ผู้ใช้:Mr.MisoI/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อมูลประวัติหน่วย กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2[แก้]

ที่ตั้งหน่วย[แก้]

กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ  กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2  ติดกับถนนวีระโยธา  ในค่ายสุรนารี อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  รหัสไปรษณีย์  30000 สามารถประสานงานและติดต่อราชการ ได้ทั้งทางไปรษณีย์, ทางโทรศัพท์ และทางวิทยุสื่อสาร

ประวัติความเป็นมาของหน่วย[แก้]

กองพันทหารสื่อสารที่  22 ได้แปรสภาพจากกองทหารสื่อสาร กองทัพภาคที่ 2 (กอง ส.ทภ.2) โดยจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2520 เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2  ได้รับงบประมาณจากกองทัพบก โครงการพัฒนายุทโธปกรณ์และกำลังพลมาโดยตลอด ปัจจุบันถึงแม้ว่าโครงการจะเสร็จสิ้นลงแล้ว กำลังพล และยุทโธปกรณ์  ยังคงได้รับการบรรจุ ไม่เต็มอัตรา ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2528  กองทัพบก ได้มีคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 122/28 ลงวันที่ 1 กันยายน  2524  ให้แปรสภาพ กองทหารสื่อสาร กองทัพภาคที่ 2 เป็น กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ให้ใช้อักษรย่อว่า  “ส.พัน.22”  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงเมื่อปี 2531 กองทัพบกได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่เป็น กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ให้ใช้ชื่อย่อว่า "ส.พัน.22 ทภ.2" จนถึงปัจจุบัน และยังคงได้รับมอบภารกิจ  และขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพภาคที่ 2 จนถึงปัจจุบัน โดยมีกองร้อยหน่วยขึ้นตรง 3 กองร้อย ได้แก่

1 กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 (ร้อย.บก.ส.พัน.22 ทภ.2)

2 กองร้อยวิทยุและศูนย์ข่าว กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 (ร้อย.วิทยุและศูนย์ข่าว ส.พัน.22 ทภ.2)

3 กองร้อยสายและวิทยุถ่ายทอด กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 (ร้อย.สายและวิทยุถ่ายทอด ส.พัน.22 ทภ.2)

สรุปประวัติความเป็นมาตามปี พ.ศ.[แก้]

                  - ปี พ.ศ. 2520  กองทัพบกได้จัดตั้งหน่วย   กองทหารสื่อสารกองทัพภาคที่ 2  ขั้นที่ 1  ขึ้น ใช้ตัวอักษรย่อว่า กอง ส.ทภ.2  จัดตั้งตามคำสั่ง กองทัพบก (เฉพาะ) ที่  20/20 ลงวันที่  10  กุมภาพันธ์ 2520  เพื่อสนับสนุนการสื่อสารทางวิทยุให้กับกองบัญชาการกองทัพภาคที่  2  ในขณะนั้นมี  ร้อยเอก ชั้น  อินทร  เป็น  ผู้บังคับหมวดสื่อสาร

                  -  ปี พ.ศ. 2521 กองทัพบกได้จัดตั้งให้เป็นกองทหารสื่อสาร กองทัพภาคที่ 2 ขั้นที่ 2  คงใช้อักษรย่อเดิม  โดยจัดตั้งตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่  88/22   ลงวันที่ 25 กรกฎาคม  2521 เพื่อให้มีประสิทธิภาพสนับสนุนการสื่อสารทางวิทยุ และทางโทรศัพท์ให้กับ  กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2  มากยิ่งขึ้น  โดยจัดตั้งหมวด, ตอนการสื่อสาร เพิ่มขึ้นอีกคือ จัดตั้งหมวดวิทยุ, หมวดวิทยุถ่ายทอด, หมวดโทรศัพท์, ตอนศูนย์ข่าวและนำสาร และตอนซ่อมบำรุงยานยนต์  ในขณะนั้น โดยมี  พันตรี ชาญ  ทัพวงษ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น)   เป็น ผู้บังคับกองทหารสื่อสาร กองทัพภาคที่2

                  -  ปี พ.ศ.๒๕๒๔  กองทัพบกได้ปรับปรุงกองทหารสื่อสาร  กองทัพภาคที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพสนับสนุนการสื่อสารเพิ่มขึ้นอีก โดยแปรสภาพเป็น กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2  ใช้ตัวอักษรนำหน้าว่า  "ส.พัน.22" จัดตั้งตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ 122/24  ลงวันที่ 1 กันยายน  2524  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และได้แบ่งการจัดออกเป็น  3 กองร้อย  คือ กองร้อยกองบังคับการ, กองร้อยวิทยุและศูนย์ข่าว และกองร้อยสายและวิทยุถ่ายทอด

ภารกิจของหน่วย[แก้]

