ผู้ใช้:Music Copyright Thaialnd

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มซีที (อังกฤษ: MCT) เป็นองค์กรของนักแต่งเพลงไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ รวมทั้งสนับสนุนให้นักแต่งเพลงสามารถดูแลและบริหารสิทธิในงานสร้างสรรค์ของตนได้ โดยบริษัทจะดูแลเฉพาะงานลิขสิทธิ์ประเภทงานดนตรีกรรม อันได้แก่ งานทำนอง ซึ่งอาจมีหรือไม่มีคำร้อง เท่านั้น

MCT ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2537 หลังจากที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของไทยมีผลบังคับใช้โดยดำเนินการบริหารจัดการค่าสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชนคือ การเปิดเพลงหรือการเล่นดนตรี และการแสดงดนตรีให้แก่สาธารณชนรับฟังอันเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของผู้ประกอบการ ให้กับสมาชิกนักแต่งเพลงผู้เป็นเจ้าของงานดนตรีกรรม

ขั้นตอนการดำเนินการ[แก้]

MCT ดำเนินการตามหลักของ องค์กรบริหารจัดการสิทธิโดยรวมของนักแต่งเพลง (Collective Management หรือ Authors' Society) ที่เป็นสากล โดยอยู่บนพื้นฐานของการไม่แสวงกำไร (non–profit) กล่าวคือ ค่าสิทธิที่เก็บได้จากผู้ใช้หลังจากหักค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ต้องจัดสรรให้แก่สมาชิกนักแต่งเพลงผู้เป็นเจ้าของสิทธิตามข้อมูลปริมาณการใช้เพลง บริษัทได้ดำเนินการจัดสรรค่าสิทธิเป็นครั้งแรกจากผลประกอบการปี พ.ศ. 2541 และได้ดำเนินการจัดสรรค่าสิทธิเรื่อยมาทุกๆ ปี

จากหลักการทำงานที่ไม่แสวงกำไรนี้ ทำให้ MCT เป็นองค์กรนักแต่งเพลงองค์กรเดียวในประเทศไทย ที่ได้เป็นสมาชิกของ สมาพันธ์แห่งสมาคมผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ (The International Confederation of Societies of Authors and Composers : CISAC) และได้เซ็นสัญญาต่างตอบแทนกับองค์กรนักแต่งเพลงในประเทศต่างๆ ดังนั้น นอกเหนือจากที่ MCT จะดูแลสิทธิของสมาชิกนักแต่งเพลงไทยแล้ว เรายังดูแลสิทธิให้นักแต่งเพลงสากลต่างๆที่มีการใช้ในประเทศไทยด้วย และสัญญาต่างตอบแทนนี้ยังช่วยให้งานเพลงของสมาชิกนักแต่งเพลงไทย ได้รับการดูแลจัดการสิทธิในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

หลักความคุ้มครองลิขสิทธิ์[แก้]

หลักความคุ้มครองลิขสิทธิ์ นั้นเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ได้รับผลตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจจากงานสร้างสรรค์ของตนเอง ขณะเดียวกันกลไกการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเป็นธรรมของสังคมด้วย

งานลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้น โดยดั้งเดิมได้แก่งานดนตรีกรรม ซึ่งก็คือ ทำนอง/คำร้อง ที่สร้างสรรค์โดยนักแต่งเพลง ต่อมาเมื่อมีการนำ ทำนอง/คำร้อง นั้นมาสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นเสียงดนตรี มีนักร้องร้องและทำการบันทึกเป็น เทป/ซีดี จัดทำเป็นสินค้าจัดจำหน่าย ซึ่งตัวเสียงดนตรีและเสียงร้องต้นแบบของ งานทำนอง/คำร้อง นั้น เรียกว่าเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงที่สร้างสรรค์โดยบริษัทเทป โดยในกฎหมายไทยเราก็จัดว่าเป็นงานลิขสิทธิ์เช่นกัน การที่บริษัทเทปจะนำ ทำนอง/คำร้อง ไปให้นักดนตรีเล่น ให้นักร้องร้องบันทึกเป็นเทปต้นแบบเพื่อผลิตเป็น เทป/ซีดี ขายต่อไปนั้น ก็จะต้องขออนุญาตสิทธิทำซ้ำ ทำนอง/คำร้อง (งานดนตรีกรรม) จากนักแต่งเพลงก่อน โดยจ่ายผลตอบแทนให้สิทธิส่วนนี้ เรียกว่า "สิทธิทำซ้ำ" ส่วนสิทธิอีกประเภท คือ "สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณ" ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ประกอบการใดๆที่มีการเปิดหรือแสดงเพลงเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ต้องทำการขออนุญาตสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชน

สำหรับการขออนุญาตงานลิขสิทธิ์ประเภทใดบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้เพลงของแต่ละสถานประกอบการ เช่นถ้าเล่นดนตรี ร้องเพลงสดในร้านอาหาร หรือเล่นคอนเสิร์ตถือว่าเป็นการเผยแพร่งานดนตรีกรรม (ทำนอง/คำร้อง) อย่างเดียว แต่ถ้าเปิดเทปซีดี ก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่ทั้งงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียง

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการจัดการสิทธิเผยแพร่นั้นจำเป็นต้องมีระบบ เพราะเกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์หลายประเภท โดยมีผู้สร้างสรรค์และเจ้าของสิทธิในงานแต่ละประเภทนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับหลักการจัดเก็บค่าสิทธิเผยแพร่นั้น โดยปกติแล้วจะทำการจัดเก็บผ่านองค์กรกลาง บริหารจัดเก็บค่าสิทธิ Collective Management Organization ซึ่งจะแยกกันระหว่างงานดนตรีกรรม ที่สร้างสรรค ์โดยนักแต่งเพลงกับงานสิ่งบันทึกเสียง ที่สร้างสรรค์โดยบริษัทเทป สาเหตุที่หลักสากลนั้นแยกเป็น 2 องค์กรตามประเภทงานก็เพราะต้องการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของนักแต่งเพลง เพื่อดูแลจัดการสิทธิของตัวเองเพราะเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่านักแต่งเพลงเดี่ยวๆย่อมมีอำนาจต่อรองน้อยซึ่งหากนักแต่งเพลงรวมตัวดูแลสิทธิของกลุ่มตัวเองได้ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะสามารถรักษาความเป็นเจ้าของงานดนตรีกรรมของตนได้นั่นเอง

องค์กรบริหารจัดเก็บค่าสิทธิงานดนตรีกรรมของนักแต่งเพลงนั้น ทุกๆประเทศจะมีโครงสร้างที่คล้ายกันคือ เป็นการรวมตัวของนักแต่งเพลงเพื่อดูแลสิทธิเผยแพร่งานของตน องค์กรทำหน้าที่เสมือนคนกลางอำนวยความสะดวกให้กับนักแต่งเพลง ซึ่งหลักการทำงานขององค์กรคือ บริหารการจัดเก็บค่าสิทธิเผยแพร่นั้นต้องไม่แสวงผลกำไร หมายความว่าค่าสิทธิที่จัดเก็บมาได้นั้นเมื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้วต้องจัดสรรให้นักแต่งเพลงตามปริมาณการใช้เพลง นั่นคือเพลงใครถูกใช้มากจะได้รับค่าสิทธิมากนั่นเอง