตำนานเก่าแก่ รวบรวมเข้าด้วยกัน จึงมีหลักสันนิษฐานได้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง

(๑๐) จากเวลาที่ผ่านไป ตั้งแต่สมัยพุทธศักราช ๑๓๑๙ จนมาถึงในสมัยพุทธศักราช ๑๓๒๕ มีเรื่องราวที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนาและเจตนาของบุคคลโดยเฉพาะแล้วเป็นกษัตริย์ชาวเมือง สิงหล ต่อมาลำดับกาลเวลา พุทธศักราช ๑๔๑๒ ได้ถูกขอมทำลายหลักชัยศาสนา แต่ด้วยบุญบารมี พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานในองค์พระพุทธประธาน ท่านแผ่รัศมีด้วยปาฏิหาริย์บารมี รักษาศาสนสถานถึงกาลต่อมา พระญาติวงศาเหล่าพระวงศ์ ได้พร้อมใจส่งเสริม สละทรัพย์ ออกบูชา ในปีพุทธศักราช ๑๔๑๗ มอบหมายท่านสามพญาวังหน้าดูแลรักษาสืบสร้างสันติธรรมวงศ์ เพื่อจรรโลงรักษาให้สถาพรวัฒนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่กล่าวความแต่อย่างใด จวบจนกาลเวลาผ่านไป ตามสัจจะวัฏฏะกาลเวลา

(๑๑) ถึงพุทธศักราช ๑๕๑๓ สมัยพระเจ้าพังคราชกษัตริย์เชียงแสน ได้ทำการบูรณะสมโภช โปรดให้เสนาบดีผู้ใหญ่ นามว่าขุนอินทรโกษา คุณหญิงส้มบูรณะชำระกระแสแผ่พระพุทธบารมี สง่างามเป็นศรีวงศ์คงความมั่นคง

(๑๒) รัชสมัยต่อมาปีพุทธศักราช ๑๘๑๑ บ้านเมืองเข้าสู่ยุคหลังจากที่ได้รับการสถาปนา เมืองเพชรบุรีและนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ส่วนใต้เมืองไตรตรึงหรือสรรค์บุรีอยู่เหนือให้ปกครอง มั่นคงดีแล้ว พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช (เจ้าศรีราชา) โปรดการให้บูรณะซ่อมแซมใหม่ทางด้าน วัตถุ แต่ยังไร้พระสงฆ์ ความมั่นคงจึงยังไม่มีเพราะเป็นศาสนวัตถุ ยังไม่บรรลุถึงศาสนธรรม จึงโปรดนำให้ท่านพญาอภัยภักดี พร้อมคุณหญิงแดง เป็นผู้รับภาระในด้านการบูรณะรักษา

(๑๓) สมัยต่อมาปีพุทธศักราช ๑๙๑๕ สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงโปรดให้ขุนนางเสนาบดี ผู้ใหญ่ร่วมบูรณะรักษา โปรดให้ท่านพญาหมวกเหล็ก (เดิม) ไปปรับปรุงบูรณะ สร้างเสริมรักษา จัดสมโภชศาสนสถานที่คงมีความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ต้นเพื่อเป็นสิ่งเทิดทูนบูชา ต่อไป

(๑๔) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช ๑๙๙๙ สมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ (พระรามเมศวร) ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ท่านพญาโกษา (ทอง) บูรณะศาสนสถาน แห่งนี้ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และโปรดให้สมโภช ได้กราบอาราธนาพระสงฆ์ ต่างเมืองมา ร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย

(๑๕) ในสมัยพุทธศักราช ๒๑๑๕ สมัยพระนเรศวรครองเมือง ประชาชนได้พร้อมใจร่วม สละทรัพย์บูรณะ สร้างเสริมปรับปรุงให้คงสภาพโดยมีท่านขุนเสมาทอง ขุนศรีจันทร์ เป็นเจ้าการ ในการบูรณะครั้งนี้

(๑๖) ต่อมาในสมัยพุทธศักราช ๒๒๐๗ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รับพระราชทาน กำหนดเขตวิสุงคามสีมา และพัฒนาวัดนี้ขึ้นให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา โดยมีท่านพระอาจารย์ไทย และท่านคุณตาขรัวขรุ่ยเป็นเจ้าการดูแล และท่านขรัวขรุ่ยท่านเป็นอุปัชฌาย์ด้วย ฐานะวัดขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเรียกว่าวัดนก ในสมัยนั้นและได้มีการพัฒนามา ตามลำดับ

(๑๗) จนถึงสมัยของพระเจ้าเสือรัชกาลที่ ๓๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา พุทธศักราช ๒๒๔๑ ได้โปรดให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์ (ฉิม) นำระฆังลงหินไปประดิษฐาน ณ วัดนก (วัดโพธิ์ทัยมณีในปัจจุบัน) เพื่อเป็นศาสนสถานเฉลิมพระยศพระบรมวงศ์ และพระเจ้าแผ่นดิน แต่กาลก่อนที่ได้รักษาศาสนวัตถุศาสนสถานจนมีความมั่นคงสถาพรโดยธรรมมาจนถึงบัดนี้ (ระฆัง ยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน) และในขณะนี้นั้นท่านเจ้าคุณตาขรัวขรุ่ยเป็นเจ้าอาวาสมีพระสงฆ์ อยู่ด้วย ๖ รูป ขณะนั้น