จัดวางการสื่อสารประเภทวิทยุ,  การสื่อสารประเภทสาย  และจัดตั้งศูนย์ข่าวสนับสนุนให้กับกองบัญชาการกองทัพภาคที่  2 รวมทั้งวางการสื่อสารทางสายด้วยวิทยุถ่ายทอดจากกองบัญชาการกองทัพภาค ไปยังหน่วยรองหลักของกองทัพภาค, หน่วยขึ้นสมทบ, หน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ และหน่วยอื่น ๆ ที่ได้รับมอบ

การปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วย[แก้]

1 จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ปฏิบัติงาน ณ  ศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธวิธี  กองทัพภาคที่ 2  ดำรงการสื่อสารกับหน่วยเหนือ,  หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง  และส่วนราชการอื่นๆ  

2 จัดตั้งศูนย์การสื่อสารกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัย กองทัพภาคที่ 2 วางระบบและดำรงการติดต่อสื่อสารให้กับ ผู้บังคับบัญชา  ในการอำนวยการถวายความปลอดภัย แด่พระบรมวงศานุวงศ์ ในการเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 2

3 รับผิดชอบแผนกกรรมวิธีข้อมูล  ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2  ดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีลูกข่ายมากกว่า  200 สถานี ตลอดจน Website กองทัพภาคที่ 2  และ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ กองทัพภาคที่ 2  รวมทั้งระบบ วิดีโอคอนเฟอเร้นท์ กองทัพบก

4 รับผิดชอบการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณผ่านดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพื้นที่ เขต 3  จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรีรัมย์ , จังหวัดชัยภูมิ และ  จังหวัดสุรินทร์

5 ดำเนินการอบรมให้ความรู้เบื้องต้นด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์  รวมถึงการใช้งานโปรแกรมต่างๆ  ให้กับกำลังพลของ กองทัพภาคที่ 2  และบุคคลทั่วไป

6 รับผิดชอบแผนกสารสนเทศและการสื่อสาร กองทัพภาคที่ 2  จัดการระบบนำเสนอ, ระบบแสงสีเสียง และระบบมัลติมีเดียอื่นๆ ในห้องประชุม กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2

7 รับผิดชอบศูนย์เคเบิ้ลทีวี กองทัพภาคที่ 2  ติดตั้งกระจายสัญญาณให้กับสมาชิก  จำนวน 4,200  จุด ได้ชม จำนวน 41 ช่อง พร้อมทั้งดูแลและให้ บริการตรวจซ่อม

8 รับผิดชอบงานของแผนกกรรมวิธีข้อมูลสนามกีฬาทหาร กองทัพภาคที่ 2

9 รับผิดชอบสถานีวิทยุกระจายเสียง กองทัพภาคที่ 2 ระบบเอเอ็ม ค่ายสุรนารี

10 รับผิดชอบรถสื่อสารดาวเทียมภาคพื้น กองทัพภาคที่ 2 สนับสนุนภารกิจป้องกันชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร  จังหวัดศรีสะเกษ  

11 จัดกำลังพลสนับสนุนภารกิจ ประจำ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี

การปฏิบัติภารกิจพิเศษ[แก้]

1 จัดกำลังพล  และยุทโธปกรณ์เครื่องสื่อสารสนับสนุนให้กับ มณฑลทหารบก (มทบ.), จังหวัดทหารบก (จทบ.)  ในพื้นที่  เพื่อจัดตั้งกองอำนวยการถวายความปลอดภัยแด่ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   และพระบรมวงศา -นุวงศ์ทุกพระองค์  ในวโรกาสเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม  ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร   และที่ประทับแรมอื่นๆ  เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร  และทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริส่วนพระองค์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2 จัดตั้งข่ายการสื่อสารทางวิทยุเพื่ออารักขาบุคคลสำคัญของประเทศ และของกองทัพ เมื่อเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง

3 ปี 2543 – 2544 จัดกำลังพลพร้อมด้วยยุทโธปกรณ์เครื่องสื่อสารสนับสนุนการติดต่อสื่อสารให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก ผลัดที่ 2  ณ ประเทศติมอร์ ตะวันออก

ขีดความสามารถ[แก้]

1 ให้การสนับสนุนการติดต่อสื่อสารแก่กองทัพภาค ที่มี  2  ถึง  4  กองพล    

2 ติดตั้ง, ปฏิบัติงานและดำรงการสื่อสารประเภทวิทยุ  ด้วยชุดวิทยุโทรพิมพ์ได้ไม่เกิน 15 ชุด  พร้อมกัน ต่อ  1  หมวดวิทยุ

3 จัดชุดวิทยุสนับสนุนส่วนบังคับบัญชา  และอำนวยการกองบัญชาการกองทัพ-ภาค  ได้ไม่เกิน  6  ชุด  ต่อ 1 หมวดวิทยุ