(๑๘) ในพุทธศักราช ๒๒๖๕ พระอธิการพานเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๖ พระอุปัชฌาย์ได้รับ รอยพระพุทธบาททำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ผสมดีบุก เงิน ทอง นาค จากท่านขุนหลวงท้ายสระ สร้าง อุทิศถวายให้พระเจ้าเสือ เป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ ต่อมาได้หายสูญไป เนื่องจากโจรบุกปล้นวัด และมาได้คืนโดยที่โจรนำไปทิ้งไว้ที่ บ้านโคก ห่างจากวัดไม่มากประมาณ ๒ กิโลเมตร และต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ ๔ ทหารเสือ ได้ต้อนพม่าไล่ไปทางใต้ได้ผ่านจุดนี้ ทหารบาดเจ็บหลายคน ไม่มียารักษา เพราะทุระกันดาร จึงได้พักที่พุ่มไม้บ้านโคกมีสระน้ำโบราณอยู่ ขณะพักผ่อนด้วย เจ็บป่วย ก็ได้ฝันไปว่ามีชายนุ่งขาวห่มขาวมาบอกให้เดินไปที่พุ่มหนามพุงดอจะมีรอยพระบาทอยู่ ให้เอาน้ำในนั้นกิน ลูบแขนลูบขา ลูบตามตัว อาการเจ็บป่วยจะหายไป แล้วชายนุ่งขาวห่มขาว ก็หายไป ๔ ทหารเสือจึงพาทหารค้นหาจนพบ และได้ปฏิบัติตามที่ชายนุ่งขาวห่มขาวบอกไว้แล้วทุกคนก็หายเจ็บป่วย ๔ ทหารเสือ พร้อมทหารจึงได้นำรอยพระพุทธบาทมามอบถวายให้หลวงปู่ จันทร์ เจ้าอาวาสพระอุปัชฌาย์ ปีพุทธศักราช ๒๓๒๓ ปัจจุบันได้บูรณะมณฑปประดิษฐาน เก็บรักษามาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้

(๑๙) ครั้นกาลต่อมาถึงรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ รัชกาลที่ ๓๔ ปีพุทธศักราช ๒๒๗๕ เป็นปีสุดท้ายแห่งการเสด็จสวรรคตของพระองค์ พระองค์ได้ประกอบการทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานให้วัดน้ำล้อม (วัดโพธิ์ทัยมณีปัจจุบัน) ให้มีฐานะเป็นพระอารามที่สมบูรณ์ มีวิสุงคามสีมาสมบูรณ์ มีศาสนสถานอุโบสถ กุฏิเจดีย์สถาน ศาลาการเปรียญ สมบูรณ์ทุกประการ ให้มีพระสงฆ์อยู่ได้เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติเป็นแหล่งศึกษาวิชาความรู้ในทางศาสนา ให้กว้างขวาง ต่อไปในพระสงฆ์ทั้งหลาย อันเป็นส่วนที่จะนำเผยแผ่ไปยังประชาชนให้มีคุณธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขณะนี้ท่านพระอธิการพาน เป็นเจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ ผู้ปกครองดูแลสงฆ์

(๒๐) อายุการก่อสร้างวัดโพธิ์ทัยมณี ตั้งแต่ต้นมา

ก. วัดโพธิ์ทัยมณี เริ่มดำเนินการสร้างเบื้องต้น ปีพุทธศักราช ๑๓๑๙ มีแต่เฉพาะวิหารเก๋ง (ปัจจุบันเป็นอุโบสถ) โดยกษัตริย์สิงหลวัติเป็นองค์ผู้ดำเนินการสร้าง จนมาถึงปีพุทธศักราช ๒๒๐๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณเวลาที่เริ่มสร้าง ปรับปรุง รักษาพัฒนา จนสมบูรณ์เป็นเวลาถึง ๘๘๘ ปี

ข. ในกาลต่อมาจาก พุทธศักราช ๒๒๐๗ ที่ได้รับพระราชวิสุงคามสีมา และมาจนถึงเวลาที่วัดโพธิ์ทัยมณีสมบูรณ์ มีพระสงฆ์ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมและเผยแผ่ธรรม เป็นแหล่งวิชาการความรู้ เพื่อการเผยแผ่ศาสนธรรมให้ปรากฎไปในประชุมชน จนถึงมีความมั่นคง ถึงปีพุทธศักราช ๒๒๗๕ ในสมัยของพระเจ้าบรมโกษฐ์ รัชกาลที่ ๓๔ แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงได้รับการพระราชทานโดยสมบูรณ์ รวมเวลา ๖๘ ปี

ค. รวมระยะเวลาอายุ ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมเวลาในการก่อสร้าง จนถึงความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ รวมเวลาแล้วถึง ๙๕๖ ปีโดยกำหนด

ง. สมัยของรัตนโกสินทร์ วัดโพธิ์ทัยมณี ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านบางจาน ตำบลบางจาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่วัดทั้งหมดเดิม ๑๙ ไร่เศษ แบ่งเป็นสร้างโรงเรียน ประชาบาล สอนเยาวชน มีจำนวนนักเรียน ๗๓๐ คน แบ่งพื้นที่ให้ไป ๔ ไร่ ถูกคลองชลประทานตัดผ่านไปอีก ๓ ไร่ คงเหลือที่วัดจริงๆ ๑๒ ไร่เศษ และได้จัดซื้อที่เพิ่มเติมอีก ๔ ไร่ รวมเนื้อที่วัด ๑๖ ไร่เศษ และรวมการสร้างวัดที่รุ่งเรือง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ๒๑๒ ปี ถึงปีปัจจุบันคือ พุทธศักราช ๒๕๓๗ โดยกําหนด