4 จัดตั้งศูนย์ข่าว พร้อมบริการนำสารยานยนต์ ได้ 1 ศูนย์ข่าว

5 จัดวางการสื่อสารทางสายด้วยวิทยุถ่ายทอด  ขนาด  12 ช่องเสียง  ได้  3 ระบบพร้อมกัน  ต่อ 1 หมวดวิทยุถ่ายทอด  และติดตั้งปฏิบัติงาน  และดำรงการสื่อสารทางสายได้ไม่เกิน 100 ทางสาย

6 บริการภาพนิ่ง รวมทั้งล้าง  อัดขยายภาพนิ่ง

7 ทำการรบอย่างทหารราบ  เมื่อจำเป็น

เกียรติประวัติหน่วย[แก้]

กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 เมื่อครั้งที่หน่วยมีสภาพเป็น กองทหารสื่อสาร กองทัพภาคที่ 2  รับมอบภารกิจในการสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร ให้กับกองบัญชาการกองทัพภาคที่  2  เมื่อกองทัพภาคที่  2 ส่วนหน้า  ได้จัดตั้งขึ้นที่  ค่ายกฤษณ์สีวะรา  จังหวัดสกลนคร  ปี  2521   กองทหารสื่อสารกองทัพภาคที่ 2  ได้จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์เครื่องสื่อสาร  สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศ และปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)  บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยปฏิบัติงานด้วยความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อชาติ บ้านเมือง  และเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไป  จนได้รับประกาศเกียรติคุณจากกองทัพภาคที่ 2  ให้เป็นหน่วยปฏิบัติภารกิจดีเด่น ประจำปี 2522 และ  2523  ในการป้องกันประเทศ และปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างได้ผล

เกียรติประวัติจากการปฏิบัติการรบดังที่ได้กล่าวมานั้น  แม้ว่า  กองพันทหารสื่อสารที่  22 กองทัพภาคที่ 2 จะมิใช่หน่วยกำลังรบหลักโดยตรงก็ตาม  แต่ภารกิจที่ได้ปฏิบัติ  เปรียบได้กับหน่วยกำลังรบอื่นๆ  กล่าวคือ  ตั้งแต่ปี 2521  กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดกำลังพลพร้อมด้วยยุทโธปกรณ์เครื่องสื่อสารสนับสนุนการปฏิบัติการสื่อสารให้กับ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2  ส่วนหน้า  จังหวัดสกลนคร  โดยเฉพาะการจัดชุดปฏิบัติการสื่อสารสนับสนุน  และร่วมปฏิบัติการกับหน่วยทหารพราน   ทำการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  ตามพื้นที่ในป่าภูเขารกทึบ พื้นที่สีแดง ในเขต  จังหวัดสกลนคร  จังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดนครพนม  จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดอุดรธานี  และจังหวัดหนองคาย  ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ให้จัดชุดสื่อสารสนับสนุนให้กับหน่วยกำลังรบในพื้นที่ตามบริเวณรอยต่อแนวพรมแดนระหว่างไทย - กัมพูชา, ไทย - ลาว

การประกอบวีรกรรม[แก้]

กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดกำลังพล พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์เครื่องสื่อสารและยานพาหนะในอัตราของหน่วยที่มีอยู่ ดำเนินการวางระบบการติดต่อสื่อสาร สนับสนุนภารกิจให้กับกองทัพภาคที่ 2 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง  และด้านยุทธการ  จนสำเร็จภารกิจได้รับการยกย่องชมเชยจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ อันประกอบด้วย

1 พ.ศ. 2524  เกิดเหตุการณ์มีผู้ก่อความไม่สงบทางการเมืองใน  กรุงเทพ ฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบภายในเขต 2  ณ  สโมสรร่วมเริงไชย  ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา

2 พ.ศ. 2527  สนับสนุนยุทธการช่องพระพะลัย  อำเภอขุนหาญ  จังหวัด  ศรีสะเกษ, ช่องจอม  อำเภอกาบเชิง  จังหวัดสุรินทร์  และ ช่องโอบก  อำเภอบ้านกรวด  จังหวัดบุรีรัมย์

3 พ.ศ. 2530  สนับสนุนยุทธการช่องบก  อำเภอน้ำยืน  จังหวัดอุบลราชธานี

4 พ.ศ. 2531  สนับสนุนยุทธการบ้านร่มเกล้า  อำเภอนาแห้ว  จังหวัดเลย

ผลงานดีเด่นในการปฏิบัติงานของหน่วย ยามสถานการณ์ปกติ[แก้]