จ. รวมอายุวัด อายุการของวัดโพธิ์ทัยมณี ตั้งแต่เริ่มสร้างมาจนถึงปัจจุบัน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ นี้ รวมอายุของวัดนี้ทั้งสิ้นมีอายุยาวถึง ๑๒๑๘ ปี ถึงปีปัจจุบัน ภายใต้ร่มพระบารมี ปกเกล้าปกกระหม่อม รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถ้านับจากที่ได้รับวิสุงคามสีมา ปีพุทธศักราช ๒๒๐๗ มาถึงปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ นี้ รวมอายุของวัดโพธิ์ทัยมณีได้ ๓๓๐ ปี ในสมัยปัจจุบัน กรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติชื่อวัดเก่าโบราณมาถึงปัจจุบัน[1][แก้]

นามเดิมวัดสมัยก่อน วัดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อของวัดมาโดยตลอด เท่าที่ทราบมีนามตามหมู่บ้านบ้าง มีนามตามแผนภูมิพื้นที่บ้าง นามตำบลบ้าง ดังปรากฎต่อไปนี้

๑. วัดเสด็จ (หมายถึง มีเจ้านายชั้นสูงเคยเสด็จมาประพาส และพักเสวยที่นี้)

๒. วัดบก (หมายถึง พื้นที่ตรงนี้น้ำไม่ท่วมและล้อมรอบด้วยหนองน้ำแต่เดิม) .

๓. วัดโบกขรณี (หมายถึง มีสระใหญ่เก็บน้ำ ถึง ๒ สระ)

๔. วัดโบสถ์ (หมายถึง การสร้างอุโบสถนั้นเป็นลักษณะทรงจีนแบบเก๋งจีน)

๕. วัดเจดีย์งาม (หมายถึง องค์พระเจดีย์ด้านหลังอุโบสถมีลักษณะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์)

๖. วัดนก (หมายถึง มีหมู่นกพิราบและนกเค้ามาอาศัยอยู่มากในเขตวัด)

๗. วัดตักวิชา (หมายถึง ผู้ที่ตั้งใจเรียนวิชา พ่อแม่จะพามาฝากเรียนหาความรู้จึงเป็นสถานศึกษา)

๘. วัดน้ำล้อม (หมายถึง วัดนี้มีหนองน้ำล้อมรอบ พร้อมคูคลองด้วยรอบวัด)

๙. วัดบัวบาน (หมายถึง ในสระมีกอบัวสัตตบุศ บัวหลวง บัวบุณฑริก ออกดอกสพรั่งเหมือนกัน)

๑๐. วัดท่าข้าม (หมายถึง คนโบราณมาขึ้นลงเรือที่หน้าวัดนี้ไปเมืองเพชรบุรี)

๑๑. วัดจีนฮ่อ (หมายถึง ชาวจีนฮ่อเข้าอุปถัมภ์ สร้างเสริมบูรณะวัดอย่างมั่นคง

๑๒. วัดมะขวิด (หมายถึง อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านที่มีชื่อว่าบ้านท่ามะขวิด)

๑๓. วัดกลาง (หมายถึง ตำบลนี้ที่มีวัดอยู่ถึง ๓ วัด และวัดนี้อยู่ตรงกลางมีหัวท้ายอีก ๒ วัด)

๑๔. วัดบางจาน (หมายถึง นามตำบลของหมู่บ้าน เรียกว่าตำบลบ้านบางจานจนบัดนี้

๑๕. วัดโพธิ์บางจาน (เพราะมีต้นโพธิ์อยู่ในวัดนี้มากต้นจึงเรียกขานกันตามปาก)

๑๖. วัดไทยมณฑาคงคามณี (เพราะวัดนี้มีน้ำล้อมและมีพระบรมธาตุจึงเรียกให้คล้อง)

๑๗. วัดโพธิ์ทัยมณี (เปลี่ยนจากเดิมให้เหมาะสมสอดคล้องมาจนถึงปัจจุบัน)

เจ้าอาวาสปกครองวัดโพธิ์ทัยมณี[1][แก้]

เจ้าอาวาสปกครอง มีเจ้าอาวาสและขรัวตา ที่รับปกครองวัดนี้มาหลายรูป ดังที่พอจะกล่าวนามได้ เพราะอาศัยคนใหญ่เก่า ๆ เล่าบ้าง และอดีตหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์องค์ก่อนหน้าองค์ปัจจุบันท่านเล่าให้ฟังบ้าง มีนามดังต่อไปนี้

๑. หลวงพ่อก้อง                 ปกครอง พ.ศ.๑๙๑๔ ถึง ๑๙๓๔       รวม ๒๐ ปี

๒. หลวงปู่ดี                     ปกครอง พ.ศ.๑๙๓๔ ถึง ๑๙๕๖       รวม ๒๒ ปี

๓. หลวงปู่มั่น                    ปกครอง พ.ศ.๑๙๕๖ ถึง ๑๙๙๙       รวม ๓๗ ปี

๔. หลวงพ่อทอง                 ปกครอง พ.ศ.๑๙๙๙ ถึง ๒๐๓๔       รวม ๓๕ ปี

๕. หลวงพ่อนิล                  ปกครอง พ.ศ.๒๐๓๔ ถึง ๒๐๕๙       รวม ๒๕ ปี

๖. หลวงพ่อทิม                 ปกครอง พ.ศ.๒๐๕๙ ถึง ๒๐๘๙       รวม ๓๐ ปี

๗. หลวงปู่รวย                  ปกครอง พ.ศ.๒๐๘๙ ถึง ๒๑๐๔       รวม ๑๕ ปี

๘. หลวงปู่โพธิ์                  ปกครอง พ.ศ.๒๑๐๔ ถึง ๒๑๑๕       รวม ๑๑ ปี

๙. ท่านปู่คง                     ปกครอง พ.ศ.๒๑๑๕ ถึง ๒๑๓๕       รวม ๒๐ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๐. ท่านขรัวคุณตามืด        ปกครอง พ.ศ.๒๑๓๕ ถึง ๒๑๖๐       รวม ๒๕ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๑. ท่านขรัวผาน               ปกครอง พ.ศ.๒๑๖๐ ถึง ๒๑๗๘       รวม ๑๘ ปี

๑๒. พระอธิการอินทร์          ปกครอง พ.ศ.๒๑๗๘ ถึง ๒๑๙๙       รวม ๒๑ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๓. พระอาจารย์ไทย           ปกครอง พ.ศ.๒๑๙๙ ถึง ๒๒๑๔       รวม ๑๕ ปี

๑๔. คุณตาขรัวขรุ่ย             ปกครอง พ.ศ.๒๒๑๔ ถึง ๒๒๔๕       รวม ๓๑ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๕. พระอาจารย์สังข์           ปกครอง พ.ศ.๒๒๔๕ ถึง ๒๒๖๕       รวม ๒๐ ปี

๑๖. พระอธิการพาน           ปกครอง พ.ศ.๒๒๖๕ ถึง ๒๒๙๕       รวม ๓๐ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๗. พระอธิการเหลือ           ปกครอง พ.ศ.๒๒๙๕ ถึง ๒๓๒๐        รวม ๒๕ ปี

๑๘. หลวงปู่จันทร์              ปกครอง พ.ศ.๒๓๒๐ ถึง ๒๓๖๕       รวม ๔๕ ปี          (อุปัชฌาย์)

๑๙. ท่านขรัวอิ่ม                ปกครอง พ.ศ.๒๓๖๕ ถึง ๒๓๗๐       รวม ๑๕ ปี

๒๐. หลวงปู่แก้ว                ปกครอง พ.ศ.๒๓๗๐ ถึง ๒๔๑๖       รวม ๔๖ ปี          (อุปัชฌาย์)

๒๑. หลวงพ่อนาก             ปกครอง พ.ศ.๒๔๑๖ ถึง ๒๔๕๖       รวม ๔๐ ปี          (อุปัชฌาย์)

๒๒.พระครูพุฒ                  ปกครอง พ.ศ.๒๔๕๖ ถึง ๒๔๘๗       รวม ๓๑ ปี          (อุปัชฌาย์)

๒๓. พระครูวัชรศีลคุณ         ปกครอง พ.ศ.๒๔๘๗ ถึง ๒๕๓๐       รวม ๔๓ ปี          (อุปัชฌาย์)

๒๔. พระครูกิตติวัชราภรณ์   เริ่มปกครองเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๓๓ ถึงปัจจุบัน         (อุปัชฌาย์)

ประวัติพระบรมสารีริกธาตุทัยมณี [1][แก้]

พระบรมอัฐิธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง ประดิษฐาน ณ มณฑปวัดโพธิ์ทัยมณี ตบลบางจาน อเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีประวัติความเป็นมาเท่าที่มีข้อมูลดังนี้

ประวัติที่พระบรมสารีริกธาตุ เปิดเผยเป็นทางการในสมัยหลวงปู่ท่านพระครูพุฒ อดีตเจ้าอาวาส อดีตพระอุปัชฌาย์ รูปที่ ๒๒ ของวัดโพธิ์ทัยมณี แต่กาลก่อนไม่มีใครทราบเรื่อง แต่มีเหตุที่อัศจรรย์หลายอย่างเช่นต้นไม้รอบ ๆ อุโบสถ ต้นไม้ใหญ่ ๆ ต่างโอนเข้าหาอุโบสถให้ ความร่มเย็นเป็นสุขแด่เขตพุทธสถาน และท่านผู้เฒ่าเก่าแก่ชาวบ้านได้พูดว่า ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จะเห็นแสงดวงนวลใหญ่ขนาดเท่าดวงจันทร์ ล้อมรอบอุโบสถประทักษิณ ๓ รอบ ชาวบ้านจะเห็นกันบ่อยมาก จนเป็นที่โจษขานกันและในบางโอกาสก็เห็นแสงดังกล่าวลอยไปทั่ว ๆ ในเขตหมู่บ้าน พร้อมมีเสียงดังบนหลังคาเกรียวกราว ดุจดังเมล็ดทรายโปรยปรายลงบนหลังคาบ้าน ภายใน หมู่บ้านและหลังคากุฏิวัดทั่ว ๆ ไป ต่อมาองค์พระพุทธประธานในอุโบสถส่วนหน้าอกร้าวแตกชำรุด ปูนที่ตกแต่งปิดทองไว้หลุดแตกออกมา หลวงปู่พุฒเจ้าอาวาสปรึกษาคณะกรรมการจัดดำเนินงาน บูรณะซ่อมแซมองค์พระประธาน โดยให้นายช่างอยู่ มาปั้นปิดทอง และตั้งขาหยั่งยกองค์พระประธาน ให้สูงเพื่อเสริมฐานชุกชีให้สูง และทำฐานพระประธานใหม่ ให้เรียบร้อยและสวยงามยิ่งขึ้น

จากที่ได้เริ่มดเนินการปฏิสังขรณ์บูรณะ องค์พระพุทธประธานในอุโบสถจึงได้ทราบว่า พระประธานเนื้อภายในเป็นศิลาทรายแดงโบราณและก็ยังได้พบสิ่งที่สำคัญ คือ ผะอบลายคราม ประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระส่วนด้านหน้าอกเบื้องขวาและหลวงปู่พุฒท่านเล่าว่า ที่ฐานชุกชีใต้องค์พระประธานที่นั่งประทับอยู่นั้น นายช่างอยู่ บอกว่ามีทองคำแท่งมากมายฝังอยู่ภายใน จึงได้บอกความนี้แด่หลวงปู่พุฒได้ทราบ เมื่อหลวงปู่พุฒทราบแล้วจึงสั่งการให้ช่างอยู่ปิดเนื้อความ และให้เอาปูนก่อเสริมฐานปิดทองคํานั้นอย่างมั่นคงมิดชิด และอยู่ในการดูแลของหลวงปู่อย่างใกล้ชิด ด้วยกลัวสูญหาย และกลัวบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีที่อยู่ในคราบของคนดีมีศีลธรรมจะมาลักลอบเอาไป ท่านจึงดูแลอย่างใกล้ชิด จนการสร้างเสริมเสร็จสมบูรณ์ทุกอย่าง

จากที่ท่านได้ผะอบแล้ว ก็นำมาเปิดดู ปรากฏว่าภายในมีเมล็ดพันธุ์ ดุจดังเมล็ดข้าวสาร และเมล็ดพันธุ์ผักกาดมีอยู่มากและเปล่งแสงฉัพพรรณรังษีออกให้ปรากฎ จึงรู้ว่าเป็นพระบรม สารีริกธาตุ ประชาชนทั่วไปทั้งไกลและใกล้ต่างนั่งเรือพายมาขึ้นที่ท่าหน้าวัด ขออนุญาตหลวงปู่ เข้าชม เข้านมัสการบูชา ที่วัดในขณะนั้นจึงมากมายไปด้วยผู้คนที่มากราบบูชา มากราบขอพร ในเรื่องทุกข์ใจต่าง ๆ กันบ้างก็มาขอชมบารมี บางคนเมื่อเห็นถึงกับร้องไห้ด้วยเกิดอาการปีติ ยกขึ้นทูนศีรษะและปูผ้าขาวหมอบกราบ พร่ำพรรณาขอพระบารมี บางคนมาก็ไม่เกิดอะไร ไม่เห็นมีอะไร เห็นต่าง ๆ จากคนอื่น มากหลายคนเหมือนกัน แต่ส่วนสาธุชนที่มาได้พบเห็น ส่วนมากแล้วเกิดปีติโสมนัสมากถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ บางคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายรักษาไม่หายก็มา ขอพระบารมี ขอน้ำพุทธมนต์ไปดื่มไปอาบ โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ก็หายขาด ถึงแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง วัวควายเป็นโรค ปากเปื่อยเท้าเปื่อย เอาไปพรมฟาง ใส่ตุ่มน้ำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นกินก็หายจากโรคต่าง ๆ และชาวบ้านทำนา ปูกัดกินต้นข้าวจนเป็นโรคหนอนกอ ไม่ออกรวง เมล็ดลีบ เสียหาย หนูนา รบกวนต่างก็มาขอบารมี นำน้ำพุทธมนต์จากองค์พระบรมสารีริกธาตุไปใส่ในนาข้าว ทำให้ สิ่งต่าง ๆ โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสูญหายไป ยังความร่มเย็นเป็นสุขให้ปวงประชาสาธุชนเป็นอย่างมาก จนเป็นที่กล่าวขานในที่ทั่ว ๆ ไปตามหมู่บ้านน้อยใหญ่ ในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดที่รู้ ก็เดินทางมากราบขอบารมี ในสมัยก่อนโจรจะปล้นวัดเป็นประจำ และหลายครั้งที่เข้าปล้นงัดอุโบสถถึงขนาดมือแตกเลือดออกติดตามฝาผนัง ประตูหน้าต่างอุโบสถ แต่ก็ไม่สามารถหาทางเข้า ไปในอุโบสถได้เลย แม้แต่สถานที่หอสวดมนต์เขตกุฏิก็ถูกปล้นหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถเอาอะไร ไปได้เลย พูดกันว่าหาทางเข้าไม่ได้ มองไม่เห็นประตู ทางเข้า บ้างก็ว่ามอง ไม่เห็นอะไร หมอก มืดมิดไปหมด และบางทีเข้าไปในเขตวัดก็เดินวนอยู่นั่นแหละ หาทางออกไม่ได้จนรุ่งเช้าชาวบ้าน มาพบบ้าง พระสงฆ์มาพบบ้าง ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ จับได้หลายครั้งจนสร้างความอกสั่น ขวัญแขวนเกรงกลัวในพระบารมีกันทั่วไป บางคนก็ได้เห็นชายชราผู้เฒ่านุ่งขาวห่มขาวเดินอยู่รอบ เขตวัด บ้างก็เห็นพระสงฆ์มากมายเดินจงกลม นั่งสมาธิตามอุโบสถ ตามโคนต้นไม้ใหญ่ในเขตลานวัด จนชาวบ้านต่างกล่าวฝันกันมากมาย ต่างเดินทางกันมาจากทั่ว ๆ ไป เพื่อบูชาสักการะอัฐิธาตุของ พระพุทธองค์ ในแต่ละวันมากมาย ส่วนใหญ่หน้าน้ำจะมาทางเรือ หน้าแล้งจะมาเกวียน ตาม ทางเกวียนบ้างก็เดินมาเป็นกลุ่ม ด้วยศรัทธามีในพระผู้มีพระภาคอรหันต์

ต่อมาความเชื่อนี้ ได้มีข่าวสารถึงกรมศิลปากร และกรมศิลปากรได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มา ตรวจสอบและได้ยอมรับว่าเป็นความจริง ว่าคืออัฐิพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริงแน่นอน พรรณะนั้นชนิดเมล็ดข้าวสาร และเมล็ดพันธุ์ผักกาด และมีชนิด ถั่วลิสงเพิ่มเติมขึ้นมาอีกซึ่งแต่เดิมไม่มี หลวงปู่พุฒท่านได้ให้ข้อสังเกตว่าคงจะเป็นพระธาตุพระอรหันต์สาวก เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรก็ได้ตรวจตราให้ก็ยอมรับว่าเป็นพระธาตุพระสาวก           จริงแท้แน่นอน เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้กล่าวขอพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษา แต่หลวงปู่พุฒ ไม่อนุญาต พร้อมชาวบ้านต่างก็ไม่ยินยอม จะเก็บรักษาไว้เป็นศาสนสมบัติประจำวัด ด้วยเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญอย่างยิ่งทุกคนต่างไม่ยอมให้ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงออกหนังสือรับรอง และ วางกฎระเบียบในการปฏิบัติดูแลให้ทางวัดไว้ ๑ ฉบับ และต่อมาหนังสือนั้นได้สูญหายไป (ความนี้ ได้รับการบอกเล่าเรื่องหนังสือสูญหายจากหลวงพ่อพระครูวัชรศีลคุณ เชื้อ วาดนิ่ม อดีตเจ้าอาวาส องค์ที่ ๒๓ ของวัดนี้) จากนั้นทางวัดโพธิ์ทัยมณีโดยมีหลวงปู่พระครูพุฒเป็นเจ้าอาวาส ได้เก็บดูแล จัดสถานที่ที่สมควรประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อย่างแข็งแรงเข้มแข็ง ต่อมาได้มีโจรปล้น ขโมยที่จะเอาพระบรมสารีริกธาตุให้ได้ถึงกับเผาวัดแต่ทุกอย่างก็ผ่านวิกฤตการไปด้วยดีทุกประการ และมีผู้ศรัทธาได้สร้าง ต้นโพธิ์เงิน ต้นโพธิ์ทอง ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง บัวเงิน บัวทอง หงส์เงิน หงส์ทอง ตลอดถึงองค์เจดีย์ทำด้วยเงิน ทอง นาค ภายในบรรจุผะอบพระบรมสารีริกธาตุไว้ ของที่ทำบูชาล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้นและยังมีพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์บ้าง เนื้อดีบุก เนื้อเงิน เนื้อลงหิน เนื้อทองสามกษัตริย์ และเนื้อทองเหลือง และพระแก้วใสเนื้อสีเขียว ขาว เหลือง ล้วนแต่เป็น ของเก่าแก่โบราณ ที่อยู่คู่วัดโพธิ์ทัยมณีมาโดยตลอด พร้อมกับของมีค่าที่ผู้ศรัทธาน้อมถวาย เป็นพุทธบูชามากทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดีในที่อันสมควร

มีท่านผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ท่านบอกว่า มีคนเคยเป็นโรคเรื้อนกุดถัง โรคกลากรักษาไม่หาย รู้ข่าวจึงพยายามเดินทางมาขอพระบารมี นำน้ำมนต์ไปดื่มไปอาบโรคที่เป็นอยู่ก็ค่อย ๆ หายไป ในที่สุด และได้มาบวชถวายบูชา

มีหลายคน ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์เดินบิณฑบาตเช้าตรู่ต่างก็ได้ออกมาตักบาตร มีประธานสงฆ์ เดินนำ แต่เมื่อใส่บาตรเสร็จได้ก้มลงกราบ พอเงยหน้าขึ้นมาปรากฏว่าหายไป และต่อมาพระสงฆ์ ภายในวัดก็ออกบิณฑบาตชาวบ้านก็บอกว่าเมื่อเช้าตรู่ก็ได้ออกไปตักบาตรแล้ว ทำไมจึงมา บิณฑบาตอีก พระท่านก็บอกว่านี่แหละอาตมาพึ่งจะออกมาจากวัดเองนะโยม ชาวบ้านต่างพากันงง และก็ถามว่าพระที่วัดมีกี่รูป พระท่านบอกว่ามี ๒๐ รูป แต่เมื่อเช้ามามากกว่า ๒๐ รูป ทั้งชาวบ้านและพระต่างก็งง สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธองค์ทรงลงมาโปรดชาวบ้านจึงได้เอาผ้าขาวปูที่พื้นดิน แล้วนั่งลงกราบไปยังวัด อธิษฐานบูชาด้วยดีใจ ที่ได้ชมพระบารมีของพระพุทธองค์

จากความศรัทธา ความเคารพของสาธุชนทั่วไป หลวงปู่ท่านพระครูพุฒจึงได้ดำริการจัด งานถวายสรงน้ำองค์พระบรมสารีริกธาตุ แต่เดิมอัญเชิญลงประดิษฐานให้ประชาชนถวายน้ำสรง ภายในอุโบสถ ซึ่งในองค์พระประธานยังมีส่วนหนึ่งประดิษฐานไว้ตามเดิมในองค์พระ จึงถือเอา สถานที่อุโบสถเป็นที่จัดถวายน้ำสรงการจัดงานมีการจัดปูลาดพระบาท และมีพราหมณ์เป่าสังข์ ลั่นฆ้อง ประโคมมโหระทึก หลวงปู่พุฒจะอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ กันด้วยสัปทนติดตาม ด้วยหมู่พระสงฆ์อัญเชิญเครื่องบูชาสักการะตามเสด็จ สองข้างทางมีประชาชนที่มาตักบาตรถวาย ต่างถือดอกไม้ธูปเทียน ประนมมือบูชาสักการะมากมาย ในทางที่เสด็จผ่านอัญเชิญจากกุฏิสงฆ์ ตรงไปอุโบสถ เมื่ออัญเชิญออกพ้นเขตกุฏิที่ประดิษฐาน แดดออกอยู่จะค่อย ๆ มีเมฆมาบดบัง ทรงกลดให้ด้วยและมีฝนโปรยปรายดุจพรมน้ำพุทธมนต์ และมีเสียงเกรียวกราวดังไปทั่วดุจดัง เมล็ดทรายโปรยปรายลงมาจนกว่าจะอัญเชิญเข้าประดิษฐานเรียบร้อย จากนั้นแล้วก็จะถึงเวลา ของสาธุชนพร้อมเวียนเทียนบูชา ๓ รอบ และจัดถวายสรงน้ำกันทั่วไปทุกคนด้วยศรัทธามั่นคง

การจัดงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หลวงปู่พุฒ อดีตเจ้าอาวาส รูปที่ ๒๒ ได้ดำเนิน การจัดทำในสมัยนั้นจะจัดงาน ๑ วัน ต่อมาเพิ่มเป็น ๒ วัน ถือปฏิบัติมาโดยตลอด และต่อมา ในสมัยหลวงพ่อ พระครูวัชรศีลคุณ (เชื้อ ภททสีโล) อดีตเจ้าอาวาส รูปที่ ๒๓ ได้ขยายงานจาก ๒ วัน เป็น ๓ วัน และเป็น ๕ วัน และต่อมาก็ต้องกลับมาจัดงาน ๓ วันเช่นเดิม เพราะไม่มีรายได้ อะไร ต่อมาในสมัยพระครูกิตติวัชราภรณ์ (มานพ กิตติวณโณ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน รูปที่ ๒๔ ได้รับหน้าที่จัดดำเนินงานจากเดิม ๓ วัน มาเป็น ๖ วัน และปัจจุบันนี้เริ่มจัดงานถึง ๙ วัน เริ่มปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ เป็นต้นมา และจะดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่องตามโครงงานนี้ การจัดงาน สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุได้จัดมาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ประมาณ ๑๐๐ กว่า ปีแล้ว

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้มีผู้ศรัทธาสร้างมณฑปประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุไว้ เป็นที่เรียบร้อย เรียกว่า หอมณฑปวิเชียรวัชรปราสาทบรมสารีริกธาตุเจดีย์ดังปรากฏมาจนถึง ปัจจุบันนี้ เป็นที่เคารพสักการะของประชาสาธุชนตลอดไป

ขณะนี้ได้สร้างเสริมปรับปรุงใหม่ หอมณฑปขณะนี้พระครูกิตติวัชราภรณ์ ได้ทำการ แก้ไขปรับปรุง ตกแต่งสร้างเสริมใหม่ให้สมพระเกียรติของพระพุทธองค์ถวายเป็นพุทธบูชา เริ่มดำเนินการปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ และแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ เรียบร้อยสง่างามเป็น ศาสนสถานที่สำคัญถวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

จากประวัติความเป็นมา ที่รู้ได้จากผู้ใหญ่ คนเก่าแก่ได้เล่าขานกันมาและได้ค้นคว้า ตำนานประวัติศาสตร์และจากจารึกบางแห่งบางตอน และจากที่ได้ค้นคว้าด้วยตนเอง จึงนำมารวม เป็นเรื่องจัดเป็นประวัติพระบรมสารีริกธาตุเพื่อการศึกษาต่อไป ของสาธุชนสัตตบุรุษผู้สนใจในการ ศึกษาหาความรู้ต่อไป

จากตนานที่กล่าวถึง พระบรมสารีริกธาตุนี้ กษัตริย์ชาวสิงหลรัติได้อัญเชิญจากประเทศ ศรีลังกา พร้อมต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นเดิมปลูกอยู่กลางลานวัดใกล้องค์พระเจดีย์ที่ชำรุด และบุคคล มาขุดทำลายหาของโบราณจนทำให้พระเจดีย์ทลายหักพังสูญไปในที่สุด พร้อมดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ก็คงอยู่ ณ สถานที่ตั้งองค์เจดีย์เดิม ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ปัจจุบันยังคงรักษาไว้อยู่ถึงบัดนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า ปูชนียวัตถุล้ำค่าของสูงศักดิ์สิทธิ์ ยังคงอยู่เป็นหลักชัยของ บวรพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมวิชาความรู้และสร้างศรัทธาให้ปรากฏประจักษ์ใจแด่ปวงชน โดยทั่วไปที่มากราบไหว้บูชา ขอพร ขอบารมีธรรม เป็นหลักฐานเด่นชัดตราบมาถึงทุกวันนี้และ ตลอดไปอีกนาน

สิ่งที่มหัศจรรย์ปรากฏ ขณะนี้พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ในหอมณฑปวิเชียรวัชร ปราสาทเป็นศรีสง่า หลวงพ่อพระครูวัชรศีลคุณ (หลวงปู่เชื้อ) ท่านได้บอกให้ฟังว่าเกิดไฟฟ้าดับ แต่ที่หอมณฑปพระธาตุปรากฏ แสงสว่างไปทั่วจนปรากฏแด่ชาวบ้าน ชาวบ้านที่เห็นต่างมาดู เมื่อเห็นต่างก็ก้มกราบด้วยความปีติใจอย่างยิ่งที่เห็นรัศมีโอกาสปรากฏ ส่องสว่างไปทั่ว แต่ตรงอื่น นั้นมืดด้วยเป็นความแห่งราตรี

ท่านยังได้บอกอีกว่า บางครั้งได้ยินเสียงพระสงฆ์สวดมนต์พริ้วแผ่วแต่ไกล ยามเย็นบ้าง กลางคืนดึกสงัด และเช้าตรู่ ได้ยินอยู่เป็นประจำทั้งพระสงฆ์ภายในวัดก็ได้ยิน พร้อมเสียงระนาด ลอยไกล ๆ ฉวัดเฉวียนอยู่บ่อย ๆ เป็นที่กล่าวขวัญของคนในยุคนั้น และท่านได้เห็นภาพนิมิต กลางอากาศด้วยเห็นได้ด้วยตาปัจจุบัน เห็นพระพุทธองค์เปล่งฉัพพรรณรังสี ทรงนั่งแสดงธรรม เทศนาโปรดสาวก และท่านได้เห็นเสด็จประทับยืนทอดพระเนตร มีพระรูปกายใหญ่โตสูงพร้อม ด้วยรัศมีพระวรกายเปล่งออกสว่างไปทั่ว ท่านได้เห็นเวลาดึกสงัดค่ำคืน หลวงพ่อได้ลงเดินจงกรม แผ่เมตตา ได้ปรากฏเป็นนิมิตมหัศจรรย์ ขณะที่ท่านพูดให้ฟังดูว่าท่านเกิดปีติมีความสุขเอิบอิ่มและ ดวงตาท่านมีน้ำตาไหลออกมาด้วยความปีติใจ เป็นสุขใจ และท่านได้เห็นดวงแสงสว่างดวงใหญ่ และดวงระยิบระยับล้อมรอบ ลอยประทักษิณมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ แล้วลอยไปประทักษิณ อุโบสถอีก ๓ รอบ แล้วหายไป สิ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะมีผู้พบเห็นอยู่บ่อยครั้งจึงเป็นที่กล่าวขวัญ ของชาวบ้านทั่วไปต่างยกมือท่วมหัวขอพึ่งพระบารมี

เคยมีอีกอย่างหนึ่ง ตามพื้นลานวัด รอบอุโบสถ รอบมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ รอบต้น พระศรีมหาโพธิ์ รอบวิหารรอยพระบาท และรอบต้นไม้โบราณของเก่าแก่ ได้ปรากฏเป็นแสง ระยิบระยับดุจดังดาวพราวพื้นปฐพีและมีกลิ่นหอมเย็น เคยปรากฏบ่อยครั้ง มีพระสงฆ์หลายรูป และอดีตเจ้าอาวาสหลายรูป และมีชาวบ้านที่เคยเป็นศิษย์วัดบ้าง เป็นคนที่เดินผ่านวัดไปนา ไปไร่ ต่างก็ได้เห็นในสิ่งนี้จึงกล่าวขวัญกันว่าเทวดาบูชาพระบรมสารีริกธาตุ คนดีมีบุญมาจุติในภพมนุษย์ นี้ เปรตอสุรกายพันเวรพ้นวิบากกรรมไปผุดไปเกิด สาธุด้วยพระบารมีรัศมีแห่งพระพุทธองค์ พระบรมสารีริกธาตุ สิ่งเหล่านี้เป็นที่กล่าวขานของชาวบ้านในกาลนั้น

ปัจจุบันก็ยังมีสิ่งที่ปรากฎ แต่สายตามนุษย์อยู่ทั่วไปนั้นเนือง ๆ ด้วยบุญวาสนาบารมี ของแต่ละคนวัดโพธิ์ทัยมณี จึงเป็นที่ปรากฏเป็นพุทธสถานที่สคัญในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ วัดโพธิ์ทัยมณี ตั้งอยู่ที่เดิมเลขที่ ๑๑๘ หมู่ที่ ๑ ตบลบางจาน อเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ขณะนี้ ท่านเจ้าอาวาสรูปที่ ๒๔ เป็นองค์ปกครองและเป็นผู้นคณะสงฆ์คือหลวงพ่อพระครูกิตติวัชราภรณ์ (มานพ กิตติวณโณ) นามสกุล ชูศรี อายุ ๓๙ ปี มีพรรษาได้ ๑๙ พรรษาบริบูรณ์ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ แห่งรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บรมราชจักรีวงศ์สยาม .

ด้านการปกครองมีเจ้าอาวาสผ่านมาแล้วแต่อดีต ๒๓ รูป ทั้งรูปปัจจุบันนี้คือรูปที่ ๒๔ ของ วัดโพธิ์ทัยมณี เจ้าอาวาสรูปที่ ๒๔ นี้ รับภาระงานปกครอง และงานสาธารณูปการมาตั้งแต่บวช ได้พรรษาแรก มาจนบัดนี้รวม ๑๔ พรรษา นับถึงปี พ.ศ.๒๕๓๗ นี้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระครูกิตติวัชราภรณ์, 2534, เอกสารประวัติวัดโพธิ์ทัยมณี, วัดโพธิ์ทัยมณี, เพชรบุรี.