1 พ.ศ. 2532 ได้รับโล่รางวัลจาก กองทัพภาคที่ 2  ให้เป็นหน่วยที่มีการค้นคว้าและวิจัยเครื่องสนธิวิทยุโทรศัพท์ทำให้การติดต่อสื่อสาร มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

2 พ.ศ. 2538  ได้รับโล่ ประกาศเกียรติคุณจาก กองทัพภาคที่ 2 ให้เป็นหน่วยที่มีข้าราชการให้ความร่วมมือพร้อมใจกันปฏิบัติภารกิจด้วยความวิริยะอุตสาหะ  จนทำให้ผลการตรวจกิจการทั่วไปของ กรมจเรทหารบก ได้รับคะแนนสูงเป็น  อันดับ 2 ในกองทัพภาค ที่คะแนน  98.50  เกณฑ์  "ดีเลิศ"

3 พ.ศ. 2543 ได้รับประกาศเกียรติคุณ/รางวัลจาก กองทัพบก ให้เป็นหน่วยมีผลงานดีเด่นด้านการฝึกทหารใหม่ ปี 2542  ผลัดที่ 2 และ ปี 2543  ผลัดที่ 1

4 พ.ศ. 2548 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จาก กรมยุทธศึกษาทหารบก  ผลงานดีเด่นการเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์  อาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องช่วยฝึกเพื่อความพร้อมรบของกองทัพบก ประจำปี 2548  ประเภท ยุทโธปกรณ์  เรื่อง การบังคับบัญชาและการติดต่อสื่อสาร

5 พ.ศ. 2548 ได้รับประกาศเกียรติคุณ จาก กองทัพภาคที่ ๒ ที่มีผลการประเมินการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลและประสิทธิภาพหน่วยทหาร ตามโครงการ “กองร้อยน่าอยู่  กองพันเข้มแข็ง เขตทหารปลอดยาเสพติด” ประจำปี ๒๕๔๘ ของกองทัพบก ระดับ "ดี"

6 พ.ศ. 2549  ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จาก กองทัพภาคที่ 2 ผลการประเมินการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลและประสิทธิภาพหน่วยทหาร ตามโครงการ “กองร้อยน่าอยู่  กองพันเข้มแข็ง เขตทหารปลอดยาเสพติด” ประจำปี 2549 ของกองทัพบก ระดับ "ดีมาก"

7 พ.ศ. 2550  ได้รับประกาศเกียรติคุณ จาก กองทัพภาคที่ 2  ที่จัดทำระบบการรับ – ส่งข่าวอัตโนมัติ (AMC) สำหรับใช้ในการทดสอบและตรวจสอบระบบข่าวกรองป้องกันประเทศ  กองทัพภาคที่ 2  ประจำปี 2550 ซึ่งส่งผลให้การทดสอบเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผลยิ่ง

ผลงานด้านการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์[แก้]

1 การพัฒนาสายอากาศระบบ Wireless  Lan เพื่อเพิ่มระยะในการสื่อสารข้อมูลได้มีระยะทางไกลขึ้นจากปกติ 300 ม. เป็น 1 - 3  ก.ม.

2 ชุดสายอากาศ  Whip แบบประดิษฐ์เอง ทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ขาดแคลน มีประสิทธิภาพเทียบเท่าสินค้าในท้องตลาด แต่มีราคาถูกกว่า

3 การปรับปรุงรถบังคับบัญชาเคลื่อนที่  เพื่อสนองตอบภารกิจที่ต้องการประสิทธิภาพมากขึ้น

4 การพัฒนาโปรแกรมระบบศูนย์ข่าวอัตโนมัติเพื่อการรับส่งข่าวที่รวดเร็วและมีจำนวนมาก

การได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล[แก้]

กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบจากผู้บังคับบัญชาทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ไว้วางใจ แก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพ กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล  จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  เมื่อวันที่  19 มีนาคม 2530 ซึ่งนำความภาคภูมิใจและความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมาสู่กำลังพลภายใน กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 เป็นอย่างยิ่ง

วันสถาปนาหน่วย[แก้]

ปี  พ.ศ. 2524 กองทัพบก ได้มีคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 122/24  ลงวันที่ 1 ก.ย. 24 ให้แปรสภาพกองทหารสื่อสารกองทัพภาคที่ 2  เป็น กองพันทหารสื่อสารที่ 22  ใช้อักษรย่อหน่วยว่า “ส.พัน.22” และในปี พ.ศ. 2561 กองทัพบกได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่เป็น กองพันทหารสื่อสารที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 ให้ใช้ชื่อย่อว่า "ส.พัน.22 ทภ.2" มาจนถึงปัจจุบัน และหน่วยได้ยึดถือ เอาวันที่ 1  กันยายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนาหน่วย “กองพันทหารสื่อสารที่  22 กองทัพภาคที่ 2